สรุปข่าวไทม์ไลน์ “ซีเซียม-137” หาย เทียบโคบอลต์-60

ไทม์ไลน์ซีเซียม 137 จากเหตุการณ์ แท่งซีเซียม-137 หายจากบริษัทผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดปราจีนบุรี โดยทางผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบและค้นหา

สรุปข่าวไทม์ไลน์ “ซีเซียม-137” หาย เทียบโคบอลต์-60

ไทม์ไลน์ซีเซียม-137 จากเหตุการณ์ แท่งซีเซียม-137 หายจากบริษัทผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดปราจีนบุรี โดยทางผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบและค้นหา ใช้เวลา 10 วัน ค้นพบถูกหลอมจากเตาเผาโรงงานหลอมเหล็กภายในจังหวัดปราจีนบุรี เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบระดับกัมมันตรังสีที่แพร่ออกสู่ระบบธรรมชาติแล้ว ในรัศมีใกล้เคียงยังปลอดภัย

ไทม์ไลน์ซีเซียม-137 จนถึงล่าสุด สรุปแล้วถูกหลอมหรือยัง อันตรายแค่ไหน

  • 23 กุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าหายวันนี้

คาดว่าเป็นวันที่แท่งซีเซียม-137 หาย

  • 10 มีนาคม 2566 บริษัทเข้าแจ้งความ

เจ้าหน้าที่จากบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าแท่งซีเซียม-137 หายไปจากจุดติดตั้ง

  • 14 มีนาคม 2566 ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี แถลงข่าว ซีเซียม-137 หาย

15.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี แถลงข่าวที่ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี ถึงเหตุการณ์แท่งวัตถุบรรจุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายจาก บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

รายละเอียดข่าววันแรกระบุ ซีเซียม-137 อยู่ในท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว ติดตั้งปี พ.ศ. 2534 (อ่านข่าวต้นฉบับที่นี่)

  • 15 มีนาคม 2566 ค้นทั่วอำเภอไม่เจอ ตั้งรางวัลเบาะแส 50,000 บาท

ปฏิบัติการค้นหาแท่งซีเซียม-137 เจ้าหน้าที่จังหวัดปราจีนบุรี และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และเจ้าหน้าที่จากบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ร่วมกันค้นหาแท่งซีเซียม-137 ตามร้านขายของเก่าภายในอำเภอศรีมหาโพธิ จำนวน 30 แห่ง แจ้งรางวัลแก่ผู้พบ 50,000 บาท (ฟังคลิปข่าวที่นี่)

รายละเอียด แท่งซีเซียม-137 เพิ่มเติม อยู่ในแท่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ติดตั้งปี พ.ศ. 2538 (อ่านข่าวต้นฉบับที่นี่)

  • 16 มีนาคม 2566 เพิ่มรางวัลค้นหา 100,000 บาท

สำนักงาน ปภ. จังหวัดปราจีนบุรี เจ้าหน้าที่ปรมาณูเพื่อสันติ เข้าตรวจสอบบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ คาดว่ายังอยู่ในบริษัท และตรวจสอบกล้องวงจรปิด ปภ.ปราจีนบุรี ได้ประกาศถึงผู้ชี้เบาะแสนำวัตถุกัมมันตรังสีที่สูญหายกลับมาได้ จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท (อ่านข่าวต้นฉบับที่นี่)

  • 19 มีนาคม 2566 พบ “แท่งซีเซียม-137” สั่งปิดโรงงาน

นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วย นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ลงพื้นที่ออกตรวจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เตรียมแถลงข่าวพบเบาะแสซีเซียม-137 จากโรงงานหลอมเหล็ก 2 โรงหลอม โดยตรวจสอบลงพื้นที่จาก 8 เตา ด้วยการใช้เครื่องมือตรวจวัดกัมมันตภาพรังสี ตรวจจับพบสารที่คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “แท่งซีเซียม-137” โดยสั่งปิดโรงงานหลอมเหล็กเพื่อตรวจสอบ (อ่านข่าวต้นฉบับที่นี่)

  • 20 มีนาคม 2566 แถลงข่าวพบ “แท่งซีเซียม-137”

10.00 น. แถลงข่าวพบ “แท่งซีเซียม-137” แล้ว (ฟังคลิปข่าวที่นี่) นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสํานักงานปรมาณูเพื่อสันติแถลงว่าต้นทางที่หายไป เป็นฝีมือมนุษย์ ต้องตรวจสอบต่อว่าหายไปอย่างไร ยืนยันว่ายังไม่กระทบต่อชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์แบบเชอร์โนบิล หรือฟุกุชิมะ

โรงงานหลอมโลหะในวันที่ 18-19 มีนาคม 2566 เศษฝุ่นต่างๆ ถูกเก็บใส่ถุง 24 ถุง ถุงละ 1 ตัน

ฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนซีเซียม 24 ตัน มี 1 ถุงที่ถูกนำไปถมที่ดินหลังโรงหลอม และถูกขุดกลับมาบรรจุครบหมดแล้ว (อ่านข่าวต้นฉบับที่นี่)

  • 21 มีนาคม 2566 ตรวจสอบซีเซียม-137 ว่าถูกหลอมเป็นฝุ่นหรือยัง

นักวิทยาศาสตร์สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พบเตาหลอมที่มีสารซีเซียม-137 ในระบบกรอง และตัวดูดควัน พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในเตาหลอมโลหะ ระดับต่ำ 0.07-0.10 ไมโครซีเวิร์ต/1 ชั่วโมง ใน 1 เตา

- ตรวจสอบระบบดูดฝุ่นและระบบกรองฝุ่น จากการหลอมโลหะในวันที่ 18-19 มีนาคม 2566

- ตรวจสอบหน้าดินรอบโรงงาน โดยใช้เครื่องมือวัดระดับปริมาณรังสีติดตั้งในรถยนต์ พบระดับรังสี 0.03-0.05 ไมโครซีเวิร์ต/1 ชั่วโมง เท่ากับระดับปริมาณรังสีในธรรมชาติ (อ่านข่าวต้นฉบับที่นี่)

- ตรวจสอบหน้าดินรอบโรงงาน 3-5 กิโลเมตร ไม่พบการปนเปื้อน (อ่านข่าวต้นฉบับที่นี่)

- สาธารณสุขจังหวัด ตรวจปัสสาวะพนักงานในโรงงาน 70 คน ส่งตรวจห้องปฏิบัติการของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ด้วยเครื่องวัดรังสีแกมมา ไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีตามเสื้อผ้าและร่างกาย และผลเม็ดเลือดขาวไม่พบความผิดปกติ

ผู้ที่อยู่ในพื้นที่หากมีอาการต่อไปนี้ ต้องติดต่อพบแพทย์

1. คลื่นไส้อาเจียน
2. มีแผลไหม้เกิดขึ้นบนผิวหนัง

สังเกตอาการป่วยต่อเนื่องจากรังสี

1. ระยะเตือนล่วงหน้า เป็นอาการที่แสดงออกจากการสัมผัสรังสีไม่กี่ชั่วโมง ได้แก่ คลื่นเหียน อาเจียน หายใจไม่สะดวก เพลีย หมดแรง ทรงตัวไม่ได้ ผิวหนังแดง

2. ระยะแอบแฝง เป็นระยะที่สงบ ไม่แสดงอาการ กำหนดระยะเวลาไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ

3. ระยะปานจริง เป็นระยะต่อเนื่องจากระยะแอบแฝง มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เลือดออก ผมร่วง ช็อก จำอะไรไม่ได้ หมดความรู้สึก และอาจเสียชีวิตได้

ซีเซียม-137 ใช้ทำอะไร

ซีเซียม-137 (Cs-137) ใช้วัดอัตราการไหล พบได้ในอุปกรณ์วัดความชื้น ตัวที่หายไปใช้งานกับเครื่องเลเซอร์ใช้ดักจับฝุ่นขี้เถ้าในการผลิตไฟฟ้าโรงงานผลิตไฟฟ้าไอน้ำ ติดตั้งปี พ.ศ. 2534

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปในกรณีข่าว “ซีเซียม-137 หาย”

1. ใครเป็นผู้ลักลอบนำแท่ง “ซีเซียม-137” ออกไปจากโรงงานบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ
2. ใครเป็นผู้รับซื้อแท่ง “ซีเซียม-137” ที่ถูกลักลอบนำออกมา
3. มีผู้สัมผัสสารซีเซียม-137 กี่คน ต้องติดตามอาการในระยะยาวกี่คน

เทียบผลกระทบจากซีเซียม-137 (2566) กับข่าวโคบอลต์-60 (2543)

ซีเซียม-137 ที่นำมาใช้กับอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจจับอัตราการไหลของขี้เถ้าในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปริมาณขนาดแท่งซีเซียมที่เป็นข่าว ยังไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์

  • ค่าที่ตรวจพบที่โรงหลอม 0.07-0.10 ไมโครซีเวิร์ต/1 ชั่วโมง (อยู่ในระดับต่ำ)
  • ค่าที่ตรวจพบที่รัศมี 3 กิโลเมตร 0.03-0.05 ไมโครซีเวิร์ต/1 ชั่วโมง (อยู่ในระดับธรรมชาติ)

กัมมันตรังสี กี่ซีเวิร์ต ปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์

ข้อมูลจากหนังสืออยู่ปลอดภัยกับอะตอม สื่อความรู้เรื่องพลังงานนิวเคลียร์ จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พบว่าการสัมผัสกัมมันตรังสี มีผลต่อผิวหนังและร่างกายในระดับเฉียบพลัน และระยะยาว ได้แก่

1. การได้รับรังสีอย่างเฉียบพลัน (Acute Exposure) เรียก การได้รับอุบัติเหตุจากรังสี
2. การได้รับรังสีแบบเรื้อรัง (Chronic Exposure) เรียก การได้รับรังสีในปริมาณที่ไม่สูง แต่จะสะสมอยู่ในร่างกายเรื่องๆ จนเกิดเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่างๆ และต้อกระจก

ปริมาณรังสีที่ปลอดภัย

ประชาชนทั่วไป

1. ร่างกาย ไม่ควรได้รับ 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี
2. เลนส์ตา อวัยวะสืบพันธุ์ ไขกระดูก 15 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี
3. ผิวหนัง ไทรอยด์ มือ แขน ขา 50 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี

โคบอลต์-60 ใช้ทำอะไร

โคบอลต์-60 เป็นกัมมันตรังสีที่ใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ใช้กับเครื่องมือทางการแพทย์ บนวัตถุที่บรรจุโคบอลต์-60 จะมีสัญลักษณ์อันตรายจากกัมมันตรังสี ดังนั้นการนำเข้าเครื่องมือการแพทย์ที่บรรจุวัตถุกัมมันตรังสีต้องแจ้งแก่หน่วยงานความปลอดภัยของทางราชการ และมีการจัดเก็บและทำลายอย่างเป็นระบบ

ย้อนบทเรียน 23 ปี “โคบอลต์-60” จ.สมุทรปราการ

ซีเซียม-137 ไม่ใช่กัมมันตรังสีที่หลุดออกจากระบบการป้องกันกัมมันตภาพรังสีครั้งแรกของประเทศไทย นับตั้งแต่มีกฎหมายคุ้มครองเกี่ยวกับการใช้งานกัมมันตรังสีปี พ.ศ. 2504 เคยมีอุบัติเหตุกัมมันตรังสีข่าวโคบอลต์-60 รั่วไหล ที่จังหวัดสมุทรปราการ เกิดจากการถอดชิ้นส่วนเครื่องฉายรังสี มีโคบอลต์-60 บรรจุอยู่ปริมาณ 15.7 TBq โดยชาย 4 คน นำไปขายแก่ร้านขายของเก่า ในปี พ.ศ. 2543 มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และมีหญิงตั้งครรภ์ที่ขอยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากกังวลผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น

โคบอลต์-60 ปี พ.ศ. 2543 จ.สมุทรปราการ

ย้อนรอยผู้ได้รับผลกระทบ 1,872 คน

เหตุเกิดที่ จ.สมุทรปราการ ปี พ.ศ. 2543

4 คน เป็นชายลักลอบถอดชิ้นส่วนเครื่องฉายรังสีมีโคบอลต์-60 ปริมาณ 15.7 TBq

ผู้ที่อยู่ในรัศมี 100 เมตร

10 คน เป็นครอบครัวร้านรับซื้อของเก่า และลูกจ้าง ได้รับรังสี

  • 4 คน* ได้รับรังสีสูงมากกว่า 4 Gy
  • 6 คน ได้รับรังสีไม่รุนแรง
    52 คน เป็นผู้ปฏิบัติงาน จากสำนักพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับรังสีในเกณฑ์ปลอดภัย (32 mSV)

*ภายในสองเดือนมีคนเสียชีวิต 3 ศพ
**ศพไม่ได้รับการยินยอมให้เผา เพราะชาวบ้านกลัวการแพร่กระจายของวัสดุกัมมันตรังสีที่เกิดจากการเผา

ผู้ที่อยู่ในรัศมี 50 เมตร

- 258 คน ติดตามอาการระยะยาว
- 1 คน ขอยุติการตั้งครรภ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

  • ย้อนรอยเหตุหายนะโคบอลต์-60 ซาเล้งเก็บไปขายร้านรับซื้อของเก่า
  • กัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายปริศนา อย่าให้ซ้ำรอยเหตุโคบอลต์-60 แผ่รังสี
  • ซีเซียม-137 ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายอย่างไร ขนาดไหนถึงเป็นอันตราย

คุณกำลังดู: สรุปข่าวไทม์ไลน์ “ซีเซียม-137” หาย เทียบโคบอลต์-60

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด