7 พฤติกรรมเสี่ยง “กระดูกพรุน” ก่อนวัยอันควร
ถ้าไม่อยากกระดูกพรุนก่อนวัยอันควร ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้
เรื่องปวดกระดูก เจ็บเข่า กระโดดไม่ไหว เอี้ยวตัวลำบาก อย่านึกว่าเป็นเพียงอาการของคนชราเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ววัยหนุ่มสาวอย่างเราถึงแม้ว่าจะมีมวลกระดูกที่แข็งแรง หมุนตัวได้คล่อง แต่หากยังมีพฤติกรรมที่คอยทำลายความแข็งแรงของกระดูกอยู่เรื่อยๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะกระดูกเสื่อมก่อนเข้าสู่วัยชราจริงๆ ได้เช่นกัน
ทำไมเราถึงกระดูกเสื่อม?
กระดูกเราอาจเสื่อมสภาพลง เพราะแคลเซียมในร่างกายถูกทำลาย แคลเซียมมีหน้าที่สำคัญในการสร้างกระดูก เมื่อมวลกระดูกลดลง จึงเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนได้
7 พฤติกรรมเสี่ยง “กระดูกพรุน” ก่อนวัยอันควร
- สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อย จึงทำให้กระดูกไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอต่อการสร้างความแข็งแรง
- ดื่มแอลกอฮอล์
เช่นเดียวกันกับบุหรี่ แอลกอฮอล์จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้กระดูกได้รับแคลเซียมไม่เพียงพออีกเช่นกัน
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่นๆ ก็ทำให้กระดูกเสื่อมได้ง่ายขึ้น เพราะคาเฟอีนจะทำให้ร่างกายขับเอาแคลเซียมออกไปจากร่างกายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้น้ำอัดลมยังมีกรดฟอสฟอรัสที่อาจกัดกระดูกให้กร่อนลงได้อีกด้วย
- ฮอร์โมนเพศลดลง
เรื่องของฮอร์โมนกับอายุที่มากขึ้น อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วัยหนุ่มสาวบางรายที่ต้องเข้ารับการรักษาโรคอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ ทำให้ฮอร์โมนเพศลดลง เช่น ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูก อาจต้องรับยาฮอร์โมนมาทาน เพื่อปรับความสมดุลให้กับร่างกาย กระดูกจะได้แข็งแรงไม่กร่อนก่อนวัย
- ขาดการออกกำลังกาย
เชื่อหรือไม่ว่าคนที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าคนที่ออกกำลังกายบ่อยๆ เพราะหากเราไม่ออกกำลังกาย จะทำให้มวลกระดูกสูญเสียความแข็งแรง รวมไปถึงคนชรา หรือคนป่วยที่อยู่ในช่วงพักฟื้น ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวในระยะเวลาหนึ่ง ทำให้สูญเสียความแข็งแรงของกระดูกไปบางส่วนเช่นเดียวกัน
- ขาดวิตามินดี
หากเก็บตัวอยู่ในบ้านตลอดเวลา หรือไม่เคยสัมผัสถูกแสงแดดยามเช้าที่มีวิตามินดีอยู่ด้วย อาจทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในการสร้างกระดูกน้อยลง แต่ส่วนใหญ่บ้านเราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้เท่าไร เพราะประเทศไทยมีแสงแดดตลอดทั้งปีอยู่แล้ว
- ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
ปริมาณแคลเซียมในร่างกายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่จะช่วยรักษาให้มวลกระดูกแข็งแรง หากไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว ก็เป็นเหตุให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อยกว่าคนอื่นๆ ได้
- ทานยาผสมสเตียรอยด์
สเตียรอยด์ที่ผสมอยู่ในยาต่างๆ โดยเฉพาะยาสมุนไพร ยาลูกกลอนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาอย่างถูกต้อง อาจทำลายความแข็งแรงของมวลกระดูกได้
การเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูก ทำได้ง่ายๆ โดยการออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตรท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดทานยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หรือทานเฉพาะยาที่แพทย์สั่งให้เท่านั้น นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ผักใบเขียว เช่น ใบชะพลู ใบยอ ยอดแค คะน้า พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ปลาที่ทานได้ทั้งกระดูก เช่น ปลากระป๋อง ปลาเล็กปลาน้อย ปลากะตัก ก็ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับมวลกระดูกได้เช่นกัน
คุณกำลังดู: 7 พฤติกรรมเสี่ยง “กระดูกพรุน” ก่อนวัยอันควร
หมวดหมู่: รู้ทันโรค