4 อาการบ่งบอกว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยน "น้ำมันเครื่อง" ได้แล้ว
"น้ำมันเครื่อง" เป็นส่วนประกอบที่สำคัญเพื่อให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยน้ำมันเครื่องไม่ได้ถูกนำไปใช้เผาไหม้เหมือนกับน้ำมันเชื้อเพลิง
"น้ำมันเครื่อง" เป็นส่วนประกอบที่สำคัญเพื่อให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยน้ำมันเครื่องไม่ได้ถูกนำไปใช้เผาไหม้เหมือนกับน้ำมันเชื้อเพลิง แต่จะถูกนำไปใช้หล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ภายในห้องเผาไหม้ หากว่าน้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพ หรือน้ำมันขาด ก็จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเครื่องยนต์พังเลยทีเดียว
น้ำมันเครื่องทั้งเบนซินและดีเซลมีประโยชน์ 5 ประการ
- ช่วยหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ภายในห้องเครื่องยนต์
- ช่วยระบายความร้อนภายในห้องเครื่องยนต์
- ป้องกันการเกิดสนิม การกัดกร่อน และลดคราบเขม่า
- ลดแรงเสียดทานและการสึกหรอจากการเผาไหม้
- ช่วยรักษากำลังอัดของเครื่องยนต์
การตรวจเช็กระดับน้ำมันเครื่อง
การวัดระดับน้ำมันเครื่องสามารถทำได้เองเป็นประจำเมื่อต้องการ โดยจำเป็นต้องสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ชั่วครู่ (ยกเว้นการเช็กระดับน้ำมันเครื่องหลังจากใช้งาน) จากนั้นรอประมาณ 1-2 นาที ดึงก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องออกมาทำความสะอาดด้วยผ้าแห้ง หรือกระดาษทิชชู่อย่างหนา 1 ครั้ง แล้วเสียบก้านน้ำมันเครื่องกลับไปจนสุดเหมือนเดิม
จากนั้นให้ดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องออกมาตรวจสอบ หากระดับน้ำมันอยู่ระหว่างขีด MIN และ MAX แสดงว่าอยู่ในระดับปกติ หากอยู่ต่ำกว่าระดับ MIN แสดงว่าน้ำมันเครื่องพร่อง ควรรีบเติมน้ำมันเครื่องกลับเข้าไปจนพอดี หรือหากน้ำมันเครื่องเกินระดับ MAX จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ลดลง ควรถ่ายน้ำมันออกหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอีกครั้ง
นอกเหนือจากการตรวจสอบน้ำมันเครื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีอีก 4 ข้อที่ต้องหมั่นสังเกต เพื่อให้ทราบว่าถึงเวลาเปลี่ยนน้ำมันเครื่องได้แล้ว ดังนี้
1. เมื่อครบตามระยะทาง หรือระยะเวลาที่กำหนด
ระยะการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมันเครื่องที่ใช้ โดยน้ำมันเครื่องแต่ละประเภทมีระยะการเปลี่ยนถ่าย ดังนี้
น้ำมันเครื่องธรรมดา - ทุก 5,000 - 7,000 กม.
น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ - ทุก 7,500 - 8,000 กม.
น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ - ทุก 10,000 - 15,000 กม.
หากใช้งานรถน้อย ไม่ค่อยนำรถออกมาใช้ ให้อ้างอิงตามรอบระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ เพราะการที่จอดรถทิ้งไว้นานๆ น้ำมันเครื่องก็จะค่อยๆ เสื่อมคุณภาพลง ซึ่งโดยปกติแล้วรถญี่ปุ่นจำเป็นต้องเปลี่ยนทุก 6 เดือน และรถยุโรปจำเป็นต้องเปลี่ยนทุก 1 ปี
2. เสียงเครื่องยนต์ดังผิดปกติ
หากว่าน้ำมันเครื่องขาด หรือเสื่อมสภาพจนความหนืดไม่เป็นไปตามสเปกของเครื่องยนต์ อาจส่งผลให้เกิดเสียงดังผิดปกติขณะใช้งานได้ ซึ่งโดยมากแล้วจะมีลักษณะดังเขกเป็นจังหวะ และจะถี่ขึ้นตามรอบเครื่องยนต์ หากประสบกรณีเช่นนี้ควรรีบเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทันทีเพื่อป้องกันเครื่องยนต์พัง
3. รถกินน้ำมันมากผิดปกติ
การปล่อยให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพจะส่งผลให้เครื่องยนต์กินน้ำมันมากขึ้น เนื่องจากประสิทธิภาพการหล่อลื่นที่ลดลง ทำให้ชิ้นส่วนภายในห้องเผาไหม้เกิดการเสียดสีมากกว่าปกติ
4. น้ำมันเครื่องมีสีดำสนิท หรือมีสีผิดปกติ
โดยปกติแล้วน้ำมันเครื่องจะมีสีเหลืองอำพัน แต่เมื่อผ่านการใช้งานไปสักระยะ สีจะค่อยๆ เข้มขึ้น ซึ่งเกิดจากเขม่าและสิ่งสกปรกจากการเผาไหม้ แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่าน้ำมันเครื่องมีสีดำสนิท (ยกเว้นเครื่องยนต์ดีเซลที่น้ำมันเครื่องอาจมีสีดำเป็นปกติ) แสดงว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องได้แล้ว
แต่หากน้ำมันเครื่องเปลี่ยนเป็นสีอื่น เช่น มีสีคล้ายชานม หรือมีความข้นเหนียวมากกว่าปกติ แสดงว่าอาจเกิดจากฝาสูบโก่งเนื่องจากโอเวอร์ฮีต หรือเกิดการรั่วซึมจนทำให้ของเหลวอื่นๆ มีการเจือปนลงในอ่างน้ำมันเครื่อง กรณีเช่นนี้ควรนำรถเข้าอู่เพื่อให้ช่างหาสาเหตุและแก้ไขก่อนจะสายเกินไป
การนำรถเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องนอกจากจะช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างสมบูรณ์เสมอ ยังเป็นการตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์โดยช่างผู้เชี่ยวชาญ ลดโอกาสเกิดปัญหาในอนาคตได้อีกทางหนึ่งด้วย
คุณกำลังดู: 4 อาการบ่งบอกว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยน "น้ำมันเครื่อง" ได้แล้ว
หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์