ทำไมรถแข่งถึง “ไม่มีแอร์” จนนำไปสู่อาการฮีตสโตรก?
จากกรณีการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ “เอ๋ ชมน์สวัสดิ์” ที่เสียชีวิตเนื่องจากภาวะฮีตสโตรก (Heatstroke) ขณะฝึกซ้อมขับรถบนสนามช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ตามที่หลายสื่อนำเสนอไปแล้วนั้น ทราบหรือไม่ว่าเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และอาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายสำหรับวงการมอเตอร์สปอร์ตด้วยซ้ำไป
โรคลมแดด หรือ Heatstroke เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ จะทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้เกิดอาการหน้ามืด เพ้อชัด หายใจเร็ว ไม่รู้สึกตัว หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนนำไปสู่อาการช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น
เมื่อลองหันมามองถึงสภาพของนักแข่งรถที่ต้องเผชิญตลอดระยะเวลาการแข่งขันนั้น จะเห็นได้ว่ารถแข่งเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรายการใดก็ตาม ล้วนแต่มีการดัดแปลงสภาพเพื่อให้สามารถทำเวลาบนสนามได้ดีที่สุดแทบทั้งนั้น ซึ่งหัวใจหลักของการโมดิฟายรถแข่ง คือ การรีดน้ำหนักให้เบาที่สุด และการทำเครื่องยนต์ให้แรงที่สุดเท่าที่กฎการแข่งขันของแต่ละรายการจะกำหนดไว้ ส่งผลให้รถสามารถทำความเร็วได้ดีกว่ารถบ้านทั่วไป
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ระบบปรับอากาศ” เนื่องจากระบบปรับอากาศมีชิ้นส่วนค่อนข้างเยอะ การถอดชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับระบบปรับอากาศจึงช่วยลดน้ำหนักลงได้มาก แถมการทำงานของคอมเพรสเซอร์แอร์จะไปเพิ่มภาระของเครื่องยนต์อย่างน้อย 20% ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากสำหรับวงการมอเตอร์สปอร์ตที่จำเป็นต้องเชือดเฉือนคู่แข่งกันด้วยเวลาแม้เพียงเสี้ยววินาที
นั่นแปลว่านักแข่งรถจะต้องเผชิญกับสภาพภายในห้องโดยสารที่ร้อนอบอ้าวตลอดการแข่งขัน ประกอบกับสภาพอากาศช่วงฤดูร้อนที่ “ร้อนนรกแตก” เช่นนี้ ยิ่งทำให้ความร้อนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนแตะขีดอันตรายได้อย่างง่ายดาย นักแข่งอาจต้องเผชิญภาวะฮีตสโตรกโดยไม่รู้ตัว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้
ต่อจากนี้ไปก็คงต้องลองดูว่าทางผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก
คุณกำลังดู: ทำไมรถแข่งถึง “ไม่มีแอร์” จนนำไปสู่อาการฮีตสโตรก?
หมวดหมู่: รถยนต์