วิธีดูแลตัวเอง หลัง "ผ่าตัดมดลูก"
หลังผ่าตัดมดลูกแล้ว ควรปรับไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสม
การผ่าตัดมดลูก เป็นวิธีรักษาโรคในผู้หญิงบางชนิด เช่น ภาวะมดลูกหย่อน มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และหลังผ่าตัดมดลูก แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น เพื่อให้คุณสามารถรับมือกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้ว หลังผ่าตัดมดลูก คุณควรปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างไรบ้าง Hello คุณหมอ จะพาคุณไปหาคำตอบจากบทความนี้กันเลย
ทำความเข้าใจ การผ่าตัดมดลูก
การผ่าตัดมดลูกคืออะไร
การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) คือ การผ่าตัดเอามดลูกออกจากร่างกาย เพื่อรักษาภาวะสุขภาพบางประการ หลังผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะไม่สามารถมีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์ได้ และหากเป็นการผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างกับท่อนำไข่ออกไปด้วย ก็จะทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทองนั่นเอง
การผ่าตัดมดลูกมีด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่
- การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออก (Total Hysterectomy) ส่วนรังไข่และท่อนำไข่อาจถูกผ่าตัดออกหรือไม่ก็ได้ ถือเป็นการผ่าตัดมดลูกประเภทที่นิยมที่สุด
- การตัดออกเฉพาะมดลูก (Supracervical Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนบนของมดลูกออก แต่คงเหลือปากมดลูกไว้ ส่วนรังไข่และท่อนำไข่อาจถูกผ่าตัดออกหรือไม่ก็ได้
- การผ่าตัดมดลูกแบบกว้างหรือผ่าตัดแบบถอดรากโคน (Radical Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเอามดลูก ปากมดลูก เนื้อเยื่อปากมดลูกทั้งสองข้าง และส่วนบนของช่องคลอดออก ส่วนรังไข่และท่อนำไข่อาจถูกผ่าตัดออกหรือไม่ก็ได้ การผ่าตัดมดลูกประเภทนี้นิยมใช้ในการรักษามะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก ทำไมถึงต้องผ่าตัดมดลูก
ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงบางคนต้องเข้ารับการผ่าตัดมดลูกนั่นมีอยู่หลายประการ เช่น
- มีเนื้องอกในมดลูกที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา เช่น อาการปวด เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
- มดลูกหย่อน
- เป็นมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่
- เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- มีภาวะเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
- มีภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง
ส่วนใหญ่แล้ว หากเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่มะเร็ง แพทย์มักจะทำการรักษาด้วยวิธีอื่นก่อน หากลองทุกวิธีแล้วไม่ได้ผล จึงจะตัดสินใจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูก
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดมดลูกที่อาจเกิดขึ้นได้
การผ่าตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดใหญ่ ที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลังผ่าตัดบางประการได้ เช่น
- ทำให้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หากผ่าตัดเอารังไข่ออกไปด้วย ก็จะทำให้คุณไม่สามารถมีประจำเดือนได้อีกต่อไป และเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน รวมถึงอาจมีอาการอื่นๆ ของภาวะวัยหมดประจำเดือนด้วย
- ความต้องการทางเพศเปลี่ยนไป หลังผ่าตัดมดลูก ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการช่องคลอดแห้ง หรือมีความต้องการทางเพศน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อผ่าตัดรังไข่ออกไปด้วย เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพบางประการ
- หากผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออกไป อาจทำให้คุณเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพบางประการได้ เช่น การสูญเสียมวลกระดูก โรคหัวใจ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือภาวะปัสสาวะเล็ด
- มีความรู้สึกสูญเสีย เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงไป และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ก็อาจทำให้ผู้หญิงบางคนรู้สึกเสียใจ หรือซึมเศร้าได้
- หากหลังผ่าตัดมดลูก คุณมีอาการของโรคซึมเศร้า เช่น ไม่อยากอาหาร ไม่สนใจสิ่งที่เคยชอบ รู้สึกเศร้า รู้สึกไร้เรี่ยวแรง นานเกิน 2-3 สัปดาห์ โปรดปรึกษาแพทย์ทันที
ไลฟ์สไตล์ที่เหมาะสม หลังผ่าตัดมดลูก
หลังผ่าตัดมดลูก คุณควรปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น เช่น ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ดีต่อสุขภาพ นอนหลับให้เพียงพอ รักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนหลังผ่าตัดมดลูก โดยคุณสามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ได้ ด้วยเคล็ดลับดังต่อไปนี้
- รู้จักผ่อนคลายบ้าง
การเคร่งเครียดกับการทำงานหรือการใช้ชีวิตมากเกินไป อาจก่อให้เกิดความเครียดสะสมได้ ฉะนั้น สิ่งแรกที่คุณควรทำก็คือ จัดสมดุลในการใช้ชีวิตให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว หากคุณรู้สึกว่าตัวเองทำกิจกรรมใดนานเกินไป จนเริ่มบั่นทอนสุขภาพจิต หรือทำให้เครียด ก็ควรหยุดพัก เพื่อทำกิจกรรมคลายเครียดบ้าง เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ปลูกต้นไม้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้าและความเครียดที่เจอในแต่ละวัน โดยทั่วไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เรานอนหลับวันละ 7-9 ชั่วโมง แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย หากวันไหนที่คุณรู้สึกอ่อนเพลียมาก อาจพักงีบหลับในช่วงกลางวันได้ แต่ไม่ควรเกินครั้งละ 30 นาที และไม่ควรงีบหลับในช่วงเย็นหรือช่วงใกล้เข้านอน เพราะอาจรบกวนรอบการนอนหลับตามปกติได้
- กินอาหารให้หลากหลาย
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า หลังผ่าตัดมดลูก คุณควรกินอาหารให้หลากหลายและหลากสี ทั้งผักสีเขียว แดง ส้ม ขาว และม่วง โดยเน้นกินอาหารจากธรรมชาติอย่างผักและผลไม้ที่ผ่านกระบวนการนอนที่สุดหรือไม่ผ่านกระบวนการเลย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารประกอบจากพืช หรือที่เรียกว่า ไฟโตนิวเทรียนต์ (Phytonutrient) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันโรคเรื้อรังบางชนิดได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง
- รับประทานไฟเบอร์ให้เพียงพอ
อาการข้างเคียงหลังผ่าตัดมดลูกที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ อาการท้องผูก แพทย์จึงมักจ่ายยาแก้ท้องผูกให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด แต่คุณเองก็สามารถบรรเทาอาการนี้ด้วยการกินอาหารที่มีไฟเบอร์ได้ด้วย เพราะไฟเบอร์จะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ง่ายขึ้น และช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง คุณจึงถ่ายอุจจาระได้สะดวกขึ้น โดยคุณสามารถหาไฟเบอร์ได้จากธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น โอ๊ตมีล ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ รวมถึงผักและผลไม้ เช่น ลูกแพร์ ผักใบเขียว อะโวคาโด
- ดื่มน้ำให้มากๆ
แม้ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำให้ผู้ที่ผ่าตัดมดลูกเพิ่มปริมาณไฟเบอร์ให้มากขึ้น แต่การได้รับไฟเบอร์มากเกินไปก็สามารถส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อยได้ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว คุณจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอ นั่นคืออย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน หรือกินผักและผลไม้ประเภทฉ่ำน้ำ เช่น แตงโม แตงกวา แคนตาลูป มะเขือเทศ
- กินแคลเซียมให้พอดี
ผู้ใหญ่ต้องการแคลเซียม (Calcium) อย่างน้อยวันละ 800 มิลลิกรัม และควรรับวิตามินดีให้เพียงพอด้วย เพื่อให้กระดูกและฟันแข็งแรง โดยผู้ที่ผ่าตัดมดลูกควรได้รับแคลเซียมจากนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวประเภทโลว์แฟต หรือไขมันต่ำ น้ำส้ม บรอกโคลี ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น หรือจะกินอาหารเสริมแคลเซียมก็ได้ แต่แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจกินวิตามินและอาหารเสริม และคุณก็ต้องไม่ลืมไปตรวจความหนาแน่นของกระดูกเป็นประจำด้วย
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำก่อนผ่าตัดมดลูก จะใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดมดลูกน้อยกว่า และสามารถกลับไปทำกิจกรรมทางกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical Activities) ได้เร็วกว่าผู้หญิงที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย แต่ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังผ่าตัดนั้นก็แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ผู้หญิงบางคนอาจกลับไปออกกำลังกายได้หลังจากผ่าตัดมดลูกเพียงแค่ 2-3 สัปดาห์ ในขณะที่บางคนก็อาจต้องรอเป็นเดือน แนะนำว่า ก่อนตัดสินใจกลับไปออกกำลังกาย คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อน แพทย์จะได้แนะนำรูปแบบและความเข้มข้นในการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้กับคุณได้
คุณกำลังดู: วิธีดูแลตัวเอง หลัง "ผ่าตัดมดลูก"
หมวดหมู่: สุขภาพ