สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนจะ "เจาะหู" และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
รู้หรือไม่ว่าก่อนที่จะตัดสินใจเจาะหู ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง
การเจาะหู ถือเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งสำหรับสาวๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เฉพาะสาวๆ ที่นิยมเจาะหูเท่านั้น เหล่าบรรดาชายหนุ่มก็นิยมเจาะหูเช่นกัน แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนที่จะทำการตัดสินใจเจาะหูนั้น ควรจะต้องคำนึงถึงอะไรก่อนบ้าง แล้วการเจาะหูนั้นมีความเสี่ยงหรือไม่ Hello คุณหมอมีเรื่องนี้มาฝากกัน
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนจะเจาะหู
การเจาะหูนั้นสามารถทำได้โดยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใช่แพทย์ และเป็นที่นิยมมากที่สุดในบรรดาการเจาะอื่นๆ แต่เมื่อคุณต้องการที่จะเจาะหู ก็มีหลายสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพก่อนที่จะเจาะหู ซึ่งสิ่งที่ต้องคำนึกถึงก่อนจะเจาะหู มีดังนี้
-
คุณเคยมีคีลอยด์หรือแผลเป็นขนาดใหญ่หรือไม่
คุณมีประวัติครอบครัวเป็นโรคคีลอยด์ (Keloid) หรือแผลเป็นขนาดใหญ่หรือไม่ คีลอยด์เป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ที่ล้นออกมาบริเวณขอบของการบาดเจ็บ หากคุณมีประวัติส่วนตัวหรือครอบครัวที่มีแผลเป็นขนาดใหญ่ ความเสี่ยงของการเกิดแผลเป็นขนาดใหญ่หลังจากเจาะหูก็จะเพิ่มขึ้น
-
คุณมีอาการแพ้โลหะหรือไม่
ต่างหูทำจากวัสดุหลายชนิด โดยทั่วไปแล้วต่างหูแบบเริ่มต้นจะทำจากเงินแท้ ซึ่งเป็นโลหะที่ไม่ระคายเคือง แต่ถ้าหากคุณมีอาการแพ้โลหะบางชนิด คุณอาจจะต้องหลีกเลี่ยงโลหะเหล่านั้น หากไม่ทำเช่นนั้นคุณอาจเกิดอาการแพ้ รวมถึงรอยแดง บวม ระคายเคือง คัน หรือปวดได้
แม้ว่าแผลจากการเจาะหูจะหายดีแล้วก็ตาม แต่รูปลักษณ์ภายนอกของการเจาะก็อาจจะได้รับผลกระทบต่อการแพ้โลหะทั่วไป ซึ่งโลหะทั่วไปที่คนแพ้ ก็คือ นิกเกิล
-
ควรเจาะหูที่บริเวณไหน
ติ่งหูมักเป็นส่วนแรกของหูที่จะถูกเจาะ คนส่วนใหญ่มักจะมีหูที่มีความไม่สมมาตรอยู่ในระดับหนึ่ง แต่คุณมักจะต้องการให้ต่างหูอยู่ในระดับเดียวกัน ทั้งยังไม่ต้องการเจาะหูให้มีรูที่อยู่ตรงติ่งหูที่ต่ำเกินไป เพราะมันอาจจะทำให้เกิดการปริแตกได้ ดังนั้น การวางรูสำหรับเจาะหูควรวางให้รูตั้งฉากกับพื้นผิวของหู หรือทำมุมได้ บางคนอาจจะเลือกวางรูสำหรับเจาะหูเอาไว้ที่มุม เพื่อให้ต่างหูหันไปข้างหน้า
ความเสี่ยงที่อาจมาพร้อมกับการเจาะหู
แม้การเจาะหูจะดูเหมือนเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ใครๆ ก็เจาะกัน และดูเหมาะจะไม่ได้มีความเสี่ยงอะไรที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ความจริงการเจาะหูก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้บางคน โดยความเสี่ยงที่อาจมาพร้อมกับการเจาะหูมีดังนี้
-
ปฏิกิริยาการแพ้
เครื่องประดับที่ทำจากนิกเกิลหรือทองเหลืองมักจะสามารถกระตุ้นปฏิกิริยาการแพ้จากการเจาะหูได้
-
การติดเชื้อ
บางคนเมื่อเจาะหูแล้วจะมีผื่นแดง บวม ปวด หรือไม่ก็เลือดออกหลังการเจาะ
-
ปัญหาผิว
เมื่อเจาะหูไปแล้วบางคนอาจจะมีปัญหา เช่น แผลเป็น และคีลอยด์
-
โรคเลือด
การเจาะหูสามารถทำให้คุณได้รับความเสี่ยงที่จะได้รับไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) บาดทะยัก และเชื้อเอชไอวี (HIV) จากอุปกรณ์เจาะที่ปนเปื้อนเลือดที่ติดเชื้อ
วิธีดูแลแผลจากการเจาะหู
แม้ว่าการเจาะหูจะพบได้บ่อยๆ และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการเจาะในบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย แต่ก็ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย สำหรับใครก็ตามที่คิดจะเจาะหู ขอให้ปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
- ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสหูที่เพิ่งเจาะทุกครั้ง
- ทิ้งต่างหูไว้ที่หูของคุณเป็นเวลา 6 สัปดาห์ขึ้นไป แม้ในเวลากลางคืนก็ตาม การถอดต่างหูที่เริ่มเจาะเร็วเกินไป อาจทำให้รูที่เจาะมาตันได้
- หมั่นล้างหูด้วยสบู่และน้ำ โดยทำอย่างระมัดระวังอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
- บิดต่างหู 2-3 ครั้งต่อวัน วิธีนี้จะช่วยให้รูที่เจาะมาเปิดอยู่เสมอและไม่ตัน
- ใช้แอลกอฮอล์ล้างหู พยายามใช้สำลีจุ่มแอลกอฮอล์แล้วถูเบาๆ เพื่อทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เจาะหูมา วันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคและป้องกันการตกสะเก็ด
- คุณอาจทาปิโตรเลียมเจล (Petroleum Jelly) บางๆ รอบๆ บริเวณรูที่เจาะมาด้วยก็ได้
- พยายามสำรวจแผลหลังการเจาะหูอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าแผลนั้นจะไม่เจ็บ แดง หรือบวม
- นอกจากนั้นรูที่เจาะมา ไม่ควรจะมีของเหลวสีเหลืองขุ่นหรือหนองไหลออกมา ซึ่งถ้ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นและไม่หายไปอย่างรวดเร็ว คุณควรจะต้องไปพบคุณหมอด้านผิวหนัง เนื่องจากคุณอาจจะเกิดการติดเชื้อได้
คุณกำลังดู: สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนจะ "เจาะหู" และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
หมวดหมู่: สุขภาพ