โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ คืออะไร สาเหตุของโรค และวิธีรักษา

โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) ไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยได้ตามปกติ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสหายได้

โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ คืออะไร สาเหตุของโรค และวิธีรักษา

โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) ไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยได้ตามปกติ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสหายได้

โรคตุ่มน้ำพอง คืออะไร?

โรคตุ่มน้ำพอง เป็นโรคในกลุ่ม ตุ่มน้ำพองทางผิวหนังที่พบบ่อยและมีอาการคล้ายคลึงกับโรคเพมฟิกัส ที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการทำลายโปรตีนที่ยึดผิวหนังในชั้นหนังกำพร้า และหนังแท้ไว้ด้วยกัน  ผิวหนังจึงแยกตัวจากกันโดยง่าย เกิดเป็นตุ่มพองตามร่างกาย

โรคตุ่มน้ำพอง มีอาการอย่างไร?

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ลักษณะเด่นของโรคนี้ ที่ต่างจากเพมฟิกัส คือ

  1. ตุ่มพองจะเต่งตึงแตกได้ยาก เนื่องจากการแยกตัวของผิวอยู่ในตำแหน่งที่ลึกกว่าเพมฟิกัส

  2. มักพบตุ่มน้ำพองมากในตำแหน่งท้องส่วนล่าง แขนขาด้านใน บริเวณข้อพับ และส่วนน้อยที่จะมีแผลในปาก

สามารถพบโรคเพมฟิกอยด์ได้บ่อยในคนสูงอายุ ทั้งสองโรคนี้แยกกันได้จากอาการ และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม

วิธีรักษาโรคตุ่มน้ำพอง

ยาที่ใช้รักษาหลัก คือ ยาทาสเตียรอยด์ จะใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยที่มีตุ่มน้ำเฉพาะที่ กรณีที่ตุ่มน้ำกระจายทั่ว ร่างกาย การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หรือร่วมกับยากดภูมิต้านทาน จะช่วยควบคุมโรคได้ โดยหากเปรียบเทียบกับโรคเพมฟิกัสแล้ว โรคเพมฟิกอยด์จะใช้ยากดภูมิในขนาดที่น้อยกว่า และตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่าเพมฟิกัส ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อาจจะมีตุ่มน้ำขึ้นเป็นๆหายๆ ในระยะเวลา 2-3 ปี และสามารถหายเป็นปกติได้ และในปัจจุบันมีการรักษาด้วยยาฉีดที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อภูมิต้านทานที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งพบว่าสามารถควบคุมโรคได้ดี มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายากดภูมิต้านทานชนิดรับประทาน

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคตุ่มน้ำพอง

  1. ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด ใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาดลิ้น และฟัน

  2. ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

  3. ผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก

  4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ

  5. ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง

  6. หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

  7. เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง มาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

  8. ทานยาต่อเนื่อง อย่าลดหรือเพิ่มยาเอง  

หากดูแลสุขภาพ และแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น

คุณกำลังดู: โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ คืออะไร สาเหตุของโรค และวิธีรักษา

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด