รีวิว Mazda2 2024 ขุมพลังดีเซล 1.5 ลิตร ขับดีเป็นทุนเดิมแต่เพิ่มความสปอร์ต
แม้ว่า Mazda2 2024 ใหม่ จะเป็นเพียงการปรับโฉมย่อยหรือไมเนอร์เชนจ์เท่านั้น แต่คำถามที่สำคัญคือ ซิตี้คาร์น้องเล็กจากค่ายมาสด้าจะยังคงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ท่ามกลางการทยอยเปิดตัวรถรุ่นใหม่จากฝั่งคู่แข่งได้หรือไม่ บทความนี้ Sanook Auto จะพาไปหาคำตอบกันครับ
Mazda2 รุ่นปี 2023 - 2024 ใหม่ ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับโฉมตามตลาดญี่ปุ่นที่ได้เปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นปี 2566 โดยเน้นจุดขายไปที่การปรับดีไซน์เพื่อสะท้อนความเป็นตัวตนของเจ้าของรถได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานเฉกเช่นรถยนต์ระดับพรีเมียม ที่บางอย่างก็ยังหาไม่ได้จากคู่แข่งในปัจจุบัน
มาสด้า2 ใหม่ ถูกเปิดตัวใน 2 ดีไซน์ ได้แก่ New Wave Design และ Sport Design โดยที่การตกแต่งแบบ New Wave Design จะมาตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นไปจนถึงรุ่นกลาง (1.3 C, 1.3 S และ XD) ขณะที่ Sport Design จะถูกสงวนไว้เฉพาะรุ่นท็อปของทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลเท่านั้น (1.3 SP และ XDL)
อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกด้วยรุ่นตกแต่งพิเศษที่เรียกว่า Rookie Drive และ Clap Pop ซึ่งนำเอารุ่น 1.3 C Sports ตัวถังแฮทช์แบ็ก 5 ประตู มาตกแต่งเพิ่มสีสันเอาใจคนรุ่นใหม่ โดยที่รุ่น Rookie Drive จะถูกตกแต่งด้วยสีส้ม Racing Orange ตัดกับสีตัวถังเพื่อเน้นความสดใส ขณะที่รุ่น Clap Pop จะถูกตกแต่งด้วยสีขาว Ceramic White ที่ดูเรียบหรูและมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
สำหรับการทดสอบครั้งนี้เราได้มีโอกาสขับรุ่น 1.5 XD Sports ซึ่งก็คือรุ่นรองท็อปของเครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D 1.5 ลิตร ตัวถังแฮทช์แบ็ก 5 ประตู ก่อนจะได้คำตอบว่ามันยังเป็นรถที่มีความดีงามทั้งด้านเครื่องยนต์และช่วงล่าง รวมถึงอุปกรณ์มาตรฐานในระดับที่สามารถฟาดฟันกับคู่แข่งรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันได้อย่างสบาย
ภายนอก
ดีไซน์ภายนอกของ Mazda2 รุ่น 1.5 XD Sports เป็นแบบที่เรียกว่า New Wave Design ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายๆ จากกระจังหน้าแบบเรียบที่ตกแต่งด้วยสีเดียวกับตัวถังรถ เสริมด้วยกรอบกระจังหน้าสีดำเงา และแถบตกแต่งสีเหลืองช่วยเพิ่มความสะดุดตา ขณะที่ดีไซน์ของชุดไฟหน้ายังคงยกมาจากรุ่นเดิมทั้งหมด
ส่วนด้านท้ายมีการออกแบบกันชนท้ายใหม่ ตกแต่งด้วยแถบสีเหลืองเพื่อให้เข้ากับด้านหน้า ซึ่งเมื่อตัดกับตัวถังสีเทา Polymetal Gray ก็ดูสวยลงตัวดีเหมือนกัน โดยที่รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 1.5 ลิตรทั้งหมด จะได้ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้วที่ช่วยให้ซุ้มล้อดูเต็มยิ่งขึ้น
ด้านอุปกรณ์มาตรฐานของรุ่น 1.5 XD Sports ก็ยังคงแน่นเอี๊ยดเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าแบบโปรเจกเตอร์ LED พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวัน LED Signature, ระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ, ระบบปรับระดับไฟหน้าอัตโนมัติ (Auto Leveling System), ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ, กระจกบังลมหน้าแบบกันเสียงรบกวน, กระจกมองข้างปรับ-พับไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยว, ปลายท่อไอเสียโครเมียม, สปอยเลอร์เหนือฝากระโปรงท้าย และเสาอากาศแบบครีบฉลาม
ภายใน
ภายในห้องโดยสารยังคงดีไซน์ของเดิมเอาไว้แทบทั้งหมด จะมีก็เพียงแผงคอนโซลหน้าที่ถูกตกแต่งด้วยวัสดุที่เรียกว่า Bioplastic ที่ตกแต่งด้วยสีแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสีภายนอก โดยตัวถังสีเทา Polymetal Gray จะได้ภายในตกแต่งด้วยสีขาว Pure White อย่างที่ปรากฏในภาพ
แม้ว่ารุ่น XD จะเป็นตัวรองลงมาจากรุ่น XDL แต่ก็มีอุปกรณ์ติดตั้งมาให้ครบครันเพียงพอกับการใช้งาน โดยรุ่น XD Sports จะได้เบาะนั่งหุ้มหนังสังเคราะห์สีดำปรับระดับด้วยมือ เบาะนั่งด้านหลังสามารถปรับพับแยก 60:40 พร้อมพนักพิงศีรษะ 3 ตำแหน่งที่สามารถปรับความสูง-ต่ำได้ ขณะที่กุญแจเป็นแบบ Smart Keyless Entry ทำงานคู่กับปุ่ม Push Start Button เป็นต้น
ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ได้แก่ พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันปรับระดับได้ 4 ทิศทาง, หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่, มาตรวัดรอบเครื่องยนต์แบบดิจิทัล, แผงบังแดดพร้อมกระจกแต่งหน้า, หน้าจอสี Center Display แบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว, ปุ่มควบคุม Center Commander, รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto (เฉพาะรุ่น 1.3 S, 1.3 SP และ XDL สามารถเชื่อมต่อ Apple CarPlay แบบไร้สายได้), Bluetooth, USB/AUX, ลำโพง 6 ตำแหน่ง และช่องเสียบ SD Card สำหรับระบบนำทาง เป็นต้น
ขณะที่ระบบความปลอดภัยของรุ่น XD ประกอบไปด้วย ระบบควบคุมเสถียรภาพและการทรงตัว DSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล TCS, ระบบเบรก ABS/EBD/BA, ระบบไฟสัญญาณฉุกเฉินเมื่อเบรกกะทันหัน ESS, ระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน HLA, กล้องมองภาพขณะถอยหลัง, เซ็นเซอร์กะระยะท้าย 4 จุด และถุงลมนิรภัยคู่หน้า เป็นต้น
การปรับไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้มีการเพิ่มระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ Advanced SCBS (Advanced Smart City Brake Support) เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่นย่อย ขณะที่ระบบช่วยเหลือการขับขี่อื่นๆ จะมีให้เฉพาะรุ่นท็อปสุดของทั้งเบนซินและดีเซลเท่านั้น (1.3 SP และ 1.5 XDL) ซึ่งจะประกอบไปด้วยฟังก์ชันดังนี้
- ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ SBS
- ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน MRCC
- ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน LDWS
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ HBC
- ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM
- ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA
- ระบบแสดงภาพ 360 องศารอบทิศทาง
เครื่องยนต์
Mazda2 รุ่นปี 2023 - 2024 ยังคงติดตั้งขุมพลังบล็อกเดิมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตร และดีเซล 1.5 ลิตร พ่วงเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE 6 สปีด ที่มีโหมดเกียร์ธรรมดา Activematic เช่นเคย
- เครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G แบบ 4 สูบ ความจุ 1.3 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 93 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 123 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที รองรับน้ำมัน E20 และมีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 23.3 กม./ลิตร
- เครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D แบบ 4 สูบ ความจุ 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตัน-เมตร ที่ 1,500 - 2,500 รอบต่อนาที มีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 26.3 กม./ลิตร
ทั้งสองรุ่นยังคงรักษาเอกลักษณ์การขับขี่ด้วยระบบ G-Vectoring Control Plus (GVC Plus) ที่ช่วยลดอาการโคลงของตัวรถในขณะเข้าโค้ง พร้อมช่วงล่างด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบกึ่งอิสระทอร์ชันบีม ติดตั้งระบบเบรกแบบหน้าดิสก์ หลังดรัม ทุกรุ่นย่อย ยกเว้นเฉพาะรุ่น XDL ที่จะได้ระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ
การขับขี่
อันที่จริงต้องยอมรับว่าการขับขี่ Mazda2 เครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D แทบไม่มีความแตกต่างไปจากเดิมเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร เนื่องจาก Mazda2 จัดว่าเป็นหนึ่งในรถกลุ่ม B-segment ที่มีสมรรถนะช่วงล่างดีที่สุดในกลุ่ม โดยในรุ่นแฮทช์แบ็ก 5 ประตู จะถูกเซ็ตช่วงล่างมาในแนวหนึบหนับ ค่อนข้างแข็งกว่า Honda City 1.0 Turbo ที่เราทดสอบขับก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน ส่งผลให้การเปลี่ยนเลนหรือเข้าโค้งทำได้อย่างมั่นใจ เรียกว่าเกาะถนนแน่นหนึบน้องๆ Mazda3 Hatchback รุ่นปัจจุบันก็ว่าได้
ขณะที่เครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D 1.5 ลิตร ที่เราได้มีโอกาสทดลองขับนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดเหลือเฟือ ตอบสนองฝีเท้าได้ดีทั้งในช่วงต้นและช่วงกลางของรอบเครื่องยนต์ ซึ่งจะค่อนข้างแตกต่างจากเครื่องยนต์ 1.0 เทอร์โบของ ฮอนด้า ซิตี้ ที่จะเน้นไปช่วงกลางถึงช่วงปลายมากกว่า ส่งผลให้การเร่งแซงทำได้แบบชิลล์ๆ เพิ่มน้ำหนักคันเร่งเพียงนิดเดียว แรงบิดก็ไหลมาเทมา ฉีกรถคันที่อยู่ข้างๆ ได้อย่างสบาย ซึ่งจุดนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบของเครื่องยนต์ดีเซลที่เหนือกว่าเบนซินอย่างชัดเจน
ซึ่งจุดนี้เองทำให้ Mazda2 เครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D กลายเป็นรถที่มีความยืดหยุ่นมากกว่ารุ่นเบนซิน SKYACTIV-G เพราะด้วยตัวถังขนาดเล็กกะทัดรัด ทำให้มันเป็นรถที่มีความคล่องตัวในเมือง เหมาะสำหรับการขับไปทำงานในวันธรรมดา และเมื่อต้องนำรถไปขับทางไกล พละกำลังที่เหลือเฟือก็สามารถทำความเร็วสูงได้แบบสบายๆ ควบคู่ไปกับความประหยัดน้ำมัน แถมปัจจุบันราคาของน้ำมันดีเซลก็ปรับลดลงจากเบนซินอยู่พอสมควร เรียกว่าถ้าใครต้องการความประหยัดถึงใจโดยไม่ต้องพึ่งมอเตอร์ไฟฟ้า ก็แทบไม่ต้องมองตัวเลือกอื่นเลย
สรุป
แม้ว่า Mazda2 Minorchange ปี 2023 - 2024 จะเป็นเพียงการปรับหน้าตารูปลักษณ์ให้ดูทันสมัยขึ้นอีกนิด พร้อมเพิ่มออปชันบางอย่างเข้าไป แต่สมรรถนะดั้งเดิมโดยเฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 1.5 ลิตร ก็เรียกว่ายังคงเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้รถคันนี้น่าใช้มาจนถึงปัจจุบัน หากคุณกำลังมองหารถซิตี้คาร์เน้นใช้งาน 1-2 คนเป็นหลักอยู่แล้วล่ะก็ ผมเชื่อว่ารถรุ่นนี้ยังสามารถตอบโจทย์ได้อย่างน่าประทับใจเช่นเดิมครับ
ราคาจำหน่าย Mazda2 Sedan และ Hatchback รุ่นปี 2023 - 2024 ทุกรุ่นย่อย
- รุ่น 1.3 C ราคา 599,000 บาท
- รุ่น 1.3 S ราคา 680,000 บาท
- รุ่น 1.3 SP ราคา 730,000 บาท
- รุ่น 1.5 XD ราคา 720,000 บาท
- รุ่น 1.5 XDL ราคา 830,000 บาท
- รุ่น 1.3 Rookie Drive Sports ราคา 662,000 บาท (มีเฉพาะตัวถังแฮทช์แบ็ก)
- รุ่น 1.3 Clap Pop Sports ราคา 647,000 บาท (มีเฉพาะตัวถังแฮทช์แบ็ก)
คุณกำลังดู: รีวิว Mazda2 2024 ขุมพลังดีเซล 1.5 ลิตร ขับดีเป็นทุนเดิมแต่เพิ่มความสปอร์ต
หมวดหมู่: รถยนต์