รู้จัก “ไต้หวัน” พื้นที่เล็กๆ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ ที่จีนอยากครอบครอง
ไต้หวัน เกาะเล็กๆ แห่งนี้มีศักยภาพอย่างไร เพราะเหตุใดจีนจึงอยากครอบครอง เรามาทำความรู้จักไปด้วยกัน
นาทีนี้ชื่อของ “ไต้หวัน” กลายเป็นที่ค้นหา และผู้คนทั่วโลกอยากรู้จัก เพราะเป็นหนึ่งในข้อพิพาทสำคัญระหว่าง 2 ขั้วประเทศมหาอำนาจอย่างจีน และสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เกาะเล็กๆ แห่งนี้มีศักยภาพอย่างไร ทำไมจีนจึงอยากเป็นเจ้าของ เรามาทำความรู้จักไปด้วยกัน
ไต้หวัน ไม่ใช่ประเทศ
หลายคนอาจคิดว่า ไต้หวัน เป็นประเทศ แต่ความจริงแล้วพื้นที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นเกาะเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจีน จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีน (Republic of China) แต่ขณะเดียวกันคนไต้หวันเองกลับไม่ยอมรับในสิ่งนี้ และพยายามเรียกร้องตลอดมาว่าตนเองคือ “ประเทศไต้หวัน”
ไต้หวัน ประกอบด้วยเกาะหลักเรียกว่า ไต้หวัน และยังมีเกาะเล็กๆ รายล้อมอีกมากมาย โดยมีพื้นที่รวมประมาณ 36,000 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่กว่าประเทศมาเลเซียประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดจึงทำให้ไต้หวันมีประชากรอาศัยค่อนข้างหนาแน่นถึง 23.5 ล้านคน และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก
ด้านตะวันตกของไต้หวันติดกับจีนแผ่นดินใหญ่ ด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับญี่ปุ่น และด้านใต้ติดกับฟิลิปปินส์ มีกรุงไทเปเป็นเมืองหลวง ส่วนไทเปใหม่เป็นเขตปกครองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ในพื้นที่กรุงไทเป และเป็นเขตซึ่งประชากรหนาแน่นที่สุดในเวลานี้ ภูมิประเทศของไต้หวันประกอบไปด้วยภูเขาถึง 2 ใน 3 ของเกาะทั้งหมด เมื่อวัดจากเขตพรมแดนจะมีขนาดยาว 390 กิโลเมตร กว้าง 140 กิโลเมตร
ทำไมจีนอยากได้ไต้หวัน
ต้นเหตุของการที่จีนอยากได้ไต้หวันไว้ในครอบครองไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ต้องย้อนไปถึงยุคก่อนมีสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว ซึ่งเดิมทีเกาะไต้หวันเป็นที่อยู่ของชาวพื้นเมือง ต่อมาได้มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่ย้ายมาอาศัยอยู่ด้วย จนกระทั่งในศตวรรษที่ 17 ได้มีชาวสเปนเข้ามาสำรวจ และมาตั้งบ้านเรือนจนเกิดเป็นชุมชนใหญ่
ต่อมาในปี 1662 ราชวงศ์หมิงในแผ่นดินใหญ่ถูกราชวงศ์ชิงแทนที่ เจิ้ง เฉิงกง ขุนศึกหมิง รวมกำลังหนีมาถึงเกาะไต้หวัน และเข้ารุกไล่ฝรั่งออกไปได้อย่างราบคาบ เขาจึงตั้งราชอาณาจักรตงหนิงขึ้นบนเกาะเพื่อ "โค่นชิงฟื้นหมิง" แต่ในปี 1683 ราชวงศ์ชิงปราบปรามอาณาจักรตงหนิงและเข้าครอบครองไต้หวันเป็นผลสำเร็จ ไต้หวันจึงกลายเป็นมณฑลหนึ่งของจีน ขณะเดียวกันความบาดหมางระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นได้ไต้หวันไปครองในปี 1895 ก่อนเสียไต้หวันคืนให้แก่จีนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในเวลานั้น มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีน พรรคก๊กมินตั๋ง ได้เป็นใหญ่ แต่ไม่นานก็เสียทีให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคก๊กมินตั๋งจึงหนีมายังเกาะไต้หวันและสถาปนา “สาธารณรัฐจีน” ขึ้นบนเกาะไต้หวันแยกต่างหาก ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะได้สถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” บนแผ่นดินใหญ่
ด้วยเหตุนี้ จีนจึงถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน และมีนโยบายรวมไต้หวันเข้ากับจีนเหมือนฮ่องกงและมาเก๊า จึงกำหนดให้ประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนต้องยึดมั่น “นโยบายจีนเดียว” คือ ถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงทำให้ไต้หวันมีผลกระทบทางการทูตกับประเทศต่างๆ เนื่องจากขาดการรับรองทางทูตอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสหประชาชาติ แต่ไต้หวันไม่ใช่สมาชิกอย่างเป็นทางการ หรือมีสถานภาพผู้สังเกตการณ์ ดังที่ไต้หวันไม่มีสถานเอกอัครราชทูตในไทย แต่มีสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand) ซึ่งหน้าที่เทียบเท่ากับสถานทูตของไต้หวันในไทยนั่นเอง
ศักยภาพของไต้หวัน เหมือนจะเล็กแต่ไม่เล็ก
แม้ว่าไต้หวันจะมีขนาดพื้นที่เล็กกว่าจีนหลายเท่าตัว แต่ศักยภาพนั้นไม่น้อยเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็น “เล็กพริกขี้หนู” ก็ว่าได้ ไต้หวันมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และปิโตรเคมี เศรษฐกิจไต้หวันมีจุดแข็งที่สำคัญจากนโยบายทางการเงินระดับมหภาค สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การกำกับดูแลที่โปร่งใสและมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ถัดจากจีน ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่นโยบายของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ให้ความสำคัญลำดับแรกกับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการมุ่งส่งเสริมนโยบาย New Southbound เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียนและเอเชียใต้มากขึ้น
สิ่งที่ทำให้ไต้หวันมีความโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดคือความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนและทุ่มเทงบประมาณด้านการศึกษาจำนวนมาก ทำให้ไต้หวันเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก และจำนวนการจดทะเบียนสิทธิบัตรต่างๆ เป็นรองเพียงสหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น อีกทั้งมีขีดความสามารถในการแข่งขันอันดับที่ 15 ของโลก บทบาทสำคัญของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ คือ การให้คำปรึกษาและจัดหาสิ่งจูงใจในการลงทุน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนสำหรับการตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเกือบ 100 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันวิจัยเทคโนโลยี (Industrial Technology Research Institute-ITRI) ที่ได้รับการยกย่องในการเป็นผู้นำของโลกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ดังนั้น อีกส่วนสำคัญที่ทำให้จีนอยากได้ไต้หวันก็คือ ศักยภาพด้านการผลิตเทคโนโลยีจนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงการมีพื้นที่รายล้อมด้วยทะเล ทำให้เป็นข้อดีต่อการส่งออก และต้องการครอบครองทะเลจีนใต้ด้วยนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล: สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, ศูนย์แนะแนวการศึกษาไต้หวัน ประจำประเทศไทยแนะนำกิจกรรมน่าสนใจใน "กุ้ยหลิน"
แนะนำกิจกรรมน่าสนใจใน "ไทเป"
Klook.comคุณกำลังดู: รู้จัก “ไต้หวัน” พื้นที่เล็กๆ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ ที่จีนอยากครอบครอง
หมวดหมู่: เที่ยว-กิน