สัญญาณไฟฉุกเฉิน ไฟตัดหมอก ใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา

ใช้ไฟฉุกเฉินอย่างไรให้ถูกต้องและไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ....

สัญญาณไฟฉุกเฉิน ไฟตัดหมอก ใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา

ในประเทศไทยที่คนมักจะทำอะไรตามใจตัวเอง การใช้สัญญาณไฟฉุกเฉินเกิดขึ้นตามความเข้าใจของตนเองเป็นหลัก โดยไม่ได้นึกถึงโทษ หรืออุบัติเหตุที่อาจตามมา ขับรถผ่านทางแยกทางร่วมก็เปิดไฟฉุกเฉิน ถอยหลังก็เปิดไฟฉุกเฉิน ฝนตก ถนนมีหมอกควันจากการเผา หรือลากรถก็เปิดไฟฉุกเฉิน เรียกได้ว่าเราเปิดไฟฉุกเฉินกันแทบจะทุกสถานการณ์ อุบัติเหตุก็เลยเกิดตามมา เนื่องจากรถรอบๆ ตัวแปลความหมายของสัญญาณตามที่เห็น สุดแล้วแต่ว่าจะเห็นข้างใดหรือด้านใด ไม่มีใครรับประกันได้ว่า รถยนต์คันอื่นรอบๆ ตัวจะมองเห็นไฟฉุกเฉินได้ครบทุกดวง ถ้ามุมมองที่ทำให้เห็นไฟแค่ด้านเดียว อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิด

แท้ที่จริงแล้ว กฎหมายจราจรของไทยกำหนดเอาไว้ว่า ห้ามใช้ไฟฉุกเฉินในขณะที่รถเคลื่อนที่ ในต่างประเทศ กฎหมายจราจรก็ใช้กฎเกณฑ์เดียวกันนี้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเข้าใจผิด การมองเห็นไฟฉุกเฉินแค่มุมเดียวแล้วแปลสัญญาณว่าเป็นไฟเลี้ยวก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ก็มีบางแห่งที่พอจะอนุโลมให้ใช้ได้บ้างสำหรับบางประเทศก็คือ ใช้บนทางด่วน หรือบนถนนที่แบ่งแยกช่องทาง ขึ้น-ลงอย่างชัดเจนเท่านั้น โดยอนุญาตให้ใช้ในช่วงสั้นๆ เพื่อเตือนให้รถคันหลังที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูงรับรู้ว่า รถข้างหน้ามีการชะลอตัวหรือหยุด

สัญญาณไฟฉุกเฉินใช้ในกรณีที่รถเสีย แล้วไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกจากการจราจรได้ทันที หรือเมื่อต้องจอดรถล้ำเข้ามาในผิวจราจร (อันนี้ไม่แนะนำเพราะเสี่ยงต่อการทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน) หรือต้องจอดในเขตที่ไม่ปลอดภัยเนื่องจากความจำเป็น สัญญาณไฟฉุกเฉินไม่ได้ทำให้เกิดสิทธิพิเศษบนถนนแต่อย่างใดทั้งสิ้น

เมื่อฝนตก การมองเห็นจะย่ำแย่ลงมาก ยิ่งตกหนักมากเท่าไรก็ยิ่งมองเห็นได้แย่ลงมากเท่านั้น แสงจากไฟหน้า ไฟเลี้ยว ของรถคันอื่นในสภาวะที่ทัศนวิสัยไม่ดี มองเห็นได้ไม่ชัดหรือมองเห็นแค่ระยะใกล้ๆ อย่างไรก็ตาม ระบบไฟส่องสว่างช่วยทำให้การสังเกตการณ์ดีขึ้น ยกเว้นการเปิดไฟฉุกเฉินแล้ววิ่งปุเลงๆ ท่ามกลางสายฝนที่ซัดกระหน่ำ อาจทำให้รถยนต์คันอื่นเข้าใจผิดจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุกันมามากต่อมาก

ฝนตกหนักแต่จะต้องขับไปให้ถึงจุดหมาย ฝนลงยังกับฟ้ารั่วก็กลัวว่ารถคันอื่นๆ ที่ใช้ทางร่วมกันจะมองไม่เห็น จากฟ้าฝนต้นฤดูที่กระหน่ำอย่างหนักหน่วงแบบไม่ลืมหูลืมตา ด้วยความที่กลัวจะเกิดอุบัติเหตุ ก็เลยกดไฟฉุกเฉินผ่าหมากวาบๆ พร้อมกับวิ่งไปด้วย การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการใช้สัญญาณไฟชนิดนี้ เมื่อเปิดไฟฉุกเฉินและต้องการเปิดไฟเลี้ยวจะให้ผู้ที่ขับตามมาหรือรถคันข้างหลังไม่ทราบว่าคุณกำลังจะเลี้ยวเปลี่ยนทิศทาง แม้จะเปิดไฟเลี้ยวแล้วแต่ดันลืมปิดสวิตช์ไฟฉุกเฉินก่อนยกสัญญาณไฟเลี้ยว ไฟเลี้ยวของรถคุณก็ยังเป็นไฟฉุกเฉินอยู่นั่นเอง คราวนี้ก็ตัวใครตัวมันหากคันที่ตามหลังมาเป็นรถบรรทุกล้อเยอะ แถมยังทำให้รถที่อยู่ข้างหน้าแล้วกำลังจะเลี้ยวเกิดอาการสับสนหรือเข้าใจผิดอีกด้วย

การเปิดไฟกะพริบฉุกเฉินโดยเฉพาะในกรณีที่ฝนตกหนัก แสงจากไฟฉุกเฉินที่กระทบหยดน้ำจะเกิดการหักเหกระทบสายตาผู้ขับขี่ ทำให้เกิดการแสบตา หรือมองเห็นได้ไม่ชัดเจน รวมถึงไม่แน่ใจว่าจอดหรือวิ่งอยู่ ซึ่งอันตรายและอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อต้องขับรถขณะที่ฝนตกหรือทัศนวิสัยเลวร้าย ควรใช้ความเร็วต่ำ เปิดไฟส่องสว่าง หากหนักมากๆ ก็ให้เปิดไฟตัดหมอกช่วย ใช้ความเร็วต่ำ ไม่ควรเปิดไฟสูง ไม่ควรเปลี่ยนช่องทางโดยไม่จำเป็น ไม่ขับรถจี้ชิดคันหน้ามากจนเกินไป ระยะเบรกในช่วงที่ผิวถนนมีความเปียกชื้นจะเพิ่มมากขึ้น ระวังให้ดีๆ ทิ้งระยะเผื่อเอาไว้จะได้ไม่ไปทิ่มท้ายชาวบ้าน

สำหรับไฟตัดหมอกที่ชอบเปิดเท่ๆ เวลาอากาศแจ่มใสไม่มีหมอกลงนั้นมันแรงและไปแยงตารถที่แล่นสวนมานะครับ บางคนกลัวไม่สว่างเล่นเปลี่ยนหลอดไฟใหม่ให้มีพลังในการส่องไกลเป็นกิโลฯ ไฟตัดหมอก ชื่อมันก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าให้ใช้ตอนหมอกลงหรือสภาพอากาศปิด ทัศนวิสัยการมองเห็นต่ำมาก ซึ่งในห้วงเวลานั้นการขับรถใช้ถนนมีอันตรายรอบด้าน

ไฟตัดหมอกเป็นไฟที่ให้ความสว่างสูง ส่วนใหญ่หลอดภายในจะเป็นหลอดสปอตไลต์หรือ LED สามารถส่องสว่างไปได้ไกล ซึ่งหากเปิดใช้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม แสงจากหลอดไฟตัดหมอกจะไปแยงและรบกวนสายตาผู้ที่ขับรถสวนทางมา ทำให้ตาพร่ามัวมองไม่เห็นทางที่จะไป สุดท้ายก็เสยกับรถที่เปิดไฟตัดหมอกเข้าไปเต็มๆ หรือหักหลบจนเกิดอุบัติเหตุ

ประโยชน์ของไฟตัดหมอก
1. ฝนตกหนัก ไฟตัดหมอกจะมีประโยชน์มากแม้จะเป็นช่วงกลางวันก็ตามเพราะมันสามารถช่วยให้รถที่สวนมามองเห็นไฟตัดหมอกอย่างชัดเจน ฝนหยุดก็อย่าลืมปิดด้วยนะครับ

2. เมื่อขึ้นภูเขาสูงหรือยอดเขา เช่น ภูทับเบิก ภูเรือ ดอยอ่างขาง ดอยสุเทพ โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวทั้งตอนเช้าและตอนกลางคืน เพราะที่สูงๆ นั้นหมอกจะมีมากกว่าปกติ

3. ในช่วงกลางคืนที่ฝนตกไฟตัดหมอกจะช่วยให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ เพราะไฟหน้าถูกน้ำสะท้อนไปเกือบหมดแล้ว

4. เปิดเมื่อมีหมอกหรือควันไฟซึ่งสามารถเกิดขึ้นบนท้องถนนและเข้ามาบดบังทัศนวิสัยให้มองเห็นได้น้อยกว่า 50 เมตร

5. ปิดไฟตัดหมอกทันทีที่มีรถสวนมา ในระยะที่มองเห็นไฟหน้าของรถที่สวนมาได้อย่างชัดเจน.

ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: สัญญาณไฟฉุกเฉิน ไฟตัดหมอก ใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว