วิธีใช้ “น้ำตาเทียม” ให้ถูกต้อง ลดเสี่ยง “ตาแห้ง”
หากตาแห้ง จักษุแพทย์แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมเป็นประจำ แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธีเพื่อเลี่ยงอันตราย
จักษุแพทย์แนะ หากมีอาการ น้ำตาไหล ตาแดง คันตา ตามัว หรือเคืองตา ปวดตาอย่างรุนแรง หลังจากการใช้น้ำตาเทียม ควรหยุดใช้ และรีบพบจักษุแพทย์ทันที
น้ำตาเทียม คืออะไร ?
นายแพทย์มานัส โพธาภาณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า น้ำตาเทียมถูกผลิตขึ้นเพื่อนำมาใช้หล่อลื่นลูกตา มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติ ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง แสบตา หรือไม่สบายตา ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการใช้สายตามาก หรือตาแห้ง
นอกจากนี้ น้ำตาเทียมอาจนำมาใช้เพื่อหล่อลื่นลูกตาสำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ อย่างไรก็ตามการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และข้อควรระวังในการใช้ ดังนั้นผู้ใช้ควรปรึกษาจักษุแพทย์ และอยู่ภายใต้คำแนะนำ ตลอดจนปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างรอบคอบ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไปและไม่ควรใช้นานเกินเพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
>> ใช้ “คอนแทคเลนส์” แล้วไม่ใช้ “น้ำตาเทียม” อันตรายหรือไม่ ?
ประเภทของน้ำตาเทียม
แพทย์หญิงสายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมที่วางจำหน่ายมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่
- ชนิดขวด มีสารกันเสีย มีอายุ 1 เดือน
(หลังเปิดใช้)
- ชนิดขวด มีสารกันเสียที่สลายได้ มีอายุ
1 เดือน (หลังเปิดใช้)
- ชนิดแบบกระเปาะเล็กไม่ใส่สารกันเสีย
อายุการใช้ 1 วัน (หลังเปิดใช้)
- ชนิดเจล ขี้ผึ้ง (แบบป้ายตา) มีอายุ 1 เดือน (หลังเปิดใช้)
ส่วนมากแพทย์แนะใช้เวลาก่อนนอน แต่สามารถใช้เมื่อรู้สึกตาแห้งระหว่างวันได้
วิธีการใช้น้ำตาเทียมที่ถูกต้อง
การใช้น้ำตาเทียมควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของจักษุแพทย์และควรใช้ตามคำแนะนำบนฉลากอย่างรอบคอบ แต่โดยทั่วไปมีวิธีใช้น้ำตาเทียมอย่างปลอดภัย ดังนี้
-
ควรล้างมือให้สะอาดก่อนใช้น้ำตาเทียม
- เงยหน้าให้อยู่ในตำแหน่งที่ถนัด
จากนั้นดึงเปลือกลงเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับหยอดน้ำตาเทียม
- หากเป็นชนิดขวด
หรือชนิดหลอดยาขี้ผึ้งแบบป้าย ควรให้ปลายหลอดยาป้าย
หรือปลายขวดน้ำตาเทียมห่างจากดวงตาพอประมาณ
- ค่อย ๆ หยดลงไป โดยทั่วไปใช้ประมาณ 1
หยด ระหว่างที่หยดให้เหลือบตามองบน
-
หลังจากหยดน้ำตาเทียมให้หลับตาไว้ประมาณ 1-2 นาที
ไม่หรี่ตาหรือกะพริบตาเพื่อไม่ให้น้ำตาเทียมไหลออกจากตาเร็วเกินไป
-
เช็ดน้ำตาเทียมส่วนที่ไหลออกด้วยสำลีหรือผ้าสะอาด
- ควรระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดน้ำตาเทียมสัมผัสกับดวงตา ผิวหน้า หรือส่วนใดของร่างกาย เพราะอาจทำให้ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดการติดเชื้อได้
ทั้งนี้ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมมีวางจำหน่ายหลากหลายชนิดยี่ห้อ ดังนั้น หากเคยมีประวัติอาการแพ้น้ำตาเทียม ควรหลีกเลี่ยงหรือปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนการใช้ หรือมีความผิดปกติ เช่น น้ำตาไหล ตาแดง คันตา ตามัว หรือเคืองตา ปวดตา ควรหยุดใช้ทันทีและรีบพบจักษุแพทย์
น้ำตาเทียมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์
สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ แนะควรใช้ชนิดไม่มีสารกันเสียชนิดแบบกระเปาะเล็กใช้ได้ 1 วัน และถ้ามีความจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมร่วมกับยาหยอดตาอื่น ๆ ควรเว้นให้ห่างกันประมาณ 5-10 นาที เพื่อประสิทธิภาพของยา
ที่สำคัญน้ำตาเทียมทุกชนิด เมื่อหมดอายุแล้วควรทิ้งทันทีห้ามน้ำกลับมาใช้ และควรเก็บน้ำตาเทียมไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่อยู่ในที่แสงแดดจัด และไม่จำเป็นต้องแช่ตู้เย็น
คุณกำลังดู: วิธีใช้ “น้ำตาเทียม” ให้ถูกต้อง ลดเสี่ยง “ตาแห้ง”
หมวดหมู่: สุขภาพ