8 สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV

โรคเอดส์ และเชื้อ HIV ไม่เหมือนกัน อ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ และเชื้อ HIV อย่างถูกต้องกันดีกว่า

8 สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV

แม้ว่าจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาช้านาน กล่าวถึงชื่อโรคนี้ใครๆ ก็รู้จัก แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่ายังมีคนไทยหลายคนที่ยังมีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ และผู้ป่วย HIV อย่างไม่ถูกต้องเท่าที่ควร Sanook!  Health  เลยรวบรวมความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV มาให้ทุกคนได้ปรับความเข้าใจกันใหม่ค่ะ

 

 

8 สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV


1. โรคเอดส์ กับเชื้อ HIV ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

- HIV เป็นเชื้อไวรัส

- เอดส์ เป็นภาวะที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นหลังจากที่ร่างกายถูกทำร้ายจากไวรัส HIV อีกทีหนึ่ง

 

2. เป็นเอดส์ ยังมีโอกาสรอด

ถึงแม้จะยังไม่มีวิธี และยารักษาโรคเอดส์โดยตรง แต่หากพบในระยะที่ยังเป็นผู้ติดเชื้ออยู่ ผู้ป่วยสามารถทานยาต้านไวรัส ไม่ให้เชื้อไวรัสทำร้ายภูมิคุ้มกันในร่างกาย จนแสดงอาการผิดปกติออกมาได้ เพราะฉะนั้นยิ่งพบเชื้อเร็ว ยิ่งควบคุมเชื้อไวรัสได้ง่าย โอกาสรอดชีวิตก็ยิ่งมีสูง นอกจากนี้เมืองไทยยังมีสวัสดิการมอบยาต้านไวรัสให้กับผู้ติดเชื้อฟรีอีกด้วย เพียงลงทะเบียนเข้าโครงการรับยาต้านไวรัสกับโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ และคอยติดตามผลกับแพทย์อยู่เสมอ


3. เป็นเอดส์ ติดเชื้อ HIV ต้องตายด้วยอาการมีแผล ตุ้ม หนอง ขึ้นเต็มตัว

นั่นเป็นอาการของโรคฉวยโอกาส อาจจะเป็นโรควัณโรค ซึ่งเข้ามาทำร้ายร่างกายหลังจากที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ไม่ดี ปล่อยให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายจนแสดงอาการได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโรคที่แสดงอาการทางผิวหนังก็ได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

 

4. ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนสำส่อน มักมากในกาม

มีหลายคนที่ติดเชื้อ HIV จากแม่ จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้ป่วย และอาจติดจากคู่ครองของตนเอง นั่นหมายความว่า หากมีเพศสัมพันธ์กับแค่คนๆ เดียว แต่หากเป็นผู้ติดเชื้อ ก็มีโอกาสติดเชื้อต่อจากคนนั้นได้เช่นกัน

 

5. เชื้อ HIV ไม่ได้ติดต่อกันง่ายเหมือนไข้หวัด

เชื้อ HIV ไม่สามารถติดกันได้ ผ่านทาง

- กอด จูบ (ยกเว้น จะมีแผลในปาก และเป็นการจูบแลกลิ้น แลกน้ำลายกัน)

- ทานข้าวร่วมกัน จานเดียวกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน หรือแม้แต่ใช้ช้อน ส้อมคันเดียวกัน

- มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัย

- ลมหายใจ

- ใช้สบู่ ครีมอาบน้ำ แชมพู ยาสีฟัน ร่วมกัน


เชื้อ HIV ติดต่อกันได้ผ่านทาง

- สารคัดหลั่ง เลือด ผ่านการใช้อุปกรณ์อย่างเข็มฉีดยา

- เลือด และการให้นมบุตรของแม่

- รับสารคัดหลั่ง และเลือด เข้าสู่ร่างกายผ่านแผล (ต้องเป็นแผลสดๆ เท่านั้น)

- โอกาสที่จะติดเชื้อ ไม่ใช่ 100% เสมอไป


6. ผู้ติดเชื้อ HIV อาจไม่ต้องทานยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต

หากทานยาต้านไวรัสตรงเวลา ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ มีโอกาสที่เชื้อไวรัส HIV อาจจะลดลงเรื่อยๆ จะอาจสามารถหยุดการทานยาได้ แต่แพทย์จะยังคงตรวจสุขภาพต่อเป็นระยะๆ

 

7. ผู้ติดเชื้อ HIV อาจมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวเหมือนคนปกติทั่วไป

หากทานยาต้านไวรัสตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเป็นประจำ ผู้ติดเชื้อสามารถมีชีวิตที่ยืนยาว อยู่ต่อไปได้อีกหลายสิบปี มีอายุขัยเท่ากับคนปกติเลยทีเดียว ดีไม่ดีอาจอายุยืนกว่าคนปกติที่เป็นโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน หัวใจ อีกด้วย มะเร็ง อีกด้วย

 

8. ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถมีครอบครัวได้

ถึงแม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ถุงยางอนามัย จะทำให้มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้ แต่หากอยากมีครอบครัว ผู้ป่วยสามารถจูงมือคู่รัก เพื่อปรึกษาแพทย์ หาทางออกในการมีครอบครัว มีบุตรโดยที่บุตรไม่ติดเชื้อ HIV ได้

 

โรคเอดส์ และเชื่อไวรัส HIV ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เรา หรือใครหลายๆ คนคิดนะคะ ขอให้เปิดใจ และมองเขาเหมือนเป็นคนปกติธรรมดาทั่วไป อย่าแสดงทีท่ารังเกียจ หรือกลัวอะไรพวกเขา เท่านี้พวกเขาก็มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปแล้วล่ะค่ะ

คุณกำลังดู: 8 สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว