วิธีป้องกันตัวเองจาก “สารเคมีอันตราย” เมื่อเกิดเหตุ “ไฟไหม้”
แพทย์แนะวิธีเอาตัวรอด หากอยู่ในกองเพลินไฟไหม้โรงงานหรือสถานที่เก็บสารเคมีอันตราย
กรณีที่เกิดเพลิงไหม้จากสารเคมี ห้ามใช้น้ำฉีดไปยังบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง เนื่องจากจะทำให้เกิดการกระจายตัวของเพลิงมากขึ้น ควรใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมดับเพลิง
สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) เป็นสารเคมีอันตราย ถ้าหายใจเข้าไป จะเกิดการระคายระบบทางเดินหายใจ และคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย และคลื่นไส้ ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้
หากอาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของเพลิงไหม้สารเคมี ควรอพยพออกนอกพื้นที่ กรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ควรหลบในบ้านหรืออาคารที่ปิดหน้าต่าง โดยนำผ้าชุบน้ำปิดกั้นตามขอบหน้าต่างและประตู หากเป็นไปได้ ควรสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากที่ฉาบด้วยสารกรองคาร์บอนหรือหน้ากากกรองก๊าซของโรงงาน
จากเหตุโรงงานเกิดการระเบิดและมีไฟไหม้ลุกลาม ในจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ส่งผลให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องประกาศอพยพประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ออกจากพื้นที่โดยด่วน รวมถึงเตือนให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการสูดดมกลิ่นควันจากสารเคมี ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ สารก่อมะเร็งและมีอันตรายถึงชีวิต ซึ่งสามารถกระจายออกไปโดยรอบได้ถึง 10 กิโลเมตร
สารสไตรีนโมโนเมอร์
สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) เป็นสารเคมีอันตราย ใช้ในการผลิตโพลีสไตรีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตยางสังเคราะห์และพลาสติก เช่น บรรจุภัณฑ์ เรซิน สี และฉนวนที่เป็นโฟม นอกจากนี้ยังใช้ในชิ้นส่วนรถยนต์และของใช้ในบ้าน
สไตรีนโมโนเมอร์เป็นสารเคมีเหลวใสและมีความข้นเหนียว หากสารมีอุณหภูมิมากกว่า 31°C (88°F) จะติดไฟอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย เมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดควันดำหรือฝุ่น PM10 และ PM2.5 รวมถึงก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B
ผลกระทบต่อสุขภาพของสารสไตรีนโมโนเมอร์
- เป็นสารระเหย แม้อยู่ในน้ำหรือดิน การปนเปื้อนในดินอาจนำไปสู่น้ำใต้ดินเพราะสารนี้ไม่ค่อยจับตัวกับดิน
- ถ้าหายใจเข้าไป จะเกิดการระคายระบบทางเดินหายใจ และคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย และคลื่นไส้
- ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้
- การหายใจเข้าไปในระยะนานๆ แม้ว่าความเข้มข้นต่ำจะทำให้อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง
- ถ้าเข้าตา จะเคืองตา
- ถ้าถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายผิว ถ้าสารซึมเข้าผิวหนังจะมีอาการเหมือนหายใจเข้าไป ทำให้ผิวแดง แห้ง แตก
- ผลในระยะยาวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด
การปฐมพยาบาล เมื่อสัมผัสกับสารเคมีอันตราย
- หากสัมผัสสารเคมีที่ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดให้มากที่สุด เพื่อให้สารเคมีเจือจาง
- กรณีสัมผัสทั่วร่างกายให้รีบถอดเสื้อผ้าออก
- กรณีสารเคมีเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที ป้ายขี้ผึ้งป้ายตา แล้วรีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว
- หากสูดดม ให้ย้ายผู้ที่ได้รับสารไปที่อากาศบริสุทธิ์ ประเมินการหายใจ และการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีให้ทำการ CPR และรีบขอความช่วยเหลือ เพื่อส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
กรณีเกิดเพลิงไหม้ สารเคมีอันตราย
“คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง” โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ระบุการจัดการกรณีเพลิงไหม้ ดังนี้
- ห้ามใช้น้ำฉีดไปยังบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง เนื่องจากจะทำให้เกิดการกระจายตัวของเพลิงไหม้มากขึ้น ควรใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมดับเพลิง
- สิ่งสำคัญ ต้องควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกไหม้ไปยังภาชนะที่ยังไม่เสียหายและพยายามเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ เพื่อลดจำนวนสารเคมีที่พร้อมติดไฟตลอดเวลา
- สำหรับการใช้น้ำเพื่อควบคุมเพลิงนั้น ควรอยู่ในระยะไกลที่สุด หรือใช้สายฉีดน้ำชนิดที่ไม่ต้องใช้คนถือหรือหัวฉีดที่มีระบบควบคุม โดยฉีดฝอยน้ำเพื่อหล่อเย็นถังเก็บและภาชนะบรรจุสไตรีนโมโนเมอร์ จนกว่าเพลิงจะสงบ
- หากพบว่าถังเก็บและภาชนะบรรจุเปลี่ยนสีหรือหากได้ยินเสียงจากอุปกรณ์นิรภัยระบายไอ ให้รีบออกจากบริเวณเพลิงไหม้ทันที
- ห้ามเข้าใกล้บริเวณหัวหรือท้ายของถังเก็บและภาชนะบรรจุ ควรใช้ถุงทรายหรือวัสดุปิดกั้นวางป้องกันกรณีสารเคมีรั่วลงสู่สิ่งแวดล้อม
- เมื่อระงับเหตุได้แล้ว ควรตรวจวัดไอระเหยของสารสไตรีนโมโนเมอร์
- รายงาน แจ้งเหตุ และปฏิบัติตามแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
- แจ้งเหตุการณ์เกิดเพลิงไหม้ไปยังโรงงานข้างเคียง เพื่อป้องกันเหตุหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
- กรณีที่ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อขอความช่วยเหลือ
การดูแลตัวเอง จากภัยพิบัติที่เกิดจากสารเคมี
- หากอาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของเพลิงไหม้ ควรอพยพออกนอกพื้นที่ ไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย เช่น เหนือลม
- กรณีไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ควรหลบในบ้าน หรืออาคารที่ปิดหน้าต่าง โดยนำผ้าชุบน้ำปิดกั้นตามขอบหน้าต่างและประตู เพื่อป้องกันสารระเหยเข้าไปภายในบ้าน
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากเป็นไปได้ ควรสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากที่ฉาบด้วยสารกรองคาร์บอน (Activated carbon) หรือหน้ากากกรองก๊าซของโรงงาน
- หากรู้สึกระคายเคือง ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามร่างกาย
- กรณีมีอาการแน่นจมูก แสบจมูก ต้องรีบออกไปยังบริเวณอากาศถ่ายเทสะดวก
- หากหมดสติ ควรรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
- สวมแว่นตา หากมีอาการแสบตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาด 2-3 นาที หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
ไม่มีใครต้องการให้เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงาน ซึ่งมีสารเคมีอันตรายสูงเช่นนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว การทำความรู้จัก และเรียนรู้วิธีถึงวิธีควบคุมเพลิง การปฏิบัติตนในภาวะภัยพิบัติจึงมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ตื่นตระหนก รวมถึงรับฟังข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของนักวิชาการ แพทย์ และหน่วยงานที่ดูแลเหตุการณ์ นอกจากนี้เมื่อเหตุการณ์สงบ ต้องระวังน้ำเสียที่เกิดจากการดับเพลิงจะปนเปื้อนสารเคมีไหลลงสู่ลำคลองใกล้เคียง ส่งผลต่อระบบนิเวศทางน้ำ ควรงดรับประทานสัตว์น้ำในบริเวณเกิดเหตุ หรือตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
คุณกำลังดู: วิธีป้องกันตัวเองจาก “สารเคมีอันตราย” เมื่อเกิดเหตุ “ไฟไหม้”
หมวดหมู่: สุขภาพ