วันวานยังหวานอยู่ "นกแล" ตำนานวงดนตรีเด็ก ตื้นตัน 40 ปี ยังอยู่ในใจแฟนเพลง

"ทินกร-ตุ๊ดตู่-น้อย นกแล" ย้อนวันวานตำนานวงดนตรีเด็กขวัญใจมหาชน หลั่งน้ำตาตื้นตัน 40 กว่าปี ยังอยู่ในใจแฟนเพลง ไม่เคยลืมตัวมาจากไหน ช่วยเด็กด้อยโอกาสเหมือนที่เคยได้รับ

วันวานยังหวานอยู่ "นกแล" ตำนานวงดนตรีเด็ก ตื้นตัน 40 ปี ยังอยู่ในใจแฟนเพลง

ยัน-ทินกร ศรีวิชัย, ตุ๊ดตู่-ศรัญญา อุปพันธ์ และ น้อย-นัธร์สิกาญจน์ จุมปามณีวร สมาชิก "นกแล" ตำนานวงดนตรีเด็กขวัญใจมหาชน รุ่นออกอัลบั้มเพลงกับค่ายแกรมมี่ รวมตัวให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว Sanook.com ย้อนวันวานยังหวานอยู่ พร้อมกับเปิดเผยการดำเนินชีวิตตั้งแต่แยกย้ายจนถึงปัจจุบัน

นกแลนกแล

น้อย เล่าว่า นกแลมีอาจารย์ สมเกียรติ สุยะราช อดีตอาจารย์ผู้สอนโรงเรียนพุทธิโสภณ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ควบคุมวง โดยเริ่มต้นจากการคัดเด็กมาเป็นนักดนตรีดริยางค์ และให้เด็กๆ แต่งกายชุดชาวเขา หาเครื่องดนตรีมาให้เด็กๆ เล่นกันเองจนเริ่มเข้าตาแมวมอง

"นกแลเริ่มต้นจากที่ว่า คุณครูเป็นครูสอนพละ เป็นเพื่อนกับพี่ จรัล มโนเพ็ชร ครูสามารถเล่นดนตรีได้ แล้วก็มีอยู่ช่วงหนึ่งเราเรียนพละไม่ได้ เพราะว่าฝนตก ครูก็เลยจับมา เอากีต้าร์มาร้องเพลงกันในห้อง"

"โรงเรียนก็มีวงดุริยางค์ด้วย ครูก็สอนดุริยางค์ ก็จับเด็กที่มีแววมาเล่นดนตรี คนนี้ (ทินกร) ก็ตีฉาบ เขาตัวเล็กๆ ของน้อยก็เป่าขลุ่ย เป่าเมโลเดียน ก็เริ่มมีทักษะมากขึ้น ก็ต่อยอดเป็นวงดนตรีสตริง"

"ช่วงปี พ.ศ. 2526 ส่วนใหญ่เราเล่นตามโรงเรียน ครูให้เราได้เรียนรู้ ไป อยู่ต่อหน้าคนเยอะๆ ในมหาวิทยาลัย งานวัด วันเด็ก วันแม่ ก็ฝึกจากตรงนั้นมา ให้เรามีความกล้าแสดงออก"

"พอคนเริ่มรู้จักคำว่า นกแล จากโรงเรียนพุทธิโสภณ เราก็เริ่มแบบไปจัดในโรงหนังหาเงินเข้าโรงเรียน ครูก็ทำแบบเป็นเทปตลับ ซึ่งขายเฉพาะในเชียงใหม่ ในภาคเหนือ"

อดีตนักร้องนำนกแล ที่มีความสามารถเล่นดนตรีได้หลายชิ้น อาทิ กลองทอมบ้า, เทนเน่อร์, แซ็คโซโฟน เล่าต่อว่า นกแลได้ขึ้นเวทีใหญ่ครั้งแรก คือ รายการโลกดนตรี ที่มี เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ เป็นโฆษก ซึ่งวันนั้นได้เล่นเป็นวงเปิดคอนเสิร์ตให้กับวงพิงค์แพนเตอร์

ทำให้นกแลได้โอกาสจาก เรวัติ พุทธินันท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายเพลงแกรมมี่ ที่ประทับใจเด็กๆ ร้องเล่นดนตรีออกมาสู้ผู้ใหญ่ได้ ชักชวนมาสร้างสรรค์ผลงาน นำมาสู่การออกอัลบั้มเพลงครั้งแรก ใช้ชื่อชุดว่า หนุ่มดอยเต่า สร้างปรากฏการณ์กลายเป็นเพลงฮิตไปทั่วประเทศ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เด็กๆ ร้องเต้นเรียนแบบกันเต็มบ้านเต็มเมือง

"จุดเริ่มต้นที่นกแลได้เป็นที่รู้จักของทุกคน ก็คือเรา ไปเล่นที่อ่างแก้ว (ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหมา) คือช่อง 5 เขามามีเสาสัญญาณที่นั่น พี่เสกสรรค์ ก็เห็นเราเล่นชมว่าเก่ง หลังจากนั้นก็ติดต่อ มีงานวันเด็กสวนลุมฯ นะ ก็เชิญเราไป และก็ได้ทำอัลบั้มกับแกรมี่"

ยัน-ทินกร ศรีวิชัยยัน-ทินกร ศรีวิชัย

ตุ๊ดตู่ เสริมว่า นกแลมีอัลบั้มกับแกรมมี่ จำนวน 5 ชุด คือ หนุ่มดอยเต่า ในปี พ.ศ.2528, อุ๊ย ในปีพ.ศ.2529, สิบล้อมาแล้ว ในปีพ.ศ.2530, ช้าง ในปีพ.ศ.2531 และ ทิงนองนอย ในปีพ.ศ.2532

"จริงๆ พวกเราเป็นเด็กในเมืองนะคะ ไม่ใช่ชาวเขา แต่ก็เป็นเด็กที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์พูนสุข ก็ดีใจนะคะ ได้มีโอกาสเข้ามาร้องเพลง จากเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ที่เราไม่รู้อะไรเลย เมืองเป็นยังไง แต่คนรู้จักเราทั่วประเทศ"

น้อย บอกต่อว่า ทุกครั้งที่ภาพในวัยใสฉายกลับมา กระตุ้นให้ยิ้มโดยอัตโนมัติ

"ช่วงที่นกแลโด่งดังมาก เรายังเป็นนักเรียน อายุ 7-8 ขวบ มีงานคอนเสิร์ตทุกวัน นักรถตู้ไปด้วยกันทั่วประเทศ โตบนรถตู้ไม่ได้อยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตกินนอนด้วยกันตลอด"

"จากคนขี้อายร้องเพลงไม่เป็น พูดไม่เก่ง ถูกขัดเกลาให้กล้าแสดงออก มีรายได้ช่วยเหลือครอบครัว ได้เดินทาง ไปต่างประเทศ มีคนรักเรา มีการเขียนจดหมาย มาถึงที่บ้าน วันเป็นกระสอบ วันเป็นตะกร้า อะไรอย่างนี้ค่ะ

ปรากฏการณ์นกแลวงดนตรีเด็ก แต่งกายชุดชาวเขาเป็นเอกลักษณ์ กลายมาเป็นขวัญใจมหาชน ไม่เพียงแต่ทำให้สมาชิกวงนกแลหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวได้ตั้งแต่อายุยังน้อยเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์ และเพิ่มมูลค่าให้กับภาคเหนืออีกด้วย

"เคยได้ยินคนเขาพูดเหมือนกันค่ะ ถ้าพูดถึงนกแลเขาก็จะนึกถึงเชียงใหม่ คิดถึงภาคเหนือ นึกถึงชุดชาวเขา" น้อยบอก

"เด็กๆ ก็มาใส่ชุดเหมือนเรา ชนเผ่าที่เขาทำเสื้อ ผลิตเสื้อปักเสื้อ เขาก็มีอาชีพเขาได้ขายมากขึ้น ประยุกต์ให้คนทั่วไป สามารถใส่เป็นแฟชั่นได้เลย"

"เวลาเราไปร้องเพลงหรือไปคอนเสิร์ต เราก็จะอู้กำเมือง สวัสดีเจ้า เพราะฉะนั้นนกแลก็เสมือน ตัวแทนคนเหนือ ตัวแทนจังหวัดเชียงใหม่" ตุ๊ดตู่เสริม

"เผยแพร่วัฒนธรรมทางเหนือ ให้คนทั่วประเทศรู้จัก" ทินกรบอก

"ชุดเราเป็นเอกลักษณ์ ใส่แล้วมันเหมือนมีองค์น่ะค่ะ ใส่แล้วดูดีค่ะ ในส่วนตัวนะคะ พอไม่ใส่ก็จะเป็นอีกคนหนึ่ง แต่พอเรามาใส่ปุ๊บ เราเป็นศิลปิน" ตุ๊ดตู่บอกปิดท้ายการให้สัมภาษณ์ช่วงนี้

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา นกแลเป็นวงดนตรีเด็กที่มีความน่ารักสดใสเป็นเอกลักษณ์ เมื่อเหล่าสมาชิกเป็นหนุ่มสาว มีงานการ มีภาระร่ำเรียนที่เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญซุ่มเสียงได้แตกหนุ่มสาว ทั้ง 3 และสมาชิกรุ่นราวคราวเดียวกันต่างแยกย้ายกันไปเติบโตตามเส้นทาง ในขณะที่ปัจจุบันสมาชิกวงนกแลมีมาแล้ว 20 กว่ารุ่นหมุนเวียนเข้าออกผลัดเปลี่ยนกันไป

"ตอนนี้อายุ 40 กว่ากันแล้วค่ะ หลังจากเรียนที่จบบัญชีไปก็ไปทำงานหลายที่นะคะ แต่ปัจจุบันเนี่ยก็เป็นผู้จัดการ อยู่ที่ห้องอาหารแสนคำเทอเรส ในจังหวัดเชียงใหม่" ตุ๊ดตู่อัพเดท

ด้านน้อยบอกว่า เธอเรียนจบปริญญาตรี ท่องเที่ยวและการโรงแรม หลังจากเรียนจบได้เปิดผับใน จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนมีครอบครัว และมีลูก ปัจจุบันกลับมาทำงานเป็นผู้จัดการ Hakone Cafe ขายกาแฟ และมีห้องประชุม

ส่วน ทินกร ซึ่งเรียนจบทางด้านช่าง แต่ไปได้สวบกับการทำธุรกิจ เครื่องปั้นดินเผาตุ๊กตาเด็กยิ้ม ซึ่งเขาลงมือปั้นเองกับมือที่บ้าน ส่งขายไปทั่วเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามแม้นกแลยุครุ่งโรจน์หายหน้าหายตาไปจากโลกดนตรี แต่ก็ทิ้งผลงานเด่นดังของพวกเขาไว้เป็นตำนาน

น้อย บอกทั้งน้ำตาว่า เธอรู้สึกตื้นตัน 40 กว่าปี นกแลยังอยู่ในใจแฟนเพลง มีคนถามตลอด หลายคนเวลาเจอกันจำได้ ขอถ่ายรูปด้วย และก็ชื่นชม รวมทั้งขอบคุณที่มอบความสุขให้ในวัยเยาว์

 น้อย-นัธร์สิกาญจน์ จุมปามณีวร น้อย-นัธร์สิกาญจน์ จุมปามณีวร

"คือเพลงของเรา เขาเรียกว่ามันไม่เหมือนใคร มันจะเป็นเอกลักษณ์ของนกแลค่ะ อย่างตอนนี้เราไปไหนคนก็ยังร้องได้ เราก็ดีใจค่ะ คือเขานึกถึงเราตลอดอย่างนี้ค่ะ"

"มันอาจจะเป็นวงเด็กวงแรกของประเทศไทยหรือเปล่าคะ ที่คนเขายอมรับเรา ในความที่เราเป็นศิลปินเยาวชน ที่เราไม่ได้แบบเสแสร้งหรืออะไร คือเราร้องด้วยธรรมชาติ เราเล่นด้วยธรรมชาติ"

ตุ๊ดตู่ เสริมว่า เพลงของนกแล เป็นเพลงวัยใส ควบคู่ไปกับภาคดนตรีที่มีสีสัน มุ่งนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตวัฒนธรรมชนบท ชาวเขา ชาวดอย ชาวเหนือ ได้อย่างน่าฟัง บทเพลงส่วนหนึ่งนำภาษาถิ่นล้านนามาผสมกับภาษากลางได้อย่างกลมกลืน น่าจะมีส่วนช่วยให้กินใจคนได้นาน

"เราก็มีบทเพลงของแต่ละคน ตัวตู่เองมีบทเพลงหนึ่ง ที่ชื่อว่าเพลงอย่าลืมน้องสาว ก็นำบทเพลงนี้ไปร้องในที่ต่างๆ ค่ะ แล้วก็คนที่จากบ้าน จากเหนือหรือจากใต้ หรือจากบ้านมาแล้วก็มาทำงานในเมือง พอได้ยินเพลงนี้ที่เราร้อง ทุกคนก็ร้องไห้คิดถึงบ้าน ณ เวลานี้ถ้าพูดถึง มันก็กลายเป็นบทเพลง เป็นตำนานไปค่ะ"

น้อยบอกต่อว่า ยิ่งภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน ได้เลือกใช้เพลงคอนเสิร์ตคนจน ของวงนกแลมาประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ยิ่งมีส่วนช่วยให้แฟนเพลงนกแลหวนคิดถึงวันวานยังหวานอยู่

ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่อยากรู้จักชื่อของนกแลจึงถูกค้นหาขึ้นมาอีก ทำให้มีโอกาสได้กลับมารวมตัวกันโชว์ลูกคอ รำลึกถึงความน่ารัก ความสดใส ความสนุกสนาน

"เพลงของเรา คอนเสิร์ตคนจน ที่ประกอบภาพยนตร์แฟนฉัน ทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ได้มารู้จัก "โอ๊เย โอ๊เย" เพลงของใคร ก็กลับไปดู รุ่นแม่เขานะเนี่ย เราก็ไปอ่านคอมเมนต์ เราก็เออดีจัง เพลงของเราก็ยังอยู่ในทั้งยุคก่อน และยุคปัจจุบันได้ พอมีรียูเนี่ยนมา ยุค 70 80 90 เริ่มกลับมา ก็ทำให้คนมานึกถึงเรา"

ตุ๊ดตู่ บอกต่อว่า นกแลได้รับเชิญจาก มาลีฮวนน่า ให้ร่วมแสดงคอนเสิร์ต แคมป์ไฟดนตรี มาลีฮวนน่า ครั้งที่ 10 นัดวินเทจ โก๋ เก๋า เกร๋ กัญ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ที่ หุบกะพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี จองบัตรได้ที่ เฟซบุ๊ก Maleehuana Official

"พวกเรากำลังจะขึ้นคอนเสิร์ตค่ะ เล่นกับมาลีฮวนน่า รวมศิลปินวินเทจหลายๆ มีมาลีฮวนน่า มีนกแล แล้วก็พี่ตั๊ก ลีลา มีพี่อี๊ด วงฟลาย ค่ะ แล้วก็พี่เหน่ง วายน็อตเซเว่น ค่ะ แล้วก็วงซิกตี้ไนน์ มาคอนเสิร์ตนี้ ก็จะได้เจอนกแลครบวงค่ะ"

ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ สมาชิกวงนกแลยุครุ่งโรจน์ ได้รับรางวัลทางดนตรีต่างๆ มากมาย บอกด้วยว่า วันนี้แม้ได้ดิบได้ดีบนเส้นทางที่เลือกเดิน แต่ก็ไม่เคยลืมตัวว่า เติบโตมาจากไหน ที่ผ่านมาได้รวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เหมือนที่เขาและเธอเคยได้รับจากอาจารย์สมเกียรติ สุยะราช ผู้ก่อตั้งวงนกแล อยู่เป็นประจำ
"ในปัจจุบันนะคะ อาจารย์สมเกียรติ ที่ดูแลเราตั้งแต่เด็กๆ ยังทำโครงการนี้อยู่ ก็คือให้เด็กๆ ที่มีโอกาสน้อย หรือไม่มีโอกาสเหมือนเราตอนนั้นมาเล่นดนตรี ซึ่ง ณ ปัจจุบัน น่าจะเป็นรุ่นที่ 20 กว่าแล้ว" น้อยบอก

ตุ๊ดตู่-ศรัญญา อุปพันธ์ตุ๊ดตู่-ศรัญญา อุปพันธ์

"ครูทำโครงการดนตรีเพื่อเยาวชน เหมือนงานการกุศล เวลาไปร้องเพลงก็ช่วยเหลือเด็ก เมื่อคอนเสิร์ต 33 ปี นกแล เราทำคอนเสิร์ตเพื่อสร้างหอพักให้กับนักเรียน สร้างอาคารเรียน ให้กับนักเรียน ที่อำเภอฝาง เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ค่ะ พอเราโตมา เรามีโอกาส เราก็อยากจะทำโอกาสที่เรามีเนี่ยค่ะ ช่วยน้องๆ ค่ะ ให้พัฒนา เหมือนกับเรา" ตุ๊ดตู่เสริม

"โทษนะคะ น้อยไม่ค่อยเข้าวัดเท่าไร น้อยจะให้เด็กกำพร้า จะช่วยทางนี้มากกว่า"

ตุ๊ดตู่ บอกต่อว่า ไม่ว่าโลกจะทันสมัยแค่ไหน มีวิวัฒนาการล้ำหน้าเพียงใดก็ตาม แต่ความยากจนไม่เคยหมดไป ปัญหาเด็กคลาดแคลนยังมีอีกมาก อยากให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดยมีการทำเป็นแผนระยาว ไม่ใช่แก้แค่ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้อนาคตของชาติเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศ

"เราไปตามท้องถนน บางทีเราเห็นเด็กๆ ขายของ ขายพวงมาลัยอะไรอย่างเนี้ย ตู่เห็นตู่สงสารค่ะ อยากจะหยิบยื่นหรือว่าอยากจะช่วยเหลือ แต่เราไม่รู้จะช่วยน้องเขายังไง อุดหนุนเขาพอเขากลับไป ปัญหามันไม่จบค่ะ เดี๋ยวพรุ่งนี้เขาก็มาขายอีก"

"เราเห็นมาเยอะเหมือนกัน คือ เขาแบบจนมาก แต่แบบเขาเรียนดีมากอะไรอย่างนี้ค่ะ เขาก็ไม่มีโอกาส เราน่าจะส่งเสริมตรงนี้ให้มากขึ้น" น้อยเสริม

"อย่างพวกตู่โชคดีมีอาจารย์ ถ้ามีอาจารย์อย่างของวงตู่ สักเป็นสิบๆ ล้านๆ คน เด็กๆ ที่ด้อยโอกาสพวกนี้อาจจะมีโอกาส ได้ดีเหมือนพวกเราก็ได้ ก็อยากจะฝากผู้ใหญ่ ได้ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ไม่ว่าจะด้อยในด้านใดด้านหนึ่ง ได้มีโอกาส ได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ เพื่อที่จะได้เป็นอนาคตของชาติต่อไป หรือมันจะต้องมีวิธีใดวิธีหนึ่งผู้ใหญ่ที่เขารู้ แล้วก็หาวิธีที่จะทำให้ ปัญหาพวกนี้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นแบบระยะยาว"

"จริงๆ เขารู้แหละ เรายังรู้เลย ทำไมเขาจะไม่รู้" น้อยตบท้ายการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้

คุณกำลังดู: วันวานยังหวานอยู่ "นกแล" ตำนานวงดนตรีเด็ก ตื้นตัน 40 ปี ยังอยู่ในใจแฟนเพลง

หมวดหมู่: เพลง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด