ส่องความหลากหลายของเกียร์อัตโนมัติยุคใหม่ ก่อนกลายเป็นเกียร์ใบ้ในรถไฟฟ้า!

ประเภทของเกียร์อัตโนมัติกับความสะดวกสบายในการใช้งานก่อนกลายเป็นเกียร์ Single Speed ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ส่องความหลากหลายของเกียร์อัตโนมัติยุคใหม่ ก่อนกลายเป็นเกียร์ใบ้ในรถไฟฟ้า!

ระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติหรือเกียร์ออโต้ในรถยนต์เข้ามาแทนที่เกียร์ธรรมดาเพื่อยกระดับการขับขี่ให้มีความสะดวกสบาย ความสบายจากการที่ไม่ต้องคอยใช้เท้าซ้ายคอยเหยียบคลัตช์เมื่อขับในเมือง ท่ามกลางการจราจรที่หนาแน่น ในปัจจุบัน รถยนต์รุ่นใหม่เกือบทุกแบบทุกยี่ห้อใช้ระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติแทบจะทั้งนั้น การเข้ามาแทนที่ของเกียร์ออโต้ ผลักดันให้เกียร์ธรรมดากลายเป็นชุดส่งกำลังที่ล้าสมัย และมีใช้ในรถยนต์บางแบบเท่านั้น

ทุกวันน้ี เกียร์ธรรมดาในรถสปอร์ต กลายเป็นของหายากและมีราคาแพง ผลิตในจำนวนจำกัดเท่านั้น! ความสามารถของเกียร์ออโต้ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีความสะดวกสบายกับการขับใช้งานในเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีสภาพการจราจรติดขัด เกียร์อัตโนมัติยุคใหม่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการทดกำลังจากเครื่องยนต์ในรูปของแรงบิดถ่ายไปยังเพลาขับ เป็นการถ่ายเทแรงบิดจากเครื่องยนต์ในแต่ละรอบการทำงาน ผ่านอัตราทดในแต่ละเกียร์ ที่คำนวณมาเพื่อความเหมาะสม ทั้งการให้กำลังอย่างต่อเนื่องเมื่อเร่งความเร็ว ความประหยัดเมื่อวิ่งด้วยความเร็วคงที่

การขับรถยนต์ที่มีระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัตินั้น ใช้เพียงแค่เท้าขวาข้างเดียวในการเหยียบคันเร่งสลับกับเบรก ทำให้เกิดความสะดวกสบาย ไม่ต้องใช้เท้าซ้ายเหยียบคลัตช์ โดยเฉพาะตอนขับขึ้นสะพานหรือทางลาดชัน เกียร์ออโต้ยุคใหม่ในรถยนต์บางรุ่น ยังฉลาดมากพอที่จะช่วยลดหรือเพิ่มเกียร์ให้ในระหว่างการขับใช้งาน เกียร์โอเวอร์ไดรฟ์ยังเข้ามาช่วยลดรอบเครื่องยนต์ในย่านความเร็วเดินทางซึ่งทำให้ประหยัดเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม เกียร์อัตโนมัติทุกประเภท ต้องการการดูแลรักษาและการใช้งานที่ถูกต้อง ควรเปลี่ยนถ่ายของเหลวหล่อลื่นตามระยะทางของการใช้งานที่ 40,000 กิโลเมตร

เกียร์ CVT - Continuously Variable Transmissions
เกียร์ CVT แบบสายพานพูเล่ย์ เป็นชุดส่งกำลังอัตโนมัติที่ได้รับความนิยมในกลุ่มรถราคาประหยัด รถอีโคคาร์ หรือแม้แต่รถครอสโอเวอร์บางแบบ เกียร์ CVT แพร่หลายอย่างมากในรถยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Honda HR-V / Nissan Juke / Toyota Yaris / Honda Jazz แม้แต่รถขับเคลื่อน 4 ล้ออย่าง Subaru XV และอีกมากที่นำเอาเกียร์ CVT เข้ามาใช้เป็นระบบส่งกำลังหลัก ส่วนรถขับหลัง แทบจะไม่พบเห็นว่านำเกียร์แบบพูเล่ย์สายพาน CVT มาใช้ ส่วนใหญ่ เกียร์ออโตในรถขับหลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติแบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ วางตามยาวขนานไปกับเครื่องยนต์เชื่อมต่อด้วยเพลากลางไปยังเฟืองท้าย หลักการทำงานของเกียร์ continuously variable transmission หรือเกียร์ CVT นั้น ใช้การส่งกำลังด้วยสายพานโลหะที่มีความแข็งแรงทนทานเหนียวแน่นเป็นพิเศษ สายพานคล้องระหว่างพูเล่ย์สองตัวที่มีขนาดต่างกัน ทำงานแปรผันไปตามความเร็วรอบของเครื่องยนต์และความเร็วที่แท้จริง ซึ่งใช้หน่วยวัดเป็นไมล์ต่อชั่วโมงหรือกิโลเมตรต่อชั่วโมง การทำงานของเกียร์ใช้การควบคุมโดยสมองกลไฟฟ้าหรือ ECU

หลักการทำงานของชุดเกียร์ CVT ใช้พูเล่ย์สองชิ้น สายพานลำเลียงหรือ Push Belt ทำจากอัลลอย พูเล่ย์ตัวที่หนึ่งเชื่อมกับ Flywheel อีกด้านหนึ่งของพูเล่ย์ เชื่อมกับแกนถ่ายทอดกำลังด้านนอก สายพานจะหมุนวนระหว่างอุปกรณ์ทั้งสองชิ้น ที่ตัว CVT พูเล่ย์จะรับหน้าที่ในการเปลี่ยนอัตราทด เมื่อพูเล่ย์หมุนเร็วขึ้น จะยิ่งหมุนเข้าไปใกล้กัน พูเล่ย์นั้นถูกควบคุมการทำงานด้วยสมองกลไฟฟ้า ECU หากเปรียบการทำงาน พูเล่ย์จะเป็นเหมือนเพลาที่ทำงานควบคู่ไปกับ Sliding Conical Wedges แบบคู่ หรือที่เรียกกันว่า Sheaves ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของพูเล่ย์ยิ่งเล็ก ทำให้สายพานมีแรงตึงมากยิ่งขึ้น พูเล่ย์จะปรับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไปตามความเร็วรอบ เมื่อขับรถที่ความเร็วต่ำ เส้นผ่าศูนย์กลางของพูเล่ย์จะเล็ก แต่เมื่อรถมีความเร็วสูงขึ้น พูเล่ย์จะปรับเส้นผ่าศูนย์กลางให้มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลักการทำงานของเกียร์ CVT จึงช่วยทำให้การขับขี่มีความนุ่มนวลราบเรียบในการทดกำลัง รอบเครื่องยนต์เมื่อเร่งความเร็วอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ช่วยทำให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง

สมองกลเกียร์ CVT หรือที่เรียกกันว่า ECU - Electronic control module ควบคุมการทำงานของเกียร์โดยทำตามโปรแกรมที่บันทึกเอาไว้ เพื่อทำให้เกิดความนุ่มนวลยามขับเคลื่อนและความต่อเนื่องในการทดแรงบิดจากเครื่องยนต์ไปที่เพลาขับเคลื่อน ควบคุมความเร็วรอบให้สัมพันธ์กับจังหวะของการเปลี่ยนเกียร์ ในทางกลับกัน มันจะควบคุมจังหวะของการเปลี่ยนเกียร์ให้มีความเหมาะสมกับความเร็วรอบเครื่องยนต์ รวมถึงยังฉลาดมากพอที่จะเปลี่ยนจังหวะเกียร์ให้เหมาะสมกับการขับขี่ ทำให้การขับเคลื่อนในย่านความเร็วต่างๆ ของรถยนต์ที่ใช้เกียร์ CVT มีความนิ่มนวลไหลลื่น ไร้อาการกระตุกกระชาก ข้อดีของเกียร์แบบนี้ก็คือ มีต้นทุนในการผลิตไม่สูงมากนัก ถ่ายทอดแรงบิดได้ต่อเนื่อง เมื่อเปลี่ยนเกียร์แล้วรอบเครื่องไม่ตก ทำให้ถ่ายทอดกำลังได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ไม่สูญเสียแรงบิดในการเปลี่ยนเกียร์ ส่งผลไปถึงความรู้สึกขณะเปลี่ยนอัตราทด ที่ทำได้นุ่มนวลราบรื่นและประหยัดน้ำมัน สำหรับข้อเสียของเกียร์ชนิดนี้ก็คือ มันไม่เหมาะกับพวกขับกระโชกโฮกฮาก เพราะไม่สะใจและการขับแบบรุนแรงในรถยนต์ที่ใช้เกียร์ CVT จะทำให้เกียร์พังเร็วขึ้นด้วย ความทนทานของเกียร์ CVT สู้เกียร์ออโตแบบปกติไม่ได้ เพราะสายพานโลหะ ยังไงก็สู้กลไกแบบเฟืองทดกำลังต่างขนาดไม่ได้ แต่รถยนต์ราคาแพงอย่าง Toyota Alphard Honda Odyssey รวมถึงรถ MPV หรูจากยุโรปอย่าง Volkswage Caravelle ล้วนแล้วแต่ใช้ระบบเกียร์ CVT ทั้งสิ้น

Torque Converter Transmissions
เกียร์อัตโนมัติแบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ได้รับความนิยมแพร่หลายมานาน โดยเฉพาะรถขับเคลื่อนล้อหลัง เช่น BMW / Mercedes Benz / Lexus เกียรอัตโนมัติ Torque Converter Transmissions ถูกติดตั้งอยู่ระหว่างเครื่องยนต์กับเกียร์ หลักการทำงานของมันก็คือ ทำหน้าที่ส่งถ่ายกำลังด้วยของเหลวพวกน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ โครงของทอร์คคอนเวอร์เตอร์ติดเข้ากับฟลายวีล (Flywheel) ของเครื่องยนต์ และจะหมุนไปพร้อมกันใบ (Fin) ของปั๊มติดแน่นเข้ากับโครงของทอร์คคอนเวอร์เตอร์ ดังนั้น มันจะหมุนด้วยความเร็วรอบเท่ากับรอบของเครื่องยนต์ในขณะนั้นๆ ปั๊มแบบแรงหนีศูนย์ (Centrifugal pump) ขณะที่ปั๊มหมุน มันจะเหวี่ยงของเหลวให้ออกไปภายนอก ลักษณะการเหวี่ยงแบบเดียวกับเครื่องซักผ้า เมื่อของเหลวถูกผลักออกทางด้านนอก ทำให้เกิดสุญญากาศขึ้นภายในศูนย์กลางของปั๊ม ของเหลวถูกเหวี่ยงเข้าไปในเทอร์ไบน์ ที่ต่อเข้ากับระบบเกียร์ ครีบเทอร์ไบน์จะไปหมุนเกียร์ ทำให้ล้อหมุน และรถเคลื่อนที่ไป ความโค้งของใบเทอร์ไบน์ เมื่อของเหลวไหลเข้าไปในเทอร์ไบน์มันจะถูกทำให้เปลี่ยนทิศทางและวิ่งเข้าหาจุดศูนย์กลางของเทอร์ไบน์

ตามหลักการของโมเมนตัม เมื่อมีแรงกระทำกับมวล จะทำให้ทิศทางการเคลื่อนที่ของมวลเปลี่ยนแปลงไป การที่เทอร์ไบน์เปลี่ยนแปลงทิศทางของของเหลว จะเกิดแรงที่ทำให้ของเหลวที่ไหลออกจากเทอร์ไบน์ มีทิศทางแตกต่างกับตอนไหลเข้า ของเหลวที่ไหลออกมามีทิศทางตรงกันข้ามกับการหมุนของปั๊ม ถ้าของเหลวนี้ถูกทำให้ชนเข้ากับปั๊ม มันจะทำให้เครื่องยนต์หมุนช้าลง สูญเสียพลังงานไปโดยไม่จำเป็น ด้วยสาเหตุนี้ ภายในทอร์กคอนเวอร์เตอร์จึงต้องมีสเตเตอร์ สเตเตอร์วางอยู่ตรงกลางของทอร์คคอนเวอร์เตอร์ หน้าที่หลักของสเตเตอร์ ก็คือ กลับทิศทางของเหลวที่ไหลออกจากเทอร์ไบน์ก่อนที่จะวิ่งเข้าชนปั๊ม

ใบของสเตเตอร์ถูกออกแบบให้มีความแข็งแกร่งทนทาน เพื่อต้านทานการไหลของของเหลว คลัตช์ทางเดียวที่อยู่กับสเตเตอร์ ควบคุมให้สเตเตอร์หมุนไปในทิศทางตรงข้าม ไม่เช่นนั้น มันจะหมุนไปพร้อมกับของไหล และไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของของไหลได้ หน้าที่หลักของทอร์คคอนเวอร์เตอร์เหมือนกับคลัตช์ แต่มีหน้าที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพิ่มแรงบิดได้ ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ในเกียร์อัตโนมัติสมัยใหม่สามารถเพิ่มแรงบิดขึ้นได้ ในปริมาณ 2 ถึง 3 เท่า แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความเร็วรอบของรถยนต์หมุนเร็วกว่าเกียร์ที่ความเร็วสูง เกียร์จะหมุนด้วยความเร็วรอบเกือบเท่ากับความเร็วรอบของเครื่องยนต์ ความแตกต่างของความเร็ว คือ พลังงานที่สูญเสียไป เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมเกียร์ออโต้จึงใช้น้ำมันหล่อลื่นมากกว่าเกียร์ธรรมดา ทอร์คคอนเวอร์เตอร์มีความเร็วออกและเข้าแตกต่างกันตลอดเวลา การใช้วิธีล็อกอัพเมื่อความเร็วรอบของปั๊มเท่ากับความเร็วรอบของเทอร์ไบน์ เพื่อปัองกันการเลื่อน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายเทแรงบิดของเครื่องยนต์

Dual-Clutch Gearbox
ระบบส่งกำลังแบบ Dual-Clutch Gearbox หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าเกียร์ทวินคลัตช์ถูกพัฒนาจากบริษัทรถยนต์หลายค่ายซึ่งผลิตรถสปอร์ตหรือรถที่มีสมรรถนะของเครื่องยนต์สูงมาก เพื่อแก้ใขข้อบกพร่องของเกียร์แบบ SMT (เซมิออโตเมตริก) ในเรื่องของช่วงรอยต่อในการเปลี่ยนเกียร์ซึ่งช้ากว่าแบบคลัตช์คู่หรือ Dual-Clutch โครงสร้างหลักของเกียร์ชนิดนี้ ถูกออกแบบให้มีห้องเกียร์แบบเกียร์ธรรมดา โดยใช้เฟืองเกียร์ที่มีอัตราทดตายตัวในแต่ละตำแหน่ง ส่วนใหญ่แล้ว จะมีเกียร์เดินหน้า 6-7 จังหวะ และเกียร์ถอยหลังอีกหนึ่งจังหวะ ระบบเกียร์ Dual-Clutch คล้ายกับมีเกียร์สองชุด ชุดหนึ่งมีเกียร์ 1 เกียร์ 3 เกียร์ 5 เกียร์ 7 และเกียร์ถอยหลัง โดยมีชุดคลัตช์ชุดที่ 1 คอยควบคุมไว้ ส่วนอีกชุดหนึ่งก็จะเป็นชุดสำหรับทำงานของเกียร์ 2 เกียร์ 4 และเกียร์ 6 โดยมีชุดคลัตช์อีกชุดหนึ่งควบคุมไว้ และทั้งหมดจะถูกควบคุมด้วยสมองกลอิเล็กทรอนิกส์ การมีระบบการทำงานด้วยคลัตช์ทั้งสองชุด ทำให้จังหวะการเปลี่ยนเกียร์ของแต่ละเกียร์ ใช้เวลาน้อยมาก เมื่อออกรถด้วยเกียร์ 1 ชุดเกียร์ 2 ก็เตรียมรอที่จะเปลี่ยนไว้เรียบร้อยแล้ว ทันทีที่ชุดคลัตช์ได้รับสัญญาณไฟฟ้าจากสมองกลที่ควบคุมเครื่องยนต์ สั่งการไปยังกล่องควบคุมของเกียร์ ด้วยความรวดเร็วเพียงชั่วพริบตา ชุดเกียร์ 2 ก็จะทำงานทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการที่จะทำให้คลัตช์จับตัวหรือปล่อย เกียร์แบบ Dual-Clutch Gearbox ใช้เวลาเปลี่ยนเกียร์น้อยกว่าเกียร์แบบออโตเมตริกและเกียร์แบบเซมิออโตเมตริก ประจำการอยู่ในรถแรงอย่าง McLaren / Ferrari / Porsche / Lamborghini / Mercedes Benz AMG /Audi RS / BMW M (ปัจจุบัน BMW M ย้ายกลับมาใช้เกียร์คลัตช์เดี่ยวแบบเดิม)

เทคโนโลยีที่ทันสมัยของระบบส่งกำลังด้วยคลัตช์สองชุด มีการทำงานแบบแยกกันของตำแหน่งเกียร์เลขคู่และเลขคี่ ซึ่งจะถูกโปรแกรมการจัดการในกล่องสมองกลเกียร์ ทำการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า โดยการใช้ระบบ Input Shaft หรือแกนชาร์ฟที่ถูกแยกเป็นสองตำแหน่ง เนื่องจากเวลาในการเปลี่ยนเกียร์เป็นศูนย์ (หรือระยะเวลาที่ทับซ้อนกันระหว่างการจับและปล่อยตัวของคลัชต์ทั้งสองตัว) จากลักษณะดังกล่าว ทำให้ไม่มีการไปรบกวนแรงบิดจากเครื่องยนต์ถึง Driven Wheel ช่วงเวลาในการตอบสนองของการเปลี่ยนเกียร์ทั้งหมดในเกียร์คลัตช์คู่ มีความรวดเร็วมากกว่าเกียร์ที่ค่ายผู้ผลิตรถซุปเปอร์คาร์เคยผลิตขึ้นมาในทุกยุคทุกสมัย การส่งผ่านแรงบิดจากเครื่องยนต์มีความต่อเนื่องและให้แรงบิดสูงกว่าในขณะที่ตัวรถใช้ความเร็วต่ำ การทำงานของระบบส่งกำลังแบบทวินคลัตช์ ตอบสนองต่อประสิทธิภาพของแรงบิดที่ได้รับจากเครื่องยนต์ โดยสูญเสียแรงบิดน้อยกว่าเกียร์แบบอื่น แถมยังทำงานด้วยความแม่นยำและว่องไวมากกว่าอีกด้วย

เกียร์ทวินคลัตช์ของผู้ผลิตรถซุปเปอร์คาร์อย่าง McLaren และ Ferarai ซึ่งเป็นรถสปอร์ตประสทธิภาพสูงที่ใช้เกียร์ Dual-Clutch Gearbox โดยมีการออกแบบและคำนวณการทำงานของชุดเกียร์กับกลไกภาย ในด้วยการทำให้มันเป็นเกียร์ไฮดรอลิก 7 สปีด ควบคุมด้วยสมองกลอิเล็กทรอนิกส์ หล่อเลี้ยงการทำงานด้วยไฟฟ้า โดยไม่มีระบบ Torque Converter ระบบเกียร์แบบคลัตช์คู่หรือทวินคลัตช์ในเกียร์ชนิดนี้ วิศวกรได้ทำการผสมผสานรูปแบบการใช้งานของเกียร์แมนนวลแบบธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้ขับสามารถปรับตำแหน่งเกียร์ โดยเลือกเกียร์ด้วยตัวเอง หรือจะให้สมองกลเกียร์จัดการเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นลงไปตามความเร็วก็ได้ ทั้งหมดเกิดขึ้นในชั่วพริบตา สำหรับการปรับเปลี่ยนอัตราทด การปรับลดช่วงเวลาและรอยต่อระหว่างตำแหน่งให้มีความกระชับรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ขับรู้สึกถึงพลังและการถ่ายเทแรงบิดจากเครื่องยนต์ การเปลี่ยนอัตราทดขึ้น-ลงที่ว่องไวมากกว่าเกียร์แบบอื่น รวมถึงการขจัดการรบกวนของแรงบิดจากเครื่องยนต์ ในขณะที่ทำการเปลี่ยนเกียร์ด้วยความราบรื่น ยกระดับการทำงานร่วมกันของการกระจายแรงบิดจากเครื่องยนต์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

การส่งผ่านแรงบิดจากเครื่องยนต์มีความต่อเนื่องและสูงกว่าในขณะที่ตัวรถใช้ความเร็วต่ำ การทำงานของระบบส่งกำลังแบบทวินคลัตช์ของรถ Ferrari F8 Tributo จะมีการร่วมกันกับโปรแกรมของระบบเฟืองท้าย E-Diff ที่ชาญฉลาด และเข้ามาช่วยในเรื่องของการทรงตัวในระหว่างขับเข้าสู่ทางโค้งด้วยความเร็วสูง ด้วยการกระจายแรงบิดถ่ายเทไปยังล้อขับเคลื่อนคู่หลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพความสมดุลในระดับสูงสุด ระบบส่งกำลังแบบคลัตช์สองชุดหรือทวินคลัตช์ เข้ามาแทนที่เกียร์ออโต้ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ หรือเกียร์ธรรมดาที่แสนจะเชื่องช้าในรถสมรรถนะสูงหรือรถซุปเปอร์คาร์ยุคเก่า ไม่ว่าจะเป็นเกียร์อัตโนมัติไฮเทคแบบใด ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการตอบสนองและความสะดวกสบายของการขับขี่เกียร์อัตโนมัติรุ่นใหม่ๆ (ในรถยนต์ราคาแพง) เกียร์ออโต้ทั้งสามแบบ ยังถูกปรับแต่งด้วยซอฟต์แวร์อันชาญฉลาด เพื่อทำให้มันค้นหาอัตราทดที่เหมาะสมกับสภาวะของการขับขี่ที่ถูกส่งผ่านทางการเร่งหรือเบรก หักเลี้ยวหรือพุ่งทะยานไปข้างหน้า ปรับเปลี่ยนอัตราทดด้วยสมองกลในแบบที่ไม่มีมนุษย์คนใดจะทำได้เร็วเท่า เกียร์ธรรมดาแบบเก่าที่เชื่องช้ากำลังเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด ในขณะที่ระบบเกียร์อัตโนมัติรุ่นใหม่ มีให้ใช้ในรถยนต์ราคาถูกกันแล้ว

แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีเพียงเกียร์ Single Speed แต่แรงบิดทั้งหมดจากมอเตอร์จะถ่ายเทผ่านชุดระบบขับเคลื่อนไปยังเพลาขับหน้า หรือหลัง หรือทั้งสองเพลาขับ โดยภายในอุปกรณ์ชุดส่งกำลัง ประกอบไปด้วยเฟืองต่างขนาดเพื่อทดกำลังในย่านความเร็วรอบที่แตกต่างกันของมอเตอร์ขับเคลื่อน จากข้อมูลระบุว่า Tesla กำหนดให้รถไฟฟ้าทุกโมเดล ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นชุดขับเคลื่อนทุก 160,000 กิโลเมตร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV กำหนดให้เปลี่ยนน้ำมันเกียร์อัตโนมัติจำนวน 2 ลิตร ที่ระยะ 80,000 กิโลเมตร หรือประมาณ หรือ 4 ปี โดยมีค่าใช้จ่าย ประมาณ 2,320 บาท ส่วน Nissan Leaf ไม่ได้มีการระบุว่าต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นชุดส่งกำลังเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยๆ ควรดูแลเปลี่ยนถ่ายตามระยะ 40,000-80,000 กิโลเมตร เพื่อยืดอายุการใช้งาน

เทคโนโลยีของระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติขึ้นถึงจุดสูงสุดของการเปลี่ยนแปลง และเดินทางมาจนถึงจุดสุดท้ายซึ่งเป็นยุคแห่งยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่รถยนต์จะไม่มีเกียร์ 8-9 หรือ 10 สปีด อีกต่อไป!


ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: ส่องความหลากหลายของเกียร์อัตโนมัติยุคใหม่ ก่อนกลายเป็นเกียร์ใบ้ในรถไฟฟ้า!

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว