6 พฤติกรรมเสี่ยงทำร้าย “ไต” แม้ไม่กินเค็ม
นอกจากกินเค็มแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงโรคไต
โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ แนะประชาชนดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดการปรุงอาหารให้น้อยที่สุด ลดการทานอาหารสำเร็จรูป ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่ออนามัยที่ดีลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคไตเป็นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไตทำให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกายและการรักษาความสมดุลของเกลือ รวมถึงน้ำในร่างกายเกิดภาวะขัดข้อง ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นกับไตมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ ไตวายฉับพลัน ไตวายเรื้อรังที่อาจเกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่เป็นบ่อยๆ โรคถุงน้ำที่ไต ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยครั้ง หรือเกิดจากการอุดตัน เช่น จากนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งมดลูกไปกดเบียดท่อไต เป็นต้น โดยโรคถุงน้ำที่ไตสามารถสืบต่อกันได้ทางกรรมพันธุ์
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเมื่อเริ่มต้นจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน แต่จะมีอาการเมื่อเป็นมากแล้ว จึงพบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่มีอาการไตเรื้อรังระยะที่รุนแรง ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยและเป็นสัญญาณแจ้งเตือน คือ มีอาการปัสสาวะผิดปกติ อาจมีปัสสาวะมากหรือน้อยไปจนถึงไม่มีปัสสาวะเลย โดยปัสสาวะอาจขุ่นหรือใสเหมือนน้ำ มีสีเข้ม เป็นฟอง บางครั้งอาจมีเลือดปน หรือมีกลิ่นผิดปกติ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคนอกจากนี้อาจมีอาการเหนื่อยง่าย
อ่อนเพลีย รู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
ซีดตัวบวมเนื่องจากไตไม่สามารถขับน้ำออกได้โดยมักเริ่มที่เท้าและรอบดวงตา
เมื่อเป็นมากขึ้นอาจทำให้เกิดอาการของไตวายจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีทั้งการตรวจเลือดดูการทำงานของไต และการตรวจปัสสาวะเพื่อดูปริมาณไข่ขาวรั่ว และหรือเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงในทางเดินปัสสาวะ นั้นมีความจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มเสี่ยง อาทิเช่น อายุมากกว่า 60 ปี มีประวัติโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง โรคภูมิคุ้มกันแพ้ภัยตัวเอง เช่น โรคลูปัส (SLE) โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น หรือรับประทานยาที่อาจส่งผลการทำงานของไต อาทิเช่น กลุ่มยาแก้ปวดชนิด NSAIDs ทานยาสมุนไพร หรือได้รับยาบำบัดทางเคมีบำบัดที่มีผลต่อไต
แพทย์หญิงวรรณิยา มีนุ่น อายุรแพทย์โรคไต กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี แนะนำพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำร้ายไต ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด
ไม่ใช่แค่รสเค็มจัด แต่รวมไปถึง อาหารหวานจัด เผ็ดจัด
หรือแม้กระทั่งมันจัด
เนื่องจากอาหารรสจัดทำให้ไตทำงานหนักขึ้นจึงมีส่วนทำให้เป็นโรคไต
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ 6-8 แก้วต่อวัน
งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- พักผ่อนให้เพียงพอ
ไม่ทำงานหนักจนเกินไป ไม่เครียด
- ลดการทานอาหารสำเร็จรูป เช่น
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ อาหารกระป๋อง
เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมากโดยไม่รู้ตัว
- รับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและมีอนามัยที่ดีอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามหากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
คุณกำลังดู: 6 พฤติกรรมเสี่ยงทำร้าย “ไต” แม้ไม่กินเค็ม
หมวดหมู่: รู้ทันโรค