‘สองล้อ’นำร่องใช้วิทย์-กีฬา เก็บตัวนักปั่นทีมชาติเต็มรูปแบบ เตรียมทีมลุยแข่งปีหน้า
'สองล้อ'นำร่องใช้วิทย์-กีฬา เก็บตัวนักปั่นทีมชาติเต็มรูปแบบ เตรียมทีมลุยแข่งปีหน้า "เสธ.หมึก" พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ เ...
‘สองล้อ’นำร่องใช้วิทย์-กีฬา เก็บตัวนักปั่นทีมชาติเต็มรูปแบบ เตรียมทีมลุยแข่งปีหน้า
“เสธ.หมึก” พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ เดินหน้าเก็บตัวนักกีฬาทีมชาติไทยระยะยาว เพื่อเตรียมพร้อมเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬารายการใหญ่ในปี 2566 ได้แก่ การแข่งขันรายการระดับนานาชาติเพื่อเก็บคะแนนสะสมคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส, การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา และการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ซึ่งสมาคมกีฬาจักรยานฯ ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬา จากทีมงานระดับอาชีพมาตรวจวิเคราะห์สมรรภาพร่างกายนักกีฬาเพื่อวางโปรแกรมฝึกซ้อม ทั้งนี้ เป็นการสนองนโยบายของ “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ที่เน้นย้ำให้แต่ละสมาคมกีฬานำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
พลเอกเดชา กล่าวว่า กระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬาดังกล่าว สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ได้รับความร่วมมือจากกองวิทยาศาสตร์กีฬา ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดย นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งได้มอบหมายให้คณะนักวิทยาศาสตร์การกีฬาชุดใหญ่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย นางวัชรี แสวงไวศยสุข หัวหน้างานทดสอบสมรรถภาพกีฬา, ผศ.ดร.สืบสาย บุญวีรบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬา, ดร.อรวรรณ ภู่ชัยวัฒนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกีฬา พร้อมเจ้าหน้าที่กองวิทยาศาสตร์กีฬา อีก 7 คน เข้าร่วมในกระบวนการทดสอบร่างกายนักปั่นไทยประเภทถนน, ลู่ และเสือภูเขา ทั้งชาย-หญิง ซึ่งเก็บตัวอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม
“เสธ.หมึก” กล่าวอีกว่า ในกระบวนการทดสอบดังกล่าวใช้วิธีการเจาะเลือดระหว่างที่นักกีฬาแต่ละคนออกแรงตามที่กำหนด เพื่อหาค่าสารเคมีในเลือด นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลที่เก็บไว้ในช่วงเวลาที่นักกีฬาแต่ละคนมีความฟิตสูงสุด เพื่อให้ผู้ฝึกสอนแต่ละประเภทได้นำข้อมูลนี้ไปออกแบบการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของนักกีฬาในปัจจุบัน และระยะเวลาการฝึกซ้อมของการแข่งขันแต่ละรายการ โดยจะเริ่มต้นศึกใหญ่รายการแรกคือ การแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2023” ระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน 2566 เส้นทางจากภาคตะวันตกไปยังภาคตะวันออก ต่อด้วยการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 และการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-8 ตุลาคม 2566
นายกสองล้อไทย เจ้าของฉายา “หมึกต้นแบบ” กล่าวต่อไปว่า ในกระบวนการเจาะเลือดหาค่าแลคเตท (Lactate) สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้รับความร่วมมือจาก มร.ไว มุน เยียง และ มร.ปีเตอร์ พูลลี่ ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ ซึ่งจะนำค่าเลือดที่ได้เข้าประมวลผลในซอฟต์แวร์ แอทเลติก เพอร์ฟอมานซ์ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่ทีมจักรยานอาชีพระดับโปรทีมและนักกีฬาอาชีพชั้นนำทั่วโลกใช้ ดังนั้นค่าต่าง ๆ ที่ตรวจวัดและประมวลผลจะมีความเที่ยงตรง ทำให้คณะผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ทั้ง “โค้ชตั้ม” วิสุทธิ์ กสิยะพัท ในประเภทถนน, “โค้ชนพ” ร.ต.อ.อดิศักดิ์ วรรณศรี ในประเภทลู่ และ จ.อ.เสรี เรืองศิริ ในประเภทเสือภูเขา สามารถนำไปใช้ออกแบบการฝึกซ้อมที่เหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละคน เพื่อที่จะรีดเอาศักยภาพสูงสุดของนักกีฬาออกมาได้ในระหว่างการแข่งขันที่นักกีฬาทีมชาติไทยจะต้องออกไปตระเวนแข่งขันเกือบตลอดทั้งปี 2566
พลเอกเดชา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการทดสอบสมรรถภาพร่างกายดังกล่าวแล้ว ยังมีคณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่จากภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย รศ.ดร.กภ.สมรรถชัย จำนงค์กิจ หัวหน้าภาควิชา, ผศ.ดร.กภ.ภัทรพร สิทธิเลิศพิศาล รองหัวหัวภาควิชา, ดร.กภ.บุษบา ฉั่วตระกูล, ดร.กภ.โศธิดา นันตระกูล, กภ.สุพัชชา กองหาโคตร พร้อมด้วย น.ส.พระพร กิจเกื้อกูล และ น.ส.พรชลิตา โกมุทรัตนานนท์ นักโภชนาการ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับสมาคมกีฬาจักรยานฯ มาแล้วกว่า 5 ปี จะเข้ามาร่วมตรวจวิเคราะห์สภาพกล้ามเนื้อและแกนกลางร่างกายในส่วนที่สำคัญสำหรับนักกีฬาจักรยาน เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อหรือตรวจรักษากรณีที่มีอาการบาดเจ็บอีกทางหนึ่ง โดยกำหนดเข้ามาตรวจวิเคราะห์ร่างกายนักกีฬา ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม
“จะเห็นได้ว่าในระบบการพัฒนานักกีฬาจักรยานไทยยุคปัจจุบัน สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ นำเอาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์การกีฬาทุกแขนงที่จำเป็นสำหรับนักกีฬามาปรับใช้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานนักกีฬาจักรยานไทยให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง และไม่เฉพาะแต่นักปั่นระดับทีมชาติหรือทีมอาชีพเท่านั้น แต่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ยังร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการนำกระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬาโดยเฉพาะในด้านไบโอแมคคานิคส์ (Biomechanics) หรือชีวกลศาสตร์ มาพัฒนานักกีฬาจักรยานรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเสริมทีมชาติไทยในอนาคตข้างหน้าอีกทางหนึ่งด้วย” พลเอกเดชา กล่าวเสริม
ด้าน “โค้ชตั้ม” วิสุทธิ์ กสิยะพัท ในฐานะรองประธานฝ่ายเทคนิค และหัวหน้าผู้ฝึกสอนประเภทถนน เปิดเผยว่า การทดสอบสมรรถภาพร่างกายและการเจาะเลือดนักกีฬาเพื่อหาค่าแลคเตท โดยทีมงานจากกองวิทยาศาสตร์กีฬา ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย มีประโยชน์มากในการเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬา เพราะทำให้สตาฟฟ์โค้ชรับทราบข้อมูลว่าควรจะวางโปรแกรมฝึกซ้อมที่เหมาะสมให้แก่นักกีฬาแต่ละคนอย่างไร นอกจากนี้นักปั่นประเภทถนนทุกคนได้ติดตั้งอุปกรณ์เพาเวอร์มิเตอร์บนจักรยานเพื่อวัดกำลัง และสมรรถภาพของนักกีฬา ซึ่งหน่วยจะออกมาเป็นวัตต์ โดยในส่วนของนักปั่นทีมเสือภูเขา ท่านพลเอกเดชา ได้อนุมัติงบประมาณให้จัดซื้ออุปกรณ์เพาเวอร์มิเตอร์ มาติดตั้งให้ครบทุกคนเรียบร้อยแล้ว
“โค้ชตั้ม” วิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า การเก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยจะอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งประเภทถนน, ลู่ และเสือภูเขา เนื่องจากมีความพร้อมทั้งเรื่องสถานที่ฝึกซ้อม ที่พัก และอาหาร ซึ่งท่านพลเอกเดชา ได้กำชับมาว่าต้องดูแลความเป็นอยู่ของนักกีฬาให้ดี อย่าให้ขาดตกบกพร่อง ต้องขอขอบพระคุณท่านนายกสมาคมฯ เป็นอย่างสูง ที่มีความห่วงใยและดูแลนักกีฬาจักรยานด้วยดีมาโดยตลอด สำหรับนักกีฬาจักรยานทุกคนต่างก็ตั้งใจฝึกซ้อม และอยู่ในระเบียบวินัย ทุกคนมีความเป็นมืออาชีพ ก็ขอฝากถึงแฟนกีฬาจักรยานช่วยส่งแรงใจมาให้นักปั่นไทยเตรียมทีมสู้ศึกใหญ่ในปี 2566 โดยสามารถส่งข้อความไปที่เฟซบุ๊ก Thaicycling Association เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้นักกีฬามีพลังในการทำผลงานให้แก่ประเทศชาติต่อไป
คุณกำลังดู: ‘สองล้อ’นำร่องใช้วิทย์-กีฬา เก็บตัวนักปั่นทีมชาติเต็มรูปแบบ เตรียมทีมลุยแข่งปีหน้า
หมวดหมู่: กีฬาอื่นๆ