โรโบคอป ตำรวจเหล็ก! สัมผัสแรก ทดสอบ HYUNDAI STARIA SEL

ทดสอบ HYUNDAI STARIA SEL รถตู้ MPV ประกอบเกาหลี เครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร 177 แรงม้า 431 นิวตันเมตร เกียร์ออโต้ 8 สปีด ราคา 1,999,000 บาท

โรโบคอป ตำรวจเหล็ก! สัมผัสแรก ทดสอบ HYUNDAI STARIA SEL

นานมาแล้วที่โลกของเราเคยมีรถ MPV อึดๆ อย่าง Hyundai H1 รถตู้ที่ทำตลาดมานานกว่า 10 ปี ด้วยความอยู่ยงคงกระพัน จากความนิยมที่สม่ำเสมอของลูกค้ารถตู้ในไทย ที่ชอบทั้งความอเนกประสงค์กับราคา ซึ่งเป็นค่าตัวที่พอจะรับได้ของยานยนต์ตู้จากเกาหลี ความทนทานของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังในรถ Hyundai H1 โดนใจลูกค้าไทยไม่น้อย โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร ที่ประหยัดและวิ่งใช้งานกันยาวๆ โดยไม่ค่อยก่อปัญหาระหว่างการเดินทาง สำหรับการมาถึงของ Hyundai Staria หมายถึงการต่อยอดความสำเร็จของรถรุ่นพี่ ด้วยการขับที่ดีกว่า! ว่ากันไปนั่นเลยทีเดียว นี่คือรถที่เข้ามาสานต่อความสำเร็จของHyundai H1 หลังจากทิ้งระยะห่างในการเปิดตัวรถตู้รุ่นใหม่นานกว่า 10 ปี ล่าสุด รถตู้อเนกประสงค์ Staria ที่นำเข้ามาขายโดย Hyundai Thailand ถือเป็นการทำตลาดต่อเนื่องจาก Hyundai H1 รถ MPV ที่ขายดีที่สุดของแบรนด์รถยนต์จากแดนกิมจิ ผู้บริหารของHyundai คาดหวังว่ารถตู้อเนกประสงค์รุ่นใหม่ที่มีหน้าตาสุดอวกาศคันนี้ จะเข้ามากำหนดมาตรฐานใหม่ของตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ในประเทศ

Hyundai Staria รุ่น S ราคา 1,729,000 บาท

Hyundai Staria รุ่น SEL ราคา 1,999,000 บาท (คันทดสอบ)

ถ้าคุณดูหนังไซไฟเรื่องRoboCop คุณจะคุ้นเคยกับหน้าตาของหุ่นยนต์ตำรวจที่มีความคล้ายกับด้านหน้าของรถ Staria ไฟหรี่กลางวัน LED Daytime Running Light คาดยาวไปจนถึงแก้มข้าง เป็นสไตล์การออกแบบที่ล้ำไปในอนาคต จากด้านหน้าที่ถูกกำหนดโดยหลักอากาศพลศาสตร์ที่ช่วยลดแรงต้านของกระแสลม Hyundai Staria ใช้การออกแบบภายนอกที่แหวกแนวสุดๆ เรียกว่าไม่ชอบก็ดูแปลกกันไปเลยทีเดียว ใบหน้าที่คล้ายรถต้นแบบ ก่อนการผลิตจริง รูปลักษณ์ของ Staria แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากรถ MPV ต้นแบบแนวคิดที่ถูกเปิดเผยไปก่อนหน้านี้ แน่นอนว่า อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและระบบความปลอดภัย รวมถึงพื้นที่ใช้สอยที่ปรับการใช้งานได้หลากหลาย จากความพยายามในการปรับแต่งให้ New Staria เหนือกว่า MPV รุ่นอื่น ในเซกเมนต์นี้ สำหรับ Staria มีให้เลือก 2 รุ่น โดยมีรถที่นำเข้ามาจากเกาหลีพร้อมส่งมอบจากโชว์รูมทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

รูปลักษณ์ด้านหน้า Staria โดดเด่นด้วยมุมมองที่น่าสนใจของระบบไฟส่องสว่างกลางวัน LED Daytime Running Light ไฟ LED คาดยาวตามแนวนอน ขวางบริเวณสองข้างของกระโปรงหน้า ไฟหน้าของ Staria คล้ายกับตำรวจเหล็กในหนังดัง RoboCop จากทรงของไฟหรี่กลางวันที่ดันไปเหมือนกับตำรวจเหล็กในหนัง การออกแบบไฟหรี่ LED ในลักษณะดังกล่าว เพื่อเป็นการปรับรูปทรงของไฟหรี่ให้เข้ากับกระจังหน้าที่วางลายตาข่าย ด้านหน้าเน้นความสวยงามด้วยไฟคู่หน้าทรงลูกบาศก์ที่ดูแปลกประหลาดกว่าไฟในรถยนต์ MPV ทั่วไป สีภายนอกด้านหน้าเป็นสีเดียวกันทั้งหมดเพื่อความกลมกลืน การเชื่อมโยงรูปลักษณ์ทั้งคันให้มีความสอดประสาน ทรงกล่องของด้านข้างที่มีความโปร่งจากการออกแบบกระจกด้านข้างตัวถัง กระจกบานใหญ่รอบคันเน้นความโปร่ง ถ่ายทอดไปถึงด้านหลังกับกระจกฝาท้ายขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบานประตูหน้านั้นถูกออกแบบให้มีกระจกบานใหญ่สุดๆ เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในการมอง สำหรับบั้นท้ายมีบานกระจกฝาท้ายที่กว้างกว่าเดิม ตัดขอบด้วยไฟท้ายแนวตั้ง ติดตั้งไฟแบบ Parametric Pixel กันชนท้ายตั้งอยู่ในระดับต่ำ ช่วยให้ขนสัมภาระเข้า-ออกได้ง่ายขึ้น ฝาท้ายในรุ่นสูงสุด SEL เปิด-ปิดด้วยระบบไฟฟ้า บานประตูข้างแบบสไลด์ไฟฟ้า และความโปร่งโล่งของห้องโดยสาร ข้อมูลของ H1 ที่มีความสำคัญ ถูกนำมาปรับใช้ เพื่อทำให้ Staria เหนือชั้นกว่าในด้านความนิ่มนวล พลังการเร่งความเร็ว การยึดเกาะและการถ่ายเทมวลขณะขับเข้าโค้งหรือเบรก ทั้งหมดถูกปรับจูนใหม่เพื่อความสามารถในการขับเคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น

Staria ถูกออกแบบเพื่อเน้นการใช้พื้นที่ภายในห้องโดยสารอย่างเต็มที่ ความโอ่โถงของพื้นที่ภายใน เกิดขึ้นจากการใช้ฐานล้อที่มีขนาดยาวที่สุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ ฐานล้อยาว 3,273 มิลลิเมตร มิติขนาดตัวถังมีความยาวถึง 5,253 มิลลิเมตร กว้าง 1,997 มิลลิเมตร สูง 1,990 มิลลิเมตร บานประตูไฟฟ้าพร้อมเซนเซอร์ทั้งซ้ายและขวาในรุ่น SEL ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายขณะเข้าและออกจากรถ ล้อยางขนาด 18 นิ้ว ห่อรัดด้วยยางเกาหลีแบรนด์ kumho ขนาด 235/55 R18

ห้องโดยสารใน MPV รุ่นใหม่อย่าง Staria คือจุดขายที่ Hyundai พยายามปรับให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทั้งการจัดวาง รูปแบบของอุปกรณ์กับวัสดุที่เลือกใช้ แม้คอนโซลจะเป็นพลาสติกฉีดขึ้นรูป แต่มีการแบ่งโซนการใช้อุปกรณ์อย่างชัดเจน โดยเน้นไปที่คนขับเป็นหลัก Staria ให้ความสำคัญอย่างมากกับทัศนวิสัยของคนขับและความสะดวกสบายของผู้โดยสาร โดยเฉพาะการมอง หรือการพักผ่อนขณะเดินทาง เบาะและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงบานประตูแบบไฟฟ้า เป็นคุณสมบัติของรถยนต์อเนกประสงค์ที่เคยมีอยู่ในรุ่น H1 แต่มีการปรับแต่งให้ทันสมัยมากกว่าเดิม

การออกแบบ beltline ที่ต่ำ กระจกด้านข้างแบบพาโนรามิค ทำให้รู้สึกเปิดกว้างขณะโดยสารอยู่ในรถ เบาะคนขับปรับไฟฟ้า 12 ทิศทาง บริเวณค็อกพิทของผู้ขับ จัดอุปกรณ์ไฮเทค เปลี่ยนมาตรวัดแบบเข็มมาเป็นมาตรวัดแบบจอภาพ TFT ส่วนจอภาพมอนิเตอร์กลาง ติดตั้งหน้าจอสั่งงานด้วยระบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว บริเวณคอนโซลกลาง ลูกเล่นใหม่ที่น่าใช้งานก็คือ สวิตช์เปลี่ยนเกียร์ระบบไฟฟ้า มาตรวัดความเร็วรอบเครื่องยนต์ และการแสดงผลข้อมูลการขับขี่ผ่านจอภาพดิจิทัลขนาด 10.25 นิ้ว ติดตั้งบริเวณด้านบนของแผงคอนโซล จุดยึดเบาะเด็กบริเวณแถวที่สอง Staria ไม่มีซุ้มคันเกียร์ ใช้การกดปุ่ม P/N/D เพื่อขับเคลื่อนหรือจอด พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย Paddle Shift เบาะแถวหลังทั้งสามแถว สามารถพับราบ ใส่เบาะนอนกลายเป็นเตียงเคลื่อนที่ได้ พร้อม USB 7 ตำแหน่งรองรับการชาร์จอุปกรณ์ต่างๆ

มาตรวัด TFT LCD ขนาด 10.25 นิ้ว มีความไฮเทคตรงที่ความสามารถในด้านกราฟิกและลูกเล่นขณะเปลี่ยนโหมดการขับเคลื่อน จอภาพมาตรวัดยังแสดงผลข้อมูลที่มีความสำคัญระหว่างการขับใช้งาน ความคมชัดและการจัดวางที่ดีทำให้สังเกตได้ง่าย ที่ชอบก็คือ เมื่อยกไฟเลี้ยว ไม่ว่าจะซ้ายหรือขวา กล้องมองภาพด้านข้างทั้งสองฝั่งจะแสดงภาพบนมาตรวัดในแต่ละฝั่ง ช่วยทำให้คนขับไม่ต้องละสายตาไปจากถนนข้างหน้า แค่ชำเลืองมองไปที่มาตรวัดเมื่อต้องการจะเปลี่ยนช่องทางแล้วยกไฟเลี้ยวให้สัญญาณ กล้องมองภาพด้านข้างทั้งสองฝั่งก็จะทำงานทันที พร้อมด้วยตัวเลขบอกสปีดความเร็วในขณะนั้นอีกด้วย

ตำแหน่งท่านั่งสไตล์ MPV สำหรับคนที่เคยขับรถตู้ก็จะคุ้นชินกับท่านั่งที่ค่อนข้างสูง มองเห็นได้รอบตัว บานประตูคนขับเปิดมุมมองใหม่ ด้วยการออกแบบให้มีพื้นที่กระจกมากเป็นพิเศษ ความโปร่งโล่งที่เกิดจากงานดีไซน์ทำให้รู้สึกแปลกๆ อยู่เหมือนกัน ตำแหน่งของพวงมาลัย ปรับยังไงก็ยังคงบังหน้าจออยู่นิดๆ คล้ายกับ Peugeot 5008 พวงมาลัยของ Staria SEL ปรับได้สี่ทิศทาง ส่วนเบาะคนขับก็ใส่ระบบปรับไฟฟ้ามาให้ สำหรับเบาะโดยสารตอนหน้า ใช้การปรับด้วยมือซึ่งน่าจะเป็นไฟฟ้าคู่หน้าได้แล้ว เบาะแถวที่สอง สาม และแถวสุดท้าย เนื่องจากเป็นรถ 11 ที่นั่ง ทำให้การนั่งบนเบาะโดยสารตอนหลังไม่สบายเท่าที่ควร ถ้าเป็นแบบ 6 ที่นั่ง แถวหน้าสุดรวมคนขับ แถวกลางสอง แถวหลังอีกสอง แล้วติดตั้งเบาะ VIP ของ H1 เจ้า Staria จะน่าใช้งานกว่านี้อีกมากเลยทีเดียว

จากรูปแบบของรถและการนั่งบนช่วงล่างที่ค่อนข้างนุ่มนวล แต่เบาะแบบแถวละสามที่นั่ง ทำให้นั่งแล้วไม่ค่อยสบายเนื้อสบายตัวเท่าที่ควร 11 ที่นั่ง เหมาะกับการทำตัวเป็นรถโรงแรมมากกว่าจะใช้งานเป็นรถครอบครัว อาจได้จำนวนผู้โดยสารมากกว่าก็จริง แต่นั่งทางไกลแล้วไม่สบายเท่าแบบ 6 ที่นั่ง แต่ที่นั่งน้อยลงก็จะโดนภาษีมากกว่า อัตราภาษีที่แปลกประหลาดทำให้คนใช้รถยนต์ในไทยไม่ค่อยจะได้ของที่คุ้มราคาเท่าที่ควรHyundai Staria ยังคงเป็นรถที่เน้นแรงบิดในรอบต่ำ เนื่องจากขนาดตัวถังและน้ำหนัก เครื่องยนต์ดีเซลแถวเรียง แบบ 4 กระบอกสูบ อัดอากาศด้วยเทอร์โบ ขนาดความจุ 2.2 ลิตร จึงมีความเหมาะสมที่จะได้รับการพัฒนาต่อยอด ปรับปรุงชิ้นส่วนต่างๆให้ทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะ ระบบอัดอากาศ high efficiency turbocharger ระบบกรองไอเสีย EGR ทำจากอะลูมิเนียมเพื่อลดน้ำหนัก

ระบบส่งกำลังติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด เครื่องยนต์ดีเซลให้กำลังสูงสุด 177 แรงม้า ที่ 3,800 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 431 นิวตันเมตร ที่ 1,500-2,500 รอบต่อนาที มีการปรับปรุงระบบระบายความร้อนด้วยอินเตอร์คูลเลอร์และกังหันเทอร์โบชาร์จ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแรงบิดในรอบเครื่องยนต์ต่ำ พูดง่ายๆ ก็คือ เครื่องยนต์ดีเซลตัวนี้ มีการตอบสนองที่ดีในรอบต่ำนั่นเอง การตอบสนองในย่านความเร็วต่ำที่ดีทำให้ Staria เป็นรถตู้คันโตที่กระฉับกระเฉงใช้ได้ ออกตัวเร็วๆ ก็พุ่งทะยานไปตามแรงกดคันเร่งของฝ่าเท้า โดยเฉพาะการเลือกใช้โหมดที่มีการตอบสนองได้เร็วที่สุดนั่นก็คือ Sport Mode

ระบบรองรับที่ต้องปรับให้มีความสบายเพิ่มเข้ามา ยอมรับว่า ช่วงล่างที่ปรับตั้งค่ามาใหม่หมด ทำให้ Staria นั่งสบายกว่า H1 ตรงที่มีความนิ่มนวลมากกว่า อาการกระด้างของ H1 ลดลงไปมากในStaria เกิดจากสปริงและโช้คอัพที่ถูกปรับเซตใหม่ทั้งหมด Staria ใช้ช่วงล่างหน้าแบบแมคเฟอร์สัน สตรัท สปริง โช้คอัพและกันโครง ด้านหลังแบบมัลติ-ลิงก์ วิศวกรของ Hyundai แจ้งว่ามีการปรับองศาและระดับการยืด ยุบของ shock absorber เพื่อเพิ่มความนุ่มนวล อัปเกรดคาลิปเปอร์เบรกและจานดิสก์เบรกใหม่เพื่อเพิ่มพลังในการลดความเร็ว

