รีวิว Hyundai STARGAZER ใหม่ เอ็มพีวี 6 ที่นั่งเบาะ Captain Seat เจ้าเดียวในตลาด

รีวิว Hyundai STARGAZER ใหม่ เอ็มพีวี 6 ที่นั่งเบาะ Captain Seat เจ้าเดียวในตลาด

     Hyundai STARGAZER เป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดรถเอ็มพีวีเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร และยังถือเป็นรถยนต์รุ่นแรกภายใต้การทำตลาดอย่างเต็มตัวของ ฮุนได โมบิลิตี้ ประเทศไทย กับจุดขายห้องโดยสารแบบ 6 ที่นั่งเจ้าแรกและเจ้าเดียวในขณะนี้ จะคุ้มค่าน่าซื้อขนาดไหนไปติดตามได้ในบทความนี้ครับ

hyundai_stargazer_52

     ฮุนได สตาร์เกเซอร์ เริ่มวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทยครั้งแรกที่งาน Bangkok International Motor Show 2023 ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะมี Staria เป็นโมเดลชูโรงของฮุนไดในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ Stargazer ก็ถือเป็นรถรุ่นแรกภายหลังจากที่บริษัทแม่แห่งเกาหลีใต้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างเต็มตัวภายใต้ชื่อบริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ ประเทศไทย นั่นแปลว่าในอนาคตจะมีรถรุ่นใหม่ทยอยเปิดตัวกันอย่างต่อเนื่องแน่นอน

     สำหรับ Hyundai Stargazer ใหม่ ถูกพัฒนาให้เป็นรถเอ็มพีวีพิกัดเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ซึ่งมีตลาดหลักอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย (และแน่นอนว่ารถที่วางขายในประเทศไทยก็ถูกนำเข้ามาจากอินโดนีเซียเช่นกัน) ซึ่งนอกจากจะมีห้องโดยสารแบบ 7 ที่นั่งเหมือนกับคู่แข่งทั้งหลายแล้ว ยังเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าด้วยรุ่น 6 ที่นั่ง ซึ่งมาพร้อมเบาะนั่งแถวที่ 2 แบบ Captain Seat คล้ายกับรถเอ็มพีวีระดับหรู พร้อมตั้งราคาจำหน่ายยั่วใจไม่ถึง 9 แสนบาทเท่านั้น

hyundai_stargazer_48

     ปัจจุบัน Hyundai Stargazer รุ่นปี 2023 ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยมีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่นย่อย ได้แก่

  • รุ่น Trend ราคา 769,000 บาท (7 ที่นั่ง)
  • รุ่น Style ราคา 829,000 บาท (7 ที่นั่ง)
  • รุ่น Smart7 ราคา 869,000 บาท (7 ที่นั่ง)
  • รุ่น Smart6 ราคา 889,000 บาท (6 ที่นั่ง)

ภายนอก

     ดีไซน์ภายนอกของ Stargazer ถูกออกแบบให้มีเส้นสายชวนให้นึกถึงรุ่นใหญ่อย่าง Staria ด้วยเส้นสายที่เน้นความทันสมัย ชูจุดเด่นด้วยแนวขอบประตูและหลังคาที่เรียกว่า One Curve Design สร้างความต่อเนื่องจากด้านหน้าจรดท้าย มาพร้อมชุดไฟ DRL และไฟหรี่แบบ LED ที่ลากยาวเชื่อมเข้าหากันทั้งสองข้าง โดยในเวลากลางวันจะเห็นเป็นไฟ DRL แยกฝั่งซ้าย-ขวาออกจากกัน แต่เมื่อเปิดไฟหน้า แถบไฟด้านบนก็จะใช้เป็นไฟหรี่ที่ลากยาวต่อเนื่องตลอดความกว้างของตัวรถ

hyundai_stargazer_41

     ส่วนชุดไฟหลักถูกออกแบบมาติดตั้งไว้บริเวณกันชน โดยรุ่นที่ใช้ชื่อว่า Smart (ทั้ง Smart7 และ Smart6) จะได้ไฟหน้าแบบ LED ส่องสว่างด้วยโคมมัลติรีเฟล็กเตอร์ ประกบด้วยไฟเลี้ยวและไฟตัดหมอก ทั้งยังมีฟังก์ชันเปิด-ปิดอัตโนมัติตามสภาพแสง และระบบควบคุมไฟสูงอัตโนมัติ (HBA - High Beam Assist) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบความปลอดภัยขั้นสูง Hyundai SmartSense

     ขณะที่ดีไซน์ด้านท้ายของ Stargazer ก็มีจุดเด่นอยู่ที่ไฟท้ายแบบ LED ที่สามารถส่องสว่างเป็นรูปตัว H ในยามค่ำคืน เพิ่มความโดดเด่นมองเห็นได้แต่ไกล ชนิดที่ว่าขับตามหลังห่างกันสักครึ่งกิโลก็ยังพอดูออกว่าเป็นฮุนไดแน่นอน แต่แอบเสียดายที่ไฟเบรกและไฟเลี้ยวยังคงให้มาแบบหลอดไส้ ไม่งั้นจะดูสวยงามทันสมัยกว่านี้อีก

     สำหรับรุ่น Style ขึ้นมาจะได้ล้ออัลลอยสีทูโทนขนาด 16 นิ้ว ส่วนรุ่น Trend เป็นรุ่นเดียวที่ได้ล้ออัลลอยสีเงินลาย 5 ก้านคู่ แต่ก็มีขนาด 16 นิ้วเท่ากัน

hyundai_stargazer_50

     ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานภายนอกอื่นๆ ก็มีให้ครบครันไม่แพ้คู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นกระจกมองข้างปรับและพับด้วยระบบไฟฟ้า, ไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้าง, ระบบปัดน้ำฝนด้านหน้าแบบปรับตั้งเวลาหน่วงได้, ระบบปัดน้ำฝนด้านหลัง, สปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรกแบบ LED และเสาอากาศแบบครีบฉลามตามสมัยนิยม

ภายใน

     ภายในห้องโดยสารของรุ่น Smart6 ซึ่งเป็นรุ่นท็อปสุดที่เราได้มีโอกาสทดลองขับในครั้งนี้ ถูกจัดวางเบาะนั่งแบบ 3 แถว 6 ที่นั่ง โดยเบาะนั่งแถวที่ 2 เป็นแบบ Captain Seat แยกซ้ายขวาอิสระออกจากกัน สามารถปรับระดับได้ด้วยมือ ซึ่งรูปแบบการปรับเบาะก็แทบจะเหมือนกับเบาะคู่หน้า เพราะสามารถเลื่อนหน้า-หลัง ปรับเอนเพิ่มความผ่อนคลาย และมีพนักพิงศีรษะแบบปรับระดับได้มาให้ เรียกได้ว่าความสบายแทบจะไม่แพ้เอ็มพีวีรุ่นใหญ่เลยทีเดียว

hyundai_stargazer_28

     จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างของรุ่น 6 ที่นั่ง คือ ความสะดวกในการปีนเข้าเบาะนั่งแถวที่ 3 เพราะถ้าหากเป็นรุ่น 7 ที่นั่งปกติ ก็จำเป็นจะต้องพับเบาะแถว 2 ตลบไปข้างหน้าเสียก่อน จึงจะสามารถปีนเข้าเบาะแถว 3 ได้ แต่ด้วยการจัดวางเบาะนั่งแบบกัปตันซีตที่มีช่องว่างระหว่างเบาะนั่งแถวที่ 2 ทำให้ผู้โดยสารที่จะขึ้นไปนั่งเบาะแถว 3 สามารถเดินผ่านช่องระหว่างเบาะได้ทันทีโดยไม่ต้องพับเบาะแถว 2 แต่อย่างใด

     บริเวณตำแหน่งของผู้ขับขี่จะพบกับพวงมาลัยแบบ 4 ก้านที่มีดีไซน์ถอดแบบมาจาก Staria สามารถปรับได้ 4 ทิศทาง (ขึ้น-ลง และเข้า-ออก) พร้อมกับหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบดิจิทัลล้วน โดยตรงกลางจะเป็นหน้าจอ TFT LCD ขนาด 4.2 นิ้ว ประกบด้วยตัวเลขดิจิทัลสำหรับบอกความเร็วและรอบเครื่องยนต์ ส่วนกรอบไฟที่เห็นเป็นสีๆ นั้น สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามโหมดการขับขี่ 4 รูปแบบ ได้แก่ Eco, Normal, Sport และ Smart โดยที่โหมด Smart จะเป็นการปรับเปลี่ยนโหมดให้อัตโนมัติตามพฤติกรรมการขับขี่ในขณะนั้น

hyundai_stargazer_23

     เหนือเพดานบริเวณเบาะนั่งแถวที่ 2 ถูกติดตั้งช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารแถวหลัง สามารถปรับความแรงลมได้ 3 ระดับ อีกทั้งยังมีตู้แอร์แยกต่างหากจากด้านหน้า จึงไม่ต้องกังวลว่าความเย็นจะทั่วถึงทั้งห้องโดยสารหรือไม่ เพราะเท่าที่ทดสอบก็พูดได้เต็มปากว่าเย็นเฉียบแบบไม่มีอะไรกั้นเลยทีเดียว

     นอกจากนี้ บริเวณหลังเบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้ายังมีโต๊ะแบบพับได้มาให้ แม้ว่าขนาดจะไม่ได้ใหญ่โตนัก แต่ก็พอจะวางซองขนมขบเคี้ยว วางแก้วน้ำ ตั้งไอแพด หรือจะใช้สำหรับเซ็นเอกสารเล็กๆ น้อยๆ พอได้อยู่ แต่ไม่ถึงกับใช้เป็นโต๊ะสำหรับวางคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ้ก เนื่องจากมีขนาดเล็กเกินไป และรองรับน้ำหนักได้สูงสุด 3.5 กิโลกรัมเท่านั้น

hyundai_stargazer_25

     เหนือแผงคอนโซลหน้าจะพบกับหน้าจออินโฟเทนเมนท์แบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว ที่แยกปุ่มควบคุมระดับเสียงเอาไว้ต่างหาก ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างชื่นชอบ เพราะการปรับเสียงบนหน้าจอสัมผัสเป็นอะไรที่น่ารำคาญอย่างยิ่ง แถมจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้อีกต่างหาก เนื่องจากต้องคอยมานั่งเล็งนิ้วให้ตรงกับปุ่มบนหน้าจอ ทั้งยังมีปุ่ม Shortcut เพื่อเข้าสู่เมนูต่างๆ ได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

     หน้าจอ 8 นิ้วชุดนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อ Wireless Apple CarPlay และ Android Auto ทั้งยังมีแป้นชาร์จไฟแบบไร้สาย (Wireless Charger) มาให้ ดังนั้นหากใช้รถคนเดียวก็แทบไม่มีความจำเป็นต้องเสียบสาย USB เพราะสามารถเปิดใช้งาน Apple CarPlay ไปพร้อมๆ กับการชาร์จแบบไร้สายได้เลย แถมยังอยู่ในตำแหน่งที่สามารถหยิบโทรศัพท์ออกมาใช้งานได้ไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก

hyundai_stargazer_05

     แต่ถึงกระนั้นฮุนไดก็ติดตั้งช่อง USB สำหรับผู้โดยสารตอนหน้ามาให้ 1 ช่อง และแถวสองอีก 2 ช่อง (ช่องด้านหลังใช้สำหรับจ่ายไฟเพียงอย่างเดียว) ส่วนแถวสามมีช่องจ่ายไฟแบบ 12 โวลต์มาให้ เผื่อจะใช้เสียบกับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ได้อีก เช่น ตู้เย็นเคลื่อนที่, ไฟฉาย และอื่นๆ อีกมากมาย

     ส่วนระบบปรับอากาศของรุ่น Smart เป็นแบบอัตโนมัติ ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงานมาให้ครบถ้วน ไม่ขาดๆ เกินๆ เหมือนกับคู่แข่งบางรุ่นที่อิมพอร์ตมาจากอินโดนีเซียเหมือนกัน แถมยังให้ความเย็นรวดเร็วทันใจ ไม่หวั่นแม้กระทั่งฤดูร้อนของประเทศไทยที่ร้อนราวกับซ้อมตกนรกกันเลยทีเดียว

hyundai_stargazer_22

     อุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ของรุ่น Smart6 และ Smart7 ก็มีให้แบบครบครันไม่น้อยหน้าใคร (แถมยังเกินหน้าคู่แข่งบางรุ่นเสียด้วยซ้ำ) ไม่ว่าจะเป็นกุญแจ Keyless Entry ที่มีฟังก์ชันสตาร์ทเครื่องยนต์ระยะไกลด้วยรีโมท, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control, กระจกไฟฟ้าฝั่งผู้ขับขี่ขึ้น-ลงอัตโนมัติ พร้อมป้องกันหนีบ, กล้องมองภาพด้านหลัง Rear View Monitor ทำงานคู่กับเซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง, ระบบแจ้งแรงดันลมยาง TPMS และจุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX เป็นต้น

     ด้านระบบความปลอดภัยขั้นสูง Hyundai SmartSense ถูกติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรุ่น Smart6 และ Smart7 ประกอบด้วย

  • ระบบเตือนและเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ FCA
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่กลางเลน LFA
  • ระบบเตือนและช่วยควบคุมพวงมาลัยเมื่อมีรถในจุดอับสายตา BCA
  • ระบบช่วยเตือนและเบรกอัตโนมัติขณะถอยรถ RCCA
  • ระบบควบคุมไฟสูงอัตโนมัติ HBA
  • ระบบเตือนการปิดประตูเมื่อมีรถวิ่งมาด้านข้าง SER
  • ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้า DAW
  • ระบบแจ้งเตือนให้เช็กผู้โดยสารด้านหลัง ROA
  • ระบบช่วยจำกัดความเร็ว MSLA

     ฟังก์ชันต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีให้ในคู่แข่งอยู่แล้ว แต่สำหรับ Stargazer ก็ถือเป็นรุ่นแรกในพิกัดเดียวกันที่มีฟังก์ชันเตือนและช่วยเบรกอัตโนมัติเมื่อถอยรถ (Rear Cross-traffic Collision-avoidance Assist) คือแทนที่จะส่งเสียงเตือนพร้อมไฟกะพริบเพียงอย่างเดียว แต่รถรุ่นนี้ยังสามารถเบรกให้อัตโนมัติด้วย

hyundai_stargazer_30

     อีกหนึ่งระบบที่น่าสนใจก็คือ ระบบเตือนการเปิดประตูเมื่อมีรถวิ่งมาด้านข้าง (Safe Exit Warning) ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะเปิดประตู โดยเฉพาะถนนบ้านเราที่อาจมีรถมอเตอร์ไซค์แทรกเข้ามาอย่างไม่ทันรู้ตัว ฟังก์ชันนี้จะใช้เซ็นเซอร์บริเวณกันชนหลังเพื่อตรวจสอบว่ามีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์เคลื่อนที่เข้ามาหรือไม่ และจะทำการส่งเสียงเตือนก่อนที่ผู้โดยสารจะผลักประตูออกไป

     ส่วนระบบความปลอดภัยมาตรฐานที่มีให้ในทุกรุ่นย่อย ได้แก่ ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC, ระบบควบคุมการทรงตัว VSM, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC, ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS, ระบบเสริมแรงเบรก BAS, สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ ESS, เซ็นเซอร์กะระยะด้านท้าย, ระบบล็อกประตูอัตโนมัติตามความเร็วรถ และถุงลมนิรภัยคู่หน้า ขณะที่รุ่น Smart6 และ Smart7 จะเพิ่มถุงลมนิรภัยด้านข้างคู่หน้า และม่านถุงลมนิรภัยมาให้รวมเป็น 6 ตำแหน่ง

hyundai_stargazer_01

เครื่องยนต์และช่วงล่าง

     ทุกรุ่นย่อยถูกติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ DOHC D-CVVT ความจุ 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,300 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 144 นิวตัน-เมตร ที่ 4,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ IVT (ซึ่งก็คือเกียร์ CVT ที่ใช้สายพานโซ่แทนสายพานปกติ ซึ่งฮุนไดระบุว่ามีความทนทานมากกว่า) รองรับน้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือกสูงสุด E10 และผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ Euro 4

     ช่วงล่างด้านหน้าของ Hyundai Stargazer เป็นแบบแม็กเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม (คานแข็ง) โดยทุกรุ่นถูกติดตั้งระบบดิสก์เบรกด้านหน้า และดรัมเบรกด้านหลังเหมือนกันทั้งหมด

การขับขี่

     Hyundai Stargazer ชูแนวคิดที่เรียกว่า "Ultimate Comfort" ที่เน้นความสบายเป็นหลัก ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีอย่างที่เคลมไว้จริงๆ เนื่องจากช่วงล่างของรถรุ่นนี้ถูกเซ็ตมาเพื่อเน้นความนุ่มนวล รองรับกับสภาพถนนของบ้านเราได้เป็นอย่างดี การซับแรงสะเทือนทำได้น่าประทับใจ จนรู้สึกเหมือนกับว่ารถคันนี้มีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง แถมยังไม่ส่งเสียงตึงตังจนน่ารำคาญเหมือนกับรถที่เซ็ตมาเพื่อเน้นความสปอร์ต

hyundai_stargazer_55

     ในมุมของผู้ขับขี่ต้องยอมรับว่าเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ที่สร้างพละกำลังสูงสุดได้ 115 แรงม้านั้น ก็ตอบสนองได้เพียงแค่พอใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งอันที่จริงลูกค้าที่ซื้อรถในกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มองเรื่องสมรรถนะเครื่องยนต์เป็นหลักอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอย่าไปคาดหวังในเรื่องของอัตราเร่งมากนัก แต่ถึงกระนั้นเกียร์อัตโนมัติ IVT ก็สามารถตอบสนองได้ดีในช่วง 0-60 กม./ชม. ตามน้ำหนักเท้าที่กดลงไป ช่วยให้การขับในเมืองรู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้นมาบ้าง

     ส่วนอาการโคลงในช่วงจังหวะเข้าโค้งก็พอมีให้เห็นบ้าง ตามสไตล์รถที่เซ็ตช่วงล่างมานุ่มนวล คู่ไปกับตัวรถที่มีความสูงแบบเอ็มพีวี แต่ก็ไม่ได้ถึงกับโยนจนน่ารำคาญกระทั่งต้องเหยียบเบรกก่อนเข้าโค้งไปเสียทุกโค้ง ถึงกระนั้นก็ขอคอนเฟิร์มอีกทีว่าเวลาที่สลับมาเป็นคนนั่งแล้วล่ะก็ รถคันนี้มีช่วงล่างที่นั่งสบายเกินความคาดหมายไปเลยจริงๆ

img_8382

     สำหรับเบาะนั่งแถวที่ 3 ก็ต้องบอกว่าพอใช้งานได้ โดยผู้เขียนที่มีความสูง 173 เซนติเมตรสามารถนั่งโดยมีพื้นที่เหนือศีรษะแบบเหลือๆ ส่วนพื้นที่วางขานั้น หากขยับเบาะนั่งแถวที่ 2 ขึ้นไปข้างหน้ามากกว่าปกติเล็กน้อย ก็สามารถนั่งได้โดยที่หัวเข่าอาจสัมผัสกับด้านหลังของเบาะแถว 2 ในบางจังหวะที่ขยับตัว แต่โดยรวมแล้วเบาะนั่งแถวที่ 3 ดูเหมือนจะเหมาะสำหรับสรีระของเด็กหรือวัยรุ่นเสียมากกว่า หากเป็นสรีระของชายวัยกลางคนแล้วล่ะก็ ถือว่าอยู่ในระดับ "พอนั่งได้" เท่านั้น

     ในด้านอัตราสิ้นเปลืองเราไม่ได้ทดสอบกันจริงจังชนิดเติมน้ำมันกลับเข้าไปในถังแล้วมาหารกับระยะทางที่วิ่งไป เพียงแค่หน้าจอของตัวรถแสดงอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยอยู่ที่ 14.2 กม./ลิตร หลังผ่านการขับขี่ในรูปแบบ "นอกเมือง" ไปทั้งสิ้น 60.6 กิโลเมตร ซึ่งก็ถือว่าพอรับได้เมื่อแลกกับตัวถังที่ถูกขยายออกเพื่อให้รองรับได้ถึง 7 ที่นั่ง เทียบกับที่ ECO Sticker ระบุอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยในโหมด Combined (ทดสอบแบบสภาวะในเมืองและนอกเมืองรวมกัน) เอาไว้ที่ 16.1 กม./ลิตร

สรุป

     Hyundai Stargazer เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังมองหารถ MPV พิกัดเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ด้วยรูปลักษณ์และอุปกรณ์มาตรฐานที่สามารถต่อกรกับเจ้าตลาดได้อย่างสบาย อีกทั้งยังเป็นรถรุ่นแรกที่นำเข้ามาจำหน่ายโดย ฮุนได โมบิลิตี้ หรือพูดง่ายๆ คือ บริษัทแม่จากเกาหลีใต้มาลุยทำตลาดเอง จึงคาดว่าเราจะได้เห็นการพัฒนาด้านบริการหลังการขายของฮุนไดที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งในแง่คุณภาพการบริการ และจำนวนสาขาของศูนย์บริการ

     ส่วนใครที่ลังเลว่าจะเลือกรุ่นท็อป 6 ที่นั่งไปเลยดีไหม ก็แนะนำว่าถ้างบถึงก็เล่นได้เลย เพราะราคานี้คุณจะได้เบาะนั่งแถว 2 แบบกัปตันซีตที่สะดวกสบายกว่า และหาไม่ได้ในคู่แข่งรายอื่น ทั้งยังไม่ต้องมาคอยพับเบาะกันบ่อยๆ เพื่อให้ผู้โดยสารปีนขึ้นไปนั่งแถวสุดท้าย เรียกว่าความสะดวกสบายอยู่ในระดับน้องๆ Staria กันเลยทีเดียวครับ

 

คุณกำลังดู: รีวิว Hyundai STARGAZER ใหม่ เอ็มพีวี 6 ที่นั่งเบาะ Captain Seat เจ้าเดียวในตลาด

หมวดหมู่: รถยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด