วิธีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ (อย่างง่าย)
สตาร์ตติดยาก ไดหมุนเอื่อยเหมือนคนกำลังจะขาดใจ หรือบิดกุญแจกดปุ่มสตาร์ตแล้ว เงียบไม่มีอะไรเกิดขึ้น แบตฯไฟหมด ชาร์จยังไงให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม
เมื่อไฟในแบตเตอรี่อ่อนลง ทำให้มีกระแสไฟไม่เพียงต่อการทำงานของไดสตาร์ต กลายมาเป็นปัญหาที่ทำให้สตาร์ตติดยาก หรือไดสตาร์ตหมุนแบบอ่อนแรงจนมีความเร็วรอบไม่พอที่จะทำให้เครื่องยนต์ติดขึ้นมาได้ แบตเตอรี่ทุกชนิดในรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นแบตฯประเภทอะไรก็ตาม ย่อมมีอายุการใช้งาน ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวแปรที่หลากหลาย ทั้งจำนวนการใช้รถ สภาพอากาศ การบำรุงดูแลรักษา ราคา รวมไปถึงประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ลูกนั้น หากมีการดูแลรักษาเป็นประจำ หมั่นตรวจสอบระดับของน้ำกลั่น ไดชาร์จทำงานเต็มประสิทธิภาพ แบตฯลูกนั้นก็จะอยู่รับใช้ได้นานกว่าแบตฯที่ขาดการดูแลตรวจเช็กให้ระดับของน้ำกลั่นอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด สิ่งที่คุณควรมีติดรถเอาไว้ก็คือ สายพ่วงแบตเตอรี่ ซึ่งช่วยให้เอาตัวรอดกลับถึงบ้านได้หากไฟในแบตเตอรี่เกิดหมดขึ้นมา หรือเหลืออยู่น้อยจนไม่พอที่จะปั่นไดสตาร์ตให้หมุนตามรอบที่ต้องการเพื่อสตาร์ตเครื่องยนต์
เมื่อแบตเตอรี่ในรถเกิดไฟหมด มักจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
1. แบตเตอรี่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเก็บไฟได้อีกต่อไป
หรือหมดอายุการใช้งาน
2. ไดชาร์จทำงานผิดปกติ เสียหรือทำงานบกพร่อง
ทำให้ประจุไฟเข้าไปยังแบตเตอรี่ได้น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
หรือไดชาร์จพังจนไม่สามารถประจุไฟเข้าแบตฯ ได้
วิธีแก้ไขเฉพาะหน้า หากแบตฯเกิดไฟหมดไม่สามารถสตาร์ตรถได้ สิ่งที่ต้องเตรียมมี 2 อย่าง คือสายพ่วงแบตเตอรี่ และรถยนต์อีกคันที่มีแบตเตอรี่สภาพดี (คันที่มาช่วยเหลือเพื่อพ่วงแบตเตอรี่)
-นำรถรถยนต์คันที่จะมาช่วยเหลือมาจอดใกล้ๆ
เพื่อต่อสายพ่วงแบตเตอรี่
-ตรวจสอบว่าแบตเตอรี่ของรถยนต์คันที่มาช่วยเหลือว่าเป็นชนิด 12 โวลต์
และมีบริเวณกราวด์ที่สามารถพ่วงกับขั้วลบของแบตเตอรี่ได้
-ดับเครื่องยนต์ และปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในรถ
-เปิดฝากระโปรงหน้า
และปลดสวิตช์ที่บริเวณเบาะคนนั่งเพื่อเปิดฝาห้องเครื่องยนต์
-การเข้าถึงแบตเตอรี่ขึ้นอยู่กับรถยนต์แต่ละรุ่น ส่วนใหญ่
มักจะอยู่ด้านหน้าติดกับเครื่องยนต์
บางรุ่นแบตเตอรี่อาจถูกติดตั้งอยู่ที่บริเวณฝาท้าย
หรืออยู่ใต้เบาะนั่ง
-เปิดฝาครอบกล่องฟิวส์พร้อมเปิดฝาครอบขั้วบวกในฝาครอบกล่องฟิวส์ในห้องเครื่อง
และเปิดฝาครอบขั้วลบที่บริเวณใกล้กับตัวถัง
-เชื่อมต่อสายพ่วงแบตเตอรี่เส้นสีแดง (เส้นที่ใช้ขั้วบวก)
กับขั้วบวกของรถที่แบตเตอรี่หมด
-เชื่อมต่อสายพ่วงแบตเตอรี่เส้นสีแดง (เส้นที่ใช้ขั้วบวก)
กับขั้วบวกกับรถคันที่มาช่วยเหลือ
-เชื่อมต่อสายพ่วงแบตเตอรี่เส้นสีดำ (เส้นที่ใช้ขั้วลบ)
ที่ฝั่งรถคันที่มาช่วยเหลือแล้วจึงเชื่อมต่อกับอีกฝั่งหนึ่งที่บริเวณที่มั่นคง
และไม่หลุดง่ายที่ตัวถังรถ หรือจุดที่เป็นโลหะของขั้วแบตเตอรี่
-สตาร์ตเครื่องยนต์คันที่มาช่วยเหลือก่อนเพื่อทำการชาร์จกระแสไฟไปสู่คันที่แบตเตอรี่หมดผ่านสายพ่วง
และปล่อยทิ้งไว้สัก 3-5 นาที
เมื่อรถคันที่แบตหมดสามารถสตาร์ตได้แล้วจึงเริ่มถอดสายพ่วงแบตเตอรี่ออกโดยให้เริ่มต้นจากสายสีดำก่อน
แล้วจึงถอดสายสีแดง
และในขณะถอดต้องระมัดระวังไม่ให้ขั้วของสายพ่วงสัมผัสกัน
นำรถที่พ่วงแบตเตอรี่สำเร็จแล้วออกไปขับหรือปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานทิ้งไว้อย่างน้อย
20 นาที เพื่อเป็นการการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่
หลังจากนั้นควรตรวจสอบการทำงานของแบตฯ ไดชาร์จ และไดสตาร์ต
ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมทำงานหรือไม่
แบตเตอรี่รถยนต์มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ
1. แบตเตอรี่แบบแห้ง (Maintenance Free) เป็นแบตฯ ที่มีราคาแพงกว่าแบตเตอรี่ที่ต้องหมั่นตรวจสอบระดับน้ำกลั่น แบตฯแบบ Maintenance Free ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรกันให้มากเรื่อง เนื่องจากไม่ต้องเติมน้ำกลั่น แบตฯ ชนิดแห้งมีความทนทานและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า แต่ข้อเสียก็คือ มีราคาที่สูงกว่าแบตฯ แบบเปียกอยู่พอสมควร แบตเตอรี่แบบแห้งนี้จะมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าแบตฯ แบบอื่น อายุการใช้งานของมันเฉลี่ยประมาณ 5-10 ปี แบตเตอรี่แบบแห้งไม่มีฝาปิด-เปิดสำหรับเติมน้ำกลั่น ตัวแบตเตอรี่ถูกซีลทับทั้งลูก แต่บางยี่ห้อมีช่องไว้สำหรับไว้คอยตรวจเช็กระดับน้ำกรด และระดับไฟที่กักเก็บอยู่ภายใน เมื่อไฟหมดก็สามารถทำไปชาร์จอัดประจุไฟกลับเข้าแบตฯได้ (หากแบตฯลูกนั้นยังไม่หมดอายุการใช้งาน)
2. แบตเตอรี่แบบเปียก เป็นแบตฯ ที่รถยนต์ส่วนใหญ่นิยมใช้ แบตฯแบบเปียกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่ต้องเติม และดูแลน้ำกลั่นบ่อยๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ครั้ง กับแบบไม่ต้องดูแลบ่อย (Maintenance Free) ซึ่งจะกินน้ำกลั่นน้อยมาก โดยทั้ง 2 แบบนี้จะมีฝาปิด-เปิดสำหรับเติมน้ำกลั่น ในแบบแรกนี้จะมีอายุการใช้งานโดยประมาณ 1.5-2 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งาน และการดูแลรักษา ถ้ามีการดูแลรักษาอยู่สม่ำเสมอก็จะทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อแบตฯ เกิดหมดอายุการใช้งานก็สมควรที่จะเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ได้เลย สำหรับแบตเตอรี่แบบเปียกนั้นมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3-4 ปี แต่บางยี่ห้อแค่ 2 ปีก็พังชาร์จไฟไม่เข้าซะแล้ว
การชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ หรือการประจุไฟเข้าไปในแต่ละครั้งนั้น ควรจะเลือกใช้การชาร์จอย่างช้าเอาไว้ และทิ้งไว้ซักประมาณ 5-10 ชั่วโมง โดยเฉพาะในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพได้ช้าลง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น แต่ตามร้านที่เปลี่ยนแบตเตอรี่โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีชาร์จเร็วเพื่อรีบให้บริการลูกค้าซึ่งจะใช้เวลาน้อยเกินไป ควรชาร์จไฟทิ้งข้ามคืนไว้อย่างน้อย 10 ชั่วโมง ข้อควรระวังในการทำงานกับแบตเตอรี่ เนื่องจากในแบตเตอรี่รถยนต์นั้นมีสารเคมีอยู่ภายใน เช่น สารตะกั่ว น้ำกรด เป็นต้น ดังนั้นในการทำงานกับแบตเตอรี่ เช่น การเติมน้ำกลั่นหรือชาร์จไฟ ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
แบตฯ ที่ต้องเติมน้ำกลั่น ครั้งแรกที่ซื้อแบตฯ ใหม่ทางร้านจะเติมกรดและทำการประจุหรือชาร์จไฟให้แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่การกระทำดังกล่าวบางครั้งก็ทำให้แบตฯ เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ บางครั้งแค่ปีเดียวก็เสื่อมสภาพแล้วเนื่องจากการเติมกรดครั้งแรกควรจะทิ้งไว้ราว 1-2 ชั่วโมงก่อนที่จะนำไปประจุหรือชาร์จไฟเพื่อให้แผ่นธาตุทำปฏิกิริยากับกรดอย่างเต็มที่ก่อน และการประจุหรือชาร์จไฟนั้นควรใช้แบบกระแสต่ำชาร์จนานๆ แต่ทางร้านส่วนใหญ่มักจะใช้กระแสสูงและชาร์จเร็วเพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าเป็นลักษณะนี้แค่เติมกรดแล้วทิ้งไว้สองชั่วโมงจากนั้นนำมาติดตั้งในรถเพื่อใช้ไฟจากรถเป็นตัวประจุหรือชาร์จยังจะดีเสียกว่า
เลือกซื้อแบตฯ ที่มีตาแมวหรือช่องสำหรับดูค่าความถ่วงจำเพาะ หรือสถานะของแบตเตอรี่เพราะราคาก็แพงกว่าชนิดที่ไม่มีช่องดูไม่เท่าไร แต่ช่องตาแมวดังกล่าวสามารถบอกเราได้ว่าสถานะแบตเตอรี่ขณะนั้นเป็นอย่างไร เช่น ไฟเต็ม-ไฟอ่อน-ต้องถอดไปประจุหรือไม่มีไฟ ถ้าเป็นแบบที่ไม่มีช่องดูเวลาเกิดปัญหาที่ต้องวิเคราะห์เกี่ยวกับระบบไฟจำต้องใช้เครื่องมือวัดค่าความถ่วงจำเพาะมาตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยมีร้านซ่อมซื้อมาใช้ แต่อาจจะเหมาลอยๆ ได้เลยว่าแบตฯ เสียต้องเปลี่ยนแบตฯ แต่ถ้ามีตาแมวให้ดูเราสามารถแย้งได้เลยว่าแบตฯ ไฟเต็ม จะว่าแบตฯ เสียนั้นไม่ใช่แน่ๆ.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/
คุณกำลังดู: วิธีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ (อย่างง่าย)
หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์