รับมือเมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำตัวไม่น่ารัก

รับมือเมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำตัวไม่น่ารัก

ปัญหาลูกทำตัวไม่น่ารัก เหวี่ยงวีน อาละวาด ก้าวร้าว ดื้อ ซน เอาแต่ใจ เมื่อไรที่ไม่ได้ดั่งใจจะต้องร้องไห้กระจองอแง หรือลงไปชักดิ้นชักงอที่พื้น โดยอาการจะหนักขึ้นเมื่อพ่อแม่พาออกไปนอกบ้าน น่าจะเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ สำหรับผู้ปกครองเกือบทุกบ้านที่สร้างความหนักอกหนักใจเสมอมา เพราะปัญหาที่ว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่นแล้ว หากผู้ปกครองไม่มีวิธีกำราบที่ถูกต้องและเหมาะสม พฤติกรรมไม่น่ารักแบบนี้จะติดตัวเด็กไปจนโต และเติบโตไปเป็นคนที่ “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” ได้ในที่สุด

ด้วยความที่เด็กนั้นยังไร้เดียงสา ยังไม่รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ รวมถึงการที่เด็กต้องการความสนใจจากพ่อแม่ จึงทำอะไรตามใจที่ตัวเองอยากจะทำ ซึ่งการที่เด็กอยากจะลองทำทุกอย่างถือเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เมื่อทำแล้วได้รับปฏิกิริยาตอบสนองในแบบที่ตัวเองต้องการ เด็กก็จะทำพฤติกรรมที่ว่าจนติดเป็นนิสัย ในส่วนของการเรียนรู้นี้ ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง อย่างแรก พ่อแม่ต้องควบคุมลูกให้ได้ และอย่างต่อมา การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมที่โตมา การเลี้ยงดู การดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ดังนั้น หากผู้ปกครองสามารถแนะนำ ชี้แนะ หรือเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กได้ เด็กก็จะเรียนรู้ และซึมซับพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้นมาเพื่อเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพได้อย่างแน่นอน

เด็กก้าวร้าวแสดงออกอย่างไร

เด็กแต่ละวัยมีวิธีการแสดงออกความก้าวร้าวที่ไม่เหมือนกัน ในเด็กวัยทารก จะแสดงออกเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางร่างกาย เช่น เมื่อรู้สึกหิว หงุดหงิด หรือรู้สึกไม่สบายตัว เด็กก็จะร้องไห้ทันที ในเด็กวัยเตาะแตะ จะแสดงความต่อต้านโดยการลงไปนอนดิ้นกับพื้น ทุบตีพ่อแม่ ทำร้ายตัวเอง ส่วนในวัยอนุบาล เด็กจะเริ่มแสดงความก้าวร้าวออกมาทางคำพูด อาจมีคำพูดหยาบคาย คำพูดทำให้พ่อแม่เสียใจ เช่น ไม่รักพ่อแม่แล้ว ไล่พ่อแม่ไปไกล ๆ ไม่ว่าเด็กในวัยไหนจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมายังไง พ่อแม่ก็ควรต้องรู้ว่าทำไมลูกถึงมีพฤติกรรมไม่น่ารัก ต้องมีวิธีการจัดการ และต้องหยุดพฤติกรรมนี้ของเด็กให้ได้ เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมของเด็กให้ดีขึ้น

กลไกของพฤติกรรมไม่น่ารักในเด็กเกิดจากอะไร

  • เกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรมทั้งจากบุคคลในครอบครัว โรงเรียน สังคมใกล้ชิด และสื่อต่าง ๆ
  • เกิดจากการขาดการเรียนรู้และฝึกฝนให้ควบคุมอารมณ์โกรธด้วยวิธีที่เหมาะสม
  • เด็กที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงบ่อย ๆ จะเกิดความกลัว จึงพยายามต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเอง และใช้ความก้าวร้าวในการแก้ปัญหา

วิธีจัดการเด็กมีพฤติกรรมไม่น่ารัก สำหรับเด็กวัยเตาะแตะ

  • พ่อแม่ต้องสงบสติอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ควรจัดการปัญหาขณะมีอารมณ์โกรธเพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง หากยังระงับอารมณ์ตนเองไม่ได้ ให้แยกตัวออกมาจากสถานการณ์ตรงหน้าก่อน เมื่อควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีแล้วจึงค่อยจัดการปัญหา ไม่ควรลงโทษเด็กขณะกำลังร้องอาละวาด
  • หาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก หรือชวนเด็กไปทำกิจกรรมอื่นแทน เด็กเล็กจะยิ่งเบี่ยงเบนได้เร็วและง่ายขึ้น
  • ใช้การเพิกเฉย ในกรณีที่เด็กอาละวาดไม่รุนแรง เช่น ร้องไห้ เตะขา กรีดร้อง พูดหยาบคาย หรือมีคำพูดที่ทำให้ไม่สบายใจ ให้พ่อแม่ยืนดูเฉย ๆ อยู่ใกล้ ๆ ไม่ต้องพูดอะไร รอจนกว่าเด็กจะสงบจึงเข้าไปกอด ปลอบและพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและวิธีแก้ไขหากมีครั้งต่อไป หลีกเลี่ยงการให้ความสนใจทั้งทางบวกและทางลบ
  • หยุดพฤติกรรมทันทีเมื่อมีการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น หรือทำลายข้าวของ พ่อแม่ช่วยล็อกตัวเด็ก โดยจับแขนของเด็กไพล่หลัง เอาหลังเด็กชนกับหน้าอกของพ่อแม่ ล็อกไว้จนกว่าเด็กจะสงบ หรืออาจใช้วิธีเข้ามุมในเด็กโต
  • หลีกเลี่ยงการตามใจเพื่อหยุดการร้องอาละวาด เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่าวิธีนี้ทำให้ตนเองได้สิ่งที่ต้องการ
  • ควรทำด้วยความสม่ำเสมอ ไม่ลังเลกับคำสั่ง/กฎที่พ่อแม่ตั้งไว้ เพราะจะทำให้เด็กสับสนว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้

วิธีจัดการเด็กมีพฤติกรรมไม่น่ารัก สำหรับเด็กอนุบาลและเด็กวัยเรียน

  • ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก แต่ไม่ยอมรับพฤติกรรมก้าวร้าว ฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์โกรธ หรือไประบายออกทางอื่นอย่างเหมาะสม
  • สอนเด็กให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักสิทธิของตนเองและผู้อื่น ว่าถ้าตัวเองโดนแบบนี้บ้างจะรู้สึกอย่างไร
  • รับฟังเมื่อเด็กเล่าเหตุการณ์หรือแก้ตัวโดยยังไม่ด่วนสรุป
  • ไม่ใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดปมด้อยกับเด็ก เช่น “ดื้อ ซน นิสัยเสีย อันธพาล” ควรเน้นที่พฤติกรรมที่เด็กทำผิดเท่านั้น
  • ให้เด็กรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ทำลงไป เช่น ถ้าอาละวาดทำลายข้าวของ ก็ให้เด็กเก็บกวาด
  • ให้เด็กมีกิจกรรมที่ฝึกการควบคุมตนเอง เช่น การเล่นกีฬา การรับผิดชอบงานบ้าน การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
  • คอยสังเกตและป้องกันเหตุการณ์ที่คาดว่าเด็กจะแสดงอาการก้าวร้าว
  • ชมเมื่อเด็กคุมอารมณ์ตนเองได้และแสดงพฤติกรรมเหมาะสม

คุณกำลังดู: รับมือเมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำตัวไม่น่ารัก

หมวดหมู่: วัยรุ่น

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด