รำลึก “สุรินทร์ ภาคสิริ” คีตกวีที่ราบสูง ผู้สร้างแผ่นดินอีสานด้วยเสียงเพลง

งานเสวนา “คิดถึง “ทิดโส” คีตกวีที่ราบสูง” ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565เป็นการรวมตัวกันของลูกศิษย์และแฟนเพลงที่รักในผลงานของสุรินทร์ เพื่อมาร่วมกันรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของครูเพลง ผู้ให้กำเนิด “ลูกทุ่งอีสาน” ของเมืองไทย

รำลึก “สุรินทร์ ภาคสิริ” คีตกวีที่ราบสูง ผู้สร้างแผ่นดินอีสานด้วยเสียงเพลง

Highlight

  • สุรินทร์ ภาคสิริ คือครูเพลงผู้สร้างสรรค์บทเพลงดังมากมาย และเป็นนักปั้นนักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงมาประดับวงการหลายคน ทั้งยังเป็น “นักจัดรายการวิทยุ” ที่รู้จักกันในชื่อ “ทิดโส สุดสะแนน” ผู้ใช้ภาษาอีสานจัดรายการวิทยุ ในช่วงเวลาที่มีการห้ามใช้ภาษาท้องถิ่นในสื่อกระแสหลัก
  • สุรินทร์เป็นนักแต่งเพลงที่สามารถจับเนื้อเพลงภาษาไทย ลงในทำนองเพลงแขก ไทย จีน ฝรั่ง ลาว และยังใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ทำให้บางเพลงที่เกิดจากปลายปากกาของสุรินทร์กลายเป็น “อมตะ” จนถึงทุกวันนี้ เช่น หนาวลมที่เรณู วอนลมฝากรัก หรือเพิ่งนครพนม เป็นต้น
  • สุรินทร์จากไปเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจึงจัดงานเสวนา “คิดถึง “ทิดโส” คีตกวีที่ราบสูง” เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 เพื่อร่วมรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของครูเพลง ผู้ให้กำเนิด “ลูกทุ่งอีสาน” ของเมืองไทย

การจากไปของ “สุรินทร์ ภาคสิริ” เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา สร้างความเศร้าโศกให้กับคนในวงการลูกทุ่งและแฟนเพลงเป็นอย่างมาก เพราะความสามารถที่หลากหลายของเขา สุรินทร์คือ “ครูเพลง” ผู้สร้างสรรค์บทเพลงดังมากมาย เช่น หนาวลมที่เรณู อีสานเพลิน และวอนลมฝากรัก เช่นเดียวกับเป็นผู้ปั้นนักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงมาประดับวงการหลายคน ไม่ว่าจะเป็นอังคนางค์ คุณไชย, พิมพา พรศิริ, และสมธิ สมมาตร นอกจากนี้ เขายังเป็น “นักจัดรายการวิทยุ” ที่รู้จักกันในชื่อ “ทิดโส สุดสะแนน” ผู้ใช้ภาษาอีสานจัดรายการวิทยุ ในช่วงเวลาที่มีการห้ามใช้ภาษาท้องถิ่นในสื่อกระแสหลัก 

ยังมีอีกหลายบทบาทของสุรินทร์ ภาคสิริ ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ เขาเป็นทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ พิธีกรรายการโทรทัศน์ และพัสดีในเรือนจำ ที่อุทิศทั้งชีวิตของเขาไปกับเสียงเพลง และงานเสวนา “คิดถึง “ทิดโส” คีตกวีที่ราบสูง” ที่จัดขึ้น ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 จึงเป็นการรวมตัวกันของลูกศิษย์และแฟนเพลงที่รักในผลงานของสุรินทร์ เพื่อมาร่วมกันรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของครูเพลง ผู้ให้กำเนิด “ลูกทุ่งอีสาน” ของเมืองไทย

ครูเพลงผู้มีเมตตา

“เมื่อพูดถึงครูสุรินทร์ ผมจะคิดถึงสุ้มเสียง ที่ถึงแม้ว่าครูจะไม่ใช่พระ แต่สุ้มเสียงของครูมีความเมตตามาก และท่านก็ให้ความรักความเมตตาผม ซึ่งเป็นคนอินเดีย แล้วมาร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ท่านให้ความรักเหมือนผมเป็นญาติสนิทมิตรแท้ของท่าน ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงของครู จึงเหมือนเสียงของพระที่น่าเคารพ และลืมไม่ได้” สุมิตร สัจจเทพ ลูกทุ่งภารตะคนแรกของเมืองไทย เริ่มต้นกล่าวถึงสุรินทร์ 

เช่นเดียวกับศิรินทรา นิยากร นักร้อง - นักแสดงที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสุรินทร์ ก็ชี้ว่า สุรินทร์คือครูที่มีความเมตตาและมีความอบอุ่นมอบให้เสมอ เปรียบเสมือน “พ่อ” ที่คอยห่วงใย คอยดูแล และมอบพลังให้เธอเสมอ สอดคล้องกับคำบอกเล่าของบุญเลิศ ช้างใหญ่ คอลัมนิสต์และอดีตบรรณาธิการ ที่สนิทสนมกับสุรินทร์ เมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิต ว่าสุรินทร์มีความเมตตาและความรักมอบให้ลูกศิษย์ทุกคนเสมอ 

“เมื่อเราได้คุยกับครูสุรินทร์ เราจะได้พบความเปรื่องปราชญ์ในมันสมอง และความสามารถของครูสุรินทร์ ผลงานการประพันธ์เพลงแต่ละเพลงที่ท่านได้สร้างสรรค์มาจึงยิ่งใหญ่ ดังนั้น ท่านสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่ท่านก็ไม่ได้รับโอกาสในส่วนนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แฟนเพลงลูกทุ่งที่ชื่นชอบและรักในผลงานของครูสุรินทร์ ยังคงคาใจอยู่” บุญเลิศกล่าว 

ผู้ให้กำเนิดลูกทุ่งอีสาน

“ครูสุรินทร์คือนักเขียนที่ใช้ภาษาได้สวยงาม แล้วเป็นคนที่ให้ที่อยู่ที่ยืนกับคำว่า “ลูกทุ่งอีสาน” หมุดหมายสำคัญก็คืออังคนางค์ คุณไชย คือเพลง “อีสานลำเพลิน” ทำให้เกิดคำว่าลูกทุ่งอีสาน ทำให้นักร้องอีสานทีพื้นที่ได้ยืน ครูยังเป็นสุดยอดนักจัดรายการอีสานที่กล้าหาญชาญชัย เอาคำอีสานมาใช้ ท่ามกลางการห้ามใช้ ในนามของ “ทิดโส สุดสะแนน” นักจัดรายการและโฆษกวิทยุอันดับหนึ่งของอีสาน” มหาชินวัต ตั้งสุทธิจิต พิธีกรรับเชิญในงานเสวนา ร่วมเล่า 

ตลอดชีวิตของสุรินทร์ เขามีบทบาทที่หลากหลาย ทั้งรับหน้าที่เป็นพัสดี คุมนักโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นนักจัดรายการวิทยุ และเป็นนักแต่งเพลง ซึ่งชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จัก ในช่วงปี พ.ศ. 2511 อย่างไรก็ตาม เมืองไทยในช่วงเวลานั้น ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายของแต่ละภูมิภาค ทำให้มีปัญหาเรื่องการดูถูกคนในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะชาวอีสาน 

“แต่ต่อมาโลกมันเปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยน ไม่ว่าคนจะเกิดที่ไหน เพศใด สถานะใด นับถือศาสนาใด ความเป็นคนก็มีเท่ากัน แล้วครูสุรินทร์ก็เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี ท่านโตที่นั่น ซึมซับวัฒนธรรมอีสาน ปัญหาโดนเหยียดก็เลยอยู่ในใจของท่านมาตลอด เมื่อมีโอกาสมานั่งจัดรายการวิทยุ ท่านก็เลยกล้าที่จะริเร่ิมสิ่งใหม่ขึ้นมา ด้วยการจัดรายการที่ใช้ภาษาอีสาน เพื่อให้คนอีสานที่เข้ามาทำงานอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ได้ภูมิใจในภาคอีสาน ในที่ราบสูงของเรา แม้ว่าจะเป็นดินแดนที่แห้งแล้งกันดารและยากจน แต่วัฒนธรรมและความเป็นท้องิ่น ความพื้นบ้านของเราก็มีลักษณะเฉพาะที่เราควรภูมิใจ และครูสุรินทร์ก็ทำสำเร็จ” บุญเลิศระบุ 

ด้านอังคนางค์ คุณไชย นักร้องหมอลำ ที่แจ้งเกิดได้จากความช่วยเหลือของสุรินทร์ ก็เล่าย้อนกลับไปถึงช่วงอัดเพลง “อีสานลำเพลิน” ที่ทำให้เธอกลายเป็นนักร้องอย่างเต็มตัว ด้วยลีลา “การโอ่” ที่สุรินทร์คอยแนะนำและช่วยเหลือ 

“สมัยก่อนเขาอัดดนตรีสด ร้องไม่ได้ก็เอาใหม่ ทำแบบนี้ทั้งวันทั้งคืน ท่านก็ยืนคุม บอกให้เราโอ่ไม่ซ้ำใคร เราก็คิดว่าจะโอ่ยังไงน้อ เรายังเป็นหมอลำเด็กอยู่เลย โอ่ไม่เป็น ท่านก็ช่วยดูแล บอกว่าต้องโอ่แบบนี้ เล่นลูกคอเยอะ ๆ แล้วท่านก็ดูแลเราอยู่แบบนั้น” อังคนางค์เล่า 

นอกเหนือจากเป็นครูเพลงที่ให้กำเนิดลูกทุ่งอีสาน สุรินทร์ยังได้รับฉายา “ราชสีห์แห่งอีสาน” ผู้สร้างแผ่นดินอีสานด้วยบทเพลง ทั้งยังถูกยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ 2 ฝั่งโขง เพราะเพลงของสุรินทร์ถูกคนจากสองฝั่งโขงนำไปขับร้อง จึงกล่าวได้ว่า เนื้อเพลงของสุรินทร์ไร้พรมแดน และนี่คือความยิ่งใหญ่ของชายคนนี้

ผู้สนับสนุนและให้โอกาสเสมอ

“ในยุคนั้น ผมเป็นคนอินเดียคนเดียวที่ชอบฟังเพลงไทยลูกทุ่งก็ว่าได้ แล้วก็ชอบมาก ๆ ใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้องตั้งแต่เริ่มจำความได้ แล้วก็ฟังเพลงไทยลูกทุ่งมาจากนักร้องครูบาอาจารย์รุ่นเก่า ๆ จนวันหนึ่งได้ยินในรายการวิทยุว่ามีการประกวดร้องเพลง แล้วครูสุรินทร์ ภาคสิริ เป็นกรรมการตัดสินในวันนั้น ผมก็บุกเข้าไป บอกครูว่าผมอยากขอร้องเพลงไทยลูกทุ่งโชว์ได้ไหม พอร้องเสร็จ ครูก็บอกว่าร้องได้ดี คนก็ปรบมือกัน แล้วครูก็มาบอกผมว่า ให้ขยันซ้อมนะ มีโอกาส” สุมิตรบอก 

สุมิตรถือเป็นลูกทุ่งภารตะคนแรกของประเทศไทย ที่แจ้งเกิดได้จากปลายปากกาของสุรินทร์ ในบทเพลง “หนี้กรรม” ที่สุมิตรมีโอกาสได้ร้องคู่กับยุพิน แพรทอง นอกจากนี้ ยังมีนักร้องชื่อดังของเมืองไทยอีกหลายคน ที่ได้โอกาสเฉิดฉายในวงการเพลงลูกทุ่ง ด้วยความช่วยเหลือและสนับสนุนจากสุรินทร์ และหนึ่งในนั้นคือศิรินทรา ที่ได้ร่วมงานและมีความใกล้ชิดกับสุรินทร์ จนถึงช่วงสุดท้ายในชีวิต 

“วันหนึ่งครูบอกว่า ทราร้องเพลงอีสานบ้างดีกว่า ครูก็รวมเพลงของครูเพลงที่สนิทกันมาให้ทราร้อง เช่น รำกล่อมทุ่ง อีสานลำเพลิน พี่จ๋าหลับตาไว้ และไร่อ้อยรอยช้ำ คือรวมกันอยู่ในชุดนี้ ซึ่งเป็นอะไรที่เรารู้สึกมีความสุขมาก ๆ นี่คือสิ่งที่เราได้สัมผัสและเรียนรู้ว่า ครูอยากให้เราได้ทำงาน ครูจะมองตรงนี้ตลอดเลย อยากเห็นความสำเร็จของเรา นี่คือความเป็นครูสุรินทร์ ที่จะมองลูกศิษย์ทุกคนด้วยความห่วงใย อยากให้ทุกคนประสบความสำเร็จ มีเพลงที่ดัง และมีคนชื่นชอบ นี่จึงเป็นความคิดของครูที่ไม่เคยหยุด ในช่วงที่ครูมีชีวิตอยู่” ศิรินทราชี้ 

ราชานักแต่งเพลงนานาชาติ 

นอกเหนือจากเหล่าลูกศิษย์ที่รักและเคารพสุรินทร์แล้ว งานเสวนาวันนั้นยังได้รับเกียรติจาก “วัลภา ภาคสิริ” หรือ “สาวอุบล คนโก้” คู่ชีวิตของสุรินทร์ ที่มาเล่าย้อนวันวานเมื่อครั้งที่ทั้งคู่ยังเป็นนักจัดรายการวิทยุ 

“ครูเขาเป็นคนไม่หวงวิชา แล้วแต่ลูกศิษย์จะรับได้มากขนาดไหน เขาจะให้หมด เวลานั่งรถออกไปธุระด้วยกัน ครูก็จะเตรียมเพลงไว้ในรถเพื่อจะเปิดฟัง แล้วเราก็จะคุยกันว่า เพลงนี้ใครแต่ง เพลงนี้คือเพลงอะไร ถ้าคุยเรื่องเพลงคือคุยได้ทั้งวัน แต่อย่าไปคุยเรื่องอื่น ครูจะไม่รู้เรื่อง และชีวิตของครูอยู่ที่สารพันลั่นทุ่ง มันคือสถานที่และเวทีที่ครูได้ปล่อยวิชาทุกอย่างที่มีอยู่ ตอนนี้ก็มีอีกตั้งเยอะ แต่เสียชีวิตไปก่อน” วัลภากล่าว 

เพราะเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถจับเนื้อเพลงภาษาไทย ลงในทำนองเพลงแขก ไทย จีน ฝรั่ง ลาว และยังใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ทำให้บางเพลงที่เกิดจากปลายปากกาของสุรินทร์กลายเป็น “อมตะ” จนถึงทุกวันนี้ เช่น หนาวลมที่เรณู วอนลมฝากรัก หรือเพิ่งนครพนม เป็นต้น 

“ครูไม่ได้ไปไหน ครูยังอยู่กับพวกเราตลอดเวลา ตราบใดที่มีคนเปิดเพลงหนาวลมที่เรณู ยังมีคนร้องเพลงวอนลมฝากรัก นั่นคือคำของสุรินทร์ยังได้ทำงาน ได้มีชีวิต และได้มีวิญญาณอยู่” มหาชินวัตกล่าวปิดท้าย

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ รำลึก “สุรินทร์ ภาคสิริ” คีตกวีที่ราบสูง ผู้สร้างแผ่นดินอีสานด้วยเสียงเพลง

คุณกำลังดู: รำลึก “สุรินทร์ ภาคสิริ” คีตกวีที่ราบสูง ผู้สร้างแผ่นดินอีสานด้วยเสียงเพลง

หมวดหมู่: เพลง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด