ส่องอดีตกับ MG รถเหล่านี้พวกเขาเคยทำ!
ย้อนอดีต รถเด่นอังกฤษแบรนด์ MG ประสบความสำเร็จและล้มลุกคลุกคลาน จนตกไปอยู่ในอุ้งมือของกลุ่มทุนจีน
ถ้าเอ่ยชื่อ MG หรือ Morris Garage กับคนในยุคนี้ แน่นอนว่าคนจำนวนมากรู้จักว่ามันคือค่ายรถสัญชาติอังกฤษที่ทางจีนซื้อกิจการไป มีรถจำหน่ายให้กับชนชั้นกลางเกือบครบทุกตัวถัง และมีขุมพลังการขับเคลื่อนทุกแบบตั้งแต่เบนซิน ดีเซล ไฮบริด ไฮบริดแบบเสียบปลั๊กชาร์จ รวมถึง EV แต่บทความวันนี้เราคงไม่ได้มาช่วย MG ขายรถของพวกเขาในปัจจุบัน ผมอยากพาเพื่อนๆ ไปย้อนอดีตดู MG รุ่นแปลกๆ ในอดีต ซึ่งอาจจะเป็นรถที่ชาวต่างชาติทั้งหลายเขารู้จักกันอยู่แล้ว แต่คนไทยโดยเฉพาะ Gen Y เป็นต้นมาจะไม่ค่อยคุ้นเท่าไร
ขอเท้าความไปยังจุดกำเนิดของแบรนด์ก่อน MG นี่ ไม่ได้เกิดมาเป็นยี่ห้อรถตั้งแต่แรกและคนก่อตั้งก็ไม่ได้ชื่อ Morris แต่คำว่า Morris ในชื่อนั้นก็มาจากชื่อของนาย William Richard Morris ผู้เป็นเจ้าของกิจการรถยนต์อังกฤษที่ตั้งยี่ห้อตามนามสกุลเขาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 นู่น อยู่มาวันนึง ก็มีชายชื่อ Cecil Kimber เดินอาดเข้ามาสมัครงานที่ดีลเลอร์สาขาถนน Oxford ของ Morris แล้วก็ได้ทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายขายในปี 1921 ทำอยู่แค่ปีเดียวก็ได้เลื่อนขั้นเป็น General Manager ที่เป็นหัวใหญ่ของทุกฝ่าย ตา Cecil นี่แกจะมีวิธีขายรถของแกโดยการเอา Morris รุ่นปกติมาปรับแต่งตามสไตล์ที่ตัวเองมั่นใจว่าลูกค้าชอบแน่นอน การที่เขาทำสิ่งต่างๆ ใน “อู่” ของดีลเลอร์จำหน่าย Morris เองนั้น ทำให้เขาตัดสินใจจดทะเบียนการค้ายี่ห้อของตัวเองว่า “Morris Garage” โดยมีโลโก้ MG ในแปดเหลี่ยมเป็นสัญลักษณ์ในปี 1924 โดยรถรุ่นแรกที่แปะโลโก้ MG คือรุ่น 14/28 ซึ่งตัวรถพื้นฐานก็คือ Morris รุ่น Oxford
กิจการของ MG ภายใต้การดูแลของ Cecil Kimber รุ่งเรืองและขายดีจนสามารถไปตั้งโรงงานผลิตรถอีกแห่งที่ Abingdon ริมแม่น้ำ Thames ได้ภายในสามปีหลังจากนั้น รถของ MG เริ่มมีผู้ติดตามและมี MG Car Club ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 500 คนในปี 1933 รถของ MG ยังมีเสน่ห์ถูกตาต้องใจคนชาติอื่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารอเมริกันที่มาประจำการในอังกฤษหลายคนซื้อ MG T Type ใช้ และหลายคนส่งรถกลับไปใช้ต่อที่อเมริกาด้วย น่าเสียดายที่ผู้ก่อตั้ง Cecil Kimber นั้นเสียชีวิตลงในเหตุการณ์รถไฟชนกันที่สถานี King Cross ปี 1945 ซึ่งเขาคือ 1 ใน 2 ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์
อย่างไรก็ตาม มรดกจากการให้กำเนิดของ Cecil ก็ออกมาจากโรงงานอีกหลายทศวรรษถัดมา แม้จะถูกเปลี่ยนมือเจ้าของไปหลากหน้าหลายตา ตั้งแต่ Morris, British Leyland, Rover, BMW Group จนในปี 2005 รัฐวิสาหกิจจีน Nanjing Automotive ก็มาซื้อกิจการไป จนในปี 2011 มีการร่วมทุนกับ SAIC ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์และเบื้องหลังการพัฒนารถรุ่นใหม่ๆ ที่ถูกนำมาขายในไทยจนถึงปัจจุบัน วันนี้เราจะลองกด Rewind ไปดู MG ในอดีตก่อนถึงยุคของ SAIC กันครับ
MG EX181
นี่คือรถเพื่อการวิจัยและการสร้างสถิติทางความเร็ว ซึ่ง MG ในยุค 1950s นั้นพยายามพิสูจน์ตัวเองว่ามีขีดความสามารถในการสร้างรถสมรรถนะสูงมากแค่ไหน EX181 เป็นรถทรงหยดน้ำที่สร้างมาเพื่อให้มีความลื่นอากาศแบบสุดขีด รถที่พัฒนาในช่วงปี 1956 คันนี้ มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd=0.16 เท่านั้นเพราะไม่ต้องคำนึงถึงการใช้งานใดๆ MG จ้างนักขับมืออาชีพสองคน คือ Phillip Hill และ Stirling Moss มาเพราะสมัยนั้นคนที่เคยผ่านประสบการณ์ทะลุความเร็ว 250 ขึ้นไปก็เห็นจะมีแต่นักแข่งแถวหน้าเท่านั้น ทีมวิศวกร MG จัดวางที่นั่งของ EX181 ในรูปแบบกึ่งนอนขับ วัดตัว หัว ขาและเท้าของนักขับทั้งสอง และออกแบบห้องโดยสาร พวงมาลัย แป้นเหยียบต่างๆ ให้พอดีกับตัวพวกเขาเด๊ะ เพื่อทำให้ตัวรถเล็กที่สุด เพราะยิ่งเล็ก พื้นที่หน้าตัดในการแหวกอากาศก็ยิ่งน้อยตามไปด้วย
ส่วนเครื่องยนต์นั้น ไม่ใช่เครื่องรถแข่งชื่อกระฉ่อนใดๆ ทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้าม พวกเขาใช้เครื่องยนต์จาก MGA สปอร์ตเปิดประทุนตัวเล็กสายฮูล่าพาเพลิน มาโมดิฟายยกใหญ่ ใส่ฝาสูบทวินแคม ติดตั้งซูเปอร์ชาร์จ (สมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์นั่งที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบ) ปรับปรุงจนได้กำลังถึง 290 แรงม้า คุณอาจจะไม่คิดว่ามันเยอะ แต่มันมากกว่ารถ 1.5 ลิตรทั่วไปในสมัยนั้นถึง 4-5 เท่า อีกเหตุผลที่ MG เลือกเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตรเพราะพวกเขาต้องการสร้างสถิติโลกด้านความเร็วในคลาสเครื่องยนต์ 1.1-1.5 ลิตร ที่ต้องเล่นคลาสนี้เพราะในระดับที่สูงกว่านั้น มีบริษัทรถยุโรปเงินหนาตึกใหญ่และอเมริกันเล่นอยู่เพียบแล้ว
ในการวิ่งทำสถิติปี 1957 ที่ Bonneville Salt Lake ทะเลเกลือที่กว้างสุดลูกหูลูกตาในอเมริกา Stirling Moss ขับเป็นคนแรกและทำความเร็วได้ 395 กม./ชม. ในเวลาต่อมาไม่นาน Phillip Hill กลับไปขับอีกครั้งหลังจากมีการปรับแต่งตัวรถและเครื่องยนต์เพิ่มเติมเล็กน้อย และในครั้งนี้เขาสามารถพา EX181 ที่สื่อฯ ให้ฉายาว่า Roaring Teardrop หรือ “หยดน้ำคำราม” แหวกอากาศไปสู่ความเร็ว 409 กม./ชม. คว้าสถิติโลกใน Class F Land Speed Record ได้สำเร็จ และนั่นเป็นความพยายามในการสร้างสถิติโลกด้านความเร็วครั้งสุดท้ายของ MG
MGB/ MGB GT
MG เริ่มต้นพัฒนารถสปอร์ตรุ่นนี้ในปี 1958 ในยุคที่แบรนด์ MG มาอยู่ในเครือ BMC-British Motor Corporation รูปแบบของตัวรถนั้นมีแนวคิดคล้ายกับ Mazda MX-5 ที่เป็นโรดสเตอร์รุ่นหลานจากญี่ปุ่น กล่าวคือออกแบบตัวถังเน้นน้ำหนักเบา ถึงแม้เป็นรถเก่า แต่บอดี้ก็เป็นแบบขึ้นรูปชิ้นเดียว ไม่ได้เป็นกระดองวางบนแชสซีส์แบบ MGA ตัวรถมีทรวดทรงแบบรถขับหลังหน้ายาวชัดเจน แต่เพิ่มพื้นที่ในห้องโดยสารและพื้นที่วางขาให้นั่งสบายขึ้น โดยที่ตัวรถสั้นลงกว่า MGA เครื่องยนต์ 4 สูบธรรมดาจากเครือ BMC ขนาด 1.8 ลิตร 95 แรงม้า รถที่ผลิตในช่วงแรก ใช้เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะแบบรถยุคสงครามโลกที่ไม่มีซินโครเมช เวลาจะเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำเพื่อแซง ต้องเหยียบคลัตช์ เข้าเกียร์ว่าง เหยียบคลัตช์ เบิ้ลเครื่องแล้วถึงเข้าเกียร์ต่ำได้ (อารมณ์เหมือนขับรถประจำทางเก่าๆ)
MGB รุ่นเปิดประทุน เปิดตัวออกมาปี 1962 ก็ขายดีมาก จนเมื่อทีมวิศวกรเตรียมนำเสนอแผนพัฒนารถรุ่นใหม่ที่จะมาทดแทน MGB ทางบริษัทแม่ BMC ปัดตกไป จะเสียเงินตอนนี้ทำไมในเมื่อมันขายดีเทน้ำเทท่า เราก็ขายไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม รถที่ถูกนำออกมาขายต่อจากนั้นก็คือ MGB GT ซึ่งเป็นเวอร์ชันหลังคาแข็ง มีเบาะนั่งหลัง สำหรับทรวดทรงของหลังคานี้ทาง MG ให้สำนักออกแบบอิตาลี Pininfarina เข้ามาช่วยสะบัดปากกาให้ และแม้น้ำหนักรถจะเพิ่มขึ้น อัตราเร่ง 0-100 จะช้าลง แต่เพราะแอโรไดนามิกส์ที่ดีกว่ารุ่นโรดสเตอร์ ทำให้สร้างความเร็วสูงสุดได้ 170 กม./ชม. ซึ่งเพิ่มขึ้นมาอีก 8 กม./ชม. ต่อมา ทาง MG ได้นำเครื่องยนต์ C-Series ขนาดความจุ 2.9 ลิตร 6 สูบเรียงมาติดตั้งลงบน MGB แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น MGC แต่ถึงแม้จะมีพลังระดับ 145 แรงม้าน่ายั่วใจ แต่คนส่วนมากในสมัยนั้นถูกใจกับรูปแบบและราคาของ MGB เครื่อง 1.8 ลิตรมากกว่า ยอดขายของ MGC จึงไม่ค่อยดีเท่าที่ควร
ในปี 1973 ทาง MG ได้เครื่องยนต์ Rover V8 มาลองติดตั้งในบอดี้ MGB GT และพบว่าได้สมรรถนะดี จากความที่เครื่องยนต์ V8 บล็อกนี้ใช้อะลูมิเนียมทำเสื้อสูบ ทำให้แม้ขนาดจะโต ทว่าน้ำหนักกลับเบากว่าเครื่อง 4 สูบเหล็กหล่อ 1.8 ลิตรลงไปอีก 20 กิโลกรัม Rover ได้เครื่องยนต์รุ่นนี้มาจาก General Motors และนำมาปรับแต่งต่อเองอีกหน่อย ความจุ 3.5 ลิตร แรงม้า 139 ตัว น้อยกว่าเครื่องตัวหกสูบอีก แต่พอเครื่องเบา น้ำหนักรถเบา อัตราเร่งจึงดี โดยที่การบังคับควบคุมก็แม่นยำ เลี้ยวง่ายกว่ารุ่น 4 สูบ นับเป็น MG สปอร์ตรุ่นแรกๆ ที่ทำความเร็วสูงสุดทะลุ 200 กม./ชม. แต่เป็นรถหายาก เพราะจากจำนวน MGB ทั้งหมดกว่าห้าแสนคัน มีเพียง 2,591 คันเท่านั้นที่เป็นรุ่น V8
MGB เป็นรถยอดนิยม เป็นไอคอนแห่งความเป็นสปอร์ตอังกฤษสำหรับชนชั้นกลางในสมัยนั้น คล้ายกับที่วัยรุ่นยุค 90s รักในรถอย่าง Mazda MX-5 แต่หลังจากผลิตขายนาน 18 ปี ก็เลิกผลิตไป ไม่ใช่เพราะขายไม่ได้ แต่เพราะบริษัทแม่อย่าง BMC พยายามผลักดันยอดขายรถในเครืออย่าง Triumph TR7 แล้วยอดเข็นไม่ขึ้นเนื่องจากผู้คนยังซื้อ MGB กันอยู่ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ MGB ถูกฆ่าครับเพราะไปถ่วงยอดลูกรักของ BMC เขา
MG Metro 6R4 (1985)
วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 ทำให้บริษัทรถหันมาสร้างรถเล็กประหยัดน้ำมันกันมากขึ้น BMC ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น British Leyland ชื่อใหม่แต่บริหารห่วยเหมือนเดิมจนรัฐบาลอังกฤษต้องเข้ามาอุ้ม ก็ยังซุ่มพัฒนารถเล็กที่หวังจะเอามาทำตลาดแทน MINI ในปี 1980 ผลิตผลของการพัฒนานั้นก็ออกมาเป็น Austin Mini Metro ซึ่งนอกจากขายในชื่อ Austin แล้วยังมีขายในชื่อ MG Metro อีกเช่นกัน มันเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า เครื่องยนต์ 1.0-1.3 ลิตร มีภายในกว้างขวาง มีอุปกรณ์ที่จำเป็น ประหยัดน้ำมันและราคาถูก
ซึ่งนั่นเป็นคนละเรื่องกับเจ้า MG Metro 6R4 ที่ท่านเห็นอยู่นี้ Metro จ่ายกับข้าวกับรถรุ่นนี้มีความเหมือนกันแค่ชื่อกับชิ้นส่วนตัวถังบางจุดที่ดูเหมือนกัน แต่ 6R4 คือมารน้อยพิษร้ายที่ MG สร้างมาเพื่อลงแข่งขันแรลลี่ Group B โดยทาง MG ไปจ้างทีมแข่งชื่อดังอย่าง Williams มาช่วยพัฒนารถคันนี้ ภายใต้หน้าตาเหมือนโปเกม่อนแก่ๆนี้ คือขุมพลัง V6 ขนาด 3.0 ลิตร ซึ่งทาง David Wood นำเครื่องตัวแข่งจากสำนัก Cosworth มาใช้เป็นพื้นฐานก่อนพัฒนาส่วนประกอบต่างๆ ต่อยอด ทาง MG สร้างรถเวอร์ชันถนนเพื่อขายให้ได้ตามเกณฑ์การเข้าแข่งโดยใช้ชื่อรุ่น Clubman รถเหล่านี้มีพลังมากถึง 250 แรงม้า..แต่เดี๋ยวก่อน พอเป็นเวอร์ชันแข่ง Group B ปุ๊บ Williams เป่าม้าออกมาเพิ่มอีกเป็น 416 แรงม้า..แล้วผมบอกหรือยังว่านี่คือเครื่องยนต์ไม่มีเทอร์โบนะครับ
ชื่อ 6R4 มาจาก 6 ตัวแรก แทนเครื่องยนต์ซึ่งมี 6 สูบ วางไว้ท้ายรถ หันชุดสายพานมาข้างหลัง ตูดเครื่องหันไปทางข้างหน้ารถแล้วเอาเกียร์กับชุดเฟืองขับสี่แบบ Full-time มาติดตั้ง ตัวเลข 4 ในชื่อรถจึงมาจากการขับเคลื่อนสี่ล้อ และ R ก็แทนคำว่า Rally นั่นเอง เมื่อรถแข่งสร้างเสร็จ ก็นำลงแข่งในช่วงปลายปี 1985 และในรายการแรกที่ลงแข่ง ก็สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยอันดับ 3 โดยแพ้ Lancia Delta S4 สองคันเท่านั้น ทว่าโชคในด้านมอเตอร์สปอร์ตตรงนี้ก็จบลง เพราะหลังจากนั้นในรายการแข่งอื่นๆ 6R4 ที่ออกสตาร์ตไป ไม่เคยวิ่งไปถึงเส้นชัย แล้วในปี 1986 ก็มีโศกนาฏกรรมระหว่างการแข่ง Group B ซึ่งรถแข่ง (ของยี่ห้ออื่น) พุ่งชนคนดูตายไปหลายคน รถแข่งแรลลี่คลาสนี้จึงถูกยกเลิกไป นับเป็นความซวยของ MG โดยแท้ที่อุตส่าห์สร้างรถมากลิ่นเบาะยังไม่ทันหายเหม็นก็อดแข่งต่อเสียแล้ว
MG RV8
หลังจาก British Leyland ปิดโรงงานของ MG ที่ Abingdon ไปในปี 1980 MG ก็กลายเป็นเพียงแค่โลโก้ที่เอาไปแปะรถรุ่นอื่นๆ ของบริษัทแม่แล้วขาย จนกระทั่งเมื่อ Mazda MX-5 เกิดขึ้นบนโลก โลโก้ MG กับรถสปอร์ต จึงได้กลับมารวมกันอีกครั้ง 12 ปีให้หลัง
ถ้าหน้าตามันคุ้นๆ คุณก็เข้าใจถูกแล้ว เจ้า RV8 นี่คือการนำ MGB กลับมาเกิดใหม่ โดยฝีมือของบริษัท British Motor Heritage ซึ่งเคยเป็นบริษัทลูกของ British Leyland ซึ่งกลายมาเป็นบริษัทใหม่ชื่อ Rover Group ทาง BMH นั้นทำบอดี้ของ MGB ขึ้นรูปใหม่มาเพื่อป้อนตลาดอู่ซ่อมบอดี้อยู่แล้ว และ Rover ก็เห็นว่าในปี 1989 นั้น Mazda ที่สร้างสปอร์ตเปิดประทุนเล็กอย่าง MX-5 มาขาย ก็โกยยอดชนิดปิดบริษัทฉลอง ญี่ปุ่นทำได้ ข้าก็ต้องทำได้เหมือนกัน จึงไฟเขียวโครงการกลับชาติมาเกิดครั้งนี้ ตัวรถนั้นดูเหมือน MGB ที่แต่งหน้าให้ดูทันสมัยขึ้น ประตูและฝากระโปรงก็ปั๊มมาจากแม่พิมพ์ของ MGB ช่วงล่างหลังแบบแหนบและเบรกหลังดรัม ก็เอามาจาก MGB ส่วนเครื่องยนต์ V8 อะลูมิเนียมทั้งก้อน ก็เป็นเวอร์ชันลูกหลานของ V8 3.5 ลิตรใน MGB GT V8 นั่นเอง แถมยังเป็นเครื่องยนต์ที่ Rover ใช้อยู่แล้วใน Range Rover รถอเนกประสงค์ตัวหรูไฟหน้ากลมกับ Land Rover Discovery รุ่นแรก ซึ่งมีพลัง 190 แรงม้า
ถึงแม้จะมีรูปทรงที่น่าขี่ ภายในที่อัปเดตสวยหรูฟูด้วยหนังแท้และลายไม้ตามกระแสความบ้าหนังบ้าไม้ของรถ Rover Group ยุค 90s นั้น ทว่าราคาของมันไม่ได้ถูก ขนาดผลิตออกมาจำกัดแค่ 1,983 คันก็ขายไม่หมด เพราะนักรีวิวก็ไม่ปลื้มกับสมรรถนะช่วงล่างแหนบ ลูกค้าที่อยากได้รถราคาดีขับง่ายไม่จุกจิกก็ไปซื้อ MX-5 (Miata) กันหมด ส่วนคนอังกฤษชาตินิยมที่มีเงินและอยากได้รถแรง ก็พบว่ารถของค่ายเล็กอย่าง TVR นั้นขับมันกว่ามาก ที่ตลกแบบน้ำตาไหลเป็นเลือด ก็คือ คนยุโรปไม่ซื้อ MG RV8 ขายอยู่นานก็ขายได้แค่ 300 กว่าคัน รถที่เหลืออีกเกือบ 1,700 คันนั้น จึงถูกส่งไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น บ้านเกิดของ MX-5 นั่นแหละครับ
MG F
ควันหลงจากอิทธิพลของ MX-5 ยังมาในรูปแบบของสปอร์ตขนาดเล็กเปิดประทุนเครื่องวางกลางลำ ซึ่งเริ่มต้นพัฒนาในปี 1991 และมีการดีเลย์เล็กน้อยในระหว่างที่ Rover Group ถูกขายกิจการต่อให้ BMW ในปี 1994 รถความหวังใหม่อย่าง MG F จึงได้ฤกษ์เปิดตัวในปี 1995 รถรุ่นนี้นับว่าเป็นรถสปอร์ตรุ่นแรกที่พัฒนาใหม่หมดแบบ 100% นับตั้งแต่การตายของ MGB ในปี 1980 Rover มองทางออกว่าตลาดรถเปิดประทุนกำลังบูม แต่ถ้าสร้างรถแพงมาก คนก็ไม่อยากซื้อ MG F จึงถูกสร้างให้เป็นรถขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ใช้เครื่องยนต์ K-Series ขนาด 1.8 ลิตร 118 แรงม้า แบบเดียวกับ Lotus Elise รุ่นแรก ต่อมามีการติดตั้งระบบวาล์วแปรผัน VVC (Variable-Valve Control) ทำให้ได้กำลังเพิ่มเป็น 143 แรงม้า ซึ่งในประเทศไทยนั้น ผู้แทนจำหน่ายรถเครือ Rover ในสมัยนั้นคือไทยอัลติเมทคาร์ ก็นำเข้ามาขายในราคาประมาณ 1.7-1.8 ล้านบาท แต่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ยอดขายเลยไม่เดินเท่าไร เช่นเดียวกับ MX-5
ความน่าสนใจในเชิงเทคนิค ไม่ได้อยู่ที่เครื่องยนต์ แต่อยู่ที่ช่วงล่างระบบ Hydragas ซึ่งมีลักษณะคล้ายของ Citroen แต่ไม่เหมือนตรงที่ระบบไฮดรอลิกของ MG ไม่ได้ใช้แรงดันจากปั๊มเครื่อง สปริงเหล็ก ถูกแทนที่ด้วยกระเปาะไฮดรอลิกเหล่านี้ ซึ่งสามารถส่งถ่ายน้ำมันไฮดรอลิกถึงกัน 4 มุมของรถได้ สิ่งนี้ทำให้รถเล็กอย่าง MG F มีความนุ่มนวลเมื่อขับบนถนนขรุขระ แต่เกาะถนนดี ขับสนุกเมื่อต้องการ MG F กลายเป็นรถเปิดประทุนที่ชาวอังกฤษแย่งกันซื้อ ถือว่าเป็นการกลับมาของแบรนด์ MG บนแผ่นดินแม่อย่างสมศักดิ์ศรี
MG F มีการไมเนอร์เชนจ์ในปี 1999 และเพิ่มรุ่น Trophy 160 ที่ใช้เครื่องยนต์ 160 แรงม้าในปี 2001 เพื่อไล่กับคู่แข่งอย่าง MX-5 ซึ่งขยับเครื่องยนต์จาก 1.6 เป็น 1.8 ลิตรและมีแนวโน้มจะนำเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรมาขายในเจเนอเรชันใหม่ ในช่วงต่อของศตวรรษนั้นเอง BMW ก็ฉีกอดีตสมาคม Rover เป็นชิ้นๆ ตัวเองเก็บแบรนด์ MINI ไว้ Land Rover ถูกขายต่อให้ Ford และ Rover Group ที่ไม่มีใครเอา ถูกขายต่อให้กลุ่มธุรกิจ Phoenix เมื่อดีลธุรกิจต่างๆ เสร็จสิ้นลง MG F ได้รับการไมเนอร์เชนจ์เปลี่ยนหน้าตาครั้งใหญ่อีกครั้ง และถอดช่วงล่างไฮดรอลิก Hydragas ทิ้ง เปลี่ยนเป็นสปริงธรรมดาแทน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น MG TF ในปี 2002 จนกระทั่งบริษัทแม่ของ MG Rover ล้มอีกครั้งในปี 2005 และถูกขายต่อไปยังมือของมังกรจีนอย่างบริษัท Nanjing
MG ZS
เปล่าครับ ไม่ได้พิมพ์ผิด ก่อนที่ชื่อ ZS จะไปอยู่บนรถครอสโอเวอร์หน้าตาจิ้มลิ้มอย่างที่คุณเห็นในปัจจุบัน พวกเขาเคยใช้ชื่อนี้กับรถขนาด Compact C-Segment ที่มี 4 และ 5 ประตูมาก่อน ZS ที่คุณเห็นอยู่นี้คือรถคันที่ว่า พื้นฐานของมันก็คือ Rover 45 ซึ่งตัวมันเอง ก็คือเวอร์ชันไมเนอร์เชนจ์ของ Rover 400 รุ่นสุดท้าย ซึ่งเป็นรถจากยุคที่ Rover Group กับ Honda จับมือกันทำธุรกิจ ถ้าคุณดูทรงของมันแล้วนึกถึง Honda Civic ตาโต ก็ไม่แปลก เพราะ Rover 400 และ 45 ก็ใช้ตัวถังร่วมกับ Honda Domani ซึ่งเป็นรถที่ Honda ขายในญี่ปุ่นและมีขนาดตัวกับพื้นฐานวิศวกรรมใกล้เคียงกับ Civic
แต่ชาวญี่ปุ่นกับชาอังกฤษต่างกันอย่างไร รถเหล่านี้ก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ต่างกัน Rover ก็เลือกที่จะใช้เครื่องยนต์ 1.6 ลิตรจาก Honda แต่ใช้เครื่องสี่สูบพิกัดอื่นของตัวเองทั้งหมด รวมถึงเครื่องยนต์ V6 วางขวางขับหน้าที่ตัวเองทำมาใช้ด้วย เมื่อ Rover Group ล่มสลายแล้วเปลี่ยนมือเจ้าของกลายเป็น MG Rover ทางเจ้านายในบริษัทก็พยายามปรับภาพลักษณ์องค์กรให้ดูหนุ่มแน่นขึ้นด้วยการพยายามเอา Rover ที่เป็นรถเอาใจวัยเกษียณเกษมสุข มาแต่งให้กลายเป็นรถวัยรุ่น Rover 45 จึงกลายมาเป็น MG ZS อย่างที่เห็น ZS มีเครื่องยนต์ตั้งแต่ขนาด 1.4-2.5 ลิตร ทั้งหมดเป็นเครื่องยนต์ของ Rover เอง รุ่นที่แซ่บที่สุดและได้รับคำชมจากสื่อมวลชนมากที่สุด ก็คือ ZS 180 ซึ่งเปรียบเสมือน Civic Type-R ในสไตล์ของคนอังกฤษ มันคือซีดานครอบครัวที่ใส่ชุดแต่งวัยรุ่น ใส่หางหลังขนาดใหญ่ ซึ่งลูกค้าบางคนก็ขอถอดทิ้ง ตัวเลข 180 มาจากพลังแรงม้าที่ได้จากเครื่องยนต์ V6 2.5 ลิตร นับเป็นรถเล็กอีกรุ่นที่เอาเครื่องหกสูบมาวางขวางขับหน้า
ช่วงล่างของ ZS 180 นั้น มีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วเพราะคนออกแบบช่วงล่างคือ Honda ที่สร้างชื่อจากช่วงล่างอิสระปีกนกคู่มานาน ทาง MG ปรับแต่งสปริงและโช้คให้เกาะโค้งหนึบขึ้น ใช้ล้อและยางขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 205/45R17 นอกเกาะอังกฤษ มันคือรถที่คนเกือบทั้งโลกไม่รู้จัก แต่สำหรับวัยรุ่นอังกฤษ มันคือรถที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี และนี่คือผลบุญจากวิศวกรรมที่ Honda ทิ้งให้ไว้ก่อนเลิกกัน ผลบุญที่ว่านั้นอยู่ต่อมาอีก 10 ปีหลังจากเลิกกับ Honda ไปในปี 1994
MG xPower SV
น่าจะเป็นหนึ่งในรถที่บอกว่า “มาได้ยังไง” แต่เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้ครับ หลังจากขายกิจการให้กลุ่มธุรกิจ Phoenix บริษัทร่างใหม่ที่เปลี่ยนชื่อเป็น MG Rover เข้าไปซื้อกิจการบริษัทผลิตรถสปอร์ต Qvale ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กในอิตาลี Qvale มีรถอยู่รุ่นเดียวคือรุ่น Mangusta ซึ่งพัฒนาร่วมกับผู้ผลิตซูเปอร์คาร์อย่าง De Tomaso แต่ภายหลัง สองเจ้านี้เขาทะเลาะกัน เลยแยกทางใครทางมัน Bruce Qvale ก็ได้สิทธิ์เหนือรถคันนี้ และตัดสินใจขายกิจการต่อให้ MG Rover ซึ่งในขณะนั้น ไม่รู้ว่าอะไรไปเข้าฝัน อยากทำรถสปอร์ต V8 ไปขายในอเมริกาทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังลำบากเรื่องการเงิน พวกเขามองว่า Qvale Mangusta นั้นได้ผ่านการตรวจสอบเพื่อการขายอย่างอเมริกาอย่างถูกกฎหมาย เลยเล่นวิธีลัด เอาโครงกระดูกกับหัวใจของ Mangusta มาใช้ แล้วเปลี่ยนรายละเอียดตัวถังภายนอก โดยให้ Peter Stevens อาจารย์แห่งการออกแบบผู้เคยสะบัดปากกาให้ McLaren F1 มาช่วยทำให้รถดูดุดันขึ้น
เครื่องยนต์ที่ใช้ ก็คือเครื่อง V8 ของ Ford Mustang โดย xPower SV ใช้เครื่อง V8 32 วาล์ว 320 แรงม้า ความจุ 4.6 ลิตรจาก Ford Mustang Cobra และ xPower SV-R ใช้เครื่องบล็อกเดียวกัน แต่ส่งให้สำนัก Roush จูน อัปความจุปอดเพิ่มเป็น 5.0 ลิตร ใส่แคมชาฟต์องศาสูง ทำฝาสูบใหม่ ให้แรงม้าเพิ่มเป็น 385 แรงม้า ซึ่งเครื่องยนต์ตัวนี้ก็อยู่ใน Mustang Cobra-R เครื่องตัวหลังนี่ล่ะ ที่สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 ได้ภายใน 4.9 วินาที และมีความเร็วสูงสุดถึง 282 กม./ชม. ถือว่าเป็นรถขายจริงที่แปะโลโก้ MG ที่มีท็อปสปีดสูงสุด
วิธีการประกอบ ทำเหมือนคนเงินเยอะ ตัวรถต้องถูกส่งไปส่งมาระหว่างอังกฤษ เมือง Longbridge กับอิตาลี เมือง Turin โดยโครงรถหลักกับเครื่องยนต์ ทำที่อังกฤษ บอดี้ภายนอกและภายในบางส่วนทำที่อิตาลี รวมแล้วกว่าจะเสร็จ ตัวรถต้องถูกส่งไปๆ มาๆ ระหว่างบริษัทต่างๆ ถึง 6 แห่ง ทำให้ราคารถออกมาค่อนข้างสูง ส่วนผสมแห่งความอนาถที่เกิดขึ้นนอกจากต้นทุนการสร้างที่สูงแล้ว ยังเป็นเรื่องของรูปทรงและชื่อชั้นแบรนด์ที่คนอเมริกันก็จะถามว่า ทำไมฉันต้องซื้อรถที่ใช้เครื่อง Mustang แต่ดันแพงกว่า Mustang วะ หน้าตาของ xPower ก็ดูทะแม่งๆ เพราะใช้อะไหล่ยำจากรถหลายรุ่น ไฟหน้าของ Fiat Punto ไฟท้ายจาก Fiat Coupe อะไหล่ภายในบางส่วนจาก Rover รุ่นเก่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ แม้จะผลิตออกมาแค่ 82 คัน แต่วางตลาดอยู่ 2 ปี ก็ขายได้แค่ 9 คันเท่านั้น โดยหนึ่งในคนที่ซื้อไปคือ Rowan Atkinson หรือมิสเตอร์บีนนั่นเอง
นับเป็นการสร้างรถน่าขับในเวลาที่ไม่น่าให้มันเกิด เงินทุนจำนวนมากควรถูกนำไปสร้างรถแบบที่คนซื้อได้ง่าย ขายแบบไม่ต้องสื่อสารมาก แต่กลับมาถูกเผาผลาญไปใน Project X-80 นี้ ทำให้ในที่สุด สองปีต่อมา ชื่อของ MG ก็ถูกขายต่อให้บริษัท Nanjing และไม่เคยได้ตีห่างจากการปกครองของชาวจีนอีกเลยจนทุกวันนี้
จะเห็นได้ว่า MG เป็นบริษัทรถที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ได้ลองทำรถแปลกๆ หรือรถที่เป็นไอคอนของตลาด ณ เวลานั้นมาพอสมควร แต่ท้ายสุด การบริหารอันขาดประสิทธิภาพของฝรั่งที่ไม่ฟังใคร ก็ทำให้แบรนด์นี้มีชีวิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ ในขณะที่หลายคนกังขากับ MG ในยุคภายใต้การปกครองของมังกร มันก็เป็นการหวนอดีตสั้นๆ ให้เห็นว่าพวกเขาเคยผ่านอะไรมาบ้าง แต่ก็คงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า MG ในปัจจุบัน น่าจะเป็นช่วงเวลาที่รุ่งเรืองและมั่นคงทางการเงินมากที่สุดเท่าที่ค่ายนี้เคยประสบมาแล้ว.
Pan Paitoonpong
คุณกำลังดู: ส่องอดีตกับ MG รถเหล่านี้พวกเขาเคยทำ!
หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่