รถไม่แพง แรงไม่ค่อยมี! เกียร์ออโต้ แซงรถช้า ใช้และขับอย่างไรให้ปลอดภัย

แรงน้อยแต่อยากแซง เกียร์ออโต้ แซงรถช้า ใช้และขับอย่างไรให้ปลอดภัย

รถไม่แพง แรงไม่ค่อยมี! เกียร์ออโต้ แซงรถช้า ใช้และขับอย่างไรให้ปลอดภัย

เกียร์อัตโนมัติในรถยนต์ยุคใหม่ เข้ามาช่วยเพิ่มความสบาย ลดภาระคนขับไม่ต้องมานั่งเหยียบแป้นคลัตช์แล้วยัดเกียร์เอง แค่ใส่เกียร์ D รถก็สามารถขับเคลื่อนไปจนถึงที่หมาย การทำงานของเกียร์ออโต้นั้น เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วของรถและน้ำหนักจากการเหยียบคันเร่ง เพื่อเพิ่มรอบเครื่องยนต์สำหรับเร่งความเร็ว หากคุณเหยียบคันเร่งอย่างแรงและเร็ว รอบเครื่องยนต์ก็จะเพิ่มขึ้นสวนทางกับตำแหน่งเกียร์ที่เปลี่ยนลงต่ำหรือที่เรียกว่าการคิกดาวน์

การเหยียบคันเร่งเพื่อแซงรถช้าในรถเกียร์อัตโนมัติยุคใหม่ มักจะมีการตอบสนองที่ดีพอประมาณ ไม่ว่ารถคันนั้นจะเป็นรถบ้านราคาถูก แต่ถ้ารถคุณมีความจุเครื่องยนต์หรือซีซี.ไม่มาก การเร่งแซงรถช้าด้วยเกียร์ออโต้ ต้องมีการคำนวณหรือกะระยะแซงให้ดีๆ เผื่อเอาไว้ในเรื่องของความปลอดภัย เมื่อขับรถบ้านราคาไม่ถึงล้านหรือล้านนิดๆ การตอบสนองต่อการเร่งความเร็วของเกียร์ออโต้ในรถอีโคคาร์ หรือรถราคาประหยัด อาจไม่รวดเร็วเท่ากับรถสปอร์ตที่มีแรงม้าเยอะกว่า

เกียร์ออโต้ยุคใหม่ไม่ว่าจะเป็นเกียร์แบบใด แม้แต่เกียร์ CVT ก็มีการตอบสนองต่อการเร่งความเร็วได้ดีขึ้น เมื่อเทียบประสิทธิภาพในการส่งกำลังกับเกียร์ออโต้ยุคเก่า ยิ่งรถสปอร์ตพลังสูง มีแรงม้าแรงบิดมหาศาล ติดตั้งระบบส่งกำลังที่มีประสิทธิภาพ มีอัตราทดที่เหมาะสมกับการเร่งความเร็ว หรือมีคลัตช์สองชุดเพื่อการเปลี่ยนเกียร์ที่เร็วปานสายฟ้า เกียร์ลูกหนึ่งมีราคาค่าตัวเกือบล้าน การแซงรถช้าหากมีระยะที่ปลอดภัย

เมื่อขับรถเกียร์อัตโนมัติ เรามักจะคาเกียร์ออโต้ในตำแหน่ง D หากขับในเมือง ขับบนเส้นทางราบเรียบไม่มีทางขึ้นเนินลงเขาที่ต้องเปลี่ยนเกียร์ช่วยถึงจะเป็นเกียร์ออโต้ก็ตาม ในสภาพการณ์ปกติเมื่อไม่ต้องการเปลี่ยนเกียร์เองก็แค่โยกคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง D แต่โอกาสที่คุณอาจต้องการการเปลี่ยนอัตราทดเพื่อเร่งความเร็วก็เกิดขึ้นได้เสมอเมื่อต้องการจะแซงรถช้า ก็กดคันเร่งลงไปจนสุด หรือที่เรียกกันว่า การคิกดาวน์นั่นก็คือ การกดคันเร่งเพื่อให้เกียร์เปลี่ยนจากเกียร์สูงลงมาเป็นเกียร์ต่ำ เพื่อเรียกแรงบิดสำหรับการเร่งแซงรถช้า โดยกดเท้าขวาลงไปบนคันเร่งจนสุด เกียร์จะเปลี่ยนลงต่ำให้ เร็วบ้าง ช้าบ้าง อยู่ที่ระบบเกียร์และราคาค่าตัวของเกียร์ลูกนั้น หลังจากแซงพ้นก็ยกเท้าออกจากแป้นคันเร่ง เกียร์จะปรับอัตราทดขึ้นไปสู่เกียร์สูงตามความเร็วของรถที่เพิ่มขึ้น รถบางรุ่นมีแป้นเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ก็แค่กดไปที่ตำแหน่งลบเพื่อลดเกียร์ลงหนึ่งตำแหน่งสำหรับการเร่งความเร็วเพื่อแซง แต่บางครั้งเกียร์ที่ติดตั้งแป้นเปลี่ยนเกียร์จะมีเซนเซอร์คอยป้องกันการเปลี่ยนเกียร์ที่ไม่สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้เกียร์ต้องรับภารกรรมหนัก ซึ่งจะทำให้อายุการใช้งานหดสั้นลง

การถนอมเกียร์ก็ไม่ควรขับแบบคิกดาวน์หรือใช้แป้นเปลี่ยนเกียร์ Paddle Shift บ่อยเกินไป เพราะเครื่องยนต์และเกียร์ต้องทำงานอย่างหนัก เมื่อคุณขับแบบซิ่ง อาจไม่พังทันตาเห็นแต่ก็ทำให้เกิดการสึกหรอสูง ระบบเกียร์จะมีอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งน้ำมันเกียร์ไม่ค่อยอยากจะเปลี่ยนด้วยแล้ว พอเกียร์มีอุณหภูมิการทำงานสูงขึ้น ก็จะเกิดการสึกหรอเร็วขึ้น ขับแบบเรื่อยๆ เครื่องกับเกียร์จะอยู่รับใช้ไปนานแสนนาน แถมยังถูกกฎจราจรและทำให้ปลอดภัยอีกด้วย

ข้อควรระวังก็คือ มองก่อนการแซง หรือการสังเกตการณ์ ซึ่งมีความสำคัญมากเมื่อคิดจะแซงรถช้า เผื่อระยะความปลอดภัยเอาไว้ด้วย เพราะเหตุฉุกเฉินมักเกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ โล่งแล้วค่อยแซง เมื่อจะแซง ก็กดคันเร่งลงไปจนสุด อย่าแซงแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ เดี๋ยวแซงไม่พ้นจะเกิดเรื่องเกิดราวโดยใช่เหตุ!

รถเกียร์ออโต้ที่ใช้ระบบสายพานพูเลย์หรือ CVT ของ Honda บางรุ่นไม่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์มาให้ คันเกียร์ก็ไม่สามาถโยกผลักไปยังตำแหน่งชิฟเกียร์เองหรือแมนนวลได้ ก็ให้โยกลงมาจากตำแหน่ง D ไปที่ S ส่วนตำแหน่ง L นั้นใช้ขับบนเส้นทางภูเขาสูงชันจะเหมาะสมกว่าเนื่องจากเป็นเกียร์ต่ำ ส่วนรถเกียร์ออโต้ที่มีตำแหน่งแมนนวลหรือ M แต่ไม่มีแป้นเปลี่ยนเกียร์ ก็ให้โยกผลักคันเกียร์ในตำแหน่ง +/- เพื่อลดหรือเพิ่มอัตราทดด้วยตัวของคุณเอง แต่การใช้เท้ากดคันเร่งจนสุดแบบคิกดาวน์ก็เป็นวิธีแซงที่ง่ายที่สุด โดยไม่ต้องไปวุ่นวายกับการโยกตำแหน่งเกียร์

ไม่ว่าจะเป็นเกียร์ธรรมดา หรือเกียร์อัตโนมัติ จะใช้เกียร์อะไรแซงรถช้าก็ตาม ไม่ควรแซงตามติดรถคันข้างหน้า ให้เขาแซงไปก่อน แล้วมองให้แน่ใจว่าไม่มีรถแล่นสวนมา ก็สามารถแซงได้ โดยใช้การตัดสินใจให้ดี ให้การตัดสินใจในการแซง ขึ้นอยู่กับความปลอดภัยเป็นหลัก หากมีรถแล่นสวนมาแล้วไม่แน่ใจในระยะแซง หรือรถมีกำลังไม่มากพอ ในการแซงแบบรวดเดียวขาด ก็อย่าแซงออกไปอย่างเด็ดขาด ไม่แซงข้ามเส้นทึบซึ่งอันตรายมาก ไม่แซงรถช้าใกล้กับจุดกลับรถ ไม่แซงรถช้าบริเวณใกล้ทางแยกทางร่วม

รถที่มีความจุเครื่องยนต์ไม่มาก ไม่มีระบบอัดอากาศ มีอัตราเร่ง 0-100 ล่อไป 12-14 วินาที ต้องกะระยะเผื่อให้ดีๆ และระวังให้จงหนักโดยเฉพาะรถอีโคคาร์ที่มีความจุแค่ 1.0 หรือ 1.4 ลิตร แรงบิดที่มีแค่พอใช้งาน ทำให้ต้องกะระยะแซงให้ดีๆ ควรขับแบบใจเย็นในรถที่มีกำลังไม่มาก และเผื่อระยะแซงให้มากกว่ารถที่มีกำลังแรงบิดสูง

การเลื่อนคันเกียร์เพื่อลดอัตราทดเมื่อต้องการจะแซง ก็แค่ลดเกียร์ลงมา 1 ตำแหน่ง ขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วบนอัตราทดของเกียร์ D4-D5 ก็ลดลงมาหนึ่งตำแหน่ง แล้วดันกลับไปที่ D เมื่อแซงพ้นเรียบร้อย การเลื่อนคันเกียร์หรือการคิกดาวน์ในรถยนต์ยุคใหม่ มีความนิ่มนวลไม่กระตุกกระชากเหมือนเกียร์ออโต้ในอดีต ยิ่งเป็นเกียร์ CVT ในรถที่มีเครื่องยนต์เล็กๆ อย่างที่เน้นมาโดยตลอดในเรื่องของความปลอดภัย ต้องเผื่อระยะแซงกันมากหน่อย สำหรับตำแหน่งเกียร์ต่ำหรือเกียร์ L ห้ามโยกคันเกียร์ลงไปยังตำแหน่งนั้นเมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วเกินกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากไม่มีระบบป้องกันความเร็วไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนเกียร์มีหวังเกียร์กระจาย เสียเงินเปลี่ยนกันอีก

คิดจะแซง มองแล้ว มีระยะเผื่อเหลือเผื่อขาดมากพอ ควรแซงให้ขาด คือ ใช้เท้าขวากดคันเร่งส่งให้มิด เมื่อเห็นว่าทางข้างหน้าโล่งและปลอดภัยพอที่จะแซง อย่าแซงด้วยความเร็วปกติ โดยเฉพาะการแซงรถบรรทุกพ่วงต้องรีบแซงรีบไปให้พ้นๆ อย่าไปขับประกบกับรถล้อเยอะพวก 18 ล้อ หรือมากกว่านั้น เนื่องจากอันตรายที่คุณไม่อาจคาดคิดซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้เมื่อวิ่งตามหรือกำลังจะแซงรถบรรทุก อย่างที่บอกว่า ไม่ควรแซงตามรถคันข้างหน้า เพราะคุณจะมองไม่เห็นพื้นที่ด้านหน้าว่าพอหรือไม่ บริเวณที่มีเส้นทึบนั้นห้ามแซงหรือห้ามเปลี่ยนช่องทางเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ ก่อนแซง ยกสัญญาณไฟทุกครั้ง ทั้งตอนแซงและตอนที่กำลังจะเปลี่ยนกลับช่องทางเดิม ข้อสำคัญ ขับช้า อย่าแช่ขวาเลยครับ คนที่เร็วกว่าคุณเขาแซงไม่ได้ ยิ่งทำให้รถชะลอตัวโดยใช่เหตุ แซงแล้วก็กลับเข้าช่องทางเลนกลาง ถูกต้องและปลอดภัยครับ.

ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: รถไม่แพง แรงไม่ค่อยมี! เกียร์ออโต้ แซงรถช้า ใช้และขับอย่างไรให้ปลอดภัย

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว