“ร้านอาหารเที่ยงคืน & อิซากายะ โบตากูริ” ซีรีส์วิถีชีวิต...Soft Power โมเดล

“ร้านอาหารเที่ยงคืน & อิซากายะ โบตากูริ” ซีรีส์วิถีชีวิต...Soft Power โมเดล

ทุกปีในเดือนสิงหาคม เป็นช่วงฤดูร้อนและการเริ่มต้นของเทศกาลดอกไม้ไฟและพลุในญี่ปุ่น ที่คนไทยห่างหายจากเทศกาลเหล่านี้มากว่า 2 ปี จะว่าไปก็เริ่มคิดถึงญี่ปุ่นขึ้นมาอย่างหนักเลยทีเดียว ประกอบกับช่วงนี้ เดินไปทางไหนก็มีคนพูดถึงแต่คำว่า Soft Power แต่อธิบายเป็นรูปธรรมได้ยากว่า Soft Power หรืออำนาจอย่างอ่อนที่มีพลังดึงดูดมหาศาลนั้น หน้าตา สีสันเป็นอย่างไร

เอาแบบให้เข้าใจง่ายๆ ก็ขอยกตัวอย่าง Soft Power เล็กๆของญี่ปุ่น จากซีรีส์ดังที่พัฒนามาจากการ์ตูนมังงะและเรื่องราวในหนังสือที่ใช้การเดินเรื่องผ่านร้านอาหารธรรมดาๆตามวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น 2 เรื่อง ที่ชื่อ Midnight Diner : Tokyo Stories หรือร้านอาหารเที่ยงคืน และ Izakaya Bottakuri

ซีรีส์ทั้งสองเรื่อง ใช้การเดินเรื่องและฉากเป็นร้านอาหาร ร้านอาหารเที่ยงคืน หรือ Midnight Diner : Tokyo Stories เล่าเรื่องผ่านร้านอาหารเล็กๆในซอกหลืบของความเจริญในย่านชินจุกุ ความสนุกและน่าสนใจของร้านอาหารร้านนี้ เริ่มตั้งแต่เวลาการเปิดร้านในตอนเที่ยงคืนและปิดตอนเจ็ดโมงเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่หลับนอนกลับบ้านกันหมดแล้ว

แม้จะเป็นร้านอาหาร แต่ซีรีส์เรื่องนี้ใช้อาหารเป็นเพียงพล็อตในการนำไปสู่เรื่องราวของผู้คนที่เป็นลูกค้าของร้านอาหารเที่ยงคืน ที่มีเจ้าของร้านเป็นชายวัย 60 ที่มีรอยแผลเป็นอยู่บนใบหน้า แต่ละตอนของซีรีส์จะเล่าเรื่องชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว ตั้งแต่ยากูซ่า เจ้าของบาร์เกย์ นักมวย นางระบำเปลื้องผ้า แก๊งสาวโสด นักเรียนนักศึกษาที่อ่านหนังสือจนดึกดื่น หรือแม้แต่นักแสดงหนังเอวี ฯลฯ

เรื่องราวตลอด 20 นาทีของซีรีส์ดำเนินไปอย่างน่าสนใจ บางประโยค บางบทสนทนาเผยให้เห็นถึงปมในใจของมนุษย์ ที่มีทั้งความเศร้า ความเหงา ความว้าเหว่ ความเจ็บปวด ความอบอุ่น รวมไปถึงความทรงจำที่ดี ก่อนจะปิดท้ายด้วยการสาธิตการทำอาหารในเมนูเด่นของแต่ละตอน

พลังอย่างอ่อนๆ หรือ Soft Power ที่คนทำซีรีส์เรื่องนี้พยายามสื่อก็คือ การใช้อาหารเป็นสะพานเชื่อมไปสู่เรื่องราวและความทรงจำของคนแต่ละคน แถมระหว่างทางของการเล่าเรื่องยังสอดแทรกวิธีคิด วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นได้อย่างแนบเนียน ที่บอกเลยว่า ยังไม่เคยเห็นหนัง ละคร หรือซีรีส์ของไทยจะทำได้ขนาดนี้

