สามห่วงทะลวงล้านกิโลเมตร เล่าอดีตรถยอดทน คน 90s กับ Toyota Corolla ทนหายห่วง

สามห่วงทะลวงล้านกิโลเมตร เจาะ Toyota Corolla รถโคตรทนแห่งยุค 90

สามห่วงทะลวงล้านกิโลเมตร เล่าอดีตรถยอดทน คน 90s กับ Toyota Corolla ทนหายห่วง

ไทยรัฐออนไลน์วันอาทิตย์นี้ขอเปลี่ยนแนวจากรถมือสองที่ปียังใหม่แล้วย้อนกลับไปหาอดีตกันสักนิด คิดเสียเวลาเข้ามาฟังคนโลกเก่า เล่าเรื่องโลกเก่าๆ ให้ท่านฟังผ่านรถเก่าๆ หนึ่งคัน คุณผู้อ่านลองถามตัวเองสิครับว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ท่านอยู่ในวัยไหน กำลังเรียนหรือทำอาชีพอะไร สำหรับบางท่าน 30 ปีที่แล้วท่านอาจจะยังอยู่ในชีวิตชาติก่อนเลยด้วยซ้ำ ผมจะเรียนให้ท่านทราบว่า Toyota Corolla 1.6 GLi เกียร์ธรรมดาสีขาวคันที่ท่านเห็นในบทความนี้ ถูกประกอบขึ้นที่โรงงานของ Toyota แล้วคลอดออกมาเมื่อ 30 ปีที่แล้วเกือบเป๊ะ รหัสตัวถังของรถรุ่นนี้ ถ้าเรียกแบบสากล เรียกว่าตัวถัง E100 แต่เอาเข้าจริง ยังมีความแตกต่างตามรุ่นย่อยและเครื่องยนต์อีก รถ 1.6 ลิตรบ้านเราตอนนั้น จึงมีรหัสตัวถังว่า AE101 แต่วงการรถมือสองบ้านเราเรียกว่ารุ่น “สามห่วง”

สามห่วงที่ว่านี้ ไม่ได้มาจาก “ห่วงเด็ก ห่วงกิ๊ก ห่วงน้อง” แต่มาจากการที่เป็น Toyota Corolla รุ่นแรกในไทยที่ใช้โลโก้ Toyota วงกลมซ้อนวงกลมเหมือนห่วงซ้อนกันสามวงนั่นเอง

คุณลองพินิจดูภาพ ภายนอกและภายในนะครับ นี่คือสิ่งที่คนซื้อรถระดับ Corolla, Civic และ Sentra จะได้รับ โดย Corolla นั้นอุปกรณ์จะดีกว่า Civic ซึ่งในปี 1992 เขายังใจกล้าให้เครื่อง 1.5 ลิตรคาร์บิวเรเตอร์ เบาะหนังเทียมเกรดรถกระบะ กับกระจกมือหมุนอยู่เลยด้วยซ้ำ ในขณะที่ Nissan Sentra ให้ของเยอะกว่านิดๆ

สำหรับ Corolla ปี 92-93 ในรุ่น 1.6 ลิตรนั้น หากไม่ใช่เกียร์อัตโนมัติ คุณจะปรับกระจกมองข้างทีต้องยื่นมือไปปรับก้านเล็กๆ ปรับฝั่งขวาน่ะง่าย ปรับฝั่งซ้ายนี่สิ ปรับเสร็จกลับมานั่งเล็งแล้วก็ปรับอีก เอี้ยวตัวกันจนปวดหลังยังดีว่ามีกระจกไฟฟ้าให้ (บานคนขับกดทีเดียวลงหมด) กับเซ็นทรัลล็อก ภายในมาตรฐานยุค 90s นั้นรถยังไม่ค่อยมีลูกเล่น ดูวิทยุว่าเล่นเทปได้ มีระบบกลับหน้า A ไป B ให้อัตโนมัติ (Auto-reverse) ก็บุญโขแล้ว แอร์ออโต้ อย่าหวัง ขนาดเบนซ์ 300E ปีนั้นยังไม่มี เบรก ABS ก็มีแต่ในรถระดับหรูอยู่เลย

ความที่โลกสมัยนั้น รถยนต์ยังเป็นพาหนะที่อำนวยความบันเทิงได้แค่เสียงเพลงจากวิทยุ เทป หรือ CD ไม่มีลูกเล่นอื่น เลยไม่ต้องมีปุ่ม มีฟังก์ชันอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ พอมีของน้อย จุดที่จะเสีย ก็ย่อมมีน้อยตามไปด้วย แต่ผมไม่ได้กำลังบอกว่ารถใหม่สู้รถเก่าไม่ได้นะครับ อันที่จริงเรายอมรับเลยว่า เพราะเทคโนโลยีนี่ละที่เปลี่ยนชีวิตเรา สมัยนี้ อยากหาร้านอาหารแปลกๆ ค้น Google Maps อ่านรีวิวสักหน่อย เดินถือสมาร์ทโฟนขึ้นรถ เชื่อมต่อกับจอของรถ แล้วไปได้เลย แถมบอกได้ด้วยว่าน่าจะถึงร้านกี่โมง

ในยุคผมวัยรุ่นนมแตกพานนี่นะหลาน เรามีแค่แผนที่เล่มนึงในรถครับ จะไปร้านไหนที่โลเคชันแปลกๆ เราต้องโทร. ถามทางร้านแล้วจดโน้ตเหมือนตรูจะไปแข่งแรลลี่ปารีสดาการ์ หลานๆ อาจถามว่าไม่ใช้มือถือโทร.ระหว่างขับไปล่ะครับ หลานเอ้ย ใครมันจะมี? สมัยนั้นพ่อของน้าใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Telecall อันใหญ่ฟาดหัวควายตาย หนักอีกต่างหาก บันทึกเบอร์โทร. ได้ 20 เลขหมาย แล้วก็ใช้ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากโทรศัพท์กับฟาดหัวควาย แต่ราคามัน 75,000 บาทนะลูก ลูกรู้สึกยังไงถ้าทุกวันนี้สมาร์ทโฟนรุ่นกระจอกสุดราคาแสนกว่าบาท

นั่นละคือความรู้สึกของน้าสมัยนั้นครับ มือถือนี่ลืมไปได้เลย ถ้าหลงทาง คุณต้องถามชาวบ้าน ไม่ก็ขับหาตู้โทรศัพท์สาธารณะ แล้วถามทางกับที่ร้าน จนกว่าจะเจอ

กลับมาที่เจ้าสามห่วง..นอกจากอุปกรณ์จะต่างจากรถสมัยใหม่ลิบลับแล้ว ขนาดตัวรถก็ต่างกันครับ สมัยนี้ ถ้าคุณเอาสามห่วงไปจอดข้าง Yaris ATIV ป้ายแดง มันจะดูผอมแห้งลีบไปถนัดใจ อีกประการหนึ่งก็คือ ขนาดของห้องโดยสารกับขนาดประตู คุณสังเกตไหมว่าหลังเข้าศตวรรษใหม่มา รถญี่ปุ่นสไตล์ครอบครัว ตัวรถจะป่อง ประตูจะโต เพื่อให้เข้าออกง่าย และยังเป็นการออกแบบเผื่อคนพิการไปพร้อมๆ กับการสร้างบรรยากาศที่โปร่งสบาย แต่ Corolla สามห่วงนั้นยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลดีไซน์แบบยุค 80s ตอนปลาย คือขายความเปรียวลม แอโรไดนามิกส์แบบ ยิ่งสวยเฉี่ยว ยิ่งขายได้

คนญี่ปุ่นสมัยนั้นตัวไม่โตด้วยครับ ดังนั้นสิ่งที่รุ่นลุงนั่งกันสมัยนั้นแล้วบอกว่าปกติ เทียบกับรถที่ตัวยาวเท่ากันสมัยนี้ รถรุ่นใหม่ๆ เทความสำคัญให้พื้นที่ห้องโดยสารเยอะกว่ามาก การขับรถเกียร์ธรรมดายุค 90s อย่างเจ้าคันนี้ ก็เป็นสิ่งที่หลานๆ ยุคนี้อาจจะไม่เคยรู้สึก (เพราะจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึก) ในรถยุคใหม่นั้นแสนสบายด้วยเกียร์อัตโนมัติแสนฉลาด ส่วนเกียร์ธรรมดา ขับสนุกเพราะสับเอง แต่เวลารถติด เมื่อยเท้าซ้ายเป็นบ้า

