วันไหว้ครู 2566 ประวัติ และกิจกรรมในวันไหว้ครู บทสวดวันไหว้ครู
วันไหว้ครูตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566 วันไหว้ครู นับเป็นวันที่ศิษย์จะได้แสดงถึงคุณธรรมภายในจิตใจ คำว่า “ไหว้ครู”
วันไหว้ครู 2566 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566
เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่งแล้ว สำหรับ วันไหว้ครู หรือ พิธีไหว้ครู ซึ่งการจัดพิธีไหว้ครูนั้นเป็นการแสดงความเคารพครูอย่างหนึ่ง มักจะถูกจัดขึ้นในช่วง เดือนมิถุนายน ของทุกปี แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นวันพฤหัสบดีแรกของภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษานั้นๆ ให้เป็นวันไหว้ครู ซึ่งตามสถาบันการศึกษาต่างๆ จะกำหนดให้พิธีไหว้ครูจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ส่วนจะเป็นพฤหัสบดีที่เท่าไรของเดือนก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละสถาบันไม่มีข้อจำกัด
ประวัติวันไหว้ครู
วันไหว้ครู นับเป็นวันที่ศิษย์จะได้แสดงถึงคุณธรรมภายในจิตใจ คำว่า “ไหว้ครู” ถึงแม้ว่าจะเป็นถ้อยคำที่แสนธรรมดาสามัญที่ใครหลายๆ คนต่างเข้าใจกันดีอยู่ แต่จริงๆ แล้ว วันไหว้ครู คือวันที่บรรดาศิษย์ทั้งหลายจะได้แสดงความเคารพและสักการะต่อครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ตลอดจนผู้เสียสละชี้ทางและให้แสงสว่างแก่ศิษย์โดยไม่คำนึงถึงความยากลำบาก ซึ่งแนวความคิดวันไหว้ครูเกิดขึ้นในที่ประชุมครูทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2499 จากคำปราศรัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ในขณะนั้น ต่อมาได้มีการจัดงานวันครูขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2500
การไหว้ครู
การไหว้ครู เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวไทย เพราะครูเป็นคนที่ศิษย์ให้ความเคารพนับถือ เป็นผู้ถ่ายทอดสรรพวิชาความรู้ให้กับศิษย์ด้วยความรัก ความเมตตา และความปราถนาดี ครู จึงเป็นบุคคลผู้ทำหน้าที่ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เมื่อครั้งอดีต หนังสือ หรือสื่อการเรียนการสอนยังไม่มีแพร่หลาย ความรู้ที่ประชาชนจะได้รับ คือความรู้ที่มาจากบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งเราเรียกกันว่า "ครู"
ถึงแม้ในทุกวันนี้เทคโยโลยีต่างๆ จะมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น สื่อการเรียนการสอนมีอยู่แพร่หลาย แต่คนไทยก็ยังคงให้ความสำคัญกับครูด้วยเหตุผลที่ว่า ความรู้ที่มาจากการทอดโดยบุคคลเป็นความรู้ที่เป็นทักษะเฉพาะ เป็นสิ่งที่เกิดจากการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์และการปฏิบัติจนเชี่ยวชาญที่อาจไม่สามารถถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือได้ ครูจึงเปรียบเสมือนพ่อและแม่คนที่ 2 ของศิษย์ ผู้ที่ประสบความสำเร็จได้เป็นเพราะมีแม่เป็นผู้ให้กำเนิด มีครูเป็นผู้ให้ความรู้ ความคิด สติปัญญา และชี้ทางสว่างให้กับชีวิต ประเพณีการไหว้ครูจึงยังสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมในวันไหว้ครู
ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมในวันไหว้ครู เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ซึ่งรูปแบบการทำกิจกรรมที่ชัดเจนในปัจจุบัน คือ
- การไหว้ครูในสถานศึกษา ที่มีตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนกระทั่งถึงระดับอุดมศึกษา
- มีพิธีทางศาสนา พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
- ต่อด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
- และการแข่งขันประกวดพานไหว้ครู โดยให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และใช้ดอกไม้ที่สัญลักษณ์ของวันไหว้ครูมาประดับตกแต่งให้เกิดความสวยตามสมัยนิยม ที่ประกอบไปด้วย ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกเข็ม
พานไหว้ครู
พานในวันไหว้ครู มักจะประกอบไปด้วย ธูป เทียน และดอกไม้ ซึ่งดอกไม้ ที่ขาดไม่ได้ในพานไหว้ครู คือ ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ข้าวตอก และดอกเข็ม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีความหมายเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น
- ดอกมะเขือ เป็นดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้เป็นดอกไม้สำหรับไหว้ครู ไม่ว่าจะเป็นครูดนตรี ครูมวย ครูสอนหนังสือ ก็ให้ใช้ดอกมะเขือนี้ เพื่อศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่างๆ นอกจากนี้มะเขือยังมีเมล็ดมาก ไปงอกงามได้ง่ายในทุกที่ เช่นเดียวกับหญ้าแพรก
- หญ้าแพรก เป็นหญ้าที่เจริญงอกงาม แพร่กระจายพันธ์ ไปได้อย่างรวดเร็วมาก หญ้าแพรกและดอกมะเขือในวันไหว้ครูจึงมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรกดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและ ดอกมะเขือนั่นเอง
- ดอกเข็ม เพราะดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม สติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และก็อาจเป็นได้ว่า เกสรดอกเข็มมีรสหวาน การใช้ดอกเข็มไหว้ครู วิชาความรู้จะให้ประโยชน์กับชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม
- ข้าวตอก เป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วคนเรามักจะมีความซุกซน ความเกียจคร้าน เป็นสมบัติมากบ้าง น้อยบ้างก็ตาม เมื่อมีความต้องการศึกษาหาความรู้ เขาก็ต้องรู้จักควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบ ในระเบียบหรือในกฎเกณฑ์ที่สถาบันได้กำหนดไว้ ใครก็ตามหากตามใจตนเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บุคคลนั้นก็จะเป็นเหมือนข้าวเปลือกที่ถูกคั่ว แต่ไม่มีโอกาสได้เป็นข้าวตอก
แถมท้าย Sanook Campus มีบทสวดเคารพครูอาจารย์ มีให้น้องๆ ท่องกันนะ
บทสวดวันไหว้ครู นมัสการอาจริยคุณ
(นำ)
ปาเจราจะริยา โหนติ
(รับพร้อมกัน)
คุณุตตะรานุสาสะกา
ปัญญาวุฑฒิกะเร เต เต ทินโนวาเท นะมามิหัง.
(นำ)
อนึ่งข้าคำนับน้อม
(รับพร้อมกัน)
ต่อพระครูผู้การุญ
โอบเอื้อและเจือจุน
อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ
ทราบ ก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน
ขยายอรรถให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ
เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์
ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทาโม-
หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ
อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ
แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน
จิตน้อมนิยมชมฯ
(กราบ 1 ครั้ง)
คำกว่าวไหว้ครู ปาเจราทำนองสรภัญญะ
ปาเจราจริยาโหนติ
คุณุตตรานุสาสกา
ข้าขอประณตน้อมสักการ
(รับพร้อมกัน)
บูรพคณาจารย์
ผู้กอรปประโยชน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา
อบรมจริยา
แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์
ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา
อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ
อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี
ประโยชน์ทวี
แก่ชาติและประเทศไทยเทอญ ฯ
(นำ) ปัญญาวุฒิกเร เต เต
ทินโนวาเท นมามิหัง
ตัวอย่างพานไหว้ครูของเด็กๆ สมัยใหม่ ^^
เรื่องราวของวันไหว้ครูก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ Sanook Campus นำมาฝาก เป็นเรื่องราวที่ศิษย์ทั้งหลายควรจะต้องทราบเอาไว้ อีกไม่กี่วันก็ใกล้จะถึงวันไหว้ครูกันแล้ว อย่าลืมสำนึกในความเสียสละที่ครูบาอาจารย์มีให้กับเรา ตั้งใจเรียน นำข้อคิดเทคนิคต่างๆ ที่ได้จากเรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำความสำเร็จกลับไปฝากท่านให้ได้ หรืออย่าลืมแวะกลับไปเยี่ยมครูเก่าๆ ที่เคยสั่งสอนเราก็ได้ กลับไปเยี่ยม ถามไถ่สารทุกข์ดิบกันเล็กน้อย อย่างน้อยท่านก็เป็นคนหนึ่งที่พาเราเดินไปสู่ทางแห่งความสำเร็จ
คุณกำลังดู: วันไหว้ครู 2566 ประวัติ และกิจกรรมในวันไหว้ครู บทสวดวันไหว้ครู
หมวดหมู่: วัยรุ่น