10 วิธีป้องกัน และกำจัดโลหะหนัก ออกจากร่างกาย (ตอน 2)

10 วิธีป้องกัน และกำจัดโลหะหนัก ออกจากร่างกาย (ตอน 2)

จากครั้งที่แล้ว เราได้ทำความรู้จักกับโลหะหนัก (Heavy Metals) กันไปบ้างแล้ว ซึ่งสารเหล่านี้ เช่น ปรอท สารหนู ตะกั่ว อะลูมิเนียม แคดเมียม สังกะสี ทองแดง มักปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม และสามารถทำลายเซลล์ร่างกาย เมื่อเกิดการสะสมหรือเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ทำให้เกิดความเสื่อม ทำให้แก่เร็วขึ้นกว่าอายุจริง และเกิดโรคภัยต่างๆ ตามมา

ป้องกันโลหะหนักเข้าสู่ร่างกาย

แม้ปัจจุบันเราสามารถ ‘ตรวจวัดระดับสารโลหะหนักในร่างกาย’ ได้ และมีวิธีการใช้ยาที่ช่วยกำจัดออก แต่การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโลหะหนัก ควรเริ่มจากการป้องกันที่ทำได้ ดังนี้

1. สวมหน้ากากอนามัย หากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นควัน หรือต้องทำงานและพักอาศัยในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากสารโลหะหนัก

2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพแล้ว เพราะอาจมีสารโลหะหนักรั่วซึมออกมา

3. อ่านฉลากของอุปกรณ์ก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะอุปกรณ์บางชนิดอาจมีส่วนประกอบของโลหะหนักที่ต้องระวังในการใช้งาน

4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารซ้ำๆ จากแหล่งเดิมๆ เช่น ผัก ผลไม้ ปลา เพราะจะทำให้มีโอกาสได้รับสารพิษชนิดเดิมๆ เข้าไปสะสมในร่างกายจนถึงระดับที่เป็นอันตราย

5. ร่างกายของเรามีระบบในการกำจัดสารพิษและโลหะหนัก ซึ่งใช้กรดอะมิโน เมไทโอนีน (Methionine) ที่เรารับประทานจากอาหารที่มีโปรตีน และมีวิตามิน C เป็นตัวช่วยในการรวมเมไทโอนีนและสารกำมะถัน (Sulphur) เพื่อการสร้างกลูต้าไธโอน (Glutathione) ที่ใช้ในการกำจัดสารพิษ ดังนั้น สารที่เราจำเป็นต้องมีให้เพียงพอก็คือกำมะถัน ซี่งพบได้ใน ไข่ ขิง บรอกโคลี หัวหอม และกระเทียม เราจึงควรรับประทานอย่างสม่ำเสมอ

6. กำมะถันยังช่วยสร้างโมเลกุลที่จะมาช่วยปกป้องระบบทางเดินอาหาร ซึ่งก็คือ เมทัลโลไธโอนีน (Metallothionein) ที่เป็นกลุ่มโปรตีน โดยมีกรดอะมิโนซิสเตอีน (Cysteine) เป็นส่วนประกอบจำนวนมาก เมทัลโลไธโอนีนจะจับกับโมเลกุลปรอทและสารพิษอื่นๆ ที่เข้าสู่ระบบทางเดินอาหารและขับออกจากร่างกาย

7. หลีกเลี่ยงการกินยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะยาลูกกลอน เพราะอาจมีโลหะหนักปนเปื้อนในปริมาณสูง

8. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน จำพวกครีมหน้าขาวที่อ้างสรรพคุณว่าช่วยทำให้ผิวกระจ่างใส เพราะอาจมีส่วนผสมของปรอทที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง

9. ตรวจโลหะหนักในร่างกายเป็นประจำทุกปี เพราะหากพบว่ามีโลหะหนักในร่างกายเกินเกณฑ์ แพทย์จะได้วางแผนเพื่อช่วยให้เกิดการขับออกอย่างเหมาะสม

10. หากอาศัยอยู่ในบ้านเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ.2521 ควรพิจารณาปรับปรุงใหม่ เพราะช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ.2521 มีการนำผลิตภัณฑ์สีทาบ้านที่ผสมสารตะกั่วมาใช้ ซึ่งหากสัมผัสหรือสูดดมอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่หากหลีกเลี่ยงแล้วยังตรวจพบโลหะหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน วิธีหนึ่งที่แพทย์ใช้ในการกำจัดโลหะหนัก คือการทำคีเลชั่นบำบัด (Chelation Therapy) ซึ่งเป็นการกำจัดสารพิษและโลหะหนักในหลอดเลือด โดยให้สารเหลวซึ่งเป็นสารประกอบจำพวกกรดอะมิโน Ethylene Diamine Tetra-acetic Acid หรือ EDTA ผสมกับวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เข้าทางหลอดเลือด เมื่อ EDTA เข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการจับตัวกับโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนู หรือแม้แต่แคลเซียมส่วนเกิน จากนั้นจะขับออกทางปัสสาวะ ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการทำคีเลชั่น ซึ่งจะขึ้นกับปริมาณของสารโลหะหนักในร่างกายเป็นสำคัญ.

บทความโดย: แผนกเวชศาสตร์ป้องกันภณา โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

คุณกำลังดู: 10 วิธีป้องกัน และกำจัดโลหะหนัก ออกจากร่างกาย (ตอน 2)

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด