5 สัญญาณอันตราย “นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ”
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คือหนึ่งในโรคนิ่วที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะ ที่อาจเกิดนิ่วได้ทั้งในไต หลอดไต และกระเพาะปัสสาวะ
วันก่อนเพิ่งเห็นเพื่อนในเฟซบุ๊คโพสว่าอยู่โรงพยาบาล สอบถามได้ความว่าเป็นโรค “นิ่วกระเพาะปัสสาวะ” แถมเขายังบอกอีกว่า คุณหมอกล่าวว่าพบในวัยทำงานค่อนข้างบ่อย แถมยังเจอในทุกเพศทุกวัยอีกด้วย ไม่ได้การแล้ว Sanook Health ต้องรีบมาเตือนทุกคนระวังตัวกันด่วนๆ เลยค่ะ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คืออะไร?
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นหนึ่งในโรคนิ่วที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะ ที่อาจเกิดนิ่วได้ทั้งในไต หลอดไต และกระเพาะปัสสาวะ โดยจะพบเป็นก้อนนิ่วเล็กๆ ตั้งแต่ขนาดเล็กกว่า 1 ซม. ไปจนถึงใหญ่กว่า 5 ซม. อาจมีก้อนเดียว หรือหลายก้อน และอาจมีลักษณะแข็งมาก ค่อนข้างแข็ง หรืออาจจะค่อนข้างนุ่มได้ ขึ้นอยู่กับสารประกอบที่ทำให้เกิดนิ่วของแต่ละผู้ป่วย ส่วนใหญ่กว่า 80% อาจจะพบเป็นสารแคลเซียมออกซาเลต นอกจากนี้อาจมีสารแคลเซียมฟอสเฟต แอมโมเนียมยูเรท กรดยูริก หรืออื่นๆ ได้
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีสาเหตุมาจากอะไร?
- ปัสสาวะกักค้างในกระเพาะปัสสาวะเรื้อรัง หรือเป็นเวลานาน ทำให้มีการตกตะกอนของปัสสาวะ จนกลายเป็นก้อนนิ่ว
- กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองเรื้อรัง
- ก้อนนิ่วอาจจะตกมาจากไต แล้วมาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะแทน
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป จนทำให้ปัสสาวะเข้มข้น เกิดอาการตกตะกอนจนเป็นก้อนนิ่วได้ง่ายขึ้น
- รับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีแคลเซียม ออกซาเลตสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น โยเกิร์ต ถั่วรูปไต ถั่วเหลือง งา ลูกนัท ผลเบอร์รีต่างๆ มะเดื่อ แครอท บีทรูท มะเขือ ผักกะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง บรอคโคลิ หัวหอม มะเขือเทศ ผักกะเฉด และยอดผักทั้งหลาย
ใครที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ?
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อาจพบในวัยทำงาน และเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีอาการอย่างไร?
- ปวดท้อง บริเวณท้องน้อย โดยมีอาการปวดเรื้อรัง คือปวดเรื่อยๆ
ไม่หาย และอาจมีอาการปวดหลังเรื้อรังร่วมด้วย
- ปัสสาวะมีสีผิดปกติ อาจมีสีขุ่นๆ เหมือนมีผงแป้ง
หรืออาจมีเลือดปนเหมือนน้ำล้างเนื้อ
บางครั้งอาจมีก้อนนิ่วหลุดออกมาด้วย
- มีอาการผิดปกติเมื่อปวดปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยเกินไป
ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปวดแสบปวดร้อน ปัสสาวะขาดตอน ปวดเบ่ง
หรือปัสสาวะหมดแล้ว แต่ยังรู้สึกปวดปัสสาวะอยู่
หรืออั้นปัสสาวะไม่ได้
- หากก้อนนิ่วหลุดไปอุดตันทีท่อปัสสาวะ
อาจมีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง และปัสสาวะไม่ออก
จนกระเพาะปัสสาวะอาจอักเสบจากการตกค้างของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ
- อาจมีอาการไข้ หรือปวดข้อร่วมด้วย
ป้องกันโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้อย่างไร?
ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นมากเกินไป จนตกตะกอนเป็นนิ่ว โดยแพทย์แนะนำว่าให้ดื่มน้ำราวๆ วันละ 2 ลิตรเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้การจำกัดอาการที่มีแคลเซียม และออกซาเลตสูง ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน (ทานได้ตามปกติ แต่อย่าทานอาหารเหล่านั้นเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานาน ควรทานอาหารให้หลากหลาย)
หากใครมีอาการปวดท้องน้อยบ่อยๆ และรู้ตัวว่าดื่มน้ำน้อย หรือปัสสาวะผิดปกติ อย่าลืมปรึกษาคุณหมอโดยด่วน ก่อนที่จะมีอาการหนักไปมากกว่าเดิม เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนะคะ
คุณกำลังดู: 5 สัญญาณอันตราย “นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ”
หมวดหมู่: รู้ทันโรค