ธุรกิจจับตลาด ‘เนื้อผ้าสัมผัสเย็น’ สู้อากาศร้อน
บรรดาธุรกิจค้าปลีกและเสื้อผ้าไม่ว่าจะเป็นห้างเมซีส์ (Macy's) หรือโคลัมเบีย (Columbia) ต่างขยายไลน์เสื้อผ้าระบายอากาศและมีเนื้อผ้าสัมผัสเย็น
บรรดาธุรกิจค้าปลีกและเสื้อผ้าไม่ว่าจะเป็นห้างเมซีส์ (Macy's) หรือโคลัมเบีย (Columbia) ต่างขยายไลน์เสื้อผ้าระบายอากาศและมีเนื้อผ้าสัมผัสเย็น เพื่อหวังกระตุ้นยอดขายท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุขึ้นและผลักดันความต้องการเสื้อผ้าสู้อากาศร้อนทะลุปรอทได้
ส่วนบริษัทอื่น ๆ อย่างเช่น วีเอฟ คอร์ป เจ้าของนอร์ธเฟซ (The North Face) และรีฟอร์เมชัน (Reformation) เลือกใช้ผ้าเทนเซล (Tencel) ซึ่งเป็นเส้นใยไลโคเซลล์ที่บริษัทผู้ผลิตสิ่งทอ เลนซิง ระบุว่าเป็นเนื้อผ้าที่ซึมซับได้ดีกว่าผ้าฝ้ายเสียอีก
การผลักดันการใช้เนื้อผ้าสู้อากาศร้อน เกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทค้าปลีกด้านเสื้อผ้ามียอดขายร่วงลงจากภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ประจวบกับการทำการตลาดเสื้อผ้า “สัมผัสเย็น” ในช่วงที่คลื่นความร้อนปกคลุมอย่างน้อย 3 ทวีปทั่วโลกในขณะนี้
ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องแต่งกายกำลังทุ่มลงทุนไปกับวัสดุน้ำหนักเบาและเนื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยสมรรถนะสูง เพื่อชดเชยวัสดุดั้งเดิมอย่างผ้าฝ้ายและใยสังเคราะห์ เช่นเดียวกับเส้นใยแบบไฮเทคที่จะช่วยให้ผู้สวมใส่รู้สึกเย็นได้ตลอดเวลา
เจสส์ รามิเรซ นักวิเคราะห์จาก Jane Hali & Associates บอกว่า ผ้าเนื้อสัมผัสเย็นไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการสิ่งทอ เพราะนำมาใช้ในชุดกีฬาของแบรนด์อย่างลูลูเลมอน แต่ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ห้างค้าปลีกที่พยายามโปรโมตสินค้ากลุ่มนี้สำหรับการรับมือกับอากาศร้อนและขยายตลาดเป็นคอเลคชันที่สามารถจำหน่ายได้ทั้งปี ในภาวะที่ฤดูหนาวก็อบอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
เอมิลี เอรูชา-ฮิลลิค รองประธานอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์แบรนด์สินค้าของเมซีส์ เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ไลน์เสื้อผ้าใหม่ของทางห้าง ยังรวมถึงเสื้อโค้ทยาวที่ทำจากเส้นใยไลโคเซลล์ และเสื้อยืดจากเส้นใยโมดาล (Modal) ที่ขายในราคา 24.50 ดอลลาร์โดยเป็นเนื้อผ้าลื่นดุจแพรไหมนี้ทำจากเส้นใยพืชที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีน้ำหนักเบาและระบายอากาศได้ดี และเมซีส์เตรียมที่จะขยายกำลังการผลิตและทำการตลาดสินค้าบางอย่างในกลุ่มนี้ แต่ยังไม่เปิดเผยว่าจะเป็นสินค้าแบบใดบ้าง
ส่วนแบรนด์เสื้อผ้าสตรีรีฟอร์เมชัน เริ่มต้นจำหน่ายกระโปรง กางเกง และชุดเดรสที่ใช้เนื้อผ้าเทนเซล ที่ทางแบรนด์ระบุว่าเป็น “รากฐาน” ของผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย
แม้ว่าธุรกิจเสื้อผ้ากลุ่มนี้ยังไม่มีคู่แข่งมากนัก แต่ฝั่งบริษัทผู้ผลิตเนื้อผ้าสัมผัสเย็นนี้กำลังเติบโตอย่างมาก
บริษัทเลนซิง ที่เน้นการผลิตผ้าเทนเซล ขยายฐานการผลิตในประเทศไทยเมื่อปีก่อน ตามการเปิดเผยของผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ชารอน เปเรซ กับทางรอยเตอร์ โดยบริษัทเล็งเห็นความต้องการจากแบรนด์ดังอย่าง พาทาโกเนียและนอร์ธเฟซ แม้ว่าต้นทุนจะแพงกว่าวัสดุอื่น ๆ ประมาณ 10 เซนต์ต่อปอนด์ก็ตามที
ส่วนตลาดโดยรวมทั่วโลกของเส้นใยธรรมชาติอย่างไลโคเซลล์ โมดาล และคิวโปร เติบโตราว 10% จากระดับ 7.2 ล้านตันเมื่อปี 2022 อ้างอิงจากข้อมูลขององค์กรอิสระ Textile Exchange
บริษัท พีที โกลเดน เท็กซ์ทิล จากอินโดนีเซีย ซึ่งมีลูกค้าอย่างเมซีส์ และโปโล ราล์ฟ ลอเรน เพิ่มกำลังการผลิตเนื้อผ้าที่ทำจากเส้นใย “สมรรถนะสูง” ราว 20-30% ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ตามการเปิดเผยของผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ เบธ คาร์เตอร์ ชแล็ค กับทางรอยเตอร์
ทั้งนี้และทั้งนั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าวัสดุที่ทำการตลาดว่าเป็น “สัมผัสเย็น” จะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายให้ต่ำลง หรือแค่ช่วยให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายตัวมากขึ้นกันแน่
สมาคมด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอได้เริ่มทดสอบเรื่องวัสดุสัมผัสเย็น เพื่อวัดศักยภาพของเนื้อผ้าในการกระจายความชื้นและการแห้งเร็วของเนื้อผ้า อ้างอิงจากข้อมูลของ American Association of Textile Chemists and Colorists
โรเจอร์ บาร์เกอร์ ผู้ศึกษาด้านสิ่งทอจาก North Carolina State University กล่าวกับรอยเตอร์ว่า จำเป็นต้องมีการทดสอบที่ชัดเจนกว่านี้ ก่อนที่บริษัทต่าง ๆ จะกล่าวอ้างสรรพคุณเรื่องความเย็น เพราะการค้นพบในห้องทดลองที่มีมากมายก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้จริงจะเป็นเช่นนั้น
เนื้อผ้าเย็นทันใจ-ขจัดเหงื่อทันที
บริษัทต่างผลิตเนื้อผ้าด้วยเส้นใยสมรรถภาพสูง อย่างเช่น คูลแมกซ์ของไลครา ที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์ซึ่งช่วยทำให้เหงื่อระเหยออกไปได้เร็วขึ้น หรือยูนิโคล ที่ออกไลน์เสื้อผ้า แอริซึ่ม ที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์ผสมคิวโปรที่มาจากฝ้าย ซึ่งทำให้เนื้อผ้ามีความละเอียดและนุ่ม รวมทั้งแห้งไวและเป็นเนื้อผ้าที่ให้สัมผัสเย็น
คริสตี วิลสัน ที่ปรึกษาด้านวัสดุซึ่งทำงานร่วมกับบริษัทค้าปลีกใหญ่หลายแห่ง เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า มีหลายแบรนด์ที่เริ่มใช้ เส้นใยสมรรถนะสูง อย่างคูลแมกซ์ ที่แห้งไวกว่าผ้าฝ้ายมากขึ้นแล้ว
แบรนด์เจ.ครูว์ และเอชแอนด์เอ็ม เป็นหนึ่งในบริษัทที่หันมาใช้ผ้าคูลแมกซ์ ในชุดเครื่องนอน ถุงนอน และผลิตภัณฑ์สำหรับอากาศร้อนชื้น
ภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ยังขับเคลื่อนให้มีการใช้เทคโนโลยีเส้นใยคลายความร้อน หรือ active cooling ด้วยการใส่วัสดุที่ช่วยดักจับและคลายความร้อนออกไปแทนที่จะเป็นการแผ่ความเย็นออกมาจากเนื้อผ้า
ในระหว่างที่เสื้อผ้าช่วยระเหยเหงื่อจะเร่งการระเหยเหงื่อออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นวิธีที่มนุษย์จะรู้สึกเย็นลงได้ตามธรรมชาติ แต่มันมีข้อจำกัดในรูปแบบเนื้อผ้าดังกล่าว ในทัศนะของบาร์เกอร์
หน้าร้อนปีนี้แบรนด์โคลัมเบีย สปอร์ตสแวร์ เปิดตัวเสื้อแขนยาวที่มีเนื้อผ้า Omni-Freeze Zero Ice fabric ที่ผสมผสานเทคโนโลยี active cooling เข้าไป เพื่อช่วยเรื่องการระเหยของเหงื่อและลายผ้าที่ช่วยดูดซับเหงื่อได้
ขณะที่บริษัทสิ่งทอในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย Brrr ซึ่งทำงานร่วมกับ 47 แบรนด์รวมทั้งอาดิดาส ได้ผสมเนื้อผ้าเข้ากับแร่ธาตุมีสารให้ความเย็น และว่ามีความต้องการเนื้อผ้าลักษณะนี้มากขึ้นสำหรับเสื้อผ้าที่เหมาะกับกิจกรรมอย่างการเดินป่าหรือเล่นสกีในฤดูหนาวด้วยเช่นกัน
คุณกำลังดู: ธุรกิจจับตลาด ‘เนื้อผ้าสัมผัสเย็น’ สู้อากาศร้อน
หมวดหมู่: ทบทวน