ประวัติ "คาราบาว" และ 6 เรื่องน่าทึ่งของวงก่อนจะเป็นตำนาน
เปิดเรื่องราวน่าทึ่งของ คาราบาว ก่อนวันที่จะเป็นตำนาน
กลายเป็นข่าวที่สร้างความตกใจให้กับหลายๆ คนเมื่อมีการประกาศว่าวง คาราบาว จะรับงานถึงปีพ.ศ. 2567 ก่อนจะแยกย้ายกันทำงาน เนื่องจากปัญหาสุขภาพของสมาชิก ทำให้ทาง Sanook ขอรวบรวมสถิติและเรื่องราวน่าทึ่งที่หลายคนไม่ทราบเกี่ยวกับวง
- เล็ก คาราบาว ร่ายยาวหลัง "แอ๊ด" ประกาศยุบวง เผย “ไม่จากเป็นก็จากตาย”
- ปิดตำนาน คาราบาว น้าแอ๊ดประกาศยุบวง เผยมีคอนเสิร์ตส่งท้ายปีหน้า (มีคลิป)
แอ๊ด คาราบาว กับการยืนหยัดกับวงตลอด 42 ปี
วงคาราบาว เกิดขึ้นในวันที่ แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล, เขียว-กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร และ ไข่-สานิตย์ ลิ่มศิลา 3 นักศึกษาไทยที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้รวมตัวกันเล่นดนตรีและประกวด โดยชื่อวง คาราบาว แปลว่า ควาย ในภาษาตากาล็อก หรือภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ และพอกลับมาไทยก็เล่นดนตรีต่อและมีอัลบั้ม ขี้เมา เขียวและแอ๊ดได้ทำวงต่อโดยมี เล็ก-ปรีชา ชนะภัย มาสมทบ และจากนั้น เทียรี่ เมฆวัฒนา ก็เข้ามาในยุคอัลบั้ม ท.ทหารอดทน ซี่งแม้จะมีช่วงที่เล็กและเทียรี่แยกตัวไป แต่สุดท้ายทั้งสองก็มาร่วมงานกับวงอีกครั้งในอัลบั้ม อเมริกันอันธพาล ในปี พ.ศ. 2541 แต่ถึงแม้จะมีการเข้าออกของสมาชิก แอ๊ดก็เป็นสมาชิกคนเดียวที่มีผลงานทุกยุคตลอด 40 กว่าปี
42 ปี กับ 29 อัลบั้มเต็ม
ตลอด 42 ปีที่ผ่านมา คาราบาวได้มีผลงานทั้งหมด 40 อัลบั้ม ทั้ง ขี้เมา ที่ออกวางจำหน่ายในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2524 มีเพลงดังติดหูคือ "ลุงขี้เมา" และ "หนุ่มสุพรรณ" หลังจากนั้นก็ออกผลงานสตูดิโออัลบั้ม อัลบั้มรวมเพลง และอัลบั้มพิเศษ มาอย่างต่อเนื่อง อีกมากมาย อาทิ แป๊ะขายขวด, วณิพก, ท.ทหารอดทน รวมถึงอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ อัลบั้มที่สร้างสถิติขายดีที่สุดและทำให้วงคาราบาวโด่งดังเป็นที่จดจำทั่วโลก จนมาถึง 40 ปี ฅนคาราบาว สตูดิโออัลบั้มล่าสุดลำดับที่ 29
เมดอินไทยแลนด์ กับสถิติล้านตลับ และเพลงที่ถูกห้ามออกอากาศ
ในปี 2527 อัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ได้ปล่อยออกมาประสบความสำเร็จหลักล้านก๊อปปี้ โดยมีเพลง "เมดอินไทยแลนด์", "ลูกหิน" "บัวลอย", "นางงามตู้กระจก" "มหาลัย", "ราชาเงินผ่อน" ที่หลายคนคุ้นเคย รวมถึงเพลง "หำเทียม" ที่ถูก คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือ กบว. ห้ามออกอากาศ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีอัลบั้ม "ท.ทหารอดทน", "ทินเนอร์" จากอัลบั้ม ท.ทหารอดทน ที่เจอเหตุการณ์เดียวกัน
คลิกชมคลิปได้ที่นี่
ทำโดยคนไทย คอนเสิร์ตคนดูเกินครึ่งแสน (แต่เล่นไม่จบ)
ความสำเร็จของชุด เมด อิน ไทยแลนด์ นำพาสู่คอนเสิร์ต ทำโดยคนไทย ของวงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ซึ่งมีผู้ชม 60,000 คน ณ เวโลโดรม หัวหมาก โดยแม้จะเกิดเหตุการณ์คนปีนนั่งร้านที่อันตราย และการตีกัน จนงานต้องจบก่อนกำหนดการเดิม แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นโมเมนต์ในความทรงจำหลายคน
ปู พงษ์สิทธิ์ ทำอัลบั้ม คารวะคาราบาว ตีความเพลงใหม่ของวง
ท่ามกลางศิลปินที่เป็นแฟนเพลง หนึ่งในคนที่ชื่นชอบวงคาราบาว ก็คือ ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ที่ตัดสินใจทำอัลบั้ม คารวะคาราบาว ที่เป็นการนำเพลงวง คาราบาว มาร้องใหม่ อาทิ "ลุงขี้เมา", "ลูกหิน", "รักคุณเท่าฟ้า", "หนุ่มสุพรรณ", "จับกัง" และอีกหลายผลงาน และยังทำเอ็มวีออกมาให้แฟนๆ ได้ชมปี 2020 ด้วย เรียกได้ว่าการเกิดขึ้นของคาราบาวเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนเลย
คลิกฟังเพลง วณิพก - ปู พงษ์สิทธิ์
คอนเสิร์ตใหญ่ 40 ปี ขายบัตรหมด
ล่าสุดวงคาราบาว ได้มีคอนเสิร์ต เครื่องดื่มคาราบาว พรีเซนต์ คอนเสิร์ต 40 ปี คาราบาว ซึ่งงานครั้งนี้ได้รับการตอบรับไม่ธรรมดา จนสามารถขายบัตรหมดไปแล้ว ซึ่งงานนี้ เล็ก คาราบาว เผยว่าจะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่สุดท้ายของวง โดยมี “แอ๊ด” ยืนยง โอภากุล, “เล็ก” ปรีชา ชนะภัย, “รี่” เทียรี สุทธิยง เมฆวัฒนา, “อ๊อด” เกริกกำพล ประถมปัทมะ, “ดุก” ลือชัย งามสม, “หมี” ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ, “โก้” อัทธนันต์ ธนอรุณโรจน์ และ “อ้วน” ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย ขึ้นแสดง
และนี่คือสถิติน่าทึ่งและหลายเรื่องราวของวงคาราบาวที่หลายคนไม่รู้ และถึงแม้ว่าจะมีการแยกย้ายทำงาน แต่แอ๊ดและเล็กได้ยืนยันว่าจะทำผลงานต่อ ซึ่งเราต้องมาติดตามว่าทั้ง 2 และสมาชิกที่เหลือจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์
คุณกำลังดู: ประวัติ "คาราบาว" และ 6 เรื่องน่าทึ่งของวงก่อนจะเป็นตำนาน
หมวดหมู่: เพลง