จริงๆซีรีส์เรื่องนี้โด่งดังมานานแล้ว ญี่ปุ่นสร้างไว้ตั้งแต่ปี 2009 โดยนำเค้าโครงเรื่องมาจากมังงะชื่อร้านอาหารเที่ยงคืน และถูก Remake ไปใน 4 ประเทศ คือ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน และเกาหลี สะท้อนถึงความสำเร็จของการทำ Soft Power ผ่านละครซีรีส์สั้นๆตอนละไม่เกิน 20 นาที แต่สามารถดึงดูดผู้ชมให้หลงใหลวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ส่วนซีรีส์อีกเรื่องก็เป็น Soft Power น่ารักๆ ที่สร้างจากมังงะเช่นเดียวกัน เป็นเรื่องราวของมิเนะ (Mine) และคาโอรุ (Kaoru) สองสาวพี่น้องที่จำต้องรับช่วงกิจการร้านอิซากายะต่อจากที่บ้าน โดยทั้งคู่ตั้งใจสานต่อเจตนารมณ์ของพ่อ ผู้ต้องการปรุงเมนูอาหารง่ายๆ บ้านๆ ให้อร่อยล้ำจนลูกค้าที่มามีรอยยิ้มกลับไป เนื้อหาแต่ละตอนจึงโยงอาหารเข้ากับเรื่องราวของลูกค้าขาประจำ หรือคนในชุมชนที่มักนำปัญหาชีวิตมาระบายเล่าสู่กันฟัง เรียกว่าเป็นพื้นที่เปิดของการพูดคุย update ชีวิตของคนในชุมชน

แต่ที่เก๋และมีเสน่ห์เห็นจะเป็นการ Tie in โฆษณาสาเก เหล้าที่ทำจากข้าวเป็นเอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่นในทุกๆตอน เข้าใจว่าน่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดของญี่ปุ่น เรียกว่าดูซีรีส์เรื่องนี้แล้ว ทำให้อยากเดินสายไปจิบสาเกเบาๆในจังหวัดต่างๆของญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ดูเผินๆทั้ง Midnight Diner : Tokyo Stories และ Izakaya Bottakuri ก็อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ถ้าสัมผัสดีๆจะเห็นความต่างอยู่เล็กน้อย ตรงที่ Midnight Diner สื่อถึงวิถีคนเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยปัญหาและความเหงา โดยมีเมนูโปรดของตัวละครเป็นสื่อกลาง แต่ Izakaya Bottakuri แฝงไปด้วยความอบอุ่น ความช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชน ผ่านจานอาหารที่มิเนะตั้งใจทำโดยเฉพาะ Izakaya Bottakuri ฉายในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2018 แต่เพิ่งเข้าสู่สตรีมมิง Netflix เมื่อปี 2021 นี้เอง

เสน่ห์อีกอย่างของซีรีส์ 2 เรื่องนี้ คือ “บท” เช่น บทเริ่มต้นในทุกตอนของ Midnight Diner

“ในแต่ละวันที่หมดลงไป ผู้คนจะพากันกลับบ้าน วันของเราก็จะเริ่มขึ้น เมนูก็มีเท่านี้ ที่เหลือถ้าทำได้ก็จะเสิร์ฟให้...” หรือในอิซากายะ “เราทุกคนล้วนต้องการอาหารอร่อย และพื้นที่เล็กๆไว้เติมพลัง”

อารมณ์ในการดูหนัง 2 เรื่องนี้ เหมือนจะคล้ายกันแต่ก็มีความต่าง บรรยากาศในร้านโบตากูริ ของมิเนะ ดูจะเต็มไปด้วยความอบอุ่น ความสุข และความสัมพันธ์ ผ่านการปรุงอาหารด้วยหัวใจทุกจาน แต่สำหรับร้านอาหารเที่ยงคืน ของ “คุณเจ้าของร้าน”ที่ไม่เคยมีใครรู้จักชื่อ จะเป็นบรรยากาศของการปรับทุกข์ บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตคนแต่ละคน รวมถึงทางออกในการแก้ปัญหาแต่ละเรื่องในวิถีแบบญี่ปุ่นๆ

จริงๆก็อยากแนะนำให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่อยากจะทำ Soft Power ดูซีรีส์ 2 เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง เพื่อให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า Soft Power และความฉลาดของคนญี่ปุ่นในการเผยแพร่วัฒนธรรมได้อย่างยอดเยี่ยม ก่อนที่จะวางนโยบายและยุทธศาสตร์ในการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทยไปต่อยอดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ให้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต.

คุณกำลังดู: “ร้านอาหารเที่ยงคืน & อิซากายะ โบตากูริ” ซีรีส์วิถีชีวิต...Soft Power โมเดล

หมวดหมู่: เที่ยว-กิน

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด