เทคนิคขับรถขึ้น-ลงเขาอย่างปลอดภัย ทั้งเกียร์ออโต้และเกียร์ธรรมดา
การขับรถขึ้นเขา-ลงเขาจำเป็นต้องอาศัยทักษะการขับขี่ที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งการขับรถขึ้นเขาไม่จำเป็นต้องใช้รถใหญ่เสมอไป รถขนาดเล็กอย่างอีโคคาร์ก็สามารถไปได้โดยปลอดภัยหากมีทักษะเพียงพอ Sanook Auto จึงขอแนะนำวิธีขับรถขึ้นเขาและลงเขาแบบมือโปร ทั้งรถเกียร์ออโต้และเกียร์ธรรมดามาฝากกัน
การขับรถขึ้นเขา
สำหรับรถเกียร์อัตโนมัติ - ควรใช้เกียร์ต่ำในการขับรถขึ้นเขา ซึ่งไฟบอกตำแหน่งเกียร์อาจระบุเป็น D2 หรือ 2 ขึ้นอยู่กับรุ่นรถ กรณีที่รถสามารถปรับเป็นโหมดเกียร์ธรรมดาได้ ให้เลือกใช้เกียร์ 2 เป็นหลัก หากเส้นทางมีลักษณะชันเพิ่มขึ้นจนทำให้เครื่องยนต์เริ่มไม่มีแรง ให้ปรับเป็นเกียร์ L หรือ 1 จะช่วยให้รักษากำลังของเครื่องยนต์ได้ ป้องกันไม่ให้ความเร็วลดต่ำจนเกินไป
เมื่อเข้าสู่ช่วงทางราบให้สลับไปใช้ตำแหน่งเกียร์ D บ้าง จะช่วยลดภาระการทำงานของเครื่องยนต์ และช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองลงได้
สำหรับรถเกียร์ธรรมดา - เมื่อรถเริ่มมีความเร็วลดลงขณะไต่ทางชัน ให้รีบลดเกียร์ลงมายังตำแหน่ง 2 หรือ 1 เพื่อรักษากำลังของเครื่องยนต์ไว้ หลีกเลี่ยงการปล่อยคันเร่งโดยไม่จำเป็น จะช่วยให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็วคงที่อย่างต่อเนื่อง
การขับรถลงเขา
สำหรับรถเกียร์อัตโนมัติ - ให้ผลักเกียร์ไปยังตำแหน่ง D2 หรือ 2 จะช่วยป้องกันไม่ให้รถไหลลงเขาด้วยความเร็วสูงจนเกินไป ช่วยป้องกันไม่ให้เบรกร้อนจัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รถเบรกไม่อยู่ โดยระหว่างนี้รอบเครื่องยนต์เบนซินอาจพุ่งสูงถึง 4,000 - 5,000 รอบต่อนาที หรือราว 3,000 - 4,000 รอบต่อนาทีสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการขับรถลงเขา
สำหรับรถเกียร์ธรรมดา - ควรใช้เกียร์ต่ำเพื่อรักษาความเร็วให้คงที่ สามารถเหยียบเบรกเพื่อช่วยประคองความเร็วได้ กรณีพื้นผิวถนนเปียกหรือมีฝนตก ควรเพิ่มความนุ่มนวลในการเหยียบและปล่อยคลัตช์ไม่ให้เกิดแรงกระชากมากจนเกินไป มิเช่นนั้นอาจทำให้รถเสียการทรงตัวได้
นอกเหนือจากทักษะการขับขี่ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว รถยนต์ที่ใช้ก็ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเครื่องยนต์, เกียร์, ช่วงล่าง รวมถึงสภาพยาง เหล่านี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุลงได้ครับ
คุณกำลังดู: เทคนิคขับรถขึ้น-ลงเขาอย่างปลอดภัย ทั้งเกียร์ออโต้และเกียร์ธรรมดา
หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์