6 สัญญาณเตือนภัย “ไข้เลือดออก” รีบหาหมอด่วน

อาการแบบไหนถึงเสี่ยงเป็นไข้เลือดออก แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร

6 สัญญาณเตือนภัย “ไข้เลือดออก” รีบหาหมอด่วน

หน้าฝนทีไร สิ่งที่ตามมาด้วยตลอดๆ ก็คือยุงที่ชุมชุมมากผิดปกติ ยิ่งอากาศร้อนชื้นผ้าแห้งช้าแบบนี้ยิ่งต้องระวังหนักกว่าเดิมหลายเท่า และสิ่งที่ตามมาทุกปี คือ การระบาดของโรคไข้เลือดออก ที่เป็นได้ทุกเพศทุกวัย พบเจอกันทุกปีนั่นเอง

แต่อาการของโรคไข้เลือดออกจะเป็นอย่างไร ต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ หากคุณ หรือคนรอบตัวกำลังเป็นอยู่ จะได้รีบไปหาแพทย์ได้ทันก่อนสายเกินไป

 

สัญญาณเตือนภัย “ไข้เลือดออก”

  1. มีไข้ขึ้นสูง 2-7 วันอย่างกะทันหัน ส่วนใหญ่ไข้ขึ้นสูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส บางรายที่พบประวัติเคยชัก อาจจะชักระหว่างมีไข้ได้

  2. อาจมีอาการหน้าแดง ตัวแดง แต่จะมักไม่มีอาการไอ หรือน้ำมูก

  3. เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน

  4. พบเลือดออกที่ผิวหนังเป็นจุดแดงเล็กๆ กระจายไปทั่งร่างกาย ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดออกตามไรฟัน หรือหากมีอาการหนัก อาจอาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด (มีสีดำคล้ำ)

  5. คลำๆ ท้องบริเวณตับ จะรู้สึกว่าตับโต บวม กดแล้วเจ็บ

  6. หากมีอาการรุนแรง อาจมีอาการช็อกจากภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เป็นช่วงที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจเสียชีวิตหลังภาวะช็อกภายใน 12-24 ชั่วโมง

 dengue-feveriStock

ไข้เลือดออก ต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร?

หากเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ มักจะไข้ลดจนหายเกือบจะเป็นปกติภายใน 2-3 วัน (อาการไอ อาจใช้เวลาหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์กว่าจะหายสนิท) อาการที่พบในระยะแรกเหมือนไข้เลือดออกทุกประการจนยากจะแยกออก เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เจ็บคอ แต่ข้อสังเกตคือ ส่วนใหญ่ไข้เลือดออกมักไม่มีน้ำมูก หรือไม่มีอาการไอ ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ ไอ จาม เป็นต้น

นอกจากนี้ ไข้เลือดออกมักมีไข้สูงกว่าไข้หวัดธรรมดา (เว้นแต่ไข้หวัดใหญ่ ที่มีไข้สูงได้เช่นกัน) และจะมีไข้สูงติดต่อกัน 3 วัน อาการไม่ค่อยดีขึ้นจากวันแรก ช่วงเวลาที่ไข้ลดลงยังคงรู้สึกอ่อนเพลียมาก แต่เบื่ออาหาร ทานอะไรไม่ค่อยลง หากไข้สูงติดต่อกัน 3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

อ่านต่อ >> ไข้เลือดออก VS ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร?

 

ข้อควรปฏิบัติหลังเป็น (หรือสงสัยว่าจะเป็น) ไข้เลือดออก

  1. อย่าทานยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน และ ไอบูโพรเฟน หรือยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอย เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ให้เลือกทานยาพาราเซตามอลจะปลอดภัยที่สุด

  2. หากมีไข้สูงติดต่อกัน 3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ และอาจปรึกษาแพทย์ว่าสมควรที่จะต้องตรวจเกล็ดเลือดหรือไม่ เกล็ดเลือดคนปกติจะมากกว่า 300,000 แต่ถ้าเกล็ดเลือดอยู่ที่ 200,000 หลังมีไข้ 3-4 วัน อาการอาจเริ่มน่าเป็นห่วง และหากเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 ควรแอดมิทที่โรงพยาบาล เพราะถือว่าเกล็ดเลือดต่ำมากกว่าปกติ (สามารถตรวจเกล็ดเลือดได้ เมื่อไวรัสเริ่มออกตัว คือช่วงมีไข้วันที่ 3-4 ช่วงวันแรกๆ ยังตรวจไม่ได้)

 

หากเป็นแต่ไข้หวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่ สามารถพบแพทย์เพื่อรับยา และรักษาตามอาการได้ สำหรับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ ที่ติดเชื้อกันได้ง่าย ก็อย่าลืมใช้ช้อนกลางเมื่อทานข้าว ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่กับคนอื่นด้วย นอกจากนี้คนใกล้ตัว และตัวคุณเอง สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ เพื่อป้องกันโรคติดต่อได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนไข้เลือดออก วิธีป้องกันคือ อย่าให้โดนยุงลายกัด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น น้ำในแจกัน กระถางต้นไม้ ยางรถยนต์ ชามหรือกะละมังรอบบ้านที่มีน้ำขัง และอย่าไปในที่ๆ เสี่ยงยุงลายชุกชุม เช่น ในพงหญ้าชื้นๆ พื้นที่มืดๆ หลังบ้าน มุมบ้าน ชายตลิ่ง ริมแม่น้ำ หรือพื้นที่ใกล้ขยะเปียก เป็นต้น

คุณกำลังดู: 6 สัญญาณเตือนภัย “ไข้เลือดออก” รีบหาหมอด่วน

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว