ทำไม "รถพลังงานน้ำ" ที่แชร์บนโลกโซเชียล ถึงไม่มีทางเป็นจริง?
ทำไม "รถพลังงานน้ำ" ฝีมือคนไทย ที่เคยเป็นข่าวดังระดับประเทศในอดีต ถึงไม่มีทางกลายเป็นจริง เพราะบริษัทน้ำมันเสียประโยชน์? หรือเพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้?
ทำไม "รถพลังงานน้ำ" ฝีมือคนไทย ที่เคยเป็นข่าวดังระดับประเทศในอดีต ถึงไม่มีทางกลายเป็นจริง เพราะบริษัทน้ำมันเสียประโยชน์? หรือเพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้? บทความนี้ Sanook Auto จะมาไขคำตอบกัน
จากกรณีที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานน้ำฝีมือคนไทย ที่สามารถแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมัน พร้อมระบุว่าเป็นเรื่องโกหกปั่นหัวคนไทยมาช้านาน แม้แต่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ยังเคยออกมาระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็น "เรื่องจริง" เกิดเป็นกระแสบนโลกโซเชียลอีกครั้ง ก่อนที่ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องออกมาย้ำอีกครั้งว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ทำไมรถยนต์พลังงานน้ำ ถึงไม่มีทางเป็นจริง?
หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า "น้ำ" มีสูตรทางเคมีว่า "H2O" หมายถึงไฮโดนเจน 2 ส่วน และออกซิเจน 1 ส่วน ซึ่งผู้ที่อ้างว่าผลิตรถยนต์พลังงานน้ำได้นั้น ระบุว่าจะใช้หลักการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนให้กับเครื่องยนต์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเหมือนกับรถทั่วไป (หรือยังคงใช้น้ำมันอยู่ แต่ใช้น้อยลง อันนี้ก็ไม่แน่ใจ)
แต่การทำเช่นนั้นได้จะต้องใช้กระบวนการที่เรียกว่า "Electrolysis" โดยอาศัยไฟฟ้าในการแยกโมเลกุลของน้ำให้กลายเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน ซึ่งหากอ้างอิงตามกฎอุณหพลศาสตร์ หรือ Thermodynamics การแยกโมเลกุลของน้ำจะใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าพลังงานที่ได้กลับมาเสียอีก จึงไม่มีประโยชน์เลยที่จะนำพลังงานไปเสียเปล่ากับการแยกโมเลกุลน้ำ สู้นำไฟฟ้ามาปั่นมอเตอร์ให้เคลื่อนที่ได้ตรงๆ ยังจะดีเสียกว่า
ด้วยเหตุนี้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ พร้อมๆ กับการนำไฮโดรเจนที่ได้มาป้อนให้กับเครื่องยนต์ของรถยนต์แบบทันที ดังนั้นความเชื่อที่ว่าบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่พยายามปิดข่าว หรือสกัดกั้นเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นจริง จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะมันเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
แล้วที่รถยนต์ไฮโดรเจนของ Toyota และ BMW คือยังไง?
หากใครติดตามข่าวสารรถยนต์คงจะคุ้นหูว่าผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota และ BMW ต่างก็อยู่ระหว่างการพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งโตโยต้าเองก็มี Mirai ซึ่งเป็นรถยนต์ Fuel Cell ออกวางจำหน่ายมานานหลายปีแล้ว รวมถึงปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการพัฒนารถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนในการเผาไหม้โดยตรง หรือ สันดาปไฮโดรเจน โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางเคมีไฟฟ้าเหมือนกับรถฟิวเซลล์ แถมยังเคยนำมาวิ่งจริงที่สนามช้าง จ.บุรีรัมย์ ถึง 2 ครั้งแล้ว โดยรถคันนั้นมีชื่อว่า "GR Corolla H2 Concept" นั่นเอง
ความแตกต่างของรถยนต์ Fuel Cell (รวมถึงรถยนต์สันดาปไฮโดรเจนที่โตโยต้าอยู่ระหว่างการพัฒนา) กับเทคโนโลยีลวงโลกอย่างรถยนต์พลังงานน้ำ คือ รถยนต์ฟิวเซลจะใช้วิธีเติมไฮโดรเจนเหลวที่ถูกผลิตจากโรงงานผลิตไฮโดรเจนโดยเฉพาะ คล้ายกับการเติมน้ำมันในรถสันดาปทั่วไป ต่างจากรถยนต์พลังงานน้ำที่อ้างว่าเพียงแค่เติมน้ำเปล่าก็สามารถวิ่งได้
ดังนั้นการที่รถยนต์พลังงานน้ำไม่เกิด ก็เพราะมันเป็นเพียงเรื่องลวงโลกที่คอยปั่นหัวคนที่ไม่รู้นั่นเองครับ
คุณกำลังดู: ทำไม "รถพลังงานน้ำ" ที่แชร์บนโลกโซเชียล ถึงไม่มีทางเป็นจริง?
หมวดหมู่: รถยนต์