รู้ไว้! "ยาสามัญประจำบ้าน" ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
วิ่งไปเปิดตู้ยาที่บ้านดูเลยว่ามีครบไหม
เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับใครที่มีบ้าน ก็จะต้องทำให้ภายในบ้านนั้นมีความปลอดภัย หรือใส่ตัวช่วยป้องกันความอันตรายที่อาจเกิดขึ้นภายในบ้าน นอกเหนือจากเรื่องอุบัติเหตุแล้ว เรื่องโรคภัยไข้เจ็บและอาการบาดเจ็บก็นับว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอกับคนที่อาศัยอยู่ในชายคาเดียวกัน ฉะนั้น สิ่งที่เจ้าบ้านจะต้องให้ความสำคัญ คือ การมี "ยาสามัญประจำบ้าน" ติดเอาไว้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ก่อนที่จะนำส่งไปยังผู้เชี่ยวชาญช่วยบรรเทาสิ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้ง วันนี้ Sanook! Health เลยเอาเรื่องราวเกี่ยวกับยาสามัญที่ทุกๆ บ้านควรมี พร้อมกับเนื้อหาที่ต้องรู้เกี่ยวกับยาแต่ละประเภทว่าเป็นอย่างไร และมีอะไรบ้าง
ยาสามัญประจำบ้าน คืออะไร ?
ยาสามัญประจำบ้าน คือ ตัวยาที่กระทรวงสาธารณะสุขได้พิจารณาเอาไว้ว่าเป็นยาอันเหมาะสมที่ประชาชนควรซื้อมาไว้ประจำบ้านของตนเอง เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการใช้ดูแลตัวเองจากอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งยาสามัญประจำบ้านนั้นเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง แต่ต้องมาควบคู่กับการใช้งานที่ถูกต้องก็จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย อีกทั้ง ยาสามัญประจำบ้านยังเป็นยาที่มีราคาถูกที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา ไปจนถึงร้านขายของชำทั่วไป โดยยาสามัญประจำบ้านที่ถูกระบุไว้มีทั้งหมด 53 ชนิด นำมาใช้รักษาโรคสามัญได้ทั้งหมด 16 กลุ่ม มีดังต่อไปนี้
1. กลุ่มยาบรรเทาปวดลดไข้ ประกอบไปด้วย
- ยาเม็ดสำหรับบรรเทาอาการปวดและลดไข้ แอสไพริน
- ยาเม็ดและยาน้ำสำหรับบรรเทาอาการปวดลดไข้ พาราเซตามอล โดยยาเม็ดจะมีขนาด 500 มก. และขนาด 325 มก.
- พลาสเตอร์ช่วยบรรเทาอาการปวด
2. กลุ่มยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ประกอบไปด้วย
- ยาเม็ดแก้แพ้ลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน
3. กลุ่มยาแก้ไอ ขับเสมหะ ประกอบไปด้วย
- ยาน้ำแก้ไอ ยาขับเสมหะสำหรับเด็ก
- ยาแก้ไอน้ำดำ
4. กลุ่มยาดม หรือยาทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก ประกอบไปด้วย
- ยาดมแก้วิงเวียน เหล้าแอมโมเนียหอม
- ยาดมแก้วิงเวียน และแก้คัดจมูก
- ยาทาระเหย บรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง
5. กลุ่มยาแก้เมารถ เมาเรือ ประกอบไปด้วย
- ยาแก้เมารถ ยาแก้เมาเรือ ไดเมนไฮดริเนท
6. กลุ่มยาสำหรับโรคปาก และลำคอ ประกอบไปด้วย
- ยากวาดคอ
- ยารักษาลิ้นเป็นฝ้า เยนเชี่ยนไวโอเลต
- ยาแก้ปวดฟัน
- ยาดมบรรเทาอาการระคายคอ
7. กลุ่มยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ประกอบไปด้วย
- ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาธาตุน้ำแดง
- ยาเม็ดแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซดามิ้นท์
- ยาขับลม
- ยาน้ำแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซเดียมไบคาร์บอเนต
- ยาทาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทิงเจอร์มหาหิงค์
- ยาเม็ดลดกรดอะลูมินา - แมกนิเซียม
8. กลุ่มยาแก้ท้องเสีย ประกอบไปด้วย
- ยาแก้ท้องเสีย ผงน้ำตาลเกลือแร่
9. กลุ่มยาระบาย ประกอบไปด้วย
- ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารหนักสำหรับเด็ก
- ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่
- ยาระบายแมกนีเซีย
- ยาระบายมะขามแขก
- ยาระบายโซเดียมคลอไรด์ ชนิดสวนทวาร
10. กลุ่มยาถ่ายพยาธิลำไส้ ประกอบไปด้วย
- ยาถ่ายพยาธิตัวกลม อย่าง เบนดาโซล ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม
11. กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย ประกอบไปด้วย
- ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง
12. กลุ่มยาสำหรับโรคตา ประกอบไปด้วย
- ยาหยอดตา ซัลฟาเซตาไมด์
- ยาล้างตา
13. กลุ่มยาสำหรับโรคผิวหนัง ประกอบไปด้วย
- ยารักษาหิดเหา เบนซิล เบนโซเอต
- ยารักษาหิด ขี้ผึ้งกำมะถัน
- ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า
- ยารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง
- ยาทาแก้ผดผื่นคัน คาลาไมน์
- ยารักษาเกลื้อน โซเดียมไทโอซัลเฟต
14. กลุ่มยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ประกอบไปด้วย
- ยารักษาแผลน้ำร้อนลวกฟีนอล
- ยารักษาแผลติดเชื้อซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีน ครีม
15. กลุ่มยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ประกอบไปด้วย
- ยาไส่แผล ทิงเจอร์ไอโอดีน
- ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล
- ยาใส่แผล โพวิโดน ไอโอดีน
- ยาไอโซโบรฟิล แอลกอฮอล์
- ยาเอทธิล แอลกอฮอล์
- น้ำเกลือล้างแผล
16. กลุ่มยาบำรุงร่างกาย ประกอบไปด้วย
- ยาเม็ดวิตามินบีรวม
- ยาเม็ดวิตามินซี
- ยาเม็ดบำรุงโลหิต เฟอร์รัส ซัลเฟต
- ยาน้ำมันตับปลา ชนิดแคปซูล
- ยาน้ำมันตับปลาชนิดน้ำ
ก่อนเลือกซื้อ "ยาสามัญประจำบ้าน" ต้องดูอะไรบ้าง ?
การออกไปเลือกซื้อยาสามัญประจำบ้าน เราจะต้องเลือกยาที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. โดยจะต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาแสดงอยู่บนฉลากของยาตัวนั้นๆ อย่างชัดเจน เนื่องจากยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนั้นถือได้ว่าเป็นยาที่ได้มาตรฐาน สามารถนำมาใช้รักษาโรค หรืออาการต่างๆ ได้ ต่อมาให้ดูเรื่อง วันหมดอายุ เพราะตัวยานั้นมีเวลาที่เสื่อมสภาพอยู่ จึงไม่ควรซื้อยาที่ใกล้วันหมดอายุ หรือหมดอายุแล้วมารับประทาน เพราะอาจทำให้เกิดผลเสีย หรืออันตรายต่อร่างกายได้ อีกทั้ง ยาที่ดีจะต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีสภาพดี ตัวยาต้องอยู่ครบสมบูรณ์ ยาเม็ดต้องไม่แตก สีเรียบ ไม่มีจุดแปลกปลอมบนตัวยา ส่วนยาน้ำต้องไม่มีการตกตะกอน แต่หากแขวนตะกอนเมื่อเขย่า ตะกอนนั้นต้องกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ
ใช้ "ยาสามัญประจำบ้าน" อย่างไรให้ปลอดภัย ?
- ต้องอ่านฉลากยาและเอกสารกำกับตัวยาให้เข้าใจก่อนใช้ยาทุกครั้ง จะได้ไม่เกิดความผิดพลาด
- ควรใช้ยาให้ถูกต้องตามที่เอกสารกำกับยาได้ระบุไว้ ห้ามใช้ยาเกินขนาดโดยเด็ดขาด !
- เลี่ยงการใช้ยาที่ผิดกับโรค เนื่องจากโรคบางอย่างต้องใช้ตัวยาในการรักษาที่ต่างชนิดกัน
เก็บ "ยาสามัญประจำบ้าน" อย่างไรให้ถูกต้อง ?
เมื่อเราซื้อยาสามัญประจำบ้านมาไว้ติดบ้านก็จะต้องมีตู้ยาสำหรับใส่ยาเหล่านี้โดยเฉพาะ จะได้เกิดความเรียบร้อยและสะดวกเมื่อหยิบใช้ อีกทั้งยังช่วยรักษาตัวยาให้มีอายุการใช้งานได้ตามกำหนด แนะนำให้ทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ให้แยกยาออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน ตัวยาไหนสำหรับรับประทาน ตัวยาไหนสำหรับใช้ภายนอก
- ยาที่ดีจะต้องมีฉลากที่ระบุข้อมูลไว้อย่างถูกต้อง ชัดเจน ตัวหนังสือไม่จาง ไม่ขาดหาย
- ต้องเก็บยาไว้ในที่ที่ไม่มีแสงแดด ไม่โดนความร้อน ไม่สัมผัสกับความชื้น หรืออยู่ใกล้กับเปลวไฟ
- ไม่ควรเก็บยาชนิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไว้ในตู้ยาสามัญประจำบ้าน เพราะอาจจะทำให้หยิบผิดได้
- ต้องเก็บยาให้พ้นจากมือเด็ก
และนี่ก็คือประโยชน์และความสำคัญที่แต่ละบ้านจะต้องมี ยาสามัญประจำบ้าน ติดเอาไว้ป้องกันโรคและอาการบาดเจ็บเบื้องต้นที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา อีกทั้ง ยาสามัญต่างๆ เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านทั่วไป แต่แนะนำว่าต้องศึกษาตัวยาและข้อมูลอื่นๆ ให้รอบด้านก่อนซื้อมาใช้ เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ในการรักษาโรคได้อย่างปลอดภัย
คุณกำลังดู: รู้ไว้! "ยาสามัญประจำบ้าน" ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
หมวดหมู่: รู้เรื่องยา