ส่องเลน-อีวีไทย ปักหมุดปั้นฮับภูมิภาค

ส่องเลน-อีวีไทย ปักหมุดปั้นฮับภูมิภาค

ส่องเลน-อีวีไทย ปักหมุดปั้นฮับภูมิภาค

ยังเป็นที่จับตาสำหรับแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของประเทศ ที่ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกภายในปี 2573 จะสำเร็จหรือไม่?

เรื่องนี้ ขับเคลื่อนโดย คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ตั้งแต่ปี 2564 ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ.2030 หรือ 2573

ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคต

โดยบอร์ดอีวีได้กำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้ ZEV ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมการผลิตรถสามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบรางอีกด้วย

ขณะที่เป้าหมายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะอยู่ที่ 440,000 คัน รถจักรยานยนต์ 650,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 33,000 คัน

รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี
ตลอดจนกำหนดมาตรการส่งเสริม ZEV ในด้านต่างๆ ได้แก่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน

โดยได้มีการกำหนดมาตรฐานให้ครอบคลุมยานยนต์และชิ้นส่วนสำคัญ แผนส่งเสริมผู้ประกอบการรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และแผนการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรและกำลังคน, การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งมาตรการทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี โดยมีมาตรการ Quick win เป็นการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของธุรกิจขนส่งเชิงพาณิชย์และหน่วยงานรัฐ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอัดประจุ และการส่งเสริมเทคโนโลยีสมาร์ทกริด

รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ การจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วและการพัฒนากำลังคน

ตรวจสอบการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าของไทยตลอดปีที่ผ่านมา (2564-2565) พบว่า คืบหน้าและดูท่าจะถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก!

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ข้อมูลว่า ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤศจิกายน) มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า 100% หรือบีอีวี จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 18,135 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2564 สูงถึง 234.53%

โดยแบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 8,401 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2564 คิดเป็น 364.14% แยกเป็น

  • รถยนต์นั่งจำนวน 8,342 คัน
  • รถยนต์โดยสารไม่เกิน 7 คน จำนวน 54 คัน
  • รถยนต์บริการธุรกิจ 5 คัน
  • รถกระบะ รถแวน 26 คัน เพิ่มขึ้น 100%
  • รถยนต์สามล้อรับจ้าง 213 คัน เพิ่มขึ้น 395.35% แยกเป็น รถยนต์รับจ้างสามล้อ 189 คัน และรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล 24 คัน, รถจักรยานยนต์ 8,831 คัน เพิ่มขึ้น 153.76% แยกเป็น รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 8,828 คัน และรถจักรยานยนต์สาธารณะจำนวน 3 คัน,
  • รถโดยสาร 641 คัน เพิ่มขึ้น 766.22%
  • รถบรรทุก 23 คัน เพิ่มขึ้น 2,200%

ส่งผลให้ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภทบีอีวี ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 29,402 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 169.40% โดยแบ่งประเภทได้ ดังนี้ รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 12,490 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2564 คิดเป็น 214.85% แยกเป็น รถยนต์นั่ง 12,319 คัน เพิ่มขึ้น 218.81% รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารฯ 157 คัน เพิ่มขึ้น 53.92% รถยนต์บริการธุรกิจ 7 คัน เพิ่มขึ้น 600% และรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 7 คัน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันปี 2564 ยังไม่มีการจดทะเบียน

ขณะที่รถกระบะและรถแวน 68 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2564 คิดเป็น 126.67%, รถยนต์ 3 ล้อ 483 คัน เพิ่มขึ้น 84.35% แยกเป็น รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล 59 คัน เพิ่มขึ้น 96.67%, รถยนต์รับจ้างสามล้อ 424 คัน เพิ่มขึ้น 82.76%, รถจักรยานยนต์มีจำนวนทั้งสิ้น 15,459 คัน เพิ่มขึ้น 139.23%, รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 15,387 คัน เพิ่มขึ้น 138.85% รถจักรยานยนต์สาธารณะ 72 คัน เพิ่มขึ้น 260% และอื่นๆ คือ รถโดยสาร 877 คัน เพิ่มขึ้น 354.40% และรถบรรทุก 25 คัน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันปี 2564 ยังไม่มีการจดทะเบียน

จากตัวเลขรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมียอดการใช้รถบีอีวี เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 คัน ซึ่งเป็นผลจากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล เอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแพคอีวี ที่มอบส่วนลดให้กับรถยนต์บีอีวี เริ่มต้นคันละ 150,000 บาท รวมทั้งการลดภาษีในส่วนต่างๆ กระตุ้นยอดขายในประเทศช่วงแรก ต่อเนื่องไปถึงการตั้งฐานผลิตในไทย

นายสุริยะ ยังระบุอีกว่า ไทยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค กำหนดเป้าหมายในปี 2568 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็น 10% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งขับเคลื่อนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ อาทิ การจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถโดยสาร รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ แบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุ

รวมทั้งเร่งพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือศูนย์ทดสอบ ATTRIC แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อการยกระดับมาตรฐานและการวิจัย ประกอบด้วย การวิจัยพัฒนาทดสอบสมรรถนะยานยนต์และชิ้นส่วนต้นแบบ การทดสอบยางล้อ

และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล

ด้าน นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ อัพเดตโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือบีอีวี ที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 15 โครงการ จาก 14 บริษัท มูลค่า 27,745 ล้านบาท ผลิตรวม 256,220 คัน

ขณะที่โครงการที่ได้รับการอนุมัติลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนอีวี มีทั้งสิ้น 37 โครงการ 28 บริษัท วงเงินลงทุน 18,410 ล้านบาท รวมทั้งกิจการชาร์จจิ้งสเตชั่น ที่ได้รับการอนุมัติลงทุน มี 5 โครงการ วงเงินรวม 2,174 ล้านบาท รวม 9,036 หัวจ่าย

ความคืบหน้าทั้งหมดนี้ เพื่อผลักดันให้ไทยมุ่งสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาคให้ได้!!

คุณกำลังดู: ส่องเลน-อีวีไทย ปักหมุดปั้นฮับภูมิภาค

หมวดหมู่: รถยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด