รถยนต์ไฟฟ้าในไทย 2023 ทิศทางเป็นอย่างไร พูดคุยกับผู้ใช้งานกลุ่มแรก

รถยนต์ไฟฟ้าในไทย 2023 ทิศทางเป็นอย่างไร พูดคุยกับผู้ใช้งานกลุ่มแรก

รถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางออกของการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นเหตุภาวะโลกร้อน ประเทศที่เห็นความสำคัญของการจัดการพลังงานเริ่มผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ตอบโจทย์การรักษาสิ่งแวดล้อม

ในประเทศไทยรัฐอุดหนุนส่วนลดการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นผู้ที่ต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยปี 2023 จึงต้องเปรียบเทียบข้อมูล ศึกษาข้อดีข้อเสียก่อนเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า วันนี้ไทยรัฐออนไลน์ พามาพูดคุยเปิดประสบการณ์กับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่มแรกๆ ของประเทศไทย วันนี้เราอยู่กับครีเอเตอร์สองท่านคือ กัปตันดลจากช่อง Captain DIY และคุณติ่ง จากช่อง TiY

รถยนต์ไฟฟ้าในไทย 2023 กับความพร้อมของผู้ใช้งาน

ผู้สนใจรถยนต์ไฟฟ้าที่เคยค้นหาข้อมูลการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคงคุ้นชื่อกับช่อง “Captain DIY” กัปตันดล นักบิน แจ้งเกิดจากคลิปที่ลองขับรถยนต์ไฟฟ้าให้ใช้แบตเตอรี่จนหมด เพื่อดูว่าประสิทธิภาพของรถจะสุดแค่ไหน ส่วนคุณติ่งเป็นวิศวกรจากบริษัทด้านพลังงาน ช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมาได้เผยแพร่ประสบการณ์ขับขี่ Tesla ผ่านช่อง “TiY” รวมถึงการทดลอง Test Drive มาแล้วหลายค่ายในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าก้าวหน้าสูง ทั้งสองรู้จักกันในวงการพลังงานสะอาด

ถ้าพูดถึงการใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวัน กัปตันดล ได้รีวิวเอาไว้ในหลายคลิป เทียบทักษะการขับเครื่องบินพาณิชย์ กับการขับรถยนต์ไฟฟ้าไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ไทยรัฐออนไลน์ : “เมื่อเทียบกันแล้ว การขับรถระบบ Autopilot ในกรุงเทพฯ กับการขับเครื่องบิน อันไหนยากกว่ากัน”

กัปตันดล : “ขับรถยากกว่าครับ เครื่องบินเป็นระบบ Autopilot เกือบทั้งหมด ยกเว้นการ Landing และ Take off และมีบ้างที่เราต้องไปควบคุมเอง เพราะเวลามีการจราจร หรือมีการแจ้งเตือนรายงานสภาพอากาศมา เราต้องควบคุมการบินเองอยู่แล้ว แต่เรื่องความปลอดภัยทางการบินมีเยอะ ไม่มีใครอยากฝ่าฝืน มันส่งผลต่ออาชีพ พูดง่ายๆ คือถ้าใครฝ่าฝืนกฎการบินก็เท่ากับตกงาน

แต่การขับรถบนถนน แม้ว่าจะมีกฎหมาย แต่เมื่อทุกคนฝ่าฝืนก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จะฝ่าไฟแดง ขี่ย้อนศร คนที่ถือว่าทำกันเป็นเรื่องปกติมันก็ไม่มีอะไร แต่มันก็มีความอันตรายอยู่”

คุณติ่ง TiY : ที่แน่ๆ คือ ขับเครื่องบินไม่เจอมอเตอร์ไซค์แน่นอน

กัปตันดล : “อันนั้นถ้าเจอก็น่าห่วงแล้วนะ ที่เจอคือ นก และโคมลอย

ช่วงปล่อยโคมลอยก็จะมีการแจ้งเตือนพิกัดการปล่อยโคม หลายครั้งที่เครื่องบินกำลังขึ้น จะเจอโคมเข้าไปในเครื่องยนต์ ทำให้เกิดอันตรายได้”

คุณติ่ง TiY : “การขับขี่มอเตอร์ไซค์ของบ้านเรา สำหรับระบบ Autopilot ถือว่าเป็น Unknown Factor เป็นตัวแปรที่ทำให้ระบบมันทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพในด้านความปลอดภัย สังเกตไหมครับ เวลาเราขับ หลายครั้งที่ผมพบ Blind Spot Detection (BSD) ขึ้นไฟเตือน และผมก็ดูแล้วว่าไม่มีอะไร ไม่ถึง 1 วินาที มอเตอร์ไซค์วิ่งมาจากมุมไฟท้ายด้านขวา ซึ่งถ้าตอนนั้นตัดสินใจเปลี่ยนเลนไป ตู้มแน่นอน ฉะนั้น BSD ตรงนี้มันช่วยได้”

กัปตันดล : “เคยเจอเคสนี้เหมือนกันครับ ตอนเอา Tesla Model Y ไปขับ และขับอยู่บนถนนเลี่ยงมอเตอร์เวย์ ขับๆ อยู่เจอซอยที่มีทางออกหมู่บ้าน และมีมอเตอร์ไซค์เลี้ยวหักศอกออกมาจากซอย ตามเลนถนนปกติเขาควรจะเลี้ยวซ้าย นี่เขาเลี้ยวขวาย้อนศรออกมา ทำให้เซนเซอร์ของ Tesla จับได้ และเข้าใจว่ามีวัตถุจะขับเข้ามาพุ่งชนรถ มันเบรกเองเลยนะครับ ผมไม่ได้สั่งให้เปิดระบบ Autopilot ขับๆ เองอยู่ เซนเซอร์ตรวจจับได้ ทำให้รถเบรกจนแทบหยุด ความเร็วเหลือ 40 km/hr. ตอนนั้นใจเสียมากคิดว่าเราโดนชนท้ายอะไรหรือเปล่า

อันตรายของ Autopilot อย่างหนึ่งคือเซนเซอร์มันเยอะ เราไม่รู้ว่าคนขับรถคันอื่นเขาคิดอะไรอยู่ เขาก็ขี่ย้อนศรกันปกติ แต่ในชีวิตจริง ผมใช้ระบบ adaptive cruise control กับ lane keep assit ผมว่าขับในไทย เปิดแค่นี้ก็พอแล้วครับ”

คุณติ่ง TiY : “เวลาผมขับต่างจังหวัด สบายมากเลยครับ ประคองพวงมาลัยไว้ คือระบบพวกนี้จะมีหลักการอยู่ว่า ถ้าพวงมาลัยไม่ได้รับน้ำหนักจากควบคุมด้วยมือจากเราภายใน 10 วินาที มันจะส่งสัญญาณเตือนขึ้นมาก่อน และถ้าในอีก 10 หรือ 20 วินาที ยังไม่ได้จับพวงมาลัย รถจะยกเลิกระบบควบคุมด้วย autopilot วิ่งไปทื่อๆ แบบนั้นเลย หรือจะจอดให้เองอัตโนมัติ เพราะมันเข้าใจว่าคนจับอาจจะหลับใน หรือหมดสติไปแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าโปรแกรมถูกเขียนมาแบบไหน”

กัปตันดล : “ขอเสริมนิดหนึ่งครับ อย่าง Ora Good Cat ที่ผมเคยทดสอบมา ระบบ Lane Keeping แล้วก็ Adaptive Cruise Control ถ้าไม่ได้จับพวงมาลัย มันก็จะเปิดไฟกะพริบ และลดความเร็วจนหยุด มันค่อนข้างอันตรายถ้าเราวิ่งบนทางด่วนที่ต้องใช้ความเร็ว แล้วรถคันข้างหลังก็มาด้วยความเร็ว ถ้ารถเราเกิดชะลอจนหยุดขึ้นมาบนเลนขวา อันนี้อันตรายแน่นอน มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นให้ได้ยินกัน อย่างเทสลาจะลดความเร็วจนหยุด และจะไม่ให้คุณใช้ระบบจนกว่าคุณจะอยู่ในโหมด Park คือเริ่ม Driving Section อันใหม่”

ไทยรัฐออนไลน์ : “สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันถือว่ามีความพร้อมกี่เปอร์เซ็นต์”

กัปตันดล : “ภาพรวมความพร้อมของสถานีชาร์จในบ้านเรา ผมขอแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือก่อน BYD เปิดตัว ความพร้อมของสถานีชาร์จอยู่ที่ 80%

ช่วงที่สองคือเมื่อ BYD เปิดตัวแล้วมีค่ายต่างๆ ส่งมอบรถมากขึ้น ความพร้อมของสถานีชาร์จอยู่ที่ 40% ด้วยจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้น มีผู้ใช้งานใหม่ๆ ที่อยากเอารถไปลองขับตามเส้นทางต่างๆ และขับข้ามจังหวัด กลายเป็นว่าทุกคนพยายามจะออกมาชาร์จกันข้างนอก ตอนนี้สถานีชาร์จกลายเป็น Public Charging Station ต้องต่อคิว ไม่สะดวกเข้าไปชาร์จในทันทีครับ”

“ส่วนในกรุงเทพฯ ผมมองว่าการใช้งานคือขับจากบ้าน ไปทำงาน การชาร์จที่บ้านต้องเป็นหลักอยู่แล้ว ผมว่าอยู่ที่ 80-90% กับเครื่องชาร์จติดตั้งที่บ้าน แต่คนที่อยู่คอนโด หรืออพาร์ตเมนต์ยังเป็นจุดที่มีปัญหาเรื่องการชาร์จไฟอยู่ เพราะเขาไม่สามารถติดตั้งให้ได้ แต่คอนโดใหม่ๆ ที่กำลังสร้างอยู่ก็กำลังติดตั้ง EV Charger เพิ่มเข้าไปในโครงการแล้ว ผู้ที่ซื้อคอนโดใหม่ๆ ก็แบ่งเบาปัญหาเรื่องการชาร์จได้พอสมควร”

คุณติ่ง TiY : “ส่วนในประเทศจีนนั้นกลับกัน เพราะสถานที่เขามีจำกัด จำนวนผู้ใช้งานที่ชาร์จในบ้านแต่ละหลังจะน้อยกว่าบ้านเรา การชาร์จที่จีนจะเป็นลักษณะ Community Charger อารมณ์เหมือนสถานีชาร์จ Elex by EGAT ของบ้านเรา การติดตั้งสถานีชาร์จจะอยู่ใกล้ๆ กับกลุ่ม Community Mall หรือที่พัก การชาร์จจะเป็นการชาร์จเร็วด้วยกระแสตรงเพราะได้ความเร็วสูง ส่วนคนที่อยู่คอนโด อพาร์ตเมนต์จะไม่มีที่จอดแบบตายตัว จึงนิยมรถรุ่นที่สามารถวิ่งเข้าสถานีแบตเตอรี่เพื่อสลับแบตแล้ววิ่งต่อ แต่อันนี้ยังเป็นกลุ่มน้อยอยู่ เพราะเริ่มทำมาได้ไม่กี่ปีครับ”

ไทยรัฐออนไลน์ : “ถ้าเราวิ่งจนรถยนต์ไฟฟ้าแบตหมด จะทำอย่างไร”

คุณติ่ง TiY : “พี่ดลเคยทดสอบวิ่งรถจนแบตหมด”

กัปตันดล : “อันนั้นคือความตั้งใจครับ แต่จริงๆ ถ้าไปขับต่างจังหวัด เราต้องมีความรู้เรื่องรถพอสมควร เพราะระยะที่โชว์มาบนหน้าจอไม่ได้แม่นเป๊ะ เพราะฉะนั้น หลายคนที่ได้รถมาไม่ๆ อย่าไปเชื่อระยะที่แสดงบนหน้าจอ

เมื่อก่อนหากเหตุการณ์ที่ทำให้แบตหมดจนรถวิ่งไปต่อไม่ได้ มันเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเรามีการวางแผน หรือรู้จักรถของเราดีแล้วมันก็จะไม่เกิดขึ้น สมมติเช่น ถ้ารถยนต์ของคุณวิ่งได้ระยะทาง 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง เมื่อวิ่งได้ 200 เมตรก็ต้องเริ่มหาจุดชาร์จแล้ว

แต่ในปัจจุบัน ทางค่ายรถยนต์ต่างๆ จะรวมบริการรถลาก ไว้กับบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน พวกเราจะเรียกกันว่า ยานแม่ มีบริการนำรถกลับไปชาร์จที่ศูนย์ หรือจุดชาร์จใกล้ที่สุด แล้วแต่ข้อตกลงที่ทำกันไว้ และในอนาคตก็มีคนที่พยายามคิดพวก Power Bank ให้ผู้ใช้งานสามารถนำไปเพิ่มกระแสไฟให้กับรถได้ครับ”

กัปตันดล : “เรื่องนี้เป็นจุดเลือกตัดสินใจของผู้ใช้รถแบบเติมน้ำมัน กับรถยนต์ไฟฟ้า เพราะถ้าเป็นรถน้ำมัน น้ำมันหมด ก็หิ้วขวดน้ำมันไปปั๊มมาเติมแล้วไปต่อได้ ตรงนี้กลุ่มผู้เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มต้นต้องปรับตัวกับการวางแผน”

คุณติ่ง TiY : “การวางแผนสมัยที่รถยนต์ไฟฟ้ามาใหม่ๆ ก็ต้องวางกันอย่างละเอียด เป็นแผนเอ แผนบีเลยครับ ในปัจจุบันภาคธุรกิจพยายามทำศูนย์การชาร์จให้เป็น Community การวางแผนการเดินทางก็ไม่ต้องสำรองแผนมากเท่าในอดีตแล้ว แค่เปิดแอปดูเส้นทางที่จะไป และสร้าง Pin Point”

ไทยรัฐออนไลน์ : “การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า กับรถยนต์ไฮบริด ต่างกันไหม”

คุณติ่ง TiY : “ต่างกันครับ ต้องแยกอย่างนี้นะครับ ถ้าเป็นรถยนต์ไฮบริดจะแยกออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือเสียบปลั๊กชาร์จไม่ได้ กับแบบที่สองเสียบปลั๊กชาร์จได้

HEV (Hybrid Electric Vehicle) แบบที่เสียบปลั๊กชาร์จไม่ได้ เราต้องพึ่งน้ำมันอยู่ 100% เพียงแต่ว่าไฟฟ้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่

PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) จะมีระยะที่วิ่งได้ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง ถ้าไม่อยากเติมน้ำมัน ก็หาที่เสียบปลั๊กชาร์จ หากต้องการวิ่งทางไกล ก็ค่อยเติมน้ำมันเต็มถัง

ในระยะการเดินทางยาวๆ PHEV เมื่อชาร์จเต็มและน้ำมันเต็มถัง ก็จะวิ่งได้ระยะทางที่ไกลพอสมควร”

กัปตันดล : “PHEV ถ้าเราวิ่งระยะ 30-40 กิโลเมตรทุกวัน เราก็ใช้ไฟฟ้าอย่างเดียวก็ได้ แต่ว่าในบ้านเราเมื่อก่อนเวลาพูดคำว่า รถยนต์ไฟฟ้า จะรวมรถ HEV, PHEV, BEV ไว้หมดเลย แต่ในปัจจุบันนี้ที่ทางรัฐสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า E30, Z30 จะพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่พลังงานใช้ไฟฟ้าขับล้วน 100% คือ ZEV (Zero-Emission Vehicle)

ส่วนเรื่องการบำรุงรักษา รถยนต์ไฟฟ้า กับรถยนต์ไฮบริด ต่างกันตรงที่การดูแลรักษาระยะยาว ตัวที่เป็นไฮบริดก็ต้องดูแลทั้งสองระบบ ทั้งระบบไฟฟ้า และระบบน้ำมัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อปีเมื่อต้องเอารถยนต์เข้าศูนย์

ดังนั้นหากเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV เจ้าของรถก็จะมีค่าบำรุงดูแลรักษาแค่ระบบไฟฟ้าระบบเดียว”

ไทยรัฐออนไลน์ : “ประกันรถยนต์ไฟฟ้า แตกต่างจากรถยนต์อื่นๆ หรือไม่”

กัปตันดล : “ในบ้านเราการดูแลประกันรถยนต์ไฟฟ้า หรือประกันภัยชั้นหนึ่งที่มากับรถยนต์ ก็จะคุ้มครองหมดทุกส่วน แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่ตัวเงินที่ครอบคลุม

ส่วนที่แพงที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า คือแบตเตอรี่คิดเป็น 50-60% ของมูลค่ารถ ในปัจจุบันนี้ตัวแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้ามีสองแบบ คือบรรจุอยู่ในตัวรถแพ็กมาด้วยกัน กับแบบที่เป็นเซลล์แพ็กลงไปที่ตัวคลัตช์ซีรถ

แบบที่เป็นโมดูล ถ้าเกิดได้รับความเสียหายสามารถยกออกมาเป็นโมดูลเพื่อไปซ่อมได้ แต่ถ้าเป็นแบบที่แพ็กมากับรถถ้าเสียหายแล้วก็จะต้องเปลี่ยนทั้งแพ็ก มูลค่าการประกันภัยขึ้นอยู่กับการดูแลของทางค่ายรถกับลูกค้า

ปัจจุบันนี้การคุ้มครองด้านประกันภัยยังคุ้มครองปกติ ไม่ได้แยกประเภทรถ แต่ในอนาคต มีแนวคิดว่าอาจจะแยกคุ้มครองแบตเตอรี่กี่เปอร์เซ็นต์ ภายใต้วงเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์”

คุณติ่ง TiY : “อย่างรถของผมเองเคยเกิดอุบัติเหตุที่จีน มีรถมาชนท้าย ตอนนั้นก็เปลี่ยนฝากระโปรงตามวงเงินที่เราซื้อเบี้ยประกันไป ไม่ได้มีปัญหาอะไร และค่าใช้จ่ายในการซ่อมก็เป็นประกันทั้งของฝ่ายที่มาชนและฝ่ายเรา ไม่ได้กระทบกับส่วนหลักอย่างแบตเตอรี่”

ไทยรัฐออนไลน์ : “ความปลอดภัยของรถยนต์ไฟฟ้า เทียบกับรถยนต์ระบบอื่นๆ ได้หรือไม่”

คุณติ่ง TiY : “เอาเรื่องเสถียรภาพของการขับขี่ก่อน การขับขี่ของรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะดีกว่ารถทั่วไป เพราะจุดศูนย์ถ่วงของรถจะต่ำ เพราะฉะนั้นเมื่อขับในความเร็วสูงหรือกลางๆ ก็จะเข้าโค้งได้มั่นคงกว่ารถทั่วไป

ส่วนความปลอดภัยด้านไฟฟ้า ช่วงแรกๆ ที่เขาเริ่มมีรถยนต์ไฟฟ้า ในจีนเข้ามีมาตรฐานที่เข้มงวด เช่น ชาร์จไฟอยู่แล้วเกิดเพลิงไหม้ ผู้พัฒนาก็ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดค่อนข้างเยอะ ช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาทางจีนจึงได้จัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยของรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ

และระบบความปลอดภัยอื่นๆ ก็ได้รับมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็น ถุงลม, เข็มขัดนิรภัย พวกนี้ต้องได้รับมาตรฐานสากล”

กัปตันดล : “ถ้าเป็นมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าปลอดภัยกว่าการขับขี่รถยนต์น้ำมัน เพราะความที่มีระบบแบตเตอรี่ High Volt อยู่ ระบบเซฟตี้ต่างๆ ที่เขาทำไว้อย่างน้อยต้องมี 3 ชั้น ถ้ามีการกระแทก ลัดวงจร ตรวจพบว่ามีความผิดปกติ มันก็จะตัดระบบก่อนจะลัดวงจร

รถยนต์น้ำมันจะเป็นระบบกลไก ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ยังสตาร์ตได้ แต่รถยนต์ไฟฟ้ามีเซนเซอร์เยอะมาก ถ้ามีความผิดปกติปุ๊บ มันจะตัดเลย ไม่ให้ขับ ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจคนใช้งาน เป็นเรื่องของความปลอดภัยที่คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าต้องปรับตัว”

ไทยรัฐออนไลน์ : “สิ่งแวดล้อมในเมืองไทย เช่น งูเข้ารถ หนูกัดสายไฟ เป็นปัญหากับรถยนต์ไฟฟ้าแค่ไหน

กัปตันดล : “ทั้งหนู ทั้งงู มีหมดครับ มีโอกาสเข้าไปได้ งูอาจจะไม่น่ากลัวเท่าหนู เพราะถ้ากัดสายไฟไปเส้นหนึ่งแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเป็นเส้นไหน ไม่ได้ซ่อมง่ายๆ อย่างรถทั่วไป แต่ทางผู้ผลิตก็มีการป้องกันทำอุปกรณ์แผ่นปิดใต้ท้องรถ ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง”

คุณติ่ง TiY : “ถ้าใช้ประจำ แล้ววิ่งทุกวัน ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าหากจอดค้างคืนทิ้งไว้นานๆ ควรไปสตาร์ตให้รถมันตื่นได้ทำงานบ้าง เพราะการจอดรถทิ้งไว้นานๆ แล้วไม่ได้ใช้ มันต้องเป็นรังของอะไรสักอย่าง ถ้าได้สตาร์ตให้คอมเพรสเซอร์ได้ทำงาน มีเสียงดัง ก็จะไล่ตัวพวกนี้ออกไปได้ การเอารถไปวิ่งทุกวันก็มีความเสี่ยงน้อยกว่า อาจจะต้องพึ่งสารเคมี แต่ต้องเลือกที่ไม่เหนี่ยวนำไฟฟ้า สารเคมีเหล่านี้ไล่สัตว์รบกวนเหล่านั้นได้ ต้องระวังการใช้สารเคมีในชุดคอนโทรล เพราะสเปรย์มักทำให้เกิดความชื้น แม้ว่ามาตรฐานของรถยนต์ไฟฟ้ากำหนดให้กันน้ำ กันความชื้นที่ IP67 แต่เมื่อใช้นานๆ ไป เราก็ไม่รู้ว่ามีความเสียหายของระบบอุปกรณ์ตรงไหนบ้าง”

ไทยรัฐออนไลน์ : “เลือกซื้อรถไฟฟ้า ต้องดูอะไรบ้าง”

กัปตันดล : “ต้องดูพฤติกรรมการขับขี่ของเราครับ ว่าไลฟ์สไตล์เป็นแบบไหน ถ้าเราเป็นพนักงานออฟฟิศที่มีเส้นทางการเดินทางที่แน่นอนทุกวัน ไปกลับก็จะมีระยะที่แน่นอน สมมติว่าใช้งานไปกลับออฟฟิศไม่เกินวันละ 200 - 300 กิโล หรือไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง ผมว่ารถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันก็ตอบโจทย์แล้วครับ ไม่ต้องรอรุ่นที่ชาร์จได้ครั้งละ 1,000 กิโลเมตร ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ATTO3, MG4, ORA Good Cat ก็ตอบโจทย์แล้ว

แต่ถ้าหากมีอาชีพเซลส์ ต้องออกต่างจังหวัดวิ่งวันละ 300-400 กิโล ขับแข่งกับเวลา หรือชอบขับรถต่างจังหวัดแบบรวดเดียวจบ แวะเข้าห้องน้ำแค่ 20-30 นาทีไม่ให้เสียเวลามาก ผมว่ารถยนต์ไฟฟ้า ณ วันนี้ อาจจะยังไม่เหมาะ

รถยนต์ไฟฟ้า ถ้าขับน้อยๆ ขับใกล้ๆ รถติดๆ ผมว่าเหมาะมากครับ”

ผู้ให้สัมภาษณ์ : Captain DIY, TiY
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สีวิกา ฉายาวรเดช

คุณกำลังดู: รถยนต์ไฟฟ้าในไทย 2023 ทิศทางเป็นอย่างไร พูดคุยกับผู้ใช้งานกลุ่มแรก

หมวดหมู่: รถยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด