"โรคมือ เท้า ปาก" พ่อแม่ควรรู้...วิธีรับมือ
โรคมือ เท้า ปาก วายร้ายใกล้ตัว ซึ่งเป็นที่สนใจในหมู่คุณพ่อ คุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ เพราะมีการระบาดและทำให้เด็กเสียชีวิตไปหลายคนในสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งที่จริงแล้ว โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่มีมานานแล้ว ในประเทศไทยเองก็มักพบอยู่เสมอๆ แต่ไม่เป็นข่าว เพราะเป็นแล้วอาการไม่รุนแรง และไม่ทำให้เสียชีวิต แต่สำหรับผู้ปกครองที่กังวลว่าจะเกิดขึ้นกับบุตรหลานของตน หรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วควรจะทำอย่างไรดี นี่คือข้อมูลที่ช่วยตอบข้อสงสัยของคุณได้!
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อ Enterovirus 71 (EV71) Coxasackie Virus ระยะฟักตัว 3 -6 วัน หลังได้รับเชื้อจึงจะเริ่มเกิดอาการ กลุ่มที่มีความเสี่ยงมักพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กอายุ 6 เดือน-3 ปี
โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อกันได้อย่างไร?
โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายมาก อัตราการติดต่อ จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง เกือบร้อยละร้อย โดยเฉพาะในเด็ก และช่วงเวลาที่มีการระบาด
- ทางน้ำลาย ได้รับเชื้อจากแผลในปาก
- การได้รับเชื้อเข้าทางปาก จากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสดังกล่าว
- เชื้อจะมีอยู่หลังจากมีอาการ โดยเชื้อจะอยู่ในอุจจาระหลายสัปดาห์หรืออาจเป็นหลายเดือน
ลักษณะอาการ “โรคมือ เท้า ปาก”
ในเด็กจะมีไข้สูง 3-4 วันและเริ่มมีตุ่มน้ำใส (Vesicle) ขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก ลิ้น เหงือก ในวันแรกของไข้ มีอาการเจ็บร่วมด้วย ทำให้ทานอาหารไม่ได้ มีน้ำลายไหล และอาจมีผื่นขึ้นตามขาทั้ง 2 ข้าง อาการมักจะหายเองภายใน 5-7 วัน ในผู้ใหญ่ ลักษณะอาการจะแตกต่างจากเด็ก คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว แผลในปาก อาจมีผื่นขึ้นหรือไม่มีก็ได้ ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงและหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ แผลในปากจะดีขึ้นเอง ตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าจะค่อยๆหายไป โดยโรคแทรกซ้อนที่พบได้คือ เยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองอักเสบ นอกจากนี้อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพาลูกหลานมาพบแพทย์
- มีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส หรือไข้สูงมากกว่า 2 วัน
- เหนื่อย หอบ
- ซึม หลับทั้งวัน ปลุกตื่นยาก
- อาเจียนบ่อย มากกว่า 2-3 ครั้ง
- อาการแขนขาอ่อนแรง
- มีอาการผวาหรือกระตุก จากเดิมไม่เคยมีอาการมาก่อน
แนวทางการรักษาโรคมือ เท้า ปาก
โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นเอง แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไข้ แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือ เด็กบางคนรับประทานอาหารและน้ำไม่ได้ เพราะเจ็บแผลในปาก ไม่ยอมกลืนน้ำลาย และไม่ยอมให้ทำความสะอาดในปาก ซึ่งเป็นผลให้แผลหายช้า หรือเป็นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน แพทย์มักจะให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดหากทานอาหารไม่ได้ และควรจะต้องทำความสะอาดในปาก เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น และให้ยาปฏิชีวนะถ้าจำเป็น ตลอดจนปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้..
- สร้างสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดี เช่น หมั่นล้างมือ
- รับประทานอาหารที่สะอาด และใช้ช้อนกลางตักเสมอ
- สำหรับผู้ป่วย ควรใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือเมื่อสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งโดยเฉพาะน้ำมูก น้ำลาย เป็นต้น
ดูแลสุขอนามัย เพื่อป้องกันก่อนเกิดโรค
แม้ว่า โรคนี้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การล้างมือ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล การทำความสะอาดของเล่นและเครื่องใช้ หลีกเลี่ยงการนำบุตรหลานไปในสถานที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับโรคได้ เช่น สนามเด็กเล่น เป็นต้น
บทความโดย :ศูนย์สุขภาพเด็ก อาคาร B ชั้น 2
รพ.พญาไท 2
คุณกำลังดู: "โรคมือ เท้า ปาก" พ่อแม่ควรรู้...วิธีรับมือ
หมวดหมู่: สุขภาพ