“ลืมง่าย จำยาก” 10 สัญญาณเสี่ยง “อัลไซเมอร์”
อาการเริ่มต้นของอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร มีวิธีป้องกัน และรักษาอย่างไรบ้าง
-
โรคอัลไซเมอร์ มักพบในผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ มีปัจจัยทางพันธุกรรม หรือผู้ที่มีภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ
-
อาการด้านความจำ เป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์ที่เด่นชัดที่สุด นอกจากนั้นเป็นอาการด้านอื่นๆ เช่น การสับสนในวัน เวลา สถานที่ ทิศทาง คิดคำพูดไม่ออก การตัดสินใจแย่ลง หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า แยกตัวออกจากสังคม
-
ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาที่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลงหรือประคับประคองไม่ให้อาการแย่ลงไป รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
สมอง ถือเป็นอวัยวะที่ถือว่าสำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเกือบทั้งหมด แต่เมื่ออายุมากขึ้นพร้อมด้วยปัจจัยอื่นๆ สมองก็เสื่อมสภาพแบบค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลาและรูปแบบการใช้งาน และแสดงออกทางร่างกายในรูปแบบต่างๆ ได้ หนึ่งในนั้น คือ อาการขี้หลงขี้ลืม ความจำไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) ที่ถือว่าเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่พบบ่อยที่สุด
โรคอัลไซเมอร์คืออะไร
แพทย์หญิง จิตรลดา สมาจาร แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease) เป็นโรคที่มีการถดถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของสมองมากกว่าวัย เกิดจากการที่โปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ซึ่งเป็นผลจากของเสียที่เกิดจากการสันดาปของเซลล์ มีการตกตะกอนและไปจับกับเซลล์สมอง เส้นใยที่เชื่อมต่อของสมอง รวมถึงเซลล์พี่เลี้ยงของสมอง ส่งผลให้เกิดความเสียหายและนำมาสู่การตายของเซลล์สมอง โดยทำให้สมองเสื่อมและฝ่อลง และเกิดการสูญเสียเนื้อสมองในที่สุด
โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคสมองเสื่อม (Dementia) ที่พบได้บ่อยที่สุด คิดเป็น 60% - 80% ของกลุ่มผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมทั้งหมด ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากการมีอายุยืนยาวขึ้นและปัจจัยด้านอื่นๆ ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยที่แน่ชัด แต่จากข้อมูลของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association) ที่เก็บข้อมูลของชาวอเมริกัน พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นทุกปี และสูงถึง 14 ล้านคนในปี 2020 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ สมองเสื่อมจากภาวะสมองขาดเลือด (Vascular Dementia), Dementia with Lewy bodies, Frontotemporal lobar dementia, ภาวะสมองเสื่อมในโรค Parkinson (Parkinson’s disease dementia) และภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
1. ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
- อายุ ในบุคคลทั่วไป เมื่ออายุมากกว่า 65 ปีไปแล้ว ทุกๆ 5 ปี จะมีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
- ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคความจำเสื่อมในครอบครัว
- การกลายพันธ์ของยีน Apolipoprotein E (Apo E), Amyloid-beta Precursor Protein (APP), Presenilin 1 (PSEN1) และ Presenilin 2 (PSEN2) และ Down’s syndrome จะทำให้ปรากฎอาการของโรคอัลไซเมอร์เร็วกว่าคนปกติ
- เพศ พบว่าเพศหญิงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์มากกว่าเพศชายเล็กน้อย
2. ปัจจัยที่เกิดขึ้นภายหลัง
เป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ โดยปัจจัยเสี่ยงหรือโรคดังกล่าวส่งผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เนื้อสมองมีความเสียหายมากขึ้น ดังนี้
- โรคเบาหวาน พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 39% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 61%
- โรคอ้วน พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 60%
- การสูบบุหรี่ พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 59%
- การไม่ออกกำลังกาย พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 82%
3. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและทางกายภาพอื่นๆ
- ระดับการศึกษา พบว่า จะมีความเสี่ยงสูงกว่า 59% หากมีระดับการศึกษาต่ำ
- ภาวะซึมเศร้า พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 90%
- ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทำให้ขาดการทำงานของสมองในหลายๆ ด้าน และยังเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าอีกด้วย
- การนอนหลับ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ เช่น มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) โรคของการเคลื่อนไหวผิดปกติช่วงนอน (Restless Leg Syndrome) โรคเหล่านี้มีผลต่อการซ่อมแซมเซลล์สมองในช่วงระหว่างการนอนหลับลึก และการรวบรวมความจำในช่วงระหว่างการนอนหลับตื้น
- การมีประวัติอุบัติเหตุทางสมอง ที่ทำให้เซลล์สมองได้รับความเสียหาย
สัญญาณอันตราย อาการของโรคอัลไซเมอร์
อาการของโรคอัลไซเมอร์นั้น นอกจากปัญหาเรื่องความจำที่เป็นอาการที่เด่นชัดและสังเกตได้ง่ายแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน โดยทั่วไปแล้ว อาการเหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปและการเข้าสังคมด้วยเช่นกัน
- สูญเสียความจำหรือข้อมูลระยะสั้น มีการหลงลืมที่รบกวนชีวิตประจำวัน ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรเก็บ เช่น วางของทิ้งไว้แล้วลืม วางกุญแจรถไว้ในตู้เย็น นึกชื่อคนที่รู้จักไม่ออก ถ้าหากตัวโรคเป็นมากขึ้น ก็อาจทำให้สูญเสียความทรงจำในอดีตได้
- มีความสับสนในวัน เวลา สถานที่
- มีความสับสนในทิศทาง เช่น ลืมเส้นทางที่เคยใช้เป็นประจำ
- มีปัญหาในการสื่อสาร เช่น คิดคำพูดไม่ออก เข้าใจหรือสื่อสารข้อความยาวๆ ไม่ได้
- มีการตัดสินใจที่แย่ลง ช้าลง
- มีการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาที่ทำได้ยากขึ้น หรือทำได้แย่ลง
- ขาดสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
- มีปัญหาในการทำงาน ทำงานให้สำเร็จได้ยากกว่าปกติ
- มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึมเศร้า
- มีการแยกตัวจากสังคม งาน หรือกิจกรรมที่เคยทำหรือชื่นชอบ
คนที่ขี้หลงขี้ลืม จัดว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่?
หากบอกว่าคนที่มีอาการขี้หลงขี้ลืมนั้นถือเป็นโรคอัลไซเมอร์ อาจไม่ถูกต้องนัก คนที่มีอาการขี้หลงขี้ลืมบ่อยๆ อาจเป็นได้จาก 2 กรณี ได้แก่
- มีอาการขี้ลืมจากการไม่ได้จดจำ ไม่ได้เก็บข้อมูลเข้าไปในความจำ เช่น ยุ่งมากมีเรื่องหลายเรื่องที่ต้องทำ ลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคความจำเสื่อม
- มีอาการขี้ลืมที่เกิดจากความจำถดถอย ความสามารถในการจดจำลดลง ถือว่าเป็นโรคความจำเสื่อม ซึ่งมักมีอาการอื่นในเรื่องของความจำร่วมด้วย
การตรวจวินิจฉัยโรคความจำเสื่อม
การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของโรคความจำเสื่อม ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาและตรวจหาสาเหตุ เพื่อให้ทำการรักษาได้ตรงเป้า แม่นยำเฉพาะโรค และประสบผลสำเร็จ การวินิจฉัยโรคความจำเสื่อม ทำได้ดังนี้
- การซักประวัติ จากตัวผู้ป่วยเอง คนรอบข้าง หรือผู้ใกล้ชิด เพื่อสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์
- การตรวจร่างกาย เพื่อหาอาการร่วมทางระบบประสาท เช่น อาการอ่อนแรง การเคลื่อนไหวผิดปกติ
- การตรวจความจำ เช่น Mini Mental Status Examination (MMSE), Montreal Cognitive Assessment (MoCA), Cognitive Ability Test
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การตรวจภาพวินิจฉัยสมอง ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อประเมินภาวะของสมอง
- การตรวจเลือด เพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การตรวจน้ำตาล น้ำตาลสะสม ระดับไขมันในเลือด การทำงานของไทรอยด์ ระดับวิตามินบี12 การตรวจหาภาวะการติดเชื้อซิฟิลิสหรือเอชไอวี การตรวจภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีผลต่อสมอง
- การประเมินภาวะทางอารมณ์
- การตรวจยีน เช่น Apolipoprotein E4 (Apo E4), Amyloid-beta Precursor Protein (APP), Presenilin 1 (PSEN1) และ Presenilin 2 (PSEN2)
นอกจากนั้น ยังจำเป็นจะต้องตรวจหาภาวะหรือโรคทางกายอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อความจำและให้การรักษาด้วยเสมอ ได้แก่ ภาวะเกลือแร่ในร่างกายต่ำ เช่น โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม ภาวะขาดวิตามินในร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี1 บี12 โฟลิก ภาวะพร่องไทรอยด์หรือไทรอยด์เป็นพิษ การติดเชื้อบางอย่างในร่างกาย เช่น ซิฟิลิส เอชไอวี โรคภูมิคุ้มกันแปรปรวนที่มีผลต่อสมอง การใช้ยาบางอย่างที่มีผลต่อความจำ โดยเฉพาะยาที่มีผลทำให้ง่วงนอน ยานอนหลับ สารเสพติดบางชนิด เช่น แอมเฟตามีน โคเคน กัญชา โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการใช้ในปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
การป้องกันโรคความจำเสื่อม
- ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หากมีภาวะเหล่านี้ ควรรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและควบคุมได้
- ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- บริหารสมอง โดยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบในเวลาว่าง เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป ทำอาหาร ปลูกต้นไม้
- เข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
- บริหารอารมณ์ให้แจ่มใส ลดความวิตกกังวล ลดความเศร้า หากไม่สามารถทำเองได้ แนะนำให้พบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด เพื่อดูแลอาการให้ดีขึ้น
การรักษาภาวะความจำเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์นั้น ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาที่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลงหรือประคับประคองไม่ให้อาการแย่ลงไป รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนี้
- มุ่งเน้นไปที่สาเหตุ/โรคร่วมที่ทำให้เกิดโรค และให้การดูแลสุขภาพในทุกมิติ ทั้งการดูแลสุขภาพกาย การทำกิจวัตรประจำวัน
- หากิจกรรมเพื่อส่งเสริมสมอง กิจกรรมกระตุ้นความคิด
- หาผู้ดูแลผู้ป่วยที่ค่อนข้างเข้าใจในธรรมชาติของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ เพื่อรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วยได้ถูกต้อง
- วางแผนการรักษาในระยะยาว ปรับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยให้มีความปลอดภัย
- การใช้ยากระตุ้นสมอง
คุณกำลังดู: “ลืมง่าย จำยาก” 10 สัญญาณเสี่ยง “อัลไซเมอร์”
หมวดหมู่: รู้ทันโรค