เส้นทางทดสอบจากกรุงเทพฯ ไปยังอำเภอปราณบุรี และอุทยานสามร้อยยอด รวมระยะทางขาไป 260 กิโลเมตร ในเมืองที่ย่านความเร็วต่ำ Staria SEL เป็นรถที่มีช่วงล่างผ่อนคลายมากกว่า H1 นอกจากการซึมซับแรงสั่นสะเทือนที่ดีกว่าแล้ว การวิ่งเนียนๆ ของมันยังมีความเงียบมาให้อีกด้วย การเก็บเสียงที่ดี (ในย่านความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ทำให้ Hyundai MPV รุ่นนี้เป็นรถที่เหมาะกับการเดินทางท่ามกลางความเงียบสงบของห้องโดยสาร เครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร เทอร์โบ ทำงานในรอบต่ำได้ดี การถ่ายเทแรงบิดผ่านระบบเกียร์ 8 สปีด ไหลลื่นใช้ได้ เมื่อความเร็วเกินไปถึง 140-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะได้ยินเสียงลมและเสียงยางอย่างชัดเจน แต่ Staria เป็นรถครอบครัว MPV ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ การใช้ความเร็วที่ปลอดภัยและควบคุมได้ง่าย แถมยังถูกกฏหมาย ที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คุณจะขับหรือนั่งใน MPV คันนี้ได้เนียนและง่ายมากกว่าการขับเร็ว อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในโหมด Normal ทำได้ 13.8 กิโลเมตรต่อลิตร เมื่อลองใช้โหมด Sport ลากกันยาวๆ อัตราสิ้นเปลืองหล่นลงไปที่ 12.8 กิโลเมตรต่อลิตร กินมากกว่า H1 เล็กน้อยแต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ เนื่องจากขนาดและน้ำหนักตัวนั้นไม่ใช่น้อยๆ เครื่องยนต์ 2.2 ลิตร ดีเซลเทอร์โบยังเทแรงบิดรอบต่ำได้ดี ทำให้การออกตัวมีความฉับไวใช้ได้เลย แม้จะนั่งกันมา 6 คน พร้อมสัมภาระพวกกระเป๋าเดินทาง ซึ่งทำให้รถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่ไม่ส่งผลไปถึงการเร่งความเร็วช่วงออกตัวหรือความเร็วเมื่อต้องการแซงรถช้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น

โหมด Normal คือการเลือกที่ไม่ต้องการขับแบบรีบเร่ง โดยเฉพาะการเดินทางไปกับครอบครัวที่ต้องใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับความสบายของภรรยาและลูกๆ รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านที่มักจะร่วมเดินทางไปด้วย คุณเองก็ควรจะขับให้ช้าลง อย่างที่บอกว่า จากมุมมองรอบคัน ในตำแหน่งคนขับที่โปร่งโล่ง ทำให้เห็นได้ไกลการออกแบบความสูงของเบาะคนขับและคนนั่งหน้า และความสบายที่เกิดจากความยืดหยุ่นของระบบรองรับ ซึ่งมีการปรับค่ามาใหม่หมด ทำให้อาการกระด้างที่เคยเกิดขึ้นใน H1 ลดน้อยลงไปเยอะ พวงมาลัยในย่านความเร็วต่ำ มีความแม่นยำพอใช้ได้ แต่ถ้าขับเร็ว ดูเหมือนระยะฟรีตรงกลางที่มากไปนิด จะทำให้การควบคุมทิศทางในย่านความเร็วสูงไม่ค่อยจะมีความมั่นใจเท่าที่ควร อาการโคลงตัวของรถตู้ที่มีความสูงมากกว่ารถเก๋ง อาจส่งผลในย่านความเร็วสูง รวมถึงพวงมาลัยก็ออกอาการแปลกๆ เมื่อความเร็วทะลุ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เมื่อลดความเร็วลงมา พวงมาลัยของ Staria SEL ก็กลับมาปกติเหมือนเดิม สำหรับระบบต่างๆที่ใส่เข้ามาให้ใช้งาน ระบบความปลอดภัย ADAS ดูจะเข้ามาวุ่นวายกับการขับมากที่สุดจนต้องปิดบางระบบเพื่อไม่ให้รบกวนต่อสมาธิของการขับโดยเฉพาะเสียงเตือนเมื่อวิ่งทับเส้นแบ่งช่องทางจราจรหรือตอนที่ขับเข้าไปใกล้กับท้ายรถคันข้างหน้ามากจนเกินไป เมื่อลองระบบปรับความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control พร้อมฟังก์ชัน Stop & Go ทำหน้าที่ได้ดี ช่วยลดอาการเมื่อยขาเมื่อขับทางไกลและช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายเมื่อขับบนถนนโล่งๆ ที่มีทางตรงยาวสุดลูกหูลูกตา

โดยภาพรวม เนื่องจากต้องทำราคาสู้กับ Kia ซึ่งเป็นคู่แข่งสัญชาติเดียวกันและขายรถ MPV เหมือนกัน ทั้งสองแบรนด์มีตัวถังที่ใกล้เคียงกันแต่ Staria จะมีความสูงมากกว่า การมี 11 ที่นั่งของStaria แม้จะนั่งไม่สบายนัก แต่ภาษีนำเข้าที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐยังถูกกว่าการปรับเป็นรถ MPV นำเข้าแบบ 6 ที่นั่ง ถ้าจะเอารถตู้รุ่นนี้มารับคุณพ่อคุณแม่ที่สูงวัยไว้ออกเที่ยว หรือมีลูกแค่สองคนแต่ชอบการเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุด ผมแนะนำให้เปลี่ยนเป็นเบาะแถวกลางแบบ VIP ปรับไฟฟ้าพร้อมการเอนเบาะให้กลายเป็นโซฟาเพื่อพักผ่อนยามเดินทาง สำหรับเบาะแถวที่สาม ถ้าปรับเปลี่ยนมาเป็นเบาะแบบ 2 ที่นั่งก็จะมีพื้นที่เก็บสัมภาระเพิ่มมากขึ้น เบาะแถวที่ 4 ในรถ 11 ที่นั่ง ทำให้พื้นที่เก็บสัมภาระส่วนท้ายลดลง เมื่อเอาออกไปก็จะได้ที่เก็บกระเป๋ามากกว่าเดิม อุปกรณ์ที่ให้มาถือว่าพอใช้ได้ เครื่องเสียงพร้อมลำโพง 6 ตำแหน่ง มีเสียงแค่พอไปวัดไปวาเท่านั้น จะเอากรุ๊งกริ้งมากกว่านี้ก็ต้องไปดิ้นรนหาลำโพงคุณภาพสูงกับแอมป์ที่มีกำลังขับดีๆ มาใส่ก็สิ้นเรื่อง งานประกอบภายในจากเกาหลีแน่นหนาใช้ได้ บางคนไม่ชอบโทนสีของผ้าบุหลังคา แต่ผมว่าทั้งสีดำและสีน้ำตาลอ่อนของผ้าบุหลังคาถือว่าทำออกมาได้กลมกลืนกับโทนสีภายในห้องโดยสาร มาตรวัดอ่านค่าได้ชัดเจนและมีลูกเล่นที่ใส่มาให้อีกเพียบ การยกไฟเลี้ยวแล้วภาพจากกล้องมองข้างแสดงผลที่หน้าปัดในแต่ละด้าน เมื่อคุณต้องการจะเลี้ยวแล้วเปิดไฟเลี้ยว ภาพมุมด้านซ้ายหรือขวาจะแสดงผ่านมาตรวัดซ้าย-ขวา ขึ้นอยู่กับการยกไฟเลี้ยว ช่วยทำให้ไม่ต้องละสายตาไปมองกระจกมองข้าง และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เบรกมือไฟฟ้ากับระบบ Auto Brake Hold ช่วยลดอาการเมื่อยขาเมื่อขับในเมืองท่ามกลางการจราจรที่หนาแน่น ที่ชอบก็คือ บานประตูไฟฟ้าแบบสไลด์ทั้งสองฝั่ง การเข้าออกจากห้องโดยสารในพื้นที่ด้านหลังมีความสะดวกใช้ได้ สามารถกดรีโมตเพื่อสั่งงานให้บานประตูเปิดออกเองได้โดยอัตโนมัติ ถามว่าน่าใช้มั้ย ก็ตอบตรงนี้ว่า ถ้าเป็น 6 ที่นั่ง ในราคา 1.99 ล้านบาท จะน่าใช้มากครับ.


Hyundai Staria SELรายละเอียดและอุปกรณ์

Staria ติดตั้งแอร์แบคจำนวน 6 ตำแหน่ง ทุกที่นั่งติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด โดยมีระบบเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ เช่น

ระบบช่วยเตือนและเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ Forward Collision Avoidance Assist

ระบบช่วยเตือนและช่วยควบคุมพวงมาลัยเมื่ออยู่ในจุดอับสายตา Blind-Spot Collision-Avoidance Assist

ระบบช่วยเตือนและเบรกอัตโนมัติขณะถอยรถ Rear Cross-traffic Collision Avoidance Assist

ระบบช่วยเตือนและเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติที่ทางแยก Forward Collision-Avoidance Assist Junction Turning Function

ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ Driving Attention Warning

ระบบป้องกันการออกจากรถเมื่อมีรถวิ่งมาด้านข้าง Safe Exit Assist ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาจาก Hyundai สัญญาณเตือนจะดังขึ้นเพื่อป้องกันการเปิดประตูเมื่อมีรถอีกคันกำลังวิ่งผ่าน

ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน Lane Keeping Assist

ระบบควบคุมรถให้อยู่กลางเลน Lane Following Assist

ระบบแจ้งเตือนผู้โดยสารด้านหลัง Rear Occupant Alert

ประตูด้านข้างแบบไฟฟ้า ติดตั้งเซนเซอร์เพื่อเปิด-ปิดแบบอัตโนมัติ ฝาท้ายด้านหลังเปิด ปิด อัตโนมัติด้วยไฟฟ้า กล้องมองรอบทิศทางและจุดอับสายตา จอดิสเพลย์ขนาด 8 นิ้ว

HYUNDAI STARIA SEL
Technical Data
เครื่องยนต์ รุ่น R2.2 CRDi
รหัส D4HB
แบบ Inline-4 DOHC 16V
ความจุกระบอกสูบ 2,199 ซีซี.
ความกว้างกระบอกสูบ 85.4 มิลลิเมตร ช่วงชัก 96.0 มิลลิเมตร
อัตราส่วนกำลังอัด 16.0 : 1
ชนิดเชื้อเพลิง Diesel
ระบบเชื้อเพลิง Commonrail Direct Injection
ระบบอัดอากาศ Variable Geometry Turbocharger with Intercooler
กำลังสูงสุด 177 แรงม้า (PS) 177 ที่ 3,800รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุด 431 นิวตัน-เมตร ที่ 1,500 - 2,500รอบต่อนาทีมาตรฐานไอเสีย EURO 4
ระบบขับเคลื่อน ขับเคลื่อนล้อหน้า
ระบบส่งกำลัง อัตโนมัติ 8 จังหวะ พร้อม Paddle Shift

มิติตัวถัง
ความยาว 5,253 มิลลิเมตร
ความกว้าง 1,997 มิลลิเมตร
ความสูง 1,990 มิลลเมตร
ความยาวฐานล้อ 3,273 มิลลิเมตร
ระยะห่างระหว่างล้อหน้า 1,721 มิลลิเมตร
ระยะห่างระหว่างล้อหลัง 1,732 มิลลิเมตร
ระดับต่ำสุดจากพื้น มม. 186
ปริมาตรถังน้ำมัน 75 ลิตร
รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.97 เมตร
ระบบพวงมาลัย Column Type of Motor Driven Power Steering
ระบบช่วงล่าง หน้า Macpherson Strut
หลัง Multi-link
ระบบเบรก หน้า Ventilated Discs
หลัง Ventilated Discs
ระยะห่างระหว่างล้อหลัง มม. 1,732 มิลลิเมตร
ขนาดล้อ 18 x 7.0J
ขนาดยาง 235/55 R18

Equipment
ไฟหน้า LED แบบมัลติรีเฟลกเตอร์
ไฟหน้าเปิด-ปิดอัตโนมัติ
ไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED
ไฟท้ายแบบ Parametric Pixel LED
กระจกหน้าต่าง Flush Glass ที่ประตูสไลด์
กระจกมองข้างปรับและพับด้วยระบบไฟฟ้า
ไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้าง
สปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED
ประตูสไลด์ไฟฟ้าสองข้างพร้อมระบบ Smart
ประตูท้ายไฟฟ้าพร้อมระบบ Smart
ที่ปัดน้ำฝนหน่วงเวลาหน้าและหลัง
หน้าจอแสดงผลการขับขี่ความละเอียดสูงแบบ LCD 10.25”
แผงคอนโซลตกแต่งด้วยลายตะเข็บพิเศษ
กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ
ระบบเปลี่ยนเกียร์แบบปุ่มกด Shift-by-Wire
แป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shifter
พวงมาลัยหุ้มหนัง
พวงมาลัยปรับระดับ สูง-ต่ำ เข้า-ออก
เบรกมือไฟฟ้าพร้อมระบบ Auto Hold
วัสดุหุ้มเบาะ หนังแท้
เบาะคนขับปรับไฟฟ้าพร้อมดันหลัง 12 ทิศทาง
ช่องเก็บของหลังเบาะผู้โดยสารคู่หน้า
ไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร แบบธรรมดา แบบ LED
กระจกไฟฟ้าปรับขึ้นลงอัตโนมัติพร้อมระบบกันหนีบ ฝั่งคนขับ ฝั่งคนขับและผู้โดยสารด้านหน้า
กุญแจรีโมทพร้อมระบบ Smart Keyless Entry
ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ (Push Start Button)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control) Smart
กล้องมองหลังแสดงภาพขณะถอยจอด (Back Camera)
กล้องมองรอบทิศทาง (Surround View Monitor)
ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแยกปรับอิสระหน้า-หลัง
ม่านบังแดดสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
ช่องจ่ายไฟสำรอง 12V 1 ช่อง 1 ช่อง
ที่ชาร์จไฟแบบ USB 7 ช่อง 7 ช่อง
ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือแบบไร้สาย (Wireless Charger)
ระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว
รองรับ Apple CarPlay / Android Auto แบบไร้สาย
ช่อง USB ต่ออุปกรณ์มัลติมีเดีย 1 ช่อง 1 ช่อง
ระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารไร้สาย Bluetooth
ปุ่มควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย
จำนวนลำโพง 6 ตำแหน่ง 6 ตำแหน่ง
ถุงลมนิรภัยคู่หน้า
ถุงลมนิรภัยด้านข้างผู้โดยสารตอนหน้า
ม่านถุงลมนิรภัยแบบยาว
เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด 11 ที่นั่ง 11 ที่นั่ง
จุดติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็ก (ISOFIX) 2 จุด 2 จุด
เซ็นเซอร์กะระยะการเข้าจอด (หน้า / หลัง)
ระบบสัญญาณกันขโมย
ระบบแจ้งความดันลมยางอัตโนมัติ TPMS
ระบบเบรก ABS
ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC
ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill-start Assist Control)
ระบบช่วยหยุดรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ MCB (Multi Collision Brake)
ระบบเตือนให้เช็คผู้โดยสารด้านหลัง ROA (Rear Occupant Alert)
ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้า DAW (Driver Attention Warning)
ระบบเตือนและเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ FCA (Forward Collision-Avoidance Assist)
ระบบเตือนและเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติที่ทางแยก FCA-JT (Forward Collision-Avoidance Assist Junction Turning)
ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA (Lane Keeping Assist)
ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่กลางเลน LFA (Lane Following Assist)
ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตา BCW (Blind-Spot Collision Warning)
ระบบเตือนและช่วยควบคุมพวงมาลัยเมื่อมีรถในจุดอับสายตา BCA (Blind-Spot Collision-Avoidance Assist)
ระบบกล้องมองภาพจุดอับสายตา BVM (Blind-Spot View Monitor)
ระบบช่วยเตือนและเบรกอัตโนมัติขณะถอยรถ RCCA (Rear Cross-Traffic Collision-Avoidance Assist)
ระบบป้องกันการเปิดประตูสไลด์เมื่อมีรถวิ่งมาด้านข้าง SEA (Safe Exit Assist)



อาคม รวมสุวรรณ
[email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/




คุณกำลังดู: โรโบคอป ตำรวจเหล็ก! สัมผัสแรก ทดสอบ HYUNDAI STARIA SEL

หมวดหมู่: รถยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด