Rocket Media Lab เปิดโผ! เพลงฮิตไทยในปี 2022 พูดถึงความสัมพันธ์แบบไหนกัน

Rocket Media Lab เผยชื่อเพลงที่คนไทยให้ความสนใจในปีทีผ่านมา

Rocket Media Lab เปิดโผ! เพลงฮิตไทยในปี 2022 พูดถึงความสัมพันธ์แบบไหนกัน

อะไรที่ทำให้เพลงๆ หนึ่ง ฮิตติดชาร์ต อะไรที่ทำให้เพลงๆ หนึ่งที่เปิดในผับบาร์ขึ้นมาทีไร ไม่ว่าเพลงนั้นจะเก่าจะใหม่แค่ไหน แต่ก็จะมีคนตะโกนร้องไปพร้อมกัน อะไรที่ทำให้เพลงๆ หนึ่งมีคนฟังแล้วร้องไห้ มีคนฟังแล้วยิ้มตาม หรือแม้กระทั่งฟังแล้วอยากส่งให้อีกคนได้ฟัง มันเป็นเพราะเราแชร์อารมณ์บางอย่างที่อยู่ในเพลงนั้นร่วมกันรึเปล่า และอารมณ์แบบไหนล่ะที่คนส่วนมากแชร์ร่วมกันผ่านบทเพลง จนทำให้เพลงนั้นฮิตติดชาร์ตเป็นที่สนใจของคนหมู่มาก มันอาจจะเป็นอารมณ์ร่วมที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือบางทีก็อาจจะเป็นอารมณ์ร่วมแห่งยุคสมัย 

Rocket Media Lab ชวนสำรวจเพลงไทยยอดนิยมในปี 2022 ที่ได้รับการจัดอันดับจาก YouTube Music เพื่อดูว่าในช่วงปีที่ผ่านมาความรัก ความสัมพันธ์ หรือรูปแบบอารมณ์แบบใดซ่อนอยู่ในบทเพลงที่เราแชร์ร่วมกัน จนทำให้เพลงๆ นั้นกลายเป็นเพลงดังแห่งยุคสมัย

เพลงฮิตไทยพูดถึงความสัมพันธ์แบบไหนกัน

รายงานชิ้นนี้สำรวจจากเพลงฮิตที่จัดอันดับโดย YouTube Music ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิงเพลง ที่รวบรวมเพลงและมิวสิควิดีโอจาก YouTube ซึ่งในปี 2022 เป็นแพลตฟอร์มที่มีคนไทยใช้กว่า 42.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 61.1% ของประชากรไทยทั้งหมด โดยเลือกสำรวจอันดับเพลงฮิตประจำปี 2022 ใน 5 ประเภทเพลย์ลิสต์ รวมทั้งหมด 260 เพลง ได้แก่

  • Thai Pop Hits 2022 : เพลงป็อป จำนวน 50 เพลง
  • Thai Rock Hits 2022 : เพลงร็อก จำนวน 55 เพลง (ตัดเพลงซ้ำกับเพลงป๊อป 1 เพลง)
  • Thai Hip Hop Hits 2022 : เพลงฮิปฮอป จำนวน 53 เพลง (ตัดเพลงซ้ำกับเพลงร็อก 1 เพลง ลูกทุ่ง 1 เพลง)
  • Thai Indie Hits 2022 : เพลงอินดี้ จำนวน 55 เพลง (ตัดเพลงซ้ำกับเพลงป๊อป 1 เพลง)
  • Lukthung Hits 2022 : เพลงลูกทุ่ง จำนวน 47 เพลง (ตัดเพลงซ้ำที่เป็นเพลงคัฟเวอร์หรือเพลงที่นำมาร้องใหม่ 2 เพลง)

จาก 260 เพลง ที่นำมาสำรวจ ในจำนวนนี้มีเพลงที่เนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ 28 เพลง จึงเหลือเฉพาะเพลงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ จำนวน 232 เพลงที่นำมาใช้ในการสำรวจในรายงานชิ้นนี้ 

พื้นที่ทางเพศบนเพลงฮิตรวม : ความสัมพันธ์ที่มีผู้ชายเป็นคนเล่าเรื่อง

เพลงติดอันดับยอดนิยมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ทั้งหมด 232 เพลงเป็นผลงานจากศิลปินเดี่ยว 117 คน ศิลปินคู่ 12 คู่ ศิลปินกลุ่ม 48 วง และศิลปินที่ร่วมร้อง (Feat.) 42 คน รวมทั้งหมด 387 คน โดยไม่นับศิลปินซ้ำ ซึ่งเมื่อนำมาแยกเป็นสัดส่วนชาย หญิง และ LGBTQIAN+ จะได้ ดังนี้

  • ศิลปินชาย 338 คน (87.34%)
  • ศิลปินหญิง 46 คน (11.89%)
  • ศิลปิน LGBTQIAN+ 3 คน (0.78%) 

เมื่อนำเพลงฮิต 232 เพลงมาแบ่งโดยใช้เพศของศิลปินที่ขับร้องเป็นตัวตั้ง จะมีสัดส่วน ดังนี้

  • เพลงที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินชาย 176 เพลง (75.8%)
  • เพลงที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินหญิง 51 เพลง (21.9%)
  • เพลงที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปิน LGBTQIAN+ 5 เพลง (2.1%)

เรียกได้ว่าพื้นที่ในเพลงฮิตยังเป็นพื้นที่ที่ศิลปินชายมีสัดส่วนที่มากกว่าศิลปินหญิงอย่างเห็นได้ชัด และมีศิลปิน LGBTQIAN+ เพียง 3 คนเท่านั้นที่มีเพลงติดอันดับในการจัดอันดับเพลงฮิตของ YouTube Music ในปี 2022 ในครั้งนี้ ได้แก่ พัด-สุทธิภัทร สุทธิวาณิช (Zweed n' Roll), เขื่อน ภัทรดนัย และ แอนท์-มนัสนันท์ กิ่งเกษม (LANDOKMAI) และเมื่อสำรวจเพลงฮิตโดยแบ่งตามเพศของศิลปิน ก็ยังพบว่าเพลงฮิตเกือบทั้งหมดมาจากมุมมองของ ศิลปินชาย ในการเล่าเรื่องและถ่ายทอดอารมณ์ในความสัมพันธ์ โดยอารมณ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านศิลปินชายมากที่สุด คืออารมณ์ ตัดพ้อ (26.14%) ส่วนในศิลปินหญิงจะพบอารมณ์ แอบรัก และ ตัดพ้อ มากที่สุดในสัดส่วนที่เท่ากัน (7.3%) และในศิลปิน LGBTQIAN+ ที่พบจำนวน 5 เพลง ได้แก่ อารมณ์ รัก – ​เพลง "ก่อนนอน" (Uncle Ben feat. แอนท์ LANDOKMAI), ‘ตัดพ้อ’ – "โลกใบเก่า" (Zweed n' Roll), คิดถึง – "Tsuki" (LANDOKMAI), ถูกทิ้ง – "ช่วงเวลา" (พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, Zweed n' Roll) และ แอบรัก – "หากเธอเคยรักใคร" (Waii, เขื่อน)

ไม่ว่ายุคไหนๆ คนไทยก็ยังคิดถึงแฟนเก่า 

จากเพลงฮิต 260 เพลงในปี 2022 เมื่อนำเฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ จำนวน 232 เพลง นำมาจัดรูปแบบสถานะความสัมพันธ์ของตัวละครที่ถูกกล่าวถึงในเนื้อหาของบทเพลง จะสามารถแบ่งได้ 8 สถานะ ดังนี้

  • คนรักเก่า (เคยรักกัน/จากไป/แยกทาง/โดนทิ้ง/ลาจาก) – 35.3% 
  • คนรัก (ข้างกัน/รัก/มีเธอ/ที่รัก) – 33.1% 
  • คนที่ตัวเองแอบรัก (อยากรู้จัก/หวั่นไหว/ถูกใจ/แรกเจอ) – 18.9% 
  • ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด (คืนนี้/แก้เบื่อ/fun) – 3.8% 
  • เฟรนด์โซน (เพื่อน) – 2.5%
  • คนคุย (ตอบแชท/คุยกัน) – 2.5%
  • นอกใจ (แฟนคนอื่น) – 1.7%
  • โสด (ฉัน/ตัวเอง) – 1.7%

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าเพลงฮิตส่วนใหญ่ของไทยในปี 2022 เป็นเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง คนรักเก่า มากที่สุด 82 เพลง (35.3%) โดยเป็นการพูดถึงด้วยอารมณ์ คิดถึง มากที่สุด 51 เพลง (61.4%) ซึ่งพบในกลุ่มเพลงอินดี้มากกว่าประเภทอื่น จำนวน 20 เพลง (39.2%) และพบในกลุ่มเพลง ฮิปฮอป รองลงมา จำนวน 10 เพลง (19.6%) ในจำนวนนี้มีเพลงที่ระบุว่าคิดถึงคนรักเก่าที่ทิ้งตนเองไปกว่า 39 เพลง (76.4%) ตัวอย่างเช่น “เพราะในวันที่เธอจากไป โลกหยุดชะงัก” – วิเศษ (MaxMillor) และมีเพียง 1 เพลงเท่านั้น (1.9%) ที่ระบุว่า ตัวเองเป็นคนทิ้งคนรักเก่า เอง ได้แก่ “อยากจะเห็นว่าเธอมีความสุข จะได้รู้ว่าฉันนั้นทำถูกที่ปล่อยมือของเธอ” – "แพ้ความอ่อนแอ" (Silly fools) 

อันดับสอง คือเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง คนรัก 77 เพลง (33.1%) ซึ่งเป็นการพูดถึงด้วยอารมณ์ ‘รัก’ มากที่สุด จำนวน 37 เพลง (48.6%) และพบในกลุ่มเพลง อินดี้ มากกว่าเพลงประเภทอื่นเช่นเดียวกัน จำนวน 12 เพลง (32.4%) และพบรองลงมาคือกลุ่มเพลงป็อป 9 เพลง (24.3%) แต่ปรากฏน้อยที่สุดในเพลงลูกทุ่ง ที่พบเพียง 2 เพลงเท่านั้น ได้แก่ เพลง "เนื้อคู่" (ลำเพลิน วงศกร, เบลล์ นิภาดา) และเพลง "หยุดเวลาไว้ตรงนี้ได้บ่" (ต่าย อรทัย) 

ตามมาด้วยอันดับสาม เพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึง คนที่ตัวเองแอบรัก จำนวน 44 เพลง (18.9%) โดยถูกพูดถึงในอารมณ์ แอบรัก มากที่สุด 29 เพลง (65.9%) พบในเพลงป๊อปมากที่สุด 15 เพลง (51.7%) รองลงมาคือเพลงลูกทุ่ง จำนวน 7 เพลง (24.1%) ครึ่งหนึ่งของอารมณ์แอบรักนี้ (51.7%) เป็นการแอบรักคนรู้จัก หรือการเผลอใจให้คนที่เคยพบเจอกันหลายครั้งแล้ว เช่น เพลง "17" (Dept) ในท่อนที่ร้องว่า “ไม่เคยคิดเลยว่าต้องมีใจให้คนที่ไม่เคยนึกถึง” และในเพลงที่เหลือ (48.2%) เป็นการแอบรักคนแปลกหน้าตั้งแต่แรกพบ เช่นเพลง "I JUST WANNA PEN FAN YOU DAI BOR ?" (สิงโต นำโชค)

ในสถานะความสัมพันธ์แบบคนที่ตัวเองแอบรัก นอกจากจะพบอารมณ์แอบรักแล้ว ยังพบอารมณ์ ตัดพ้อ มากถึง 14 เพลง (31.8%) โดยจะพบการตัดพ้อคนที่ตัวเองแอบรักในเพลงลูกทุ่งมากที่สุด (35.7%) รองลงมาในเพลงอินดี้ (28.5%) ตามด้วยเพลง ร็อก (21.4%) และพบน้อยที่สุดในเพลง ป๊อป (14.2%)

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือมีเพลงแอบรัก 6 เพลง (20.6%) ที่ระบุว่าจะ เปย์’ ของต่างๆ เพื่อให้ได้หัวใจคนที่แอบชอบมา มีตั้งแต่ เงิน บ้าน เพชรพลอย ชาเนล (แบรนด์) รถซูเปอร์คาร์ ไปจนถึงการให้เงินเป็นคริปโต จากเพลง "ทักครับ" (Lipta feat. GUYGEEGEE) ที่ออกมาในปี 2022 ซึ่งในปีเดียวกันนี้จากการรายงานของ Chainalysis บริษัทวิเคราะห์บล็อกเชน พบว่าประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับ 8 ประเทศที่มีการใช้งานคริปโตมากที่สุด เพลงนี้จึงไม่เพียงสะท้อนเพียงแค่ วิถีปฏิบัติ ในการ จีบ กันของคนหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัย แต่ยังสะท้อนให้เห็นรูปแบบของสังคมในยุคปัจจุบันที่เริ่มเปิดรับการใช้งานแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีไว้อีกด้วย

อันดับที่ 4 ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด พบจำนวน 9 เพลงจากเพลงทั้งหมด (3.8%) มีทั้งความสัมพันธ์แบบข้ามคืน (One Night Stand) หรือ ความสัมพันธ์แบบเพื่อนที่สามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้โดยไม่ผูกมัด (Friend with Benefits) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ต้องการความรัก ในจำนวนนี้ปรากฏอารมณ์ ใคร่ มากที่สุด 6 เพลง (66.6%) โดยอารมณ์ใคร่ทุกเพลงล้วนอยู่ในกลุ่มเพลงฮิปฮอป เช่น “เพียงมองตาเธอก็รู้ดี มีแต่เราที่รู้กันว่าจะทำอย่างไรในคืนนี้ กลิ่นน้ำหอมเธอเย้ายวน บวกกับฟีโรโมนที่คลุ้งไกล ดึงดูดฉัน” – ฟีโรโมน (BlackHeart feat. 2TFLOW)

ถัดมาที่สถานะความสัมพันธ์แบบ เฟรนด์โซน พบเพลงที่พูดถึงสถานะนี้ จำนวน 6 เพลง (2.5%) เป็นสถานะของเพื่อนที่แอบรักเพื่อน แต่ยังไม่สามารถข้ามเส้นเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นมากกว่าเพื่อนได้ มักอยู่ในเพลงป๊อปเป็นส่วนใหญ่ พบ 4 เพลง (66.6%) อยู่ในเพลง ร็อค และเพลง ลูกทุ่ง รองลงมา อย่างละ 1 เพลง (33.3%) ครึ่งหนึ่งของเพลงในสถานะเฟรนด์โซนนี้เป็นอารมณ์ แอบรัก เช่น เพลง "เป็นได้ทุกอย่าง" (UrboyTJ) ที่บอกว่า “อยากให้เป็นมากกว่านั้น งั้นต้องเป็นแฟนกันแล้วปะ เป็นให้เธอได้นะก็ฉันเป็นได้ทุกอย่าง” ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะมีความสุขกับสถานะเฟรนด์โซนเสมอไป โดยอีกครึ่งของสถานะนี้เป็นอารมณ์ ‘ตัดพ้อ’ เพราะแม้จะทำทุกอย่างแล้วแต่ก็ยังไม่ได้คบกันเช่นเพลง "เกินปุยมุ้ย" (เอ้ย จิรัช) ที่บอกว่า “เป็นให้เธอทุกอย่างแล้ว เธอไม่เคยมีฉันบ้างเลยหรือเธอ”

อันดับที่ 6 คือเพลงที่มีเนื้อหาความสัมพันธ์แบบ คนคุย มีจำนวน 6 เพลง (2.5%) ซึ่งเป็นสถานะที่อยู่ระหว่างเรียนรู้กันและกันก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปเป็นคนรัก โดยพบอารมณ์ แอบรัก และ กังวล อย่างละ 2 เพลงเท่ากัน (33.3%) ซึ่งอารมณ์กังวลนั้น เป็นการกังวลเพราะตัวเองยังไม่กล้าเปิดใจให้รักครั้งใหม่ และไม่มั่นใจว่าคนที่คุยอยู่จะรับได้ไหม ได้แก่ เพลง "ตลอดไปไม่มีจริง" (Mirrr feat. อ๊ะอาย 4EVE) และเพลง "ศรัทธาในรัก" (MAN’R)

ถึงกระนั้นก็ยังพบความสัมพันธ์ในลักษณะ นอกใจ ปรากฏอยู่บ้าง จำนวน 4 เพลง (1.72%) ส่วนใหญ่เป็นอารมณ์ ใคร่ (75%) พบในกลุ่มเพลงฮิปฮอปทั้งหมด แต่มักอยู่ในลักษณะเกทับ ก่นด่าด้วยคำหยาบคาย มากกว่าจะเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างจริงจัง

สุดท้ายเพลงที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ในสถานะ โสด เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของเพลง เป็นการพูดคุยกับตนเอง ไม่พบการกล่าวถึงตัวละครอื่น พบในอารมณ์ รอวันที่จะได้เจอความรัก มากที่สุด (50%) ส่วนอีก 2 อารมณ์ที่พบได้แก่ ตัดพ้อ และ กลับมารักตัวเอง 

บทสรุป : ความสัมพันธ์เปลี่ยนแต่ค่านิยมยังไม่เปลี่ยน

จากการสำรวจเพลงฮิตที่จัดอันดับโดย YouTube Music ในปี 2022 ทั้งหมด 260 เพลง จะเห็นได้ว่า มีเนื้อหาที่กล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความหลากหลายสอดคล้องไปกับภาวะที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันมากขึ้น เช่น รูปแบบความสัมพันธ์แบบเฟรนด์โซน Friends With Benefits คนคุย หรือแม้แต่เรื่องราวความสัมพันธ์ของ LGBTQIAN+ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของกระแสสังคมที่มีต่อการถ่ายทอดเรื่องราว เนื้อหา ในอุตสาหกรรมดนตรี

แม้ว่าเราจะพบการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสถานะรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาลงไปก็จะพบว่าในความเปลี่ยนแปลงนั้นยังคงแฝงไปด้วยค่านิยมแบบเดิมที่มีกรอบตายตัว ไม่ว่าจะเป็นเพลงป๊อปที่รูปแบบความสัมพันธ์จำกัดอยู่เพียงแค่ความรักแบบคู่รักเท่านั้น โดยอาจเป็นเพราะว่าเพลงป๊อปมีความเป็นเพลงกระแสหลักของสังคมมาแต่ไหนแต่ไร มีกลุ่มผู้ฟังที่กว้างซึ่งอาจจะรวมถึงเด็กและเยาวชนอีกด้วย และได้รับความนิยมในคนหมู่มาก เพลงป็อปจึงมักจะถูกสร้างด้วยเนื้อหาที่ ‘ใส’ มากกว่าหมวดหมู่อื่นๆ และเมื่อเป็นการกล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์แบบคู่รักจึงเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘ใส’ ที่สุด ที่เหมาะสมจะอยู่ในเพลงป๊อป

นอกจากนี้ในเพลงฮิปฮอป ยังเป็นเพลงแนวเดียวที่ปรากฏอารมณ์ใคร่ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กส์ ยาเสพติด และมีการใช้คำหยาบคาย อันกลายเป็นลักษณะเฉพาะของฮิปฮอปไปแล้ว เช่นเดียวกันกับเพลงลูกทุ่ง ที่แม้จะมีการกล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้น แต่ก็มีกรอบอันเป็นลักษณะเฉพาะของตนเองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ในลักษณะการตัดพ้อ ที่ยึดโยงไปยังรูปลักษณ์ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง ซึ่งเป็นรูปแบบของเพลงลูกทุ่งที่พบได้มาแต่ไหนแต่ไร

ไม่เพียงแค่เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดในบทเพลงที่ยังคงแฝงไปด้วยค่านิยมที่ตายตัวและติดอยู่ในกรอบของหมวดหมู่เพลงนั้นๆ รายละเอียดที่ปรากฏในเพลงก็ยังทำให้เห็นค่านิยมที่มีกรอบตายตัวเช่นเดียวกัน เช่น เพลงฮิตที่ระบุสเปกถึงหุ่นทุกเพลงล้วนมาจากศิลปินชาย และไม่พบเพลงของศิลปินหญิงที่ระบุหุ่นของคนที่ชอบเลย ในขณะที่เมื่อกล่าวถึงสเปกด้านนิสัยก็ล้วนมาจากเพลงของศิลปินหญิง และไม่พบศิลปินชายที่ระบุสเปกคนที่ชอบด้วยนิสัยเลย หรือแม้แต่การบรรยายสเปกของผู้ชายในบทเพลงที่ให้คุณค่ากับความสวย ก็ยังคงเป็นความสวยในแบบพิมพ์นิยมด้วยกรอบค่านิยมที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง 

คุณกำลังดู: Rocket Media Lab เปิดโผ! เพลงฮิตไทยในปี 2022 พูดถึงความสัมพันธ์แบบไหนกัน

หมวดหมู่: เพลง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด