Wonderfruits 2022 กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ ยกระดับการใช้ชีวิตกับธรรมชาติสู่อีกขั้น
เหล่าวันเดอร์เรอร์มาร่วมงาน Wonderfruits 2022 มากที่สุดเป็นประวัติการณ์
นับเป็นครั้งที่ 7 ของการจัดงานวันเดอร์ฟรุ๊ต หลังหยุดพักไปถึงสองปีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
วันเดอร์ฟรุ๊ตหวนกลับคืนสู่เดอะ ฟิลด์ อีกครั้งในปี 2022 ตามปณิธานในการมุ่งสร้างสรรค์โซลูชันส์ใหม่ๆ ที่เปี่ยมด้วยความหมาย ผ่านการค้นพบ แลกเปลี่ยน เรียนรู้วัฒนธรรมและความแตกต่างจากทั่วทุกมุมโลก วันเดอร์ฟรุ๊ตยังคงเดินหน้าเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมเอาศิลปิน บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ มาแบ่งปันองค์ความรู้ ถ่ายทอดแนวคิด พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนและริเริ่มไอเดียต่างๆ โดยมุ่งเน้นความยั่งยืน การรวมเอาทุกสรรพสิ่งเข้าไว้ด้วยกัน
- วันเดอร์ฟรุ๊ตครั้งที่ 7 กลับมาพร้อมกับแนวคิด ในการสนับสนุนให้ทุกคนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจิตใจ ภายในของตนเองกับธรรมชาติ (Develop a relationship between mind and nature) ซึ่งเป็นรากฐานของทุกสิ่ง
- งานวันเดอร์ฟรุ๊ต ยังคงเน้น 6 เสาหลักสำคัญ อันประกอบด้วย ศิลปะและสถาปัตยกรรม อาหาร ดนตรี
- ทอล์กและเวิร์คช็อป สุขภาพ และ ครอบครัว เสาหลักที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ ทำให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ระหว่างกัน
- ในปีนี้มีการเพิ่มเติมบริเวณ โครงสร้างและอินสตอลเลชันใหม่ อันได้แก่
o Ancestral Forest หรือ ป่าปลูกที่จะกลายเป็นมรดกสืบทอดให้แก่ชุมชนและคนรุ่นหลัง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ SUGi ทีมนักออกแบบแลนด์สเคป นักสร้างสวน-ป่า ที่ใช้เทคนิคมิยาวากิ ซึ่งปลูกป่าให้ใกล้เคียงโครงสร้างตามธรรมชาติของป่ามากที่สุด มีการใช้พืชพันธุ์ท้องถิ่น เพื่อช่วยเร่งอัตราการเจริญเติบโตและทำให้ป่าปลูกสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน กลายเป็นป่าของชุมชนไปในที่สุด
o Open Kitchen ครัวเปิดที่รวบรวมเอาอาหารท้องถิ่น ภูมิปัญญาจากก้นครัว และงานคราฟต์มานำเสนอในอาคารเปิดโล่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคำว่า “แม่ครัว” ผู้ที่ริเริ่มสร้างสรรค์เมนูอาหารให้แก่ทุกคน และ แม่ ที่เปรียบเสมือนต้นกำเนิด เชิดชูเหล่าสตรี แม่ ป้า ย่า ยาย ที่เปรียบเสมือนเสาหลักของครอบครัว โดยใช้วัสดุก่อสร้างเหลือทิ้งจากโรงงานยาสูบและพื้นที่ใกล้เคียง
o Neramit โครงสร้างถาวรที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่โดย บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้ออกแบบ Open Kitchen โครงสร้างเปิดหลังคาทรงจั่วขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้สอดรับกับทิศทางลมและแสงแดดในช่วงวัน ตลอดจนคำนึงถึงพื้นที่ประโยชน์ที่หลากหลาย สามารถใช้จัดโปรแกรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การแสดงดนตรีและดีเจ ฉายภาพยนตร์ รวมถึงเป็นร้านอาหารและบาร์ และโซนพักผ่อน
o ข้างเคียงฟาร์มที่วันเดอร์ฟรุ๊ตตั้งใจปลูกเพื่อไว้เป็นแหล่งอาหาร เป็นที่ตั้งของ Isan Rice Tower หรือ หอข้าว โปรเจกต์ที่เป็นเป็นการร่วมงานระหว่างสตูดิโอสถาปนิกและทีมนักวิจัย ร่วมกับร้านอาหารท้องถิ่นจากจังหวัดขอนแก่นและสกลนคร เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของข้าวไทยกว่า 50 สายพันธุ์ และ ความสัมพันธ์ของข้าวต่อวิถีชีวิตของคนไทยที่มีหลากหลายมิติ ตั้งแต่วัฒนธรรมการกินอยู่ของคนท้องถิ่นที่ใช้น้ำซาวข้าวมาใช้ดองผักและหมักซอส ไปจนถึงการหมักสาโท และการใช้ข้าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด
o Yayoi Kusama’s ‘Flower Obsession (Sunflower)’ ห้องสีเหลืองทรงกลมที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางดงดอกไม้นี้ ถูกหยิบยืมมาจาก Ota Fine Arts โตเกียว เพื่อจัดแสดงความลุ่มหลงในดอกทานตะวัน ของศิลปินชื่อดังเจ้าแม่ลายจุด ยาโยอิ คุซามะ ซึ่งฉายวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวิดีโอภายในห้อง
- ยกระดับเรื่องความยั่งยืน หลังจากจัดงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 นอกจากการสร้างสรรค์โครงสร้างและอินสตอลเลชันจากวัสดุที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ (รียูสและรีไซเคิล) การแยกขยะ รวมถึงการจัดการขยะยังคงเป็นสิ่งที่วันเดอร์ฟรุ๊ตทำอย่างจริงจัง และวันเดอร์เรอร์ที่มาร่วมงานทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ภายในงานทุกคนจะต้องพกแก้วน้ำ ขวดน้ำ และภาชนะรับประทานเครื่องดื่ม-อาหารมาเอง
- ปีนี้ เป็นปีแรกที่มีวันเดอร์เรอร์มาร่วมงานมากที่สุด ตั้งแต่เคยจัดงานมา โดยมีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ยอยู่ที่ 13,000 รายต่อวัน บนพื้นที่กว่า 400 ไร่ที่แบ่งโซนเป็น upper field และ lower field โดย upper field โฟกัสที่อาหารและดนตรี ขณะที่ lower field มุ่งเน้นเวิร์คช็อป แสครทช์ ทอล์ก และการดูแลร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม
- นอกจากนี้ วันเดอร์ฟรุ๊ต ยังได้ร่วมมือกับ Elevation Barn แพลตฟอร์มที่รวบรวมบุคคลผู้มีชื่อเสียง ผู้จัดเวิร์คช็อป หรือ ผู้ที่สามารถพูดสร้างแรงบันดาลใจจากทั่วโลก มาจัด session พิเศษ: WonderBarn ขึ้นเป็นปีแรก ในวันแรกของการจัดงาน
- โดยปกติงานวันเดอร์ฟรุ๊ตจะมีทั้งหมด 5 วัน โดยเริ่มที่เย็นวันพฤหัสบดี แล้วไปสิ้นสุดที่เช้าวันจันทร์ แต่ในปีนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาของวันเดอร์ฟรุ๊ต และเพื่อให้ทุกคนได้อิ่มเอมกับงานอย่างเต็มที่ งานจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าวันพฤหัสบดี ที่ 15 ธันวาคม 2565 ด้วย session พิเศษ: WonderBarn ตั้งแต่เวลา 10.00 น. และไปสิ้นสุดในเวลา 15.00 น. ของวันจันทร์ ที่ 18 ธันวาคม 2565
- จุดเช็คอินในปีนี้ นอกจาก Solar Stage ที่ได้รับการอัปเกรดเป็น Solar Village โดยการเพิ่มพื้นที่ให้คนมาชิลล์รอชมพระอาทิตย์ยามขึ้นและลับขอบฟ้าในแต่ละวันแล้ว ดีไซน์ซุ้มประตูทางเข้าพร้อมตัวอักษรคำว่า Wonderfruit ก็ถูกปรับโฉมเป็นผืนผ้าสีแดงสดที่พลิ้วไหว ล้อกับ Ethos Pavilion ใกล้บริเวณทางเข้างาน ที่ปรับโฉมเติมผ้าเข้าไปบนหลังคา ก็โดดเด่นและอัดแน่นด้วยโปรแกรมสแครท์ช ทอล์ก ที่ทำให้วันเดอร์เรอร์ต้องมาเยือน
- นอกจากความยั่งยืนในเรื่องวิธีการทำงานและการเลือกใช้วัสดุต่างๆ วันเดอร์ฟรุ๊ตยังสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับเหล่าศิลปิน อย่างในงานดีไซน์ MPD Studio ของกัลป์ อดิเรกสาร ได้กลับมาปรับโฉมให้กับ Forbidden Fruit กับ โครงสร้างไม้ไผ่หลังคาทรงคลื่นที่มุงด้วยถุงผ้ากระสอบเหลือใช้ รวมถึงปรับโฉม Theatre Pavilion เป็นครั้งที่ 3 โดยเพิ่มเติมโครงสร้างเข้าไปทะเลสาบ เพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างน้ำ ท้องฟ้าและต้นไม้โดยรอบ ขณะที่ Ab Rogers Design สตูดิโอสถาปนิกจากอังกฤษ ได้ปรับเปลี่ยนดีไซน์ของ Main Entrance, Bath House, Ethos Pavilion, Theatre of Feasts, Creature Stage และ The Quarry
- เช่นเดียวกับทุกปี วันเดอร์ฟรุ๊ต 2022 ก็มีคิวเรทดนตรี ทั้งไลฟ์แบนด์และเหล่าดีเจจากทั่วโลก คอลเลคทีฟดีเจจากทั่วเอเชีย แบ่งตามช่วงเวลาได้แก่ ทีม Rainbow Disco Club (ญี่ปุ่น) ทีม UNKNWN (ฟิลิปปินส์) ทีม Snug (เวียดนาม) และทีมดีเจจาก FuFu Records (ฮ่องกง) ไปจนถึงการแสดงจาก HATARI จากไอซ์แลนด์ที่มาพร้อมโชว์สุดอลังการ
- Sonic Elements โปรเจกต์ซาวด์อินสตอลเลชัน ที่ใช้การบันทึกเสียงธรรมชาติมาประกอบกับโครงสร้างอินสตอลเลชัน สร้างสรรค์ด้วยคอนเซ็ปต์การเข้าถึงธาตุตามธรรมชาติ (ดิน น้ำ โลหะ ไม้) ด้วยเสียงอย่างเต็มอารมณ์ ที่วันเดอร์ฟรุ๊ต ร่วมกับ MSCTY Studio บันทึกเสียงต้นไม้เก่าแก่ มาเปิดให้กับต้นไม้ป่าปลูก Ancestral Forest ในผลงานอินสตอลเลชันธาตุไม้ (Wood) ขณะที่ธาตุดิน (Earth) เปิดเสียงชนพื้นเมืองของประเทศไทย ที่บันทึกเสียงและกำกับโดย Hear & Found เสียงในโซนทะเลสาบ (ธาตุน้ำ) บรรเลงเสียงที่บันทึกจากใต้น้ำของวาฬและคลื่นเสียงของมหาสมุทร โดย Chris Watson เพื่อกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับ วันเดอร์ฟรุ๊ต
Ø Ethos คือ หลักการพื้นฐานที่วันเดอร์ฟรุ๊ตยืดถือ คือ การมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน ด้วยศิลปะ ดนตรี และไอเดีย-ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อค้นหาโซลูชันส์ใหม่ที่เปี่ยมด้วยความหมาย จากการเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิต วัฒนธรรมต่างๆ และธรรมชาติ
Ø ที่วันเดอร์ฟรุ๊ตเรียกเหล่าคนที่มาร่วมงานว่าวันเดอร์เรอร์ (Wonderer) เพราะทุกคนที่มาร่วมงาน ต้องได้สำรวจและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
Ø Live. Love. Wonder. คือ แท็กไลน์ที่วันเดอร์ฟรุ๊ตต้องการให้ทุกคนที่มาร่วมงาน ใช้เป็นหลักในการสรรหาประสบการณ์ใหม่ๆ
Ø วันเดอร์ฟรุ๊ต ไม่ใช่ผู้สรรสร้างงานแต่เพียงผู้เดียว แต่คือผู้ที่รวบรวมเอาศิลปินและผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ มาร่วมสรรสร้างงานในแต่ละครั้ง เปรียบเสมือนเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมเอาครีเอเตอร์จากทั่วโลกมาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนไอเดีย
Ø วันเดอร์ฟรุ๊ต ต้อนรับคนทุกกลุ่ม ทุกความเชื่อ อันนี้หลายคนทราบดี แต่ต้อนรับคนทุกอายุหรือไม่ หลายคนอาจสงสัยว่างานเหมาะกับเด็กและเยาวชนหรือไม่ แต่หนึ่งในเสาหลักของงาน คือ ครอบครัว ดังนั้นจึงมีโซน Camp Wonder ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อทุกคนในครอบครัว Camp Wonder จะรวมเอากิจกรรมและเวิร์คช็อปที่น่าสนใจสำหรับคนทุกวัยไว้ เช่น การทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ การประกอบเครื่องดนตรีด้วยตนเอง เป็นต้น
Ø วันเดอร์ฟรุ๊ตเปิดรับ เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนไอเดียความคิด กับทุกความแตกต่าง จึงให้ความสำคัญกับการเคารพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ วันเดอร์ฟรุ๊ตระวังเรื่องการฉกฉวยทางวัฒนธรรม จึงไม่สนับสนุนการใช้อัตลักษณ์ของคนกลุ่มอื่นเพียงเพื่อเป็นแฟชั่น อย่างเช่น การใส่ขนนก ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชนอินเดียนแดง เป็นต้น
Ø ไลน์อัพศิลปินของวันเดอร์ฟรุ๊ต ไม่เน้นศิลปินระดับแม่เหล็ก แต่เลือกวงดนตรีที่คัดสรรมาแล้วว่าควรค่าแก่การเปิดใจและลองฟังสักครั้งในชีวิต มีตั้งแต่เพลงแนวทดลอง อิเล็กทรอนิกส์สุดล้ำ ไปจนถึงดนตรีท้องถิ่น หมอลำของไทย ตอกย้ำว่าวันเดอร์ฟรุ๊ตไม่ใช่มิวสิค เฟสติวัล แต่คือ “ไลฟ์สไตล์ เฟสติวัล”
Ø Cheese Shack คือ จุดที่ใครทื่ต้องการมาปลดปล่อยใจ และเปิดรับพลังบวก ต้องมา คุณจะได้รับเสียงสนับสนุนจากทุกคนไม่ว่าจะร้องเพลงตรงคีย์หรือไม่ ทุกคนพร้อมมาปลดปล่อยใจและสนุกไปกับเพลงที่คุณเลือก
Ø Theatre of Feasts และ Wonder Kitchen เป็นโซนอาหารที่จะมีคอร์สพิเศษจากเชฟที่มีชื่อเสียง นำเสนอเมนูและคอร์สที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อวันเดอร์เรอร์โดยเฉพาะ โดยวันเดอร์เรอร์ที่จองคอร์สเหล่านี้ จะได้สังเกตเบื้องหลังการปรุงแต่ละคอร์สอย่างใกล้ชิด
Ø โครงสร้างถาวรต่างๆ ภายในงาน หรือ ที่หลายคนเรียกว่า “เวที” ไม่ได้มีแค่ของวันเดอร์ฟรุ๊ตเท่านั้น แต่ยังมีเวทีอีกมากมาย ที่บริหารจัดการร่วมกับสปอนเซอร์งาน อย่าง Ziggurat with Singha, Molam Bus (รถหมอลำ) โดยจิม ทอมป์สัน, The Circle with Jameson และ Moonlight Lounge with SangSom, Vertuo Coffee Bar with Nespresso เป็นต้น
Ø ที่วันเดอร์ฟรุ๊ต ทุกอย่างจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อประโยชน์สูงสุด และการจัดการขยะเป็นเรื่องจริงจัง ด้วยนโยบาย zero-landfill (ไม่สร้างขยะ) กว่า 95% ของขยะถูกจัดการและนำออกจากพื้นที่ การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการจัดการขยะลดลง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2019 และ 2018 ลดลงถึง 93% เป้าหมายของวันเดอร์ฟรุ๊ต งานได้รับเงินบริจาคเพื่อการลดคาร์บอนถึง 200,000 บาท ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นเงินสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าดอยตุง จากนโยบายไม่ใช่ภาชนะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง วันเดอร์เรอร์มากกว่า 50% พกแก้วมาเอง ขณะที่กลุ่มที่เหลือ ซื้อแก้วที่ใช้ซ้ำได้จากงานกว่า 5,456 ใบ ลดขยะแก้วน้ำไปได้กว่า 200,000 ชิ้น
*ข้อมูลเรื่องการจัดการขยะ เป็นข้อมูลจากปี 2019
สรุปความจาก Media Orientation
ที่มาของคอนเซ็ปต์งานในปีนี้: Developing a relation between mind and nature
ถึงแม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เราไม่สามารถจัดงานได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นโอกาสที่เราได้ย้อนกลับมาระลึกถึงสิ่งที่เราเคยทำมาในอดีต จุดที่เรายืนอยู่ในปัจจุบัน และเป้าหมายที่เราต้องการมุ่งไปในอนาคต อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มาและแก่นแท้ของวันเดอร์ฟรุ๊ต หรือจุดเริ่มต้นของเรา ซึ่งก็คือ ความรักที่เรามีให้กับธรรมชาติ นำมาสู่ความตั้งใจในการให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน หรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เรายังได้ตระหนักถึงความสัมพันธ์กับตัวเราเองหรือจิตใจของเรา และในมุมมองของเรา ความสัมพันธ์กับธรรมชาติและจิตใจนั้นเชื่อมโยงถึงกันหมด ในปีนี้วันเดอร์ฟรุ๊ต จึงอยากจะชวนทุกคนมาเชื่อมโยงและใกล้ชิดกับธรรมชาติและจิตใจมากขึ้น ผ่านวัฒนธรรมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี อาหาร แฟชั่น ฯลฯ ที่สามารถสะท้อนถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติและจิตใจของเราเอง จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์งานในปีนี้
ผลตอบรับจากงานในปีนี้
ในปีนี้เรามีวันเดอร์เรอร์มากกว่าปีก่อนๆ โดยมีจำนวนผู้เข้างาน (Unique visitor) ถึง 25,000 คน และมีผู้เข้างานในแต่ละวันเฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 13,000 คน ซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2019 อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังสะท้อนความเป็นนานาชาติ ด้วยผู้เข้าร่วมกว่า 40 ประเทศทั่วโลก โดยมี ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง อเมริกา และ อังกฤษ เป็นกลุ่มหลักของงาน เราพบว่า
วันเดอร์เรอร์มีความหลากหลาย ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ เชื้อชาติ เพศ สอดคล้องกับกิจกรรมที่มีความหลากหลาย เรามี Camp Wonder ที่เหมาะสำหรับเด็กและครอบครัว มีไลน์อัปดนตรีที่ครอบคลุมทุกประเภทตั้งแต่ EDM ไปจนถึง หมอลำ ผู้ที่มาร่วมงานมีความเข้าใจและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการมารวมตัวแบ่งปัน แลกเปลี่ยนไอเดียความคิด และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น
ไฮไลท์ของปีนี้
ความชัดเจนในปีนี้คือการเน้นย้ำอย่างเป็นรูปธรรมถึงคุณค่าหลักและสิ่งที่วันเดอร์ฟรุ๊ตให้ความสำคัญ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรา ธรรมชาติและจิตใจ ผ่านกิจกรรม ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ
อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมี Scratch Talks ที่ช่วยอธิบายรายละเอียดของสิ่งที่มีความเป็นแนวคิด (Conceptual) ให้เข้าใจได้อย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายเรื่อง รอบด้าน ในงานมีความหลากหลายเพิ่มเติมในทุกๆ ส่วน ทั้งด้านดนตรี อาหาร ศิลปะและสถาปัตยกรรม
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างร่างกาย จิตใจและธรรมชาติ คือ ไฮไลท์สำคัญ
นอกจากอินสตอลเลชัน และสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา Ancestral Forest ที่เป็นความร่วมมือระหว่างวันเดอร์ฟรุ๊ต และทีมนักออกแบบแลนด์สเคป-สร้างป่า SUGi ในการสร้างสรรค์ป่าและเชิญชวนวันเดอร์เรอร์มาร่วมปลูก สะท้อนถึงความตั้งใจในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธรรมชาติ ขณะที่วันเดอร์เรอร์ก็ได้สำรวจจิตใจและร่างกายในขณะเดียวกัน
การออกแบบงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม
ในทุกๆ รายละเอียดของงานเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อย่างที่เน้นย้ำหลายครั้งเราให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ การออกแบบสถาปัตยกรรม รวมถึง installation ต่างๆ ภายในงาน ล้วนผ่านการสร้างสรรค์อย่างใส่ใจโดยศิลปินต่างๆ จากทั่วโลก ที่เราได้ทำงานด้วยเพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ งานทุกชิ้นมีการหยิบเอาวัสดุหรือโครงสร้างเดิมกลับมาใช้ใหม่ โดยใส่ไอเดียที่จะสะท้อนแนวคิดทางด้านสังคม เพื่อเน้นย้ำถุึงผลกระทบที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว อย่างในปีนี้ เรามี Open Kitchen พื้นที่ใหม่ในโซนอาหาร ที่ อ. บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกมือรางวัลระดับโลก ได้ชุบชีวิตให้กับไม้เก่าอายุกว่า 30 ปีจากโรงงานยาสูบ กลับมามีชีวิตชีวาในเดอะฟิลด์ ทำหน้าที่เป็นเรือนรับรองที่สะท้อนวิถีชีวิตการรับประทานอาหารของคนไทย ที่มีแรงบันดาลใจมาจากคำว่าแม่ครัว แม่ที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งต่างๆ แม่ที่โอบรับและเปิดกว้างต้อนรับสอดคล้องกับดีไซน์
นอกจาก Scratch Talks ที่รวมคอนเทนต์ด้านความยั่งยืน การสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและโลกในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ตั้งแต่การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม การปรับจิตใจและความคิด ไปจนถึงพฤติกรรมแล้วนั้น หนึ่งในวิธีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่งานได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ การจัดการขยะ (waste management) ที่จริงจังกับการคัดแยกขยะ และการนำไปบริหารจัดการต่อ รวมถึงความร่วมมือจำวันเดอร์เรอร์ลดการสร้างขยะ ด้วยการงดใช้ภาชนะและวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use item) ไปจนถึงการเพิ่มเติมป่าปลูกเข้ามาตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น
อัลบั้มภาพ 28 ภาพ ของ Wonderfruits 2022 กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ ยกระดับการใช้ชีวิตกับธรรมชาติสู่อีกขั้น
คุณกำลังดู: Wonderfruits 2022 กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ ยกระดับการใช้ชีวิตกับธรรมชาติสู่อีกขั้น
หมวดหมู่: เพลง