7 วิธีลดอาการ “เมาค้าง” หรือ “แฮงค์” แนะนำโดย ม. ฮาร์วาร์ด
สายปาร์ตี้รู้ไว้ อยากสร่างเมาไวๆ ต้องทำตามนี้
เราสามารถปาร์ตี้ จัดงานเลี้ยงฉลองกันได้อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ฉลองสอบเสร็จ ฉลองเรียนจบ ฉลองงานแต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ได้เลื่อนตำแหน่ง ไปจนถึงอกหักรักคุดก็ปาร์ตี้เพื่อลืมเธอกันได้เช่นกัน ดังนั้นหากจำเป็นต้องทำงานในวันรุ่นขึ้น การแก้อาการเมาค้าง หรือที่เราเรียกว่า “แฮงค์” ก็เป็นเรื่องที่เราควรรู้เอาไว้ จะได้เตรียมตัวเอาไว้ก่อนเริ่มปาร์ตี้กับเพื่อนๆ อย่างสบายใจ
อาการเมาค้าง หรือแฮงค์ เป็นอย่างไร?
ใครที่ดื่มหนักมากๆ จนมีอาการเมาค้าง หรือแฮงค์ในวันถัดไป (หรืออาจจะไม่กี่ชั่วโมงหลังหยุดดื่ม) จะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยทั่วไปจะปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ตัวสั่นเทา หรืออาจจะท้องเสียได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการที่อันตรายอย่างความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หรือเหงื่ออกมากเกินกว่าปกติร่วมด้วย
มีรายงานหลายชิ้นยืนยันว่า คนที่ดื่มไม่บ่อย หรือดื่มน้อย มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเมาค้างได้มากกว่าคนที่ดื่มหนักอยู่เป็นประจำ รวมถึงคนที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคติดแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์ริซึ่ม ก็มีความเสี่ยงที่จะมีอาการเมาค้างได้มากกว่าคนอื่นเช่นกัน
นายแพทย์ Anthony L. Komaroff หัวหน้าบรรณาธิการ Harvard Health Letter อ้างอิงจาก Dr. Robert Swift นักวิจัยจาก Providence Veterans Affairs Medical Center ที่ Rhode Island ถึงเคล็ดลับที่ช่วยสร่างเมา แก้อาการเมาค้าง หรือแฮงค์ได้ดี และอย่างถูกวิธีมาฝากกัน
7 วิธีลดอาการ “เมาค้าง” หรือ “แฮงค์”
-
อย่าคิดที่จะ “ดื่มเพื่อถอน”
นึกถึงเพลงดังบ้านเรากันไหมคะ “จั่งซี้มันต้องถอน” ที่พูดถึงวิธีการแก้เมาค้างด้วยการดื่มเพิ่มเข้าไปอีกแก้วสองแก้ว วิธีนี้ต่างชาติเขาก็มีนะ แต่จะบอกว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องนัก ฝรั่งมีสำนวนที่เรียกการดื่มเพื่อถอนฤทธิ์แอลกอฮอล์ว่า “Hair of the dog” ที่หมายถึงการไปดึงขนสุนัขที่เข้ามากัดเรา หากเราดึงขนมันไปเรื่อยๆ มันก็จะหันไปสนใจขนของมันมากกว่าที่จะเข้ามากัดเราไปเรื่อยๆ เหมือนเราดื่มไปเรื่อยๆ จนระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เคยลดลง แต่สุดท้ายแล้วหากเราหยุดดื่ม ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ก็มาทำให้เราเมาค้างได้อยู่ดี เหมือนเมื่อไรก็ตามที่เราหยุดถอนขนสุนัข สุนัขก็จะเข้ามาแว้งกัดเราได้อยู่วันยังค่ำ ดังนั้น วิธีนี้จึงไม่เหมาะสม และไม่แนะนำให้ทำโดยเด็ดขาด
-
ดื่มเครื่องดื่มอื่นๆ
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่ควรหันไปดื่มเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายของเราขาดน้ำ (บวกกับที่ทำให้เราปัสสาวะบ่อยๆ) ยิ่งใครที่มีอาการท้องเสีย หรือคลื่นไส้อาเจียน ยิ่งต้องควรดื่มน้ำ สามารถดื่มเพียง 1-2 แก้วเพื่อเพิ่มความสดชื่น เพิ่มน้ำให้กับร่างกาย
-
กินคาร์โบไฮเดรต
การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง อาการปวดศีรษะ หรืออ่อนเพลียอาจมาจากการที่สมองทำงานโดยมีพลังงานจากน้ำตาลไม่มากพอ ดังนั้นการทานคาร์โบไฮเดรตเพิ่มเข้าไปในร่างกายจะช่วยลดอาการเมาค้างได้ นอกจากนี้นักดื่มหลายคนมักลืมที่จะทานอาหารให้เพียงพอ สนใจแต่การดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นการทานคาร์โบไฮเดรตเป็นการเริ่มให้ร่างกายได้รับพลังงานในการใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง
-
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแองกอฮอล์สีเข้ม
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสีอ่อน หรือไม่มีสี เช่น วอดก้า หรือเหล้าจิน ทำให้เกิดอาการเมาค้างได้น้อยว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสีเข้มๆ เช่น ไวน์ วิสกี้ หรือเตกีล่า แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มจะมาในรูปแบบของเอธานอล แต่เครื่องดื่มที่มีสีเข้มจะมีส่วนผสมทางเคมีอื่นๆ เพิ่มเข้าไปด้วย รวมถึงเมธานอล ซึ่งทำปฏิกิริยากับร่างกายได้รุนแรงกว่า
-
กินยาแก้ปวด แต่ไม่ใช่พาราเซตามอล
หากมีอาการปวดศีรษะ สามารถทานยาแก้ปวดได้ โดยแนะนำให้เลือกทานยาตระกูลแอสไพริน ไอบูเฟน และยา NSAIDs อื่นๆ แต่ควรทานยาหลังทานอาหารเพราะอาจทำให้กระเพาะอาหาร (ที่แอลกอฮอล์เข้าไปทำให้ระคายเคืองอยู่แล้ว) ยิ่งระคายเคืองหนักไปกว่าเดิม นอกจากนี้อย่าเลือกทานยาแก้ปวดประเภทพาราเซตามอล หรืออะเซตามีโนเฟน เพราะอาจเข้าไปทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย จนกลายเป็นพิษต่อตับได้
-
ดื่มชา หรือกาแฟ
แม้ว่าคาเฟอีนจะไม่ไดมีฤทธิ์ในการเยียวยาร่างกายจากอาการเมาค้างโดยตรง แต่อาจช่วยลดอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะจากอาการแฮงค์ได้บ้าง แต่อย่าลืมดื่มน้ำเปล่าด้วย เพราะกาแฟอาจทำให้คุณปัสสาวะมากขึ้น (ในขณะที่ตอนดื่ม แอลกอฮอล์ก็ทำให้คุณปัสสาวะบ่อยมากกว่าเดิมอยู่แล้ว)
-
ทานวิตามินบี 6
จากการศึกษาเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วรายงานว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์จะมีอาการเมาค้างน้อยลง หากก่อนดื่ม ระหว่างดื่ม และหลังดื่ม (ก่อนที่จะเมา) ได้ทานวิตามินบี 6 ราวๆ 1,200 มิลลิกรัม แม้ว่าจะเป็นเพียงรายงานสั้นๆ และไม่ได้มีการตีพิมพ์ซ้ำ แต่ใครจะลองวิธีนี้ก็ไม่เสียหายอะไร
อย่างไรก็ตาม หากให้แพทย์แนะนำโดยตรงแล้ว คงจะแนะนำให้งดการดื่มแอลกอฮอล์เสียมากกว่า เพราะการดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะทำร้ายร่างกายช้าๆ อย่างไม่รู้ตัว และเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บอันตรายมากมายแล้ว ยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของอุบัติเหตุ และอาชญากรรมอีกด้วย แต่หากจำเป็นต้องดื่ม ขอให้ดื่มอย่างระมัดระวัง ดื่มอย่างมีสติ คิดถึงตัวเอง คิดถึงคนที่คุณรักเอาไว้ รู้ขอบเขตของตัวเองว่าเท่าไรควรพอ ให้เพื่อนช่วยดูแลยามเมาไม่มีสติ และที่สำคัญที่สุดคือ เมาแล้วต้องไม่ขับเด็ดขาด
คุณกำลังดู: 7 วิธีลดอาการ “เมาค้าง” หรือ “แฮงค์” แนะนำโดย ม. ฮาร์วาร์ด
หมวดหมู่: สุขภาพ