8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ดาวยูเรนัส หรือที่คนไทยหลายคนอาจคุ้นหูกับชื่อ ดาวมฤตยู
มาทำความรู้จักกับ "ดาวยูเรนัส" หรือที่คนไทยหลายคนอาจคุ้นหูกับชื่อ "ดาวมฤตยู" กันภายใน 8 ข้อ มาดูกันว่าดาวเคราะห์สีฟ้าอ่อน หนึ่งในสมาชิกของระบบสุริยะของเราดวงนี้นั้นเป็นอย่างไรบ้าง
มาทำความรู้จักกับ "ดาวยูเรนัส" หรือที่คนไทยหลายคนอาจคุ้นหูกับชื่อ "ดาวมฤตยู" กันภายใน 8 ข้อ มาดูกันว่าดาวเคราะห์สีฟ้าอ่อน หนึ่งในสมาชิกของระบบสุริยะของเราดวงนี้นั้นเป็นอย่างไรบ้าง
1 ภาพรวมของดาวยูเรนัส
ดาวยูเรนัส เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 7 และเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 โดยได้ชื่อมาจาก “ยูเรนัส” หรือ “อูรานอส” (Οὐρανός) เทพแห่งท้องฟ้าและสรวงสวรรค์ในเทพปกรณัมกรีกโบราณ
ดาวยูเรนัสถือว่าเป็น “ดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์” (Ice giant) เช่นเดียวกับดาวเนปจูน เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองดวงมีองค์ประกอบทางเคมีที่มีแตกต่างจาก “ดาวเคราะห์แก๊สยักษ์” (Gas giant : ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์) ตรงที่ดาวยูเรนัสกับเนปจูนมีสารประกอบจากคาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน เช่น น้ำ มีเทน และแอมโมเนียมากกว่า ขณะที่พวกวัตถุน้ำแข็งขนาดเล็กในระบบสุริยะชั้นนอก มักประกอบด้วยสารประกอบเหล่านี้ในสภาวะเยือกแข็ง ทำให้ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนถูกเรียกเป็น “ดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์” แม้ว่าดาวเคราะห์ชั้นนอกทั้ง 2 ดวงจะไม่มีพื้นผิวเป็นของแข็งเลย
นอกจากนี้ แก๊สมีเทนในบรรยากาศชั้นบนของดาวยูเรนัส เป็นตัวดูดกลืนแสงสีแดงในแสงอาทิตย์ ทำให้ดาวยูเรนัสปรากฏเป็นสีฟ้า (ตามแสงสะท้อนออกมา) นอกจากนี้ บรรยากาศของดาวยูเรนัสยังเป็นบรรยากาศของดาวเคราะห์ที่หนาวเย็นที่สุดในระบบสุริยะ ด้วยอุณหภูมิ -224 องศาเซลเซียส
2 การค้นพบดาวยูเรนัส “ดาวพระเจ้าจอร์จ”
แม้ว่าดาวยูเรนัสจะสว่างพอที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ความสว่างของดาวยูเรนัสก็อยู่เกือบใกล้ขีดจำกัดของสายตามนุษย์ในท้องฟ้ามืดสนิท นักดาราศาสตร์หลายคนจึงถือว่าเป็น “ดาวเคราะห์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า”
นักดาราศาสตร์ในสมัยก่อนต่างไม่ทราบว่าดาวยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ เนื่องจากความสว่างที่ริบหรี่และความเชื่องช้าในการโคจรของดาวยูเรนัสเอง แม้ว่าจะเคยมีนักดาราศาสตร์หลายคนเคยสังเกตการณ์และบันทึกตำแหน่งดาวยูเรนัส แต่กลับคิดว่าเป็นดาวฤกษ์
จนกระทั่งวิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษได้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงนี้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.1781 (ตรงกับสมัยธนบุรีในประวัติศาสตร์ไทย) ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดหน้ากล้อง 6.2 นิ้วจากสวนของบ้านตนเองในเมืองบาธ (Bath) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ โดยในช่วงแรกเฮอร์เชลคาดว่าวัตถุที่ค้นพบใหม่นี้น่าจะเป็นดาวหาง ก่อนที่นักดาราศาสตร์คนอื่นจะช่วยกันคำนวณวงโคจรจนทราบว่าเป็นดาวเคราะห์ในภายหลัง
เฮอร์เชลเคยจะตั้งชื่อให้วัตถุที่ค้นพบใหม่ว่า “Georgium Sidus” (แปลภาษาละตินว่า “ดาวพระเจ้าจอร์จ”) เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 (George III) ที่ปกครองสหราชอาณาจักรในขณะนั้น แต่โยฮันน์ โบเดอ (Johann Bode) นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันเสนอชื่อ “ยูเรนัส” เพราะเทพยูเรนัสเป็นพ่อของเทพโครนอส (แซทเทิร์น) และเป็นปู่ของเทพซูส (จูปีเตอร์) เพื่อให้ความเป็นพ่อลูกสอดคล้องกับลำดับความใกล้ไกลจากดวงอาทิตย์ ระหว่างดาวพฤหัสบดี-ดาวเสาร์-ดาวยูเรนัส ชื่อ “ยูเรนัส” เป็นที่นิยมใช้ในวงการดาราศาสตร์ในชาติตะวันตกชาติอื่น ๆ มากกว่า ซึ่งกว่าทางอังกฤษจะยอมรับชื่อ “ยูเรนัส” เวลาก็ล่วงเข้าไปปี ค.ศ.1850
3 การสำรวจดาวยูเรนัส
ในปัจจุบัน เคยมียานสำรวจดาวยูเรนัสเพียงลำเดียว คือ ยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) ของสหรัฐฯ ที่เฉียดเข้าใกล้ดาวยูเรนัสเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1986 (หลังจากที่ส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.1977)
ระหว่างที่ยานลำนี้เข้าใกล้ดาวยูเรนัสได้ตรวจพบดวงจันทร์เพิ่มเติม 11 ดวง รวมถึงวงแหวนส่วนหนึ่ง (นักดาราศาสตร์ค้นพบวงแหวนของดาวยูเรนัสจากการสังเกตการณ์บนโลกก่อนหน้านี้) วัดความยาวนานของคาบการหมุนรอบตัวเองครบรอบที่ 17 ชั่วโมง 14 นาที ศึกษาบรรยากาศและสนามแม่เหล็กของดาวยูเรนัส รวมไปถึงการถ่ายภาพกลุ่มดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของดาวยูเรนัส ค้นพบเครือข่ายหุบเหวซับซ้อนบนดวงจันทร์มิแรนดา (Miranda) ทำให้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าเกิดจากการที่ดวงจันทร์ดวงนี้เคยแตกออกก่อนสสารที่หลุดออกไปกลับมารวมกันอีกครั้ง
4 ดาวยูเรนัสมีดวงจันทร์บริวารทั้งหมด 27 ดวง
ปัจจุบัน (8 มีนาคม 2023) ดาวยูเรนัสมีจำนวนดวงจันทร์บริวารที่ยืนยันแล้วทั้งสิ้น 27 ดวง แต่ละดวงตั้งชื่อตามตัวละครในบทประพันธ์ของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) และอเล็กซานเดอร์ โปป (Alexander Pope) ซึ่งแตกต่างไปจากดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่มีการตั้งชื่อตามตำนานเทพเจ้ากรีกและโรมัน
ดวงจันทร์ของดาวยูเรนัสแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ดวงจันทร์ชั้นใน 13 ดวง ดวงจันทร์หลักขนาดใหญ่ 5 ดวง และดวงจันทร์ไร้รูปร่าง 9 ดวง เกือบทั้งหมดเป็นดวงจันทร์ขนาดเล็ก โดยมี “ไททาเนีย (Titania)” เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,580 กิโลเมตร หรือประมาณครึ่งหนึ่งของดวงจันทร์ของโลก และมีดวงจันทร์ “คิวปิด (Cupid)” เป็นดวงจันทร์ที่ขนาดเล็กที่สุด มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 18 กิโลเมตร
5 ดาวยูเรนัสมีวงแหวน
วงแหวนของดาวยูเรนัสแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มวงในหรือกลุ่มที่อยู่ใกล้กับตัวดาว เป็นวงแหวนหลัก และอีกกลุ่มเป็นวงแหวนฝุ่นฟุ้งกระจายรอบนอก
วงแหวนหลักประกอบด้วยวงแหวนย่อยสีเทาภายในอีกประมาณ 9 ชั้น มีความหนาประมาณ 10 กิโลเมตร มีองค์ประกอบหลักเป็นอนุภาคน้ำแข็ง จึงสะท้อนแสงได้ดี ขณะที่วงแหวนฝุ่นรอบนอกจะมีวงย่อยอีก 2 วง เป็นอนุภาคฝุ่นที่สะท้อนแสงได้น้อย จึงมองเห็นได้ค่อนข้างยาก นักดาราศาสตร์คาดว่าวงแหวนเหล่านี้ไม่ได้ก่อตัวขึ้นพร้อมกับดาวยูเรนัส แต่น่าจะเกิดจากวัตถุขนาดเล็กรอบ ๆ ดาวที่พุ่งชนกันเอง จนแตกสลายกลายเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่โคจรรอบดาวยูเรนัส
6 ยูเรนัสกลิ้งไปรอบ ๆ ดวงอาทิตย์
ดาวยูเรนัสมีแกนหมุนรอบตัวเองที่เอียงถึง 97.8 องศาจากแกนตั้งฉากระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ถือว่าเอียงมากที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมด จึงเปรียบได้กับลูกบอลยักษ์สีฟ้าที่กำลังกลิ้งอยู่รอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้เกิดฤดูกาลบนดาวเคราะห์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เนื่องจากดาวยูเรนัสใช้เวลาถึง 84 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบ ช่วงฤดูร้อนจะมีดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้ายาวนานกว่า 21 ปี และฤดูหนาวที่มืดมิดไร้ดวงอาทิตย์อีก 21 ปี
7 ชื่อดาวยูเรนัสในหลากหลายวัฒนธรรม
ชื่อ “ยูเรนัส” จากเทพแห่งท้องฟ้าและสรวงสวรรค์ในเทพปกรณัมกรีกโบราณ ได้แพร่หลายเป็นชื่อเรียกดาวเคราะห์ดวงนี้ในกลุ่มภาษาตะวันตก รวมถึงภาษาของประเทศส่วนหนึ่งที่เคยเป็นอาณานิคม (เช่น ယူရေနတ် “ยูเรนัต” ในภาษาพม่า / Uranus ในภาษามลายู-ภาษาอินโดนีเซีย / Urano ในภาษาตากาล็อก)
ขณะที่แถบเอเชียตะวันออกและเวียดนาม ใช้อักษรจีนสำหรับชื่อดาวยูเรนัสตามลักษณะของเทพยูเรนัสว่า 天王星 (แปลว่า “ดาวราชาสวรรค์”) เพียงแต่ออกเสียงแตกต่างกันในแต่ละภาษา (“เทียนหวางซิง” ในภาษาจีนกลาง / “ช็อนวังซ็อง” ในภาษาเกาหลี / “เท็นโนวเซย์” ในภาษาญี่ปุ่น / “ซาวเทียนเวือง” ในภาษาเวียดนาม)
แถบพื้นที่ประเทศไทยและลาวในสมัยก่อนที่ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ยังแยกกันไม่ชัดเจน เคยนิยมใช้ชื่อ “ดาวมฤตยู/ດາວມະລຶດຕະຍູ” แต่ในปัจจุบันจะใช้ชื่อ “ดาวยูเรนัส/ດາວຢູເຣນັດ” จากบริบททางดาราศาสตร์มากกว่า
แต่ก็มีประเทศอื่นในแถบเอเชียที่เรียกชื่อดาวยูเรนัสแตกต่างออกไปทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน อย่างทางกัมพูชา เคยเรียกดาวยูเรนัสว่า រាហុ៍ “เรีย” ซึ่งมีรากศัพท์ร่วมกับคำ “ราหู” แต่ในปัจจุบันใช้ชื่อ អ៊ុយរ៉ានុស “อุยรานุ” ตามชื่อยูเรนัส หรือทางอินเดีย ที่ในภาษาฮินดีเรียกดาวยูเรนัสว่า अरुण “อรุณ”
8 กลุ่มดาวแกะคือตำแหน่งปัจจุบันของดาวยูเรนัส (มีนาคม 2023)
โดยปกติแล้วดาวเคราะห์จะมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ บนเส้นสุริยะวิถี ซึ่งเส้นสุริยะวิถีจะลากผ่านกลุ่มดาวสากลจำนวนทั้งสิ้น 12 กลุ่มดาว นั่นก็คือกลุ่มดาว 12 จักรราศีนั่นเอง ซึ่งพื้นที่กลุ่มดาวบนท้องฟ้านั้นมีการกำหนดอย่างเป็นทางการโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) เป็นเส้นสีแดงดังภาพประกอบ โดยขณะนี้ดาวยูเรนัสปรากฏอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มดาวแกะ (Aries) และจะเคลื่อนเปลี่ยนตำแหน่งสู่กลุ่มดาวถัดไปคือกลุ่มดาววัว (Taurus) ในเดือนพฤษภาคม 2024 แต่จะเคลื่อนที่ถอยหลังกลับไป-กลับมาเล็กน้อยระหว่าง 2 กลุ่มดาว เป็นผลมาจากการที่โลกโคจรแซงหน้าดาวยูเรนัสในช่วงนี้ จนกระทั่งต้นปี 2025 เป็นต้นไป ยูเรนัสจะอยู่ในกลุ่มดาววัวแบบเต็มตัว
เกร็ดความรู้ : ดาวยูเรนัสโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 84 ปี หากนำ 84 หารด้วย 12 จะได้เท่ากับ 7 นั่นหมายความว่า ยูเรนัสจะเปลี่ยนตำแหน่งบนกลุ่มดาวจักรราศีประมาณทุก ๆ 7 ปี
คุณกำลังดู: 8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ดาวยูเรนัส หรือที่คนไทยหลายคนอาจคุ้นหูกับชื่อ ดาวมฤตยู
หมวดหมู่: วัยรุ่น