กับพวงมาลัยเพาเวอร์แบบมอเตอร์ไฟฟ้าที่กลับรถหรือถอยจอดก็เบามือ วิ่งทางไกลก็ปรับให้หน่วงมือได้ กับเจ้าสามห่วงคันนี้ เป็นเพาเวอร์ไฮดรอลิกปั่นปั๊มเพาเวอร์ด้วยสายพานตามยุคสมัยของมัน ขนาดยางล้อเล็กแค่ 185/65 ล้อขอบ 14 นิ้วนะ..เวลาหมุนทีหนักกว่า Ford Everest คันโตๆ เยอะ แล้วบางคันสมัยนั้นไม่มีพวงมาลัยเพาเวอร์นะครับ เวลาคุณจะท้าตบกับมนุษย์ป้า เช็กด้วยว่าป้าขับรถไม่มีพวงมาลัยเพาเวอร์ไหม ถ้าไม่มี เปอร์เซ็นต์ที่ซุปเปอร์ป้าคนนั้นสามารถตบทีเดียวคุณหลับก็มีสูง อย่าเสี่ยง

หลายอย่างที่เทคโนโลยีเอื้ออำนวย ทำให้รถใหม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้มากขึ้น ปลอดภัยขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ Corolla สามห่วงสร้างตำนานที่ทุกวันนี้ยังยากมากที่จะมีรถเก๋งรุ่นใหม่ๆ เทียบได้ นั่นก็คือเรื่องของความทนทาน

ตำนานความทน มันมีองค์ประกอบหลายอย่างนะครับ รถดีอย่างเดียวก็ไม่ใช่ ยอดขายเยอะอย่างเดียวก็ไม่ใช่ แต่เกิดจากความพอดีของหลายสิ่ง ในฝั่งผู้ผลิตเอง Toyota คือเจ้าที่บุกเบิกเรื่องความทนด้วยหลายกลวิธี ตัวถังของรถส่วนที่เป็นโลหะ 90% เป็นเหล็ก Galvanized คือผ่านขั้นตอนการชุบกันสนิม ซึ่งใน Corolla โฉมก่อนหน้า จะมีแค่เพียง 60% เท่านั้น สังเกตได้เลยว่าในตลาดมือสองถ้าคุณไปดู Corolla AE92 กับ AE101 แม้อายุจะห่างเพียงสองปี แต่คุณจะเจอ AE92 ผุล่าง ผุข้าง ผุผนังเยอะกว่า AE101 ..ไม่ใช่ว่าสามห่วง 101 จะผุไม่เป็นนะครับ แต่ดีกรีความพังมันต่างกันเยอะ และนอกจากใช้เหล็ก Galvanized เยอะแล้ว ขั้นตอนการพ่นสี ก็ยังมีการเคลือบฟิล์มสังกะสี ก่อนจะไปชุบเคลือบด้วยไฟฟ้า แล้วถึงค่อยลงสีรองพื้น แล้วพ่นสีจริง แล้วปิดท้ายก่อนประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ด้วยการพ่นกันสนิมอีกรอบ เหมือนคนโรคจิต แต่จริงๆ คือ Toyota วิจัยและสำรวจตัวถังรถรุ่นเก่าและพบว่าพวกรถลูกค้าภาคใต้และริมทะเล รถมักผุไว เขาก็แค่หาวิธีช่วยยื้อเวลาให้ตัวถังมันอายุยืนนานสุดเท่าที่ต้นทุนการผลิตอำนวย นั่นแค่ตัวถังนะครับ

ทีนี้ ในเรื่องเครื่องยนต์ สามห่วง 1.6 ลิตร ใช้เครื่องบล็อก 4A- FE 110-116 แรงม้า ซึ่งมีเสื้อสูบเป็นเหล็กหล่อ ฝาสูบทวินแคมแบบพ่วง คือใช้สายพานไทม์มิ่งปั่นแคมชาฟท์เพียงแท่งเดียว ส่วนแคมชาฟท์อีกแท่ง ใช้เฟืองต่อขับมาจากแคมฯ อีกตัว ฝาสูบแบบ 16 วาล์ว ออกแบบองศาพอร์ทแคบ หัวลูกสูบเว้าหลบวาล์ว เวลาใช้งานจนสายพานไทม์มิ่งขาด ลูกสูบจะไม่ดันจนวาล์วคด เครื่อง A นี้ Toyota พัฒนาต่อเนื่องนานมาสองเจเนอเรชัน จนวันที่สามห่วงเปิดตัว 4A เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาจนนิ่ง แก้ไขจุดบกพร่องไปจนเกือบหมด เป็นเครื่องที่มีพลังดีตั้งแต่รอบต่ำถึงกลาง ขับง่ายสบายเท้า โดยไม่มีกลไกวาล์วแปรผันอันใด พยานแห่งความทนในเครื่อง 4A-FE มีเยอะแยะทั่วประเทศ คุณไปถามคนขับแท็กซี่รุ่นลุง จะรู้กันว่าทำไมแท็กซี่เกือบจะทั้งหมดในยุค 90s มักเป็น Corolla 1.6 มันคือความทนทานจากการที่เอาเครื่องเดิมมาพัฒนาแก้ไขจุดอ่อน บวกกับการที่สมัยนั้นมีโรงเรียนช่างมากมาย Toyota ประเทศไทยก็มีส่วนช่วยในการฝึกช่าง การจัดทำเอกสารการเรียนรู้ หรือแม้แต่ตำราช่างเครื่อง ช่างไฟฟ้ารถยนต์สมัยนั้นจะมี 4A-FE เนี่ยละครับเป็นตัวอย่างยอดนิยมในหนังสือเหล่านั้น

เด็กช่างยุคนั้นโตมากับการซ่อมเครื่องเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่ใครที่ไหนก็ซ่อม 4A ได้ ตัวเครื่องก็ทนเป็นทุนอยู่แล้ว รถแท็กซี่วิ่งตลอดวัน ใช้น้ำมันเครื่องเกรดถูก ใช้แก๊ส LPG ยุคจูนตามหลักไสยศาสตร์ ก็ยังมีหลายเครื่องที่ทนทะลุ 500,000 กิโลเมตร หรือแม้กระทั่งล้านกิโลเมตรโดยไม่มีการเปิดท่อนล่าง

สมัยผมเรียนมหาวิทยาลัย ผมมีรุ่นน้องที่สวยมากคนนึงขับสามห่วงเกียร์ออโต้สีแดงเข้ม วันหนึ่งไฟเตือนรูปน้ำมันเครื่องขึ้นแล้ววิ่งไปได้สักพัก รถดับ ควันออก พวกผู้ชายก็ไปช่วยกันหามรถเข้าอู่ ชักก้านน้ำมันเครื่อง ไม่มีน้ำมันติดออกมา มีแต่คราบดำๆ จางๆ ผมเลยบอกให้ปลดอ่างน้ำมันเครื่องดู ..คือไม่มีน้ำมันครับท่าน มีแต่โคลนเหนียวดำๆ น้องเขาไม่รู้ว่ารถยนต์ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องครับ แล้วน้องก็ใช้รถคันนี้ขับกรุงเทพฯ-ศาลายา มา 3 ปีโดยไม่รู้ว่ารถแอบด่าบิดาเธอในใจมานาน ค้นใบเสร็จ ค้นหลักฐานต่างๆ ดู
คาดคะเนว่าสามห่วงที่น่าสงสารคันนั้นวิ่งมา 50,000 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้นด้วยน้ำมันเครื่องประเภท 4 ลิตร 400 บาท

พี่ช่าง ทำความสะอาดอ่าง ใส่กลับ เติมน้ำมันเครื่องแบบ Flushing Oil แล้วเดินเบา ปลดอ่างลงมาดูคราบ แล้วทำซ้ำอีกรอบ ก่อนใส่น้ำมันเครื่องจริงแล้วส่งรถคืนเจ้าของ ไม่มีอะไรเสียหาย อย่างน้อยก็ในตอนนั้นเท่าที่เรารู้ รถคันนั้นวิ่งเป็นปกติทุกอย่าง น้องเจ้าของรถบอกว่ารถแรงขึ้นเยอะ..ก็ควรไหมยะหล่อน

นอกจากเรื่องเครื่องยนต์แล้ว ช่วงล่างก็เช่นกัน นอกจากทนแล้วยังซ่อมถูกมาก Toyota เลือกใช้รูปแบบช่วงล่างสตรัทแบบง่ายๆ ที่แน่นอนว่าประสิทธิภาพการเกาะโค้งห่างชั้นกับช่วงล่างปีกนกคู่ของ Honda มาก แต่มีจำนวนลูกหมากลูกยางในช่วงล่างน้อยกว่า ขนาดโตและแข็งแรงกว่า ที่สำคัญคือ หลายอย่างมันใช้กับเจเนอเรชันก่อนๆ ได้ แถมยังลามใช้ไปถึงโฉมที่มาแทนสามห่วงได้อีกต่างหาก

คุณลองนึกภาพสิครับว่าความง่ายในการสต๊อกอะไหล่ อำนาจการต่อรองราคากับซัพพลายเออร์ที่มาจากการสั่งซื้อจำนวนมหาศาล แล้วยังมีความง่ายต่อการซ่อมแซม จกอะไหล่ใช้แทนกันได้หลายคันมากขึ้น
นี่ยังไม่นับอะไหล่เทียบจากผู้ผลิตอะไหล่รายใหญ่/รายย่อยที่มีให้เลือกอีกมากมาย มันสลับกันง่ายขนาดไหน? เอาเป็นว่าผมมี Corolla AE111 ไอ้ตี้ (น้องผม) มี AE92 ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้าสามห่วง วันดีคืนดีน้องมันจะเอารถไปลงแข่งที่สนามช้าง มันก็ล่อรถผมนี่ละครับ วันนั้นเอารถไปจอดซ่อมข้างกันที่อู่เจ้าประจำ ตอนขับกลับบ้านถึงว่าทำไมรถมันนุ่มๆ เบรกมันยานๆ แปลกๆ

..มาจอดรถดูถึงบางอ้อ ก็มันเล่นสลับชุดสตรัทซิ่ง คอม้า เบรกจากรถผมไปใส่หมด เท่านั้นยังไม่พอ เกียร์ซิ่งลิมิเต็ดสลิปมันก็เอาของผมไปใส่ด้วย ผมโทร.ด่ามันเสร็จเลยท้าให้มันมาถอดเครื่องรถผมไปด้วยเลย..ซึ่งแม้แต่แท่นเครื่อง ยางรอง ก็ใช้กันได้หมดครับระหว่างเจนฯ 6, 7 และ 8 ดีนะว่ามันเหลือเวลาทำไม่มากพอ ถ้าไม่เช่นนั้น “หายยกแพ”

นอกจากนี้ ความทนของรถที่มาจากยุคซึ่งไม่มีของเล่นเยอะแยะ ยังมีอีกเรื่องสำหรับเจ้าสามห่วงนี้
นานมาแล้ว เพื่อนผมกับพวกไอ้ตี้ และเพื่อนชื่อไอ้แว่น นั่งปาร์ตี้กันที่บ้านแถวซอยหลังการบินไทย พอดึกเข้าฝนตก พวกมันก็นั่งกินไปคุยไปเพลินจนลืมดูระดับน้ำ เนื่องจากตัวบ้านยกสูงกว่าถนนราว 3 ฟุต ซอยหลังตึกการบินไทย นานๆ จะท่วมที แต่พอท่วมก็ถึงเข่านะครับ กว่าพวกนั้นจะรู้ตัว รถ Corolla สามห่วงของไอ้แว่น จมน้ำแบบเกือบครึ่งคันไปแล้ว ความที่ในกลุ่มนั้น มีแต่ช่าง กับเด็กเรียนช่าง คุณคิดว่าพวกเขาจะทำสิ่งที่มันสมเหตุผลถูกไหม

ปรากฏว่าพวกมันเปิดประตูรถ สตาร์ต และออกไปขับรถเล่นครับ คือทุกวันนี้ยังฉงนอยู่ว่าใจมันทำด้วยอะไรนะ ไอ้แว่นเจ้าของรถขับเองเลยด้วย คาดว่าจะอยากรู้ครับว่าสามห่วงทนน้ำได้แค่ไหน พี่แกเลยลุยไปทั่วซอย น้ำเนิ้มกระเด็นเซ็นซ่าน แล้วก็ดันไปขับผ่านจุดที่น้ำท่วมมากขึ้น รถกระบะวิ่งสวนมาก็ซัดรถสามห่วงที่น่าสงสารนั้นโย้ไปเย้มา ไอเดียบรรเจิดของทีมลิงแสมเอ็นจิเนียริ่งในรถก็คือ รถลอย เพราะมันเบา เราต้องทำให้รถหนักขึ้น ว่าแล้วมันก็เปิดประตูรถให้น้ำเข้ามาจนเต็ม เต็มแบบน้ำถึงไข่ ไอ้แว่น เหยียบเบรกเหยียบคันเร่งนี่คือขาท่อนใต้เข่าจมอยู่ใต้น้ำ แล้วมันก็เฮโลซิ่งรถลุยน้ำกันต่อ จนนึกได้ว่า..เห้ย กล่อง ECU มันอยู่หลังคอนโซลและแน่นอนว่าจมอยู่ใต้น้ำมานานแล้ว พวกมันจึงเลิกเล่นทโมน แล้วขับรถกลับบ้าน ไสรถขึ้นทางเข้าบ้านจนพ้นน้ำ นอนหลับจนตะวันขึ้นก็ตักและเช็ดน้ำออกจากรถ

วินาทีนั้น พวกเราอยากถามวิศวกร Toyota มากว่าตอนทดสอบความทน คุณทำอะไรกับรถบ้าง เพราะแม้จะลุยน้ำอย่างกับคนบ้า ก็ไม่มีน้ำเข้าไปถึงในเครื่อง (กรองอากาศยังเป็นชุดเดิมจากโรงงาน) และเมื่อถอดกล่อง ECU มาเป่าให้แห้ง เสียบกลับ รถสตาร์ตติด วิ่งต่อได้..คือ จะโหดไปไหน นี่มันรถบ้านเว้ย ไม่ใช่จี๊ปทหาร

คุณกล้าลองลุยน้ำแบบตั้งใจเปิดประตูให้น้ำเข้ารถไหม ถ้าเป็นรถใหม่ยุคนี้? นี่คือสิ่งที่ผมมักสอนสื่อมวลชนรุ่นน้องๆ ว่า การมีอุปกรณ์ทันสมัยมันก็เรื่องนึง การทำรถให้ทนต่อความวิปลาสของผู้ใช้ ก็อีกเรื่องนึง ทั้งสองเรื่องต่างใช้ต้นทุนการผลิตเพิ่มทั้งคู่ แต่อุปกรณ์เยอะๆ เรียกเงินจากลูกค้าได้ในวันนี้เลยในขณะที่ความทนทาน ต้องอาศัยเวลานานกว่าลูกค้าจะให้ค่า บริษัทรถยนต์หลายเจ้าจึงไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ยกเว้นพวกบริษัทหน้าเก่าที่ลูกค้าเชื่อมั่น เพราะพวกนี้ ถ้าวันหนึ่งรถพวกเขาไม่ทน ลูกค้าสมัยใหม่พร้อมเอาเงินไปมอบให้บริษัทอื่นได้เสมอ สำหรับรถคันนี้ ที่ผมขอถือวิสาสะนำรูปมาใช้ในบทความ ก็เป็นของตาหนุ่ม พิสิฐ เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยของผม ซึ่งหนุ่มซื้อรถคันนี้มาเป็นมือที่สองหรือสาม และใช้มาราว 6 ปีแล้ว ซ่อมเยอะไหม? ก็ต้องบอกว่า ถึงจะมีชื่อเสียงด้านความทนอย่างไร มันก็พ่ายแพ้ต่อกาลเวลาเป็นครับ ช่วงล่างพัง เข็มไมล์เสีย ขึ้นเพี้ยน เดินเบาสั่น กินน้ำมันเพิ่ม เป็นสิ่งที่มาตามอายุ


แต่บอดี้โดยรวมยังดี สามารถขับทางไกลได้ปกติ แอร์เย็น แต่เพลงไม่เพราะ ลำโพงแตกหมดแล้ว หากท่านใด ผ่านไปแถวเขาใหญ่ วิ่งเส้นธนะรัชต์ กิโลเมตรที่ 6 จะมีร้านอาหารเล็กๆ ชื่อ ตอ ต้ม ตุ๋น ร้านนี้ขายพวกอาหารไทยแนวรสไม่จัด เด็ก คนแก่ทานได้ แกงรัญจวนหอมกะปิ เนื้อรมควันอร่อย ไก่ต้มน้ำปลา ต้มอย่างไรก็ไม่ทราบ นุ่มลิ้นแถมมีกลิ่นสะเต๊ะ นี่คือร้านที่ตาหนุ่มแกหุ้นกับพี่เขยเปิด บางวันก็จะมีเจ้าสามห่วงคันขาวนี้จอดหน้าร้าน ใครสนใจอาหาร ไม่สนใจรถ ก็บอกได้ว่าคุณแพน Day Dream Drive แนะนำมา เดี๋ยวมีส่วนลดให้ครับ ไม่ต้องกลัว ชื่อร้านอาจฟังดูทุจริตโคตร เจ้าของร้านอาจแก่และน่ากลัว แต่มันไม่ทำอะไรคุณหรอกครับ.

Pan Paitoonpong

คุณกำลังดู: สามห่วงทะลวงล้านกิโลเมตร เล่าอดีตรถยอดทน คน 90s กับ Toyota Corolla ทนหายห่วง

หมวดหมู่: รถยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด