ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไร ถึงเป็น "เบาหวาน"

ตรวจค่าน้ำตาลในเลือดกันได้เท่าไร เสี่ยงเบาหวานกันหรือยัง

ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไร ถึงเป็น "เบาหวาน"

นอกจากค่าไขมันในเลือดที่เราควรให้ความสำคัญในแต่ละครั้งที่เราตรวจสุขภาพแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดก็สำคัญเช่นกัน เพราะสามารถบ่งบอกถึงระดับความเสี่ยงโรคเบาหวานได้ด้วย

รศ. พญ.ลลิตา วัฒนะจรรยา แพทย์ประจำศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเบาหวาน ฮอร์โมนและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อวินิจฉัยเบาหวานที่ใช้ทั่วไป มี 3 วิธี คือ

  1. ระดับน้ำตาลในเลือด หลังจากอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ได้ค่าตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป
  2. ระดับน้ำตาลในเลือด ณ เวลาใดก็ได้ ได้ค่าตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ร่วมกับมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชัดเจน เช่น หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักตัวลดลง
  3. ระดับน้ำตาลสะสม ณ เวลาใดก็ได้ ได้ค่าตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป

กรณีที่ไม่มีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชัดเจน ให้ทำการตรวจซ้ำอีก 1 ครั้ง เพื่อยืนยันการวินิจฉัยกรณีที่พบความผิดปกติในข้อ 1 และ 3 ร่วมกัน สามารถวินิจฉัยเบาหวานได้เลย แม้ไม่มีอาการที่ชัดเจน

4 วิธีลดน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร ในผู้ป่วยเบาหวาน

ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำวิธีลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร สำหรับผู้ป่วยเบาหวานเอาไว้ ดังนี้

  1. งดของหวาน งดขนม อาหาร เครื่องดื่มรสหวานจัด รสชาติหวานพอดี คือ รสชาติหวานจากการเคี้ยวข้าว รสชาติหวานพอเพียง เป็นรสหวานตามธรรมชาติ
  2. กินผักใบเขียว กินผักใบเขียวอย่างน้อย 1 ฝ่ามือในทุกมื้ออาหาร ผักใบเขียวจะช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาล
  3. เคี้ยวจนเพลิน ใน 1 คำ อาหารให้เคี้ยวอย่างน้อย 15 ครั้งก่อนกลืน
  4. เดินหลังอาหาร หลังกินอาหาร 15 นาที ควรเคลื่อนไหวใช้พลังงาน ด้วยการเดิน 15 นาที เมื่อเราใช้กล้ามเนื้อ พลังงาน (น้ำตาล) จะถูกนำไปใช้ ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารก็จะไม่สูงเกินไป (กล้ามเนื้อขาใหญ่กว่าแขน กล้ามเนื้อใหญ่กว่าใช้พลังงานมากกว่า จึงแนะนำให้เดิน)

หากอยากกินผลไม้ อ. นพ.วิทวัส แนววงศ์ แพทย์ประจำศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเบาหวาน ฮอร์โมนและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำผลไม้น้ำตาลต่ำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ ชมพู่ ฝรั่ง แอปเปิ้ล แก้วมังกร และ มันแกว โดยรับประทานได้ 3-4 ส่วน แบ่งรับประทานครั้งละ 1 ส่วน อาจจะเป็นของว่างระหว่างมื้อ หรือแทนของหวานหลังมื้ออาหาร

คุณกำลังดู: ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไร ถึงเป็น "เบาหวาน"

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว