6 สัญญาณอันตราย “มะเร็งไทรอยด์” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
ผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่ามะเร็งจะลามไปที่เส้นประสาทเสียง แต่มีอาการที่เราสามารถเช็กได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น
ไทรอยด์ (Thyroid Gland) เป็นต่อมไร้ท่อใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ และหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปทำหน้าที่ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมองและต่อมไฮโปธาลามัส ซึ่งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์นั้นจำเป็นต้องใช้ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ หากได้รับไอโอดีนมากหรือน้อยเกินไปก็อาจทำให้การทำงานผิดปกติ และส่งผลกระทบต่ออวัยวะแทบทุกระบบในร่างกาย
โรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับไทรอยด์
หากจะกล่าวถึงโรคไทรอยด์ต่างๆ โดยส่วนใหญ่แล้วมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 5-10 เท่า ไม่ว่าจะเป็น
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ
- โรคไทรอยด์ต่ำ
- โรคเนื้องอกไทรอยด์
- โรคมะเร็งไทรอยด์
มะเร็งไทรอยด์ ภัยเงียบอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
โรคมะเร็งไทรอยด์นั้นถือว่าเป็นมะเร็งที่มีความเสี่ยงไม่ต่างจากมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่ก็มีโอกาสการรอดชีวิตสูงมากกว่า 90% หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งไทรอยด์นั้น จะเริ่มต้นจากการมีก้อนที่คอก่อน ซึ่งความสำคัญคือ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย จนกว่ามะเร็งไทรอยด์จะมีการลุกลามไปยังเส้นประสาทเสียง ก่อให้เกิดภาวะเสียงแหบ หรือมีการกดเบียดหลอดลม ทำให้เกิดการหายใจลำบาก หรือมีการกดเบียดหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการกลืนลำบาก เป็นต้น การที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ ทำให้เราวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งไทรอยด์ได้ยาก ต้องรอจนผู้ป่วยมีก้อนขนาดใหญ่โตออกมาจนเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นผู้ป่วยมีการตรวจสุขภาพประจำปีด้วยการทำอัลตร้าซาวด์คอ จะทำให้สามารถพบเจอมะเร็งไทรอยด์ได้ในระยะเริ่มต้น
6 สัญญาณอันตราย “มะเร็งไทรอยด์”
การสังเกตความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญของเราที่ไม่อาจมองข้าม จึงต้องหมั่นตรวจเช็คอาการป่วยที่ตัวเองเป็น รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งหากพบว่ามีอาการที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคไทรอยด์ชนิดใดก็ตาม เช่น
- มีก้อนเนื้องอกที่คอ
- คอโตจนมีคนทัก
- มีภาวะเหนื่อยง่าย ใจสั่น ไม่มีแรง
- ตาโปน
- มีอาการอึดอัดคอ กลืนติด
- หายใจลำบาก
หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา เพื่อให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว นำมาซี่งผลการรักษาที่ดีในระยะยาวต่อไป
ความผิดปกติของไทรอยด์
ความผิดปกติของไทรอยด์ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้คือ
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์”
- โรคเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ ซึ่งผลการตรวจเลือดจะพบว่าปกติ แต่มีก้อนเนื้องอกซ่อนอยู่ในต่อมไทรอยด์
แพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
การรักษาโรคฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ
สำหรับการรักษาโรคฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติไม่ว่าจะฮอร์โมนสูงเกิน หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ตามปกติเราจะเริ่มรักษาด้วยยาก่อน แต่ถ้าการรักษาด้วยยามีแนวโน้มที่จะไม่ตอบสนอง หรือผู้ป่วยมีภาวะแพ้ยา กินยาไม่ได้ การกลืนแร่ไอโอดีนในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษก็จะเป็นคำตอบ แต่ผู้ป่วยในบางกรณี ก็ไม่สามารถที่จะรักษาด้วยการทานยา หรือกลืนแร่ได้
เพราะฉะนั้นผู้ป่วยบางรายจึงจำเป็นจะต้องอาศัยการผ่าตัดรักษา เช่น ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษที่มีต่อมขนาดใหญ่มาก ไม่ตอบสนองต่อยา ตาโปนรุนแรง ก้อนไทรอยด์ใหญ่กดเบียดหลอดอาหารและหลอดลม หรือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคไทรอยด์ต่ำ แต่ว่ามีภาวะคอโต และมีก้อนสงสัยมะเร็งแอบซ่อนอยู่ในต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
การผ่าตัดรักษาโรคไทรอยด์
สำหรับการผ่าตัดรักษาโรคไทรอยด์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพสูง เช่นกรณีที่ผู้ป่วยเป็นไทรอยด์เป็นพิษ การผ่าตัดโดยการตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด ถือว่าผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคไทรอยด์เป็นพิษได้ถึง 99% หรือภาวะมะเร็งไทรอยด์ การผ่าตัดรักษาก็จะเป็นการกำจัดโรค และยังป้องกันภาวะมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่นๆ อีกด้วย
ปัจจุบันการผ่าตัดไทรอยด์ แบ่งออกได้เป็นสองประเภท ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ
-
การผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิด (open thyroidectomy)
สำหรับการผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิด เป็นการผ่าตัดที่สามารถผ่าโรคไทรอยด์ได้ทุกชนิด โดยไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องขนาด ว่าจะใหญ่แค่ไหน และยังสามารถผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมน้ำเหลืองแพร่กระจายไปที่คอแล้วอีกด้วย
แต่ว่าข้อเสียเพียงอย่างเดียวของการผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิด คือ ผู้ป่วยจะมีแผลเป็นที่บริเวณกลางลำคอ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไทรอยด์ ส่วนมากเป็นผู้หญิง และการที่ผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดที่กลางคอ อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีความไม่มั่นใจ ในการใช้ชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะรักษาแผลเป็นให้ดี อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีแผลอยู่ดี
เพราะฉะนั้นการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้อง จึงเป็นเทคนิคที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้ผู้ป่วยไม่มีแผลเป็นที่กลางคอ โดยการที่เปลี่ยนแผลผ่าตัดจากบริเวณหน้าคอ ไปยังบริเวณลานเต้านม หลังหู รักแร้ หรือวิธีใหม่ที่สุด คือ ผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก ที่ไม่มีแผลเป็นภายนอกเลย ช่วยสร้างความมั่นใจในการผ่าตัดไทรอยด์ให้ผู้ป่วยในปัจจุบัน
-
การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (endoscopic thyroidectomy)
- การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางรักแร้ เป็นวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่มีการซ่อนแผลผ่าตัดไว้บริเวณรักแร้ และมีการใช้กรรไกรที่ใช้คลื่นเสียงที่สามารถห้ามเลือดไปในตัวได้ ทำให้การผ่าตัดเป็นได้อย่างราบรื่น ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย การบาดเจ็บที่เนื้อเยื่อน้อย ทำให้เจ็บแผลน้อยมากและผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ผู้ป่วยจะสามารถซ่อนรอยแผลผ่าตัดไว้ใต้รักแร้ ทำให้คนอื่น ไม่เห็นแผลผ่าตัด
- การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก เป็นการผ่าตัดไทรอยด์ แบบส่องกล้อง วิธีใหม่ล่าสุด โดยถูกพัฒนามาเพื่อให้ผู้ป่วยไม่มีแผลเป็นที่กลางคอ รวมถึงไม่มีแผลภายนอก ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องระวังแผลภายนอกโดนน้ำ ซึ่งการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ
- ไม่มีรอยแผลบริเวณกลางลำคอ ทำให้บริเวณคอแทบจะดูไม่ออกว่าไปผ่าตัดมา ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน
- แผลถูกซ่อนไว้ในช่องปาก ทำให้ผู้ป่วยไม่มีแผลภายนอก ผู้ป่วยจะสามารถอาบน้ำ หรือทำกิจกรรมของชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ทันที ไม่ต้องระวังแผลภายนอกโดนน้ำ
- เย็บซ่อนแผลด้วยไหมละลายไว้ในช่องปาก ไม่ต้องทำแผล
- แผลมีขนาดเล็ก โดยแผลขนาดใหญ่ที่สุดคือ 1 เซนติเมตร ซึ่งการที่ผู้ป่วยมีแผลเล็ก ทำให้เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้ไว ไปทำงานได้ไว
- เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย เสียเลือดน้อยมาก ฟื้นตัวเร็ว ไม่ต้องลาหยุดงานนาน
- ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่มีความแม่นยำ ช่วยในการขยายขนาดของอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นต่อมพาราไทรอยด์ และพยายามในการผ่าตัดเก็บรักษาไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทานแคลเซียมหลังผ่าตัดปริมาณมาก รวมถึงกล้องยังช่วยขยายขนาดของเส้นประสาทเสียง ช่วยทำให้แพทย์ผ่าตัดสามารถหาเส้นเสียงได้ง่าย และชัดเจน ส่งผลให้ ลดโอกาสการเกิดภาวะเสียงแหบหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ และมีความกังวลสูงก่อนการเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ เพราะผู้ป่วยทุกคนจำเป็นต้องใช้เสียงในการติดต่อสื่อสาร และทำงานนั่นเอง
สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก ต้องยอมรับตามจริงว่า ไม่สามารถที่จะผ่าตัดในผู้ป่วยไทรอยด์ได้ทุกสภาวะเหมือนกับการผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิด ซึ่งการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติดังนี้
- ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์ไม่เป็นพิษ และโรคมะเร็งไทรอยด์ ที่มีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป (จำเป็นต้องให้แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดประเมินสภาวะไทรอยด์ก่อน ว่าสามารถทำการผ่าตัดแบบส่องกล้องได้หรือไม่) โดยคร่าวๆผู้ป่วยมีขนาดไทรอยด์ที่จะผ่า ใหญ่ไม่เกิน 8 เซนติเมตร
- ผู้ป่วยไม่ต้องการให้มีแผลเป็นภายนอก และต้องการฟื้นตัวเร็ว เสียเลือดน้อย และกลับไปทำงานได้เร็ว สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทันทีหลังผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่ต้องการรับการผ่าตัด กับแพทย์เฉพาะทางที่จบด้านการผ่าตัดไทรอยด์โดยเฉพาะ มีความชำนาญสูง ทำให้ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนทุกด้าน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านไทรอยด์ เพื่อให้การผ่าตัดออกมาได้ประสิทธิภาพสูงสุด
วิธีตรวจหาโรคไทรอยด์ผิดปกติ
วิธีการตรวจเช็คคัดกรองโรคเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การป้องกันหรือรักษาความเจ็บป่วยได้แต่เนิ่นๆ และทำให้ประหยัดค่ารักษาในระยะยาว สามารถทำได้หลายช่องทาง ดังนี้
- ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด (thyroid function test)
- ตรวจคัดกรองและอัลตร้าซาวด์บริเวณคอและต่อมไทรอยด์ (ultrasound)
- ตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (thyroid scan) หากสงสัยว่ามีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยใช้สารรังสี อาจให้ดื่มหรือฉีดทางเส้นเลือดดำ เพื่อดูปริมาณสารรังสีที่เซลล์ของต่อมไทรอยด์จับไว้ แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากภาพของต่อไทรอยด์ที่เครื่องสแกนได้
- ประเมินเบื้องต้นด้วยตัวเองง่ายๆ (self-physical examination) โดยการกลืนน้ำลายที่หน้ากระจก สังเกตดูว่ามีก้อนเคลื่อนที่ตามการกลืนหรือไม่ ถ้าพบควรรีบปรึกษาแพทย์
ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคไทรอยด์โดยที่ไม่รู้ตัวอยู่ในตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และมักจะพบว่าผู้ป่วยเพิ่งทราบว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ จากการตรวจสุขภาพประจำปีด้วยการเจาะเลือด และการทำอัลตร้าซาวด์คอ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ไม่อาจมองข้าม และควรทำการรักษาทันทีอย่ารอจนทุกอย่างสายเกินแก้
คุณกำลังดู: 6 สัญญาณอันตราย “มะเร็งไทรอยด์” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
หมวดหมู่: รู้ทันโรค