ไตวายเฉียบพลัน อันตรายกว่าที่คิด สาเหตุจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่

ไตวายเฉียบพลัน โรคร้ายที่หลายคนอาจมองข้าม ส่งผลร้ายอันตรายกว่าที่คิด มีสาเหตุจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์รวมข้อมูลให้ดังนี้

ไตวายเฉียบพลัน อันตรายกว่าที่คิด สาเหตุจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่

ไตวายเฉียบพลัน โรคร้ายที่ นายพงษ์ศักดิ์ โสภักดี หรือโป๊งเหน่ง เชิญยิ้ม ดาราตลกชื่อดังล้มป่วยกะทันหันและมีอาการน่าเป็นห่วง ทำให้หลายคนเกิดความสนใจและสงสัยว่าโรคนี้มีสาเหตุจากอะไร และป้องกันได้หรือไม่

ไตวายเฉียบพลัน คืออะไร

ภาวะไตวายเฉียบพลัน เกิดจากไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเสียและขับน้ำส่วนเกินออกจากระบบทางเดินปัสสาวะอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อยลง โดยมีสาเหตุดังต่อไปนี้

  • ภาวะช็อกจากอาการหัวใจล้มเหลวติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ร่างกายสูญเสียน้ำในปริมาณมาก เช่น การตกเลือด ท้องเสีย หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
  • การเป็นโรคไตอักเสบเฉียบพลัน
  • รับประทานยานอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง ซึ่งมีผลเสียต่อไต เช่น ยาชุดแก้ปวด ยาสมุนไพร
  • การรับประทานอาหารบางชนิดมากเกินไป เช่น น้ำมะเฟือง ผักปวยเล้ง ตะลิงปลิงแครนเบอร์รี

สำหรับอาการของภาวะไตวายเฉียบพลันจะมีลักษณะดังนี้

  • ปัสสาวะออกน้อย
  • มีอาการคั่งของน้ำ ซึ่งจะมีการบวมเท้า ข้อเท้า และขา
  • หายใจเหนื่อย
  • อ่อนเพลีย
  • สับสน
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • อ่อนแรง
  • ใจสั่น ชัก หมดสติ

ภาวะไตวายเฉียบพลันอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคแทรกซ้อนของภาวะไตวายเฉียบพลัน ได้แก่

  • เมื่อไตวายจะมีการคั่งของน้ำ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมปอด ผู้ป่วยจะหายใจหอบ เหนื่อย
  • แน่นหน้าอกเนื่องจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงเนื่องจากเกลือแร่เสียสมดุล
  • ไตวายเรื้อรัง
  • เสียชีวิต

การรักษาภาวะไตวายเฉียบพลัน

สำหรับการรักษาภาวะไตวายเฉียบพลันมีหลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของผู้ป่วย

วิธีที่ 1: แพทย์จะทำการรักษาโดยการหาสาเหตุและรีบทำการรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ไตสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติโดยเร็ว และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การหยุดยาที่เป็นสาเหตุ แก้ไขภาวะช็อกและการให้สารน้ำในรายที่มีการขาดสารน้ำ

วิธีที่ 2: แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองและรักษาโรคแทรกซ้อน ได้แก่ การควบคุมปริมาณน้ำเข้าออกร่างกายให้สมดุล หลีกเลี่ยงยาที่มีพิษต่อไต รวมทั้งปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับการทำงานของไตที่ลดลง แก้ไขสมดุลกรดด่าง ภาวะเกลือแร่ที่ผิดปกติในร่างกาย เป็นต้น

วิธีที่ 3: การให้สารอาหาร พลังงานและปริมาณโปรตีนให้เหมาะสม

วิธีที่ 4: เป็นวิธีสุดท้าย คือ การบำบัดทดแทนไตตามข้อบ่งชี้ เช่น ภาวะที่มีโปแตสเซียมในเลือดสูง ซึ่งหากหาสาเหตุและแก้ปัญหาได้ส่วนใหญ่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าก็จะทำให้กลายเป็นภาวะไตวายเรื้อรังได้

หลังจากที่รักษาภาวะไตวายเฉียบพลันจนมีอาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะต้องปรับการใช้ชีวิตของตนเองใหม่เพื่อลดการทำงานของไต นั่นคือ

  • เลือกอาหารที่มีเกลือโปแตสเซียมต่ำ เช่น แอปเปิล ดอกกะหล่ำ องุ่นสตรอว์เบอร์รี ส่วนอาหารที่มีเกลือโปแตสเซียมสูง ได้แก่ กล้วย ส้ม มะเขือเทศ มันฝรั่ง
  • งดอาหารเค็ม
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น ธัญพืชถั่ว

นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาและสมุนไพร หากต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ ควรตรวจสุขภาพประจำปี หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หากมีอาการน่าสงสัยให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นให้หายเป็นปกติ

ไตวายเฉียบพลัน ป้องกันได้ไหม

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคไตก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ ควรป้องกันด้วยการดูแลตนเองตั้งแต่วันนี้ที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 6-8 แก้ว
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงสารเคมี ยา ยาสมุนไพร และยาบำรุงต่างๆ ซึ่งควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากพบความผิดปกติจะได้รักษาได้ทันท่วงที

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการดูแลตัวเองง่ายๆ ที่ช่วยป้องกันการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน รวมถึงการป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ด้วย

อ้างอิงข้อมูล: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

คุณกำลังดู: ไตวายเฉียบพลัน อันตรายกว่าที่คิด สาเหตุจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด