ศาสตร์ ศิลป์ และข้อเท็จจริงแห่งการดวลจุดโทษ

ศาสตร์ ศิลป์ และข้อเท็จจริงแห่งการดวลจุดโทษ

ศาสตร์ ศิลป์ และข้อเท็จจริงแห่งการดวลจุดโทษ

เมื่อการแข่งขันฟุตบอลแบบทัวร์นาเมนต์เข้าสู่รอบน็อกเอาต์ สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นภาพคุ้นเคยสำหรับแฟนบอลทั่วโลกคือการ ดวลจุดโทษ

อาจจะด้วยนักเตะ 2 ทีมที่เข้ารอบมาถึงตรงนี้ต่างมีฝีเท้าพอๆ กัน จึงกินกันไม่ลงในเกม หรือบางทีฝั่งที่เป็นรองมักเน้นแผนตั้งรับ อุดประตู แล้วไปรอวัดดวงกันที่การดวลจุดโทษหลังเสมอในเวลา 120 นาที

เพราะว่ากันว่าเมื่อถึงจุดนั้น อาจเป็นเรื่องของ “ใจ” และ “ดวง” มากกว่าฝีเท้าด้วยซ้ำ!

การแข่งขันฟุตบอลโลกเริ่มต้นการดวลจุดโทษครั้งแรกในปี 1982 จนถึงขณะนี้มีการดวลจุดโทษไปแล้ว 34 ครั้ง สำหรับ ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งใกล้ถึงบทสรุปในขณะนี้ ดวลโทษกันไปแล้ว 4 นัด ก่อนถึงรอบรองชนะเลิศ และ โครเอเชีย รองแชมป์ปีที่แล้วก็จารึกชื่อในประวัติศาสตร์ในฐานะทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการดวลจุดโทษในเวิลด์คัพเทียบเท่ากับ “อินทรีเหล็ก” เยอรมนี ไปแล้วเรียบร้อย

REUTERS/Lee Smith

โครเอเชีย ดีกรีรองแชมป์หนที่แล้ว กรุยทางเข้าสู่รอบรองชนะเลิศด้วยการเอาชนะคู่แข่งในการดวลจุดโทษ 2 แมตช์รวด เริ่มจากเขี่ยญี่ปุ่นตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย ต่อด้วยโค่นเต็งหนึ่ง บราซิล ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย โดยฮีโร่คนสำคัญของทีมไม่พ้น โดมินิก ลิวาโควิช นายทวารจากดินาโม ซาเกร็บ ที่โชว์เซฟจุดโทษอุตลุดถึง 4 ครั้งจาก 2 นัด ซึ่งการเซฟ 3 จุดโทษในแมตช์กับญี่ปุ่นก็เทียบเท่าสถิติสูงสุดตลอดกาลอีกด้วย

เมื่อรวมกับบอลโลกหนก่อนที่รัสเซีย (ชนะเดนมาร์กและรัสเซีย) โครเอเชียดวลจุดโทษมาแล้วรวม 4 ครั้งในบอลโลก มีสถิติชนะ 100 เปอร์เซ็นต์เท่ากับอินทรีเหล็ก (ชนะฝรั่งเศสปี 1982, ชนะเม็กซิโกปี 1986, ชนะอังกฤษปี 1990, ชนะอาร์เจนตินาปี 2006)

ก่อนหน้าฟุตบอลโลกหนนี้จะเปิดฉาก อ็อปต้า องค์กรเก็บสถิติวงการลูกหนังโลก ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการดวลจุดโทษ 30 ครั้ง ระหว่างฟุตบอลโลกปี 1982-2018 ว่า ในการดวลจุดโทษ 30 ครั้ง ตำแหน่งการยิงที่มีโอกาสเข้ามากที่สุดคือด้านซ้ายหรือขวามากกว่าตรงกลาง

REUTERS/Carl Recine

จากการเตะรวม 279 ครั้ง คนที่เตะไปทางขวาหรือซ้ายจะมีเปอร์เซ็นต์ยิงเข้า 74 เปอร์เซ็นต์เท่าๆ กัน ขณะที่คนเลือกยิงตรงกลางมีเปอร์เซ็นต์ยิงเข้า 57 เปอร์เซ็นต์ โดยคนเลือกยิงตรงกลางโดนเซฟ 21 เปอร์เซ็นต์ อีก 11 เปอร์เซ็นต์ชนคาน และ 11 เปอร์เซ็นต์ข้ามคาน แต่ถ้าเลือกยิงไปข้างซ้าย โอกาสชนคาน-เสาหรือออกข้างเหลือแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ และถ้าไปทางขวายิ่งลดลงไปเหลือ 1 เปอร์เซ็นต์

สำหรับเรื่องลำดับการยิงจุดโทษนั้น คนที่ออกมายิง 3 คนแรกมีเปอร์เซ็นต์ยิงเข้ามากที่สุด 75-73-73 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ขณะที่คนยิงคนที่ 4 ยิงเข้า 64 เปอร์เซ็นต์ และคนที่ 5 ยิงเข้า 65 เปอร์เซ็นต์

การดวลจุดโทษเกือบทั้งหมดมักรู้ผลที่ 5 คนแรก มีเพียง 2 ครั้งที่ยืดเยื้อไปถึงการซัดเดนเดธ หรือการดวลแบบตัวต่อตัว

หากเรียงลำดับการยิงประตูของผู้เล่น 2 ทีม รวม 10 คน สถิติคนยิงที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือลำดับที่ 2 และ 5 ต่างยิงเข้า 77 เปอร์เซ็นต์เท่าๆ กัน ขณะที่คนที่ 8 มีสถิติแย่ที่สุด 61 เปอร์เซ็นต์

REUTERS/Paul Childs

ส่วนเรื่องลำดับการยิงของทีมนั้นไม่มีผล เพราะจากการดวลจุดโทษ 30 ครั้ง ทีมที่ยิงก่อนและหลังชนะ 15 ครั้งเท่าๆ กัน ส่วนฟุตบอลโลกหนนี้ก็เช่นกัน โมร็อกโกกับโครเอเชีย (แมตช์บราซิล) ยิงก่อน และเป็นฝ่ายชนะ ขณะที่ญี่ปุ่นกับเนเธอร์แลนด์ได้ยิงก่อนเป็นฝ่ายแพ้ ยังคงรักษาสถิติครึ่งต่อครึ่งต่อไป

ตำแหน่งของผู้เล่นที่มักได้ดวลจุดโทษนั้น เป็นกองกลางมากที่สุดก็จริง แต่ตำแหน่งที่ยิงเข้ามากสุดคือกองหน้า โดยยิงเข้า 63 จาก 84 คน คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กองกลางออกไปยิง 122 คน ยิงเข้า 84 คน คิดเป็น 69 เปอร์เซ็นต์ และกองหลัง 73 คน ยิงเข้า 49 คน คิดเป็น 67 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นเรื่องยิงเท้าซ้ายหรือเท้าขวาไม่ค่อยต่างกันมาก คนยิงเท้าขวายิงเข้า 71 เปอร์เซ็นต์ ส่วนยิงเท้าซ้ายยิงเข้า 68 เปอร์เซ็นต์ แต่จำนวนคนยิงด้วยเท้าขวามีเยอะกว่ามาก รวม 223 คน ขณะที่ยิงเท้าซ้าย 56 คน
อีกประเด็นน่าสนใจคือ แทกติกของกุนซือทีมต่างๆ ที่บ่อยครั้งมักส่งนักเตะที่ไว้ใจได้เรื่องการยิงจุดโทษลงสนามในช่วงท้ายเกม โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของการต่อเวลาพิเศษ

ปรากฏว่าจากสถิติที่ผ่านมา (ก่อนบอลโลกหนนี้) คนที่ถูกเปลี่ยนตัวลงสนามในช่วงเวลาดังกล่าวยิงเข้า 5 จาก 8 คน คิดเป็น 63 เปอร์เซ็นต์ แต่ยิ่งเปลี่ยนตัวลงท้ายเกมมากเท่าไร เปอร์เซ็นต์ยิงเข้ายิ่งน้อยลง โดยคนลงเล่น 10 นาทีสุดท้าย ยิงเข้า 67 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนลงเล่น 5 นาทีสุดท้าย ยิงเข้า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่

ตัวอย่างของความล้มเหลวคือ เจมี่ คาร์ราเกอร์ อดีตกองหลังทีมชาติอังกฤษที่ลงสนามในนาที 118 ของเกมฟุตบอลโลก 2006 รอบ 8 ทีมสุดท้ายกับโปรตุเกส พอถึงเวลาดวลจุดโทษ เขายิงก่อนกรรมการเป่านกหวีดจึงต้องยิงใหม่ และรอบสองโดนเซฟเอาไว้ได้

ส่วนตัวสำรองที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการดวลจุดโทษไม่ใช่คนเตะแต่เป็นผู้รักษาประตู นั่นคือ ทิม ครูล นายทวารชาวดัตช์ที่ลงสนามในนาที 121 เพื่อเตรียมตัวไปเฝ้าเสาในการดวลโทษกับคอสตาริกาในฟุตบอลโลก 2014 ซึ่งเขาก็เซฟได้ถึง 2 ครั้ง

สำหรับประเทศที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการดวลจุดโทษนั้น ดังที่เกริ่นไปในตอนต้น ว่าเยอรมนีและมาปีนี้คือโครเอเชีย ต่างมีสถิติ 100 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน โดยเฉพาะเยอรมนีที่คนเตะแทบจะยิงเข้า 100 เปอร์เซ็นต์ จาก 18 คน พลาดไปคนเดียวคือ อูลี่ สไตลิเก้ (ขณะที่โครเอเชียยิงพลาด 4 จาก 18 คน)

แต่ถ้าวัดกันในแง่คนยิงยิงเข้าครบถ้วนที่สุด มี 3 ชาติคือ เบลเยียม เกาหลีใต้ และปารากวัย แต่ก็ยิงกันไปทีมละ 5 คนเท่านั้น

REUTERS/Dylan Martinez

ขณะที่ทีมซึ่งประสบความสำเร็จน้อยที่สุดในแง่สัดส่วนการยิงเป็นสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นทีมเดียวในประวัติศาสตร์ที่นักเตะยิงไม่เข้าสักคน (ดวลจุดโทษหนเดียว นักเตะสวิสเตะไม่เข้าทั้ง 3 คน ก่อนแพ้ยูเครนเมื่อปี 2006) แต่ถ้าวัดในแง่จำนวนครั้งในการดวลจุดโทษ เวลานี้ต้องยกให้สเปน เพราะจนถึงบอลโลกหนนี้ กระทิงดุดวลจุดโทษไปแล้ว 5 ครั้ง ชนะเพียงครั้งเดียว คิดเป็นเปอร์เซ็นต์สำเร็จเพียง 20 เปอร์เซ็นต์

ถ้าย้อนไปก่อนฟุตบอลโลกที่กาตาร์จะเปิดฉาก อังกฤษเป็นอีกทีมที่มีสถิติเท่าสเปน คือดวล 4 ครั้ง ชนะครั้งเดียว แถมสัดส่วนการยิงก็ไม่ดี เพราะยิงเข้าเพียง 8 คน จากทั้งหมด 19 คน คิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์

เวลาถึงทัวร์นาเมนต์ทีมชาติระดับเมเจอร์ทีไร จึงเป็นประเด็นที่สื่อและแฟนบอลรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ทุกทีถ้าทีมสิงโตคำรามต้องดวลจุดโทษขึ้นมา

น่าเสียดายที่บอลโลกหนนี้ สิงโตคำรามไม่ทันได้ดวลจุดโทษก็ต้องมาโบกมือลาการแข่งขันไปเสียก่อน

แต่ก็เหมือนตลกร้ายที่หนึ่งในเหตุผลสำคัญของการตกรอบ ก็เพราะแฮร์รี่ เคน ยิงลูกโทษไม่เข้านี่แหละ!

REUTERS/Hannah Mckay

คุณกำลังดู: ศาสตร์ ศิลป์ และข้อเท็จจริงแห่งการดวลจุดโทษ

หมวดหมู่: ฟุตบอลต่างประเทศ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด