สุดว้าว นวัตกรรม DMIND แอปพลิเคชัน ประเมินความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าอย่างง่ายๆ

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถสัมภาษณ์อาการจากการตอบคำถามผ่านใบหน้า

สุดว้าว นวัตกรรม DMIND แอปพลิเคชัน ประเมินความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าอย่างง่ายๆ

จากความเครียดของปัญหารอบด้านทั้งภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด การแข่งขันในสังคม รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพและกรรมพันธุ์ ทำให้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยกว่า 1.5 ล้านคน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 4,000 รายต่อปี และพยายามคิดสั้นถึง 53,000 คนต่อปี ซึ่งการป้องกันความรุนแรงของโรคและยับยั้งการฆ่าตัวตายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ภายใต้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถสัมภาษณ์อาการจากการตอบคำถามผ่านใบหน้า น้ำเสียง และข้อความ โดยใช้แนวทางการสัมภาษณ์จากแบบคัดกรองที่มีวิธีการตรวจมาตรฐาน เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างอัตโนมัติและมีความถูกต้องแม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงการคัดกรองอาการได้อย่างสะดวกในรูปแบบแอปพลิเคชัน ชื่อว่า “DMIND” ระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้า Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคหนึ่งทางจิตเวชที่เกิดจากความเครียดของปัญหารอบด้าน ระบบการเข้าถึงบริการทางจิตเวชในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด เนื่องจากความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจำนวนบุคลากรทางสุขภาพจิตที่ยังไม่เพียงพอ หนึ่งในแนวทางการป้องกันความรุนแรงของโรค คือการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ขั้นต้น จุฬาฯ โดยคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมสุขภาพจิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนานวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า แอปฯที่ช่วยประเมินความเสี่ยงจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และข้อความ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นอย่างง่าย มีความถูกต้อง แม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต-รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์.
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต-รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์.

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แอปฯ DMIND สามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางการสื่อสารของหมอพร้อมทั้ง LINE Official https://bit.ly/2Pl42qo เฟซบุ๊กหมอพร้อม เลือกเมนู “ตรวจสุขภาพใจ” และเว็บไซต์ https://bit.ly/DMIND_3 ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง (Voice feature) และการตอบคำถามจากข้อความคุณลักษณะเฉพาะ (Text feature) ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการประเมินด้านสุขภาพจิตและค้นหาผู้ที่มีภาวะอารมณ์ซึมเศร้าได้อย่างรวดเร็ว เมื่อประชาชนได้ใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวแล้ว จะมีการแสดงผลใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับปกติ (สีเขียว) ระดับกลาง (สีเหลือง) และระดับรุนแรง (สีแดง) หากประชาชนได้ระดับสีเขียว ทางแอปพลิเคชันจะแนะนำข้อมูลการดูแลสุขภาพจิตโดยทั่วไป หากได้สีเหลือง ทางศูนย์สุขภาพจิตเขต 1-13 ภายใต้กรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ จะติดตามเคสในพื้นที่ และหากได้สีแดงซึ่งมีความเสี่ยงรุนแรง ทีมสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะรับหน้าที่ติดตามอาการ เพื่อประเมินสุขภาพจิต สำรวจปัญหา พิจารณาหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการและการประเมินด้านสุขภาพจิตได้มากขึ้น เกิดระบบบริการรูปแบบใหม่ในการส่งต่อผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าให้ได้รับการรักษาแบบ Fast Track กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ทั้งนี้สามารถเข้าใช้แอปพลิเคชัน DMIND ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากมีปัญหาสุขภาพจิตใจติดต่อได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323.

คุณกำลังดู: สุดว้าว นวัตกรรม DMIND แอปพลิเคชัน ประเมินความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าอย่างง่ายๆ

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด