เอาตัวรอดอย่างไร เมื่อไปเที่ยวแล้วที่พักเกิดเหตุเพลิงไหม้
ไฟไหม้ หรืออัคคีภัย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความสูญเสีย อาจทั้งชีวิตและทรัพย์สินเลยก็ว่าได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะมีระบบป้องกันที่ดีอย่างไรก็ตาม หากประมาทหรือหละหลวมในการระมัดระวัง
ด้วยเหตุไฟไหม้จะเกิดขึ้นเมื่อไรไม่มีใครรู้ แม้กระทั่งเวลาที่เราไปเที่ยวแล้วต้องเข้าพักตามโรงแรม รีสอร์ต หรือที่พักประเภทต่าง ๆ แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นจะไม่ได้มีมากหรือบ่อยก็ตาม จึงจำเป็นต้องมีการป้องกันในขั้นต้นไว้บ้าง เช่น หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่เสมอ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเป็นต้นเหตุไฟฟ้าลัดวงจร เก็บวัสดุที่ติดไฟง่ายหรือสามารถเป็นเชื้อเพลิงให้ดี เรียนรู้วิธีการใช้ถังดับเพลิง หากอยู่ตามอาคารสูง ควรสังเกตทางหนีไฟ และตำแหน่งที่เก็บอุปกรณ์ช่วยเหลือไว้บ้าง อย่าละเลยการซ้อมหนีไฟ และเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อเอาตัวรอดให้ได้หากตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้จริง ๆ
1. สำรวจสถานที่ที่ติดตั้งถังดับเพลิง มองหาสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ สปริงเกอร์น้ำดับเพลิงติดเพดาน และทางออก/บันไดฉุกเฉิน
โดยปกติแล้ว ตามอาคารอย่างโรงแรมหรือรีสอร์ต ล้วนแล้วแต่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยจากไฟไหม้ไว้อยู่แล้ว เพราะมีกฎหมายบังคับ แต่เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง เวลาที่เข้าพักในโรงแรม รีสอร์ต หรือที่พักอื่น ๆ ก็ควรมองหาสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ สปริงเกอร์น้ำดับเพลิงติดเพดาน ว่ามีติดตั้งไว้หรือไม่ ถ้ามี หากเกิดเหตุขึ้นความเสียหายก็อาจจะน้อยลง เพราะมีระบบป้องกันภัยอย่างดี ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความไม่ประมาท อย่าลืมสำรวจสถานที่ที่ติดตั้งถังดับเพลิง และทางออก/บันไดฉุกเฉินไว้ด้วยก็ดีว่าอยู่ตรงไหน ต้องใช้เวลาแค่ไหนในการวิ่งไปถึงหากมีเหตุให้ต้องใช้งานจริง ๆ อย่างน้อยที่สุดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถเอาตัวรอดได้
2. อย่าเพิกเฉยสัญญาณเตือนของเหตุเพลิงไหม้ แม้เพียงเล็กน้อย
ส่วนใหญ่แล้วก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้รุนแรง มันย่อมมีสัญญาณเตือนภัยบางอย่าง เช่น เสียงระเบิด กลิ่นไหม้ ควันไฟเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือแม้แต่เปลวเพลิงเล็ก ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดสัญญาณเตือนไฟไหม้ด้วยซ้ำ แต่ผู้คนส่วนมากก็มักจะนิ่งนอนใจ คิดว่าคงไม่เป็นอะไร ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เมื่อทุกคนคิดแบบนี้กันหมดจึงไม่มีใครสนใจสัญญาณเตือนเล็ก ๆ น้อย ๆ นั่น จนในที่สุดมันก็เริ่มลุกลามใหญ่โต และกลายเป็นโศกนาฏกรรม ดังนั้น จงรู้ไว้ว่าไฟสามารถลุกลามได้รวดเร็วกว่าที่คิด ยิ่งถ้ามีสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงบริเวณต้นเพลิงด้วยล่ะก็ ไม่เกิน 10 นาทีก็หนียากแล้ว
เพราะฉะนั้น อย่าละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อมีสัญญาณว่าจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ และถ้าได้ยินเสียงสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ให้ตั้งสติแล้วรีบหนีทันที อย่าลังเล หรือถ้าคุณเป็นคนที่เห็นต้นเพลิง อย่ามองข้ามเด็ดขาด รีบดึง หรือกดสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่กล่องแดงทันทีที่พบเหตุเพลิงไหม้ แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม
3. ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนกจนเกินเหตุ
ในหลาย ๆ สถานการณ์ไม่คาดฝัน คนที่เอาชีวิตรอดออกมาได้ มักเป็นคนที่สามารถตั้งสติและทำอะไรตามขั้นตอนได้ แม้ว่าตัวเองจะตกใจมากก็ตาม ดังนั้น เมื่อเจอเข้ากับสถานการณ์ไฟไหม้ ตกใจแค่ไหนก็ต้องตั้งสติเข้าไว้ อย่าตื่นตระหนกจนทำอะไรไม่ถูก พยายามหยิบฉวยเอาสิ่งที่จำเป็นติดตัวไปด้วย อย่างกระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์มือถือ (ทางที่ดีควรวางไว้ในจุดเดียวกันเสมอ) จากนั้นพาตัวเองออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ระหว่างหนี หากพบกริ่งสัญญาณเตือนไฟไหม้ ให้กดเตือนภัยผู้อื่นด้วย (หากทำได้) เมื่อหนีออกมาได้แล้ว ให้รีบโทรแจ้งตำรวจดับเพลิง หมายเลข 199 แล้วบอกรายละเอียดทุกอย่างที่ตัวเองรู้ให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ถ้ายังติดอยู่ภายในแล้วหนีออกมาไม่ได้ ให้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่ง หรือทำสัญญาณขอความช่วยเหลือ เช่น โยนของออกมา ใช้ไฟฉาย ไฟจากโทรศัพท์มือถือ แต่พยายามอย่าตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ เพราะอาจสำลักควัน และยังทำให้ร่างกายใช้ออกซิเจนมากเกินไป อาจหมดแรงก่อนได้หนีไฟจริง ๆ
4. อพยพตามแผนหนีไฟ
นี่คือเหตุผลสำคัญที่เราต้องฝึกซ้อมหนีไฟตามโอกาสที่ตามออฟฟิศหรือคอนโดจัดขึ้น อย่างไรก็ตาม หลายคนกลับชอบโดดการซ้อมหนีไฟซะอย่างนั้น โดยมองว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น เสียเวลา คงไม่ได้มีโอกาสได้เจอกับเหตุไฟไหม้ง่ายขนาดนั้นหรอกมั้ง แต่รู้ไหมว่าการซ้อมหนีไฟนั้นมีประโยชน์อย่างมากต่อการเอาชีวิตรอด เพราะเหตุการณ์ไฟไหม้สามารถเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไรก็ได้ อย่างน้อยก็ยังพอมีประสบการณ์ว่าจะต้องหนีไฟอย่างไร หากเจอกเข้ากับเหตุไฟไหม้ขึ้นกับตัวเองจริง ๆ
การอพยพหนีไฟ จะต้องอพยพลงข้างล่าง ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นอย่าหนีขึ้นข้างบน เพราะปกติไฟจะโหมจากล่างขึ้นบน การหนีขึ้นข้างบนจะทำให้เราจนมุมได้ในที่สุดหากไฟลามตามขึ้นมา รวมถึงหากเกิดเพลิงไหม้หนัก ๆ อาจส่งผลต่อตัวโครงสร้างอาคารที่จะไม่แข็งแรงด้วย เว้นแต่ถ้าไม่มีทางให้ลงไปจริง ๆ ค่อยวิ่งขึ้นไปที่ชั้นสูงสุดเพื่อรอการช่วยเหลือบนนั้น เนื่องจากปฏิบัติการช่วยชีวิตของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะเริ่มจากชั้นล่างและชั้นบนสุดก่อน จากนั้นจึงไปบรรจบที่ช่วงกลางของตึก ห้ามกระโดดหนีลงมาเอง เพราะอาจจะไม่มีโอกาสรอดชีวิต
5. หนีไฟไหม้ ให้ใช้บันไดหนีไฟแทนบันไดธรรมดา และห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด
กรณีที่ไฟไหม้ตึกสูงอย่างโรงแรมเวลาที่เราไปเที่ยว ห้ามใช้ลิฟต์ในการหนีไฟเด็ดขาด เพราะปกติแล้วเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ กระแสไฟฟ้ามักจะถูกตัดขาด อุปกรณ์ต่าง ๆ จะหยุดทำงานเมื่อไม่มีกระแสไฟ และอาจทำให้คุณติดอยู่ในลิฟต์ ขาดอากาศหายใจและเป็นเหตุให้เสียชีวิต อีกทั้งลิฟต์ยังมีลักษณะเป็นปล่องให้ควันลอยขึ้นสู่ด้านบนด้วย และในการหนีไฟ ให้ใช้บันไดหนีไฟแทนบันไดธรรมดา เนื่องจากบันไดทั่วไปในอาคารมีลักษณะเป็นช่องอากาศ ไฟสามารถโหมขึ้นมาตามบันไดได้ ส่วนบันไดหนีไฟจะมีช่องระบายอากาศ สามารถช่วยลดการสูดดมควันได้ การวิ่งลงบันได ต้องทำด้วยความรวดเร็วแต่เป็นระเบียบ หากมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำ ต้องฟัง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
6. ทริกเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับการเอาตัวรอด
สิ่งหนึ่งที่ควรต้องรู้เวลาที่ต้องเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ คือสาเหตุการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากการสำลักควันไม่ใช่ถูกไฟคลอก ดังนั้น หากต้องเผชิญกับควันไฟที่ปกคลุมทั่วบริเวณ ให้พยายามก้มตัวให้ต่ำที่สุด ปิดปากปิดจมูกให้ดี เพราะอากาศที่ลอยอยู่ด้านบนจะเป็นก๊าซพิษและไอร้อน (เมื่อไฟไหม้ ควันไฟจะกระจายอย่างรวดเร็ว ใน 1 วินาที ควันไฟลอยได้สูงถึง 3 เมตร) ส่วนก๊าซออกซิเจนที่ใช้หายใจได้จะอยู่ด้านล่างเหนือพื้นห้องไม่เกิน 1 ฟุต (1 ไม้บรรทัด) พยายามหายใจสั้น ๆ เพื่อลดการสูดก๊าซพิษ ซึ่งก๊าซพิษจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- ประเภทที่ทำให้หมดสติและเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ได้แก่ คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN)
- ประเภทที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุต่าง ๆ ได้แก่ ก๊าซในกลุ่มฮาโลเจนเฮไลด์ ก๊าซในกลุ่มออกไซด์ของไนโตรเจน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ธาตุคาร์บอน เขม่าควัน ฝุ่นละออง และไอร้อน
นอกจากนี้ ผ้าขนหนูชุบน้ำ สามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้ด้วย การอพยพหนีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ ให้หาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ตักอากาศบริสุทธิ์แล้วคลุมศีรษะออกมา เพื่อป้องกันการสูดดมก๊าซพิษ รวมถึงใช้ผ้าเปียกคลุมร่างกายขณะหนีด้วย เพื่อลดโอกาสที่จะถูกไฟลามติดตัวระหว่างที่หนีออกมา อย่างไรก็ตาม หากมีไฟลามมาติดที่ตัว ห้ามวิ่งเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไฟลุกลามไปทั่วตัว ให้หยุดอยู่นิ่ง ๆ นอนราบกับพื้น ใช้มือปิดหน้า แล้วกลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับแทนจะปลอดภัยมากกว่า
7. กรณีที่ติดอยู่ในห้องพัก
หากไฟไหม้จากนอกห้อง แล้วตัวเราอยู่ในห้อง อย่าพรวดพราดเปิดประตูออกมาเพื่อหนีโดยทันที เนื่องจากเราไม่รู้ว่าไฟอยู่ใกล้ตัวเรามากแค่ไหน ให้ใช้หลังมือแตะลูกบิดประตูดูก่อนว่าร้อนหรือไม่ ถ้าร้อนมากแสดงว่าไฟอยู่ใกล้ ห้ามเปิดประตูออกไป ให้หาผ้าหนา ๆ ชุบน้ำแล้วอุดช่องพื้นประตู ขอบหน้าต่าง ปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่อาจจะดูดควันเข้ามาในห้อง จากนั้นหาวิธีหนีหรือขอความช่วยเหลือทางอื่น แต่ถ้าลูกบิดไม่ร้อน ค่อย ๆ เปิดประตูอย่างช้า ๆ ใช้ไหล่ดันหนุนประตูไปด้วย อย่าเปิดประตูพรวด เพราะแรงดันไฟจะทำให้ไฟลามเข้าห้องอย่างรวดเร็ว อาจถูกไฟคลอกเอาได้ จากนั้นให้หนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด
8. อย่าหนีไฟเข้าจุดอับ! พาตัวเองไปยังที่โล่งเท่านั้น
การหนีไฟไหม้ ให้พยายามหนีไปที่จุดรวมพลด้านล่าง แต่ในสถานการณ์จริงมันก็คงไม่ได้หนีออกมาได้ง่ายขนาดนั้น แต่จงจำไว้ว่าอย่าหนีเข้ามุมอับเด็ดขาด เพราะมันไม่ต่างอะไรกับการขังตัวเองไว้ในกองไฟ เสี่ยงมากที่จะเสียชีวิตอยู่ในนั้น เนื่องจากตามมุมอับจะไม่มีประตูหน้าต่างระบายอากาศ หรืออาจมีซากอาคารพังถล่มลงมาปิดทางหนี ยิ่งหนียากเข้าไปใหญ่ อีกทั้งยังทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือได้ยากด้วย
9. อย่าพยายามดับไฟด้วยตัวเอง ถ้าไม่มีความรู้
บ่อยครั้งที่การดับไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่นั้นไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ แค่เอาน้ำไปราด บางสถานการณ์มีเงื่อนไขอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าไม่มีความรู้ หรือใช้งานอุปกรณ์ดับเพลิงไม่เป็น อย่าพยายามดับไฟด้วยตนเอง ควรรีบหนีออกจากจุดเกิดเพลิงไหม้ก่อน ถ้าเหตุเกิดภายในห้องพักของคุณเอง ให้รีบหนีออกมาแล้วปิดประตู-หน้าต่างห้องให้สนิทที่สุดทันที (หากทำได้) การเกิดภาวะอับอากาศในห้องต้นเพลิง จะช่วยให้เพลิงไหม้ลามได้ช้าลง และง่ายต่อการดับเพลิงของเจ้าหน้าที่ จากนั้นรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร และโทรศัพท์เรียกเจ้าหน้าที่ดับเพลิง
คุณกำลังดู: เอาตัวรอดอย่างไร เมื่อไปเที่ยวแล้วที่พักเกิดเหตุเพลิงไหม้
หมวดหมู่: วัยรุ่น