"แอสปาร์แตม" น้ำตาลเทียม ที่มาพร้อมความเสี่ยงสุขภาพ

ใครว่าน้ำตาลเทียมประเภทแอสปาร์แตมจะดีต่อสุขภาพเสมอไป

"แอสปาร์แตม" น้ำตาลเทียม ที่มาพร้อมความเสี่ยงสุขภาพ

หลายคนน่าจะรู้กันแล้วว่าน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาว หากกินมากเกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือประมาณ 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชา จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ หลายคนจึงเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือเลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ระบุว่า “ไม่มีน้ำตาล” แทน ซึ่งสารให้ความหวานที่นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ประเภทไม่มีน้ำตาล หรือคนมักซื้อมาเติมความหวานให้อาหารและเครื่องดื่ม ก็คือ แอสปาร์แตม หรือน้ำตาลเทียม ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน และสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คุณคิด


แอสปาร์แตม คืออะไร?

แอสปาร์แตม (Aspartame) เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่นิยมนำมาให้เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่ม และสามารถพบได้บ่อยที่สุดในท้องตลาด ทำมาจากกรดแอสปาร์ติก (Aspartic Acid) และฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนตามธรรมชาติผสมกับเมทิลเอสเทอร์ (Methyl Ester) โดยกรดแอสปาร์ติกนั้นเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถผลิตเองได้ ส่วนฟีนิลอะลานีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น แอสปาร์แตมเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะย่อยสลายเป็นเมทานอล (Methanol) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเผยว่า หากร่างกายได้รับเมทานอลในปริมาณมากเกินไปก็อาจเป็นพิษได้ เนื่องจากเมทานอลอาจเปลี่ยนเป็นสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ


การบริโภคแอสปาร์แตม มีผลข้างเคียงอะไรไหม?

จากข้อมูลของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) เผยว่า แอสปาร์แตมนั้นหวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า ฉะนั้น ร่างกายจึงควรได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยปริมาณที่แนะนำต่อวัน ได้แก่

องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (United States Food and Drug Administratio หรือ FDA) แนะนำว่า ไม่ควรเกิน 50 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority หรือ EFSA) แนะนำว่า ไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

แม้หน่วยงานส่วนใหญ่จะระบุว่า คนส่วนใหญ่สามารถบริโภคแอสปาร์แตมได้อย่างปลอดภัย หากไม่เกินปริมาณที่แนะนำ แต่จากรายงานเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากการบริโภควัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้บริโภคบางราย มีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ มีอาการชา กล้ามเนื้อกระตุก ผื่นคัน น้ำหนักขึ้น อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจลำบาก ปวดข้อ สูญเสียการรับรส และหากเราใส่แอสปาร์แตมในอาหารที่ร้อนจัด ความร้อนก็จะไปทำลายโครงสร้างของน้ำตาล จนอาจกลายเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งได้ด้วย

จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ของแอสปาร์แตมโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ก็พบว่าผู้ที่มีโรคเรื้อรังบางประการ อาจต้องเลี่ยงแอสปาร์แตม เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว หรือ ทำให้อาการแย่ลงได้


โรคเรื้อรังที่ควรเลี่ยงแอสปาร์แตม

  • เนื้องอกในสมอง

  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis)

  • โรคลมชัก

  • กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

  • โรคพาร์กินสัน

  • โรคอัลไซเมอร์

  • ภาวะปัญญาอ่อน

  • โรคเบาหวาน

  • โรคฟินิลคีโตนูเรีย ยิ่งต้องห้ามบริโภคแอสปาร์แตม หรือน้ำตาลเทียมนี่เด็ดขาด เพราะร่างกายจะไม่สามารถเผาผลาญฟีนิลอะลานีนซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลักของแอสปาร์แตมได้


อาหาร “Sugar-free” ก็อาจมีแอสปาร์แตม

อาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดที่ระบุว่า “Sugar-free” หรือ “ไม่มีน้ำตาล” นั่นหมายถึง อาหารและเครื่องดื่มนั้นๆ ไม่ได้เติมน้ำตาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้เติมสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ และแอสปาร์แตมก็เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่นิยมนำมาใช้ คุณจึงสามารถพบแอสปาร์แตมได้ในอาหารและเครื่องดื่มแบบไม่มีน้ำตาลต่างๆ มากมาย เช่น

  • น้ำอัดลมแบบไดเอท

  • ไอศกรีมแบบไม่มีน้ำตาล

  • น้ำผลไม้แคลอรี่ต่ำ

  • หมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล

  • โยเกิร์ตไม่เติมน้ำตาล

  • ลูกอมไม่มีน้ำตาล

นอกจากจะหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ระบุว่ามีส่วนผสมของแอสปาร์แตมแล้ว คุณก็ควรสังเกตคำว่า “ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine)” บนผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะบางครั้งแอสปาร์แตมก็อาจใช้ชื่อนี้แทน และนอกจากอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้แล้ว คุณก็อาจจะพบแอสปาร์แตมในรูปแบบเดียวกับน้ำตาลซอง หรือน้ำตาลก้อนได้ด้วย


ติดหวาน ใช้อะไรแทนแอสปาร์แตมดี

หากคุณอยากเพิ่มความหวานให้กับเครื่องดื่มหรืออาหารที่รับประทาน เราแนะนำให้คุณใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานจากธรรมชาติเหล่านี้ แทนแอสปาร์แตม

  • น้ำผึ้ง

  • น้ำเชื่อมเมเปิ้ล หรือเมเปิ้ลไซรัป

  • น้ำผลไม้คั้นสด

  • หญ้าหวาน

  • แบล็กสแตรป

  • โมลาส (Blackstrap molasses) หรือกากน้ำตาลที่มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 50-60%


แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นความหวานจากธรรมชาติ แต่คุณก็ควรบริโภคในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของร่างกาย เช่น น้ำผึ้ง ควรกินวันละประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ รวมแล้วต้องไม่เกิน 5 ช้อนโต๊ะต่อวัน จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำตาลเกิน และน้ำหนักเกิน เนื่องจากสารให้ความหวานส่วนใหญ่มักมีปริมาณแคลอรี่สูง

คุณกำลังดู: "แอสปาร์แตม" น้ำตาลเทียม ที่มาพร้อมความเสี่ยงสุขภาพ